รถ Hatchback ตูดสั้น ...โดนชนท้ายแล้วอันตราย ....จริงหรือ

  • โดย : Autodeft
  • 20 มี.ค. 59
  • 16,049 อ่าน

กลายเป็นประเด็นร้อนสำคัญ สำหรับคนซื้อรถยนต์คันใหม่ที่กำลังแอบสงสัย หรือคงอดสงสัยไม่ได้ในเรื่องความปลอดภัย ยานยนต์ หลังเห็นคลิปวีดีโอ กรณีรถยนต์ Mercedes Benz พุ่งชนรถยนต์ Ford Fiesta จนเป็นเหตุให้รถเกิดไฟไหม้และผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว

 

 

 

คำถามที่ตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่พ้นความปลอดภัยในรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ฟอร์ด เฟียสต้า รุ่นแฮทช์แบ็คที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว และด้วยความว่องไวในการสื่อสารของโซเชี่ยลอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้มีการพูดไปถึงขั้นว่ารถยนต์ประเภทท้ายสั้นอย่าง รถแฮทช์แบ็ค ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมวางจำหน่ายของหลายบริษัทรถยนต์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในรถอีโค่คาร์และซิตี้คาร์ ไปยันคอมแพ็คคาร์ อาจจะเป็นอันตรายและไม่ปลอดภัยในการขับขี่

รถยนต์รูปแบบท้ายสั้น ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันส่วนใหญ่คือรถยนต์แบบ  5  ประตูแฮทช์แบ็ค (Hatchback) หรือมีประตูทาด้านท้าย มีข้อดีในเรื่องพื้นที่ห้องโดยสารและห้องสัมภาระท้ายเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย มีความสามารถมากกว่ารถประเภทซีดาน โดยเฉพาะคนที่ต้องการรถยนต์สำหรับบรรทุกของจำนวนมาก และต้องการพื้นที่ใช้ตามความยาวของรถ มันได้ความก้ำกึ่งขอรถยนต์อเนกประสงค์เข้ามา

การให้รูปแบบท้ายสั้นกว่าปกติ อาจจะมองตามความรู้สึกของใครหลายคนว่ารถดูอันตรายกว่า เพราะเมื่อเกิดการชนท้ายแล้ว มีโอกาสสูงที่แรงปะทะการชน จะส่งถึงโครงสร้างหลักของตัวรถทันทีเนื่องจากท้ายสั้นด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันของห้องโดยสาร และอาจจะทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บสาหัสหรือได้รับภัยถึงแก่ชีวิต ผิดกับรถประเภทซีดานที่มีห้องสัมภาระอีกทอดหนึ่งเป็นปราการให้ความรู้สึกที่ปลอดภัยมากกว่า

ทีมงาน  Autodeft.com   ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาวิศวกรยานยนต์จากบริษัทรถยนต์ชั้นนำรายหนึ่ง ซึ่งขอประสงค์ไม่เปิดเผยนามในบทความให้ความเห็นต่อประเด็นหัวข้อคำถาม “รถยนต์ท้ายสั้นไม่ปลอดภัยจริงหรือ” ว่า  ปัจจุบันการทดสอบการชนของรถยนต์มีมาตรฐานเหมือนกัน แต่การทดสอบชนท้าย (Rear End Collision) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บริษัทรถยนต์ทุกยี่ห้อใช้มาตรฐานเหมือนกัน มันเป็นเพียงการทดสอบตามมาตรฐานขั้นต่ำ ที่ไม่ได้ให้คะแนนเป็นดาวแบบ การชนตามมาตรฐานทางด้านหน้า หรือด้านข้าง อย่าง  NCap แต่จะบอกเพียงว่า ผ่าน หรือไม่ผ่านเท่านั้น

“สาเหตุที่การชนทางด้านหลังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร เพราะการชนทางด้านหลังนั้นเป็นไปได้น้อยมาก และรถมีเกียร์ถอยหลังเพียงเกียร์เดียวใช้ความเร็วไม่มาก หรือ ถ้าจะถูกรถคันข้างหลังชนจะมีโมเมนตั้ม กระแทกรถคันข้างหน้าให้กระเด็นต่อไปข้างหน้า”

(โมเมนตั้ม - momentum คือ มวลของวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ในรถยนต์คือความเร็วรถคันหลังที่ชน)

ตามการเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานยานยานยนต์ยุโรปหรือ United Nations Economic Commission for Europe (ECE) ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องปฏิบัติตาม ถ้าต้องการขายรถยนต์ในกลุ่มประเทศยุโรปต้องทำตาม  (อ้างอิงจาก http://www.crash-network.com/Regulations/ECE_Regulations/ece_regulations.html) ระบุถึงมาตรฐานการป้องกันการชนทางด้านท้ายที่ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องปฏิบัติตามเพื่อสร้างความปลอดภัย ว่า

การชนท้ายจะต้องทำการทดสอบโดยบริษัทผู้ผลิต โดยมีหัวใจสำคัญ 2 ประการ ตามประกาศ ECE R32 (Reg.32) คือ 1.เมื่อเกิดชนท้ายโครงสร้างตัวรถจะต้องไม่ทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ และ 2. ประตูจะต้องไม่เปิดออกเมื่อเกิดการกระแทกจากการชนทางด้านหลัง และกรณีเป็นรถไร้หลังคาประตูต้องเปิดได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถหนีออกมาได้

ในส่วนของการทดสอบการชนทางด้านหลัง  ในยุโรปจะใช้วัตถุที่มีน้ำหนัก  1,100 กิโลกรัม อาจจะมากหรือน้อยกว่า  +/- ไม่เกิน  20  กิโลกรัม ทำการกระแทกด้านท้ายด้วยความเร็ว  ด้วยเพียงความเร็ว 35 และ  38   กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยตัวรถที่ทำการทดสอบต้องใส่อุปกรณ์มาตรฐานที่จะวางจำหน่ายครบ รวมถึงต้องมีน้ำมันในถังน้ำมัน   90%  ในระหว่างการทดสอบด้วย

[IMAGE1] 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า มาตรฐานการชนทางด้านหลังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากมายเท่าที่ควรนัก และยังไม่ได้รับการตระหนักจากหน่วยงานทางด้านความปลอดภัยทางถนนทั่วโลกด้วยซ้ำไป แม้ว่ารถชนท้ายกันอาจจะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันบนถนนบ่อยก็ตาม  วิศวกรแหล่งข่าวของเรา กล่าวเสริมว่า บริษัทรถยนต์จึงทำตามเพียงมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายเท่านั้น

เขายังกล่าวต่อไปว่า มันพูดยากว่ารถซีดานหรือรถแฮทช์แบ็ตจะปลอดภัยมากกว่าหรือน้อยกว่า เพราะมันถูกทดสอบด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมันต้องผ่านทั้งคู่ ทำให้ถ้าเปรียบเทียบกันตามความเป็นจริง ก็จะไม่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจน เพราะทั้งคู่ต่างผ่านมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญไม่เคยมีการวัดว่า ของใครผ่านดีกว่ากัน เนื่องจากคะแนนวัดกันเพียงว่าผ่านหรือไม่ผ่าน มันไม่มีข้อมูลเป็นคะแนนการทดสอบอย่างเป็นทางการ

“Ncap เป็นการวัดการทดสอบชนที่สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งจะวัดจากทางด้านหน้าและด้านข้าง แล้วนำคะแนนการทดสอบมารวมกัน แต่สำหรับการชนทางด้านหลังนั้นไม่มีการวัดที่เปรียบเทียบเช่นดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทดสอบเพียงขั้นต่ำเท่านั้น”

ต่อข้อคำถามว่าทางวิศวกรรมเป็นไปได้หรือไม่ แหล่งข่าวของเรากล่าวต่อไปว่า ตรงนี้ก็คงจะไม่เหมือนกันทุกรุ่น ขึ้นอยู่กับการออกแบบรถยนต์ของแต่ละบริษัท ซึ่งต้องนับจากคานเหล็กทางด้านหลังที่อยู่หลังกันท้าย มาถึงที่นั่งผู้โดยสารทางด้านหลัง ตรงนี้ใครยาวกว่า ก็จะมีโอกาสสร้างความปลอดภัยให้กับผู้โยสารมากกว่า เนื่องจากมีระยะยุบรองรับแรงกระแทกจากการชนมากกว่า ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่า 

(ระยะยุบ คือ ระยะที่เกิดจากแรงกระแทกระหว่างที่รถคันหลังส่งแรงโมเมนตั้มเข้าหารถคันหน้า และสร้างความเสียหายกับรถคันข้างหน้า)

แต่ในส่วนของรถยนต์แฮทช์แบ็ค จะพบว่า รถยนต์ประเภทนี้แม้ว่าจะมีช่วงท้ายคล้ายกัน แต่จะพบว่ามีพื้นที่ช่วงสัมภาระท้ายยาวไม่เท่ากัน ที่เหลือก็คือความต้องการในการออกแบบรถยนต์รุ่นนั้นๆ ว่า จะเน้นพื้นที่ห้องโดยสารหรือสัมภาระ และจะเกี่ยวกับการวิศวกรรมการวางตำแหน่งโครงสร้างระบบช่วงล่างกันสะเทือนต่างๆ  ช่วงฐานล้อ  ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเกิดการชนท้าย

ทั้งหมดนี้คงพอจะยืนยันได้ดีแล้วว่า รถยนต์แฮทช์แบ็คปลอดภัยเช่นกัน มันไม่ได้เกี่ยวกับว่ารถยนต์ที่คุณใช้เป็นแบบ  4  ประตู หรือ  5  ประตู หากแต่ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่นความเร็วรถคันหลังที่ชนคุณ และการออกแบบรถยนต์ของบริษัทรถยนต์ที่ผลิตรถของคุณ รวมถึงรถคู่กรณี .... ลักษณะการชน และอื่นๆอีกมาที่เป็นปัจจัยในการชน ที่จะรังแต่เพิ่มปัจจัยเข้ามาในเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง

....ดังนั้นจะมาโทษ รูปแบบโครงสร้างตัวถังรถว่าเป็นแฮทช์แบ็คท้ายสั้นอย่างเดียว ...ดูจะไม่ถูกต้องนัก หากยังมีอีกหลายปัจจัยที่สำคัญในการชน ที่จะบอกได้ว่ารถยนต์ที่คุณใช้ปลอดภัยหรือไม่

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์ท่านวิศวกร ไม่ประสงค์จะออกนาม มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page ,Twiter (@nattayodc), Blog  ส่วนตัว

 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ