หลากหลายเรื่องเข้าใจผิด ในการใช้รถใช้ถนน

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 15 ม.ค. 62
  • 5,620 อ่าน

การใช้รถใช้ถนน ที่เป็นทางสาธารณะที่ใช้งานร่วมกับคนอื่นไปพร้อมกัน ย่อมต้องมีกฎ กติกา มารยาทในการใช้งาน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ก็มีอยู่หลายเรื่องเหมือนกันที่พวกเราใช้รถหรือใช้ถนนด้วยความไม่ถูกต้องกันเป็นเวลานาน จนในที่สุดทุกคนก็คิดว่าเรื่องนี้มันถูกต้องไปแล้ว เรามาดูกันเป็นตัวอย่างสักหน่อยดีกว่าครับว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง

ใช้รถเข้าใจผิด

ควันดำ

จูนน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซลให้ควันดำ แล้วรถจะแรงขึ้น

เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน ทางวิศวกรระดับโลกได้สุมหัวกันพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องยนต์ผลิตมลพิษออกมาให้น้อยที่สุด แล้วผลิตกำลังได้มากที่สุด แต่นักเลงรถกระบะหลายคน พอออกรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลคันใหม่มา ก็จัดการเอาเข้าอู่ไปโมใหม่ ทั้งอุด EGR, ทะลวงแคททิ้ง รวมทั้งการจูนน้ำมันเพื่อให้ฉีดเข้าไปในห้องเผาไหม้ให้มากขึ้นจนเครื่องยนต์ไม่สามารถเผาไหม้ได้หมด เหลือออกมาเป็นควันสีดำโขมง สุดท้ายก็ไปลอยกองรวมกันอยู่ในอากาศ ให้คนอื่นเขาได้สูดดมมันเข้าไป ซึ่งความจริงแล้ว การจูนหรือตัดอุปกรณ์ลดมลพิษทิ้ง มันไม่ได้ช่วยให้เครื่องยนต์สามารถผลิตกำลังได้เพิ่มมากขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะระบบ ECU จะไม่สามารถปรับการทำงานได้ถ้าอุปกรณ์บางตัวไม่สามารถทำงานได้ตามที่มันต้องการ อย่างเช่นถ้าเราไปจูนให้น้ำมันฉีดเข้าห้องเผาไหม้มากกว่าเดิม แต่เราไม่สามารถหาอากาศเข้าไปเพิ่มเพื่อให้การจุดระเบิดนั้นสมดุลได้ การจุดระเบิดนั้นก็ไม่ได้ทำให้ได้ค่าของพลังงานเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็เสียทิ้งไปในอากาศ สิ้นเปลืองพลังงาน, ลดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ แถมยังส่งมลพิษไปให้คนที่เขาไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งรถของตัวเองต้องรับพิษเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ต้องการอีกด้วย

อุบัติเหตุ

เกิดอุบัติเหตุ ต้องจอดตรงที่เกิดเหตุแล้วรอประกันมาเคลม

การขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุชนกับรถคันอื่น ถือเป็นเรื่องที่เราสามารถเจอได้ในชีวิตเป็นประจำ ทั้งเกิดกับตัวเองหรือเกิดกับคนอื่น ซึ่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วรถมีประกัน ก็ต้องทำการเรียกประกันเพื่อให้มาเคลมค่าเสียหาย ณ ที่เกิดเหตุ ซึ่งในสมัยก่อน ประกันจะย้ำให้เราห้ามเคลื่อนย้ายรถ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาประเมินดูก่อนว่าใครผิดใครถูก แต่ในปัจจุบัน เราล้วนแต่มีโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูปได้กันอยู่แล้ว ดังนั้นเราสามารถถ่ายรูปที่เกิดเหตุให้ครบทุกมุม ถ่ายรอบรถให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะพอถ่ายได้ จากนั้นเราสามารถเคลื่อนย้ายรถออกจากที่เกิดเหตุเพื่อหลบข้างทาง ไม่ให้กีดขวางการจราจรได้เลย เมื่อเจ้าหน้าที่ประกันภัยมา ก็สามารถเอารูปนั้นส่งให้เจ้าหน้าที่ได้เลย พร้อมเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง เท่านี้เจ้าหน้าที่ก็จะมีหลักฐานพอส่งเคลมกับต้นสังกัดได้แล้ว ยิ่งปัจจุบันมีการทำในรูปแบบ "ชนแล้วแยก แลกใบเคลม" สำหรับที่ทั้ง 2 คันมีประกันชั้น 1 หรือคันที่ผิดมีประกันขั้น 1 แล้วยอมรับผิด ก็สามารถเอาใบนี้แลกกับคู่กรณีได้เลย (แต่ต้องถ่ายรูปที่เกิดเหตุไว้ด้วยเช่นกัน) แล้วต่างคนก็ต่างแยกกันไปซ่อม ไม่ต้องมาจอดรถกีดขวางคนอื่นนาน แต่หลายคนในปัจจุบันยังยึดติดกับเรื่องเก่า ๆ ที่ว่ายังไงก็ต้องจอดรอประกันก่อน ระวังนะครับ เพราะถ้าเกิดตำรวจเห็นรถติด แล้วมาถึงที่เกิดเหตุก่อน ทางตำรวจสามารถเขียนใบสั่งให้กับทั้ง 2 คันได้ ทั้งจอดรถกีดขวางการจราจร และขับรถยนต์โดยประมาท ต้องเสียเงินเพิ่มโดยไม่จำเป็นครับ

จำกัดความเร็ว

ขับรถบนทางด่วน ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

น่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าการขับรถยนต์ในเมือง จะมีกำหนดความเร็วในเมืองไว้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และนอกเมืองได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง และบนทางด่วน ก็ถือว่าเป็นถนนที่อยู่ในเมืองเช่นกัน ดังนั้นความเร็วที่กำหนดตามกฎหมาย ก็คือห้ามขับเร็วกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ยังมีหลายคนเข้าใจอยู่ว่า เมื่อเราจ่ายเงินเพื่อใช้ทางพิเศษเมื่อไหร่ เราสามารถกดคันเร่งให้ไปอยู่ที่ระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ทันที และเมื่อตำรวจมีส่งใบสั่งไปถึงบ้าน ก็จะโวยวายกันว่า วิ่งไม่ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงสักหน่อย ทำไมส่งใบสั่งมา ถ้าเอาตามกฎหมายจราจรแล้ว ในประเทศไทยที่อนุญาตให้สามารถขับได้ในระดับความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะมีเพียง 2 เส้นทางเท่านั้น คือ ทางหลวงหมายเลข 7 มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี และทางหลวงหมายเลข 9 ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก นอกจากนี้ จะจำกัดความเร็วที่ 80 หรือ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมงครับ

ใบขับขี่

ใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ใช้แทนกันได้

การทำใบขับขี่ นั้น ทางกรมการขนส่งทางบก จะกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ขั้นตอนการขอจะคล้ายคลึงกัน แต่วิธีการสอบปฏิบัติจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีบางคนที่ทำใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้ว และอาจจะขับรถมาหลายปี ไปขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามท้องถนน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจใบขับขี่ กลับยื่นของรถยนต์ให้ พอตำรวจเขียนใบสั่งก็อ้างว่า ทำใบขับขี่มาตั้งหลายปีแล้ว รถก็ขับยากกว่า ทำไมใช้ไม่ได้อีก เรื่องนี้ทางตำรวจก็ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องแล้วครับ เพราะใบขับขี่แต่ละประเภท ไม่ได้ใช้แทนกันได้เสมอไปครับ (ยกเว้นแบบสาธารณะ ที่สามารถใช้ทดแทนแบบส่วนบุคคลได้)

ขับรถในหมอก

ขับรถช่วงหมอกลงจัด ต้องเปิดไฟฉุกเฉิน

ไฟฉุกเฉิน แปลว่าไฟกระพริบที่เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน แต่หลายคนยังคิดว่า ช่วงเวลาที่ขับรถกลางหมอกที่ลงจัด หรือกลางสายฝนที่โปรยปราย ต้องเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นรถตัวเองได้ง่ายขึ้น เป็นการกระทำที่ผิดอย่างมากครับ เพราะการที่คุณขับรถโดยเปิดไฟฉุกเฉินเอาไว้ตลอดเวลา จะทำให้รถคันอื่นไม่สามารถรู้ได้เลยว่า คุณจะเปลี่ยนเลนหรือเลี้ยวเอาตอนไหน ดังนั้นถ้าต้องขับรถในกรณีทัศนวิสัยไม่ดี ให้เปิดไฟหน้า และไฟตัดหมอกในกรณีหมอกลงจัดก็พอครับ

ไฟเหลือง

ขับฝ่าไฟเหลืองได้ ไม่ผิดกฎหมาย

ความรู้พื้นฐานด้านกฎหมายจราจร คือการรับรู้สัญญาณไฟจราจร ไฟเขียวไปได้, ไฟแดงห้ามไป และไฟเหลืองเตรียมหยุด ซึ่งหลายคนเมื่อเห็นสัญญาณไฟสีเหลือง เลือกที่จะกดคันเร่งให้เต็มที่ เพื่อให้พ้นเส้นก่อนที่ไฟแดงจะติดขึ้น ซึ่งถ้าไปพลิกดูตามกฎหมายจราจร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในลักษณะ 2 เรื่อง สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรแล้ว จะมีกำหนดเอาไว้ว่า "สัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพัน ให้ผู้ขับขี่เตรียมหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดเพื่อเตรียมปฏิบัติตามสัญญาณที่จะปรากฏต่อไป เว้นแต่ผู้ขับขี่ที่ได้เลยเส้นให้รถหยุดไปแล้วให้เลยไปได้" ซึ่งถ้าตีความกันแล้ว หมายถึงว่า ถ้าเราเห็นไฟสัญญาณสีเหลืองขึ้นมาเมื่อไหร่ เราต้องเหยียบที่แป้นเบรก ไม่ใช่ที่คันเร่ง ยกเว้นถ้าเราประเมินแล้วว่าถ้าเหยียบเบรกเพื่อหยุด จะไม่ทันหยุดหลังเส้นได้ และอาจสร้างความอันตรายกับรถที่วิ่งมาด้านหลังได้ เราก็สามารถขับต่อผ่านแยกนั้นไปได้ตามปกติ แต่ถ้ามีการประเมินแล้วว่าหยุดทัน ต้องหยุดเท่านั้น เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่ารถคุณสามารถหยุดได้ทัน แต่ไม่ยอมเตรียมหยุด แต่กลับเลือกที่จะกดคันเร่งเพิ่มขึ้นเพื่อให้รถผ่านแยกให้ทันก่อนไฟแดง ตำรวจสามารถเรียกแล้วปรับในกรณีเดียวกับการฝ่าไฟแดงได้ ตามข้อหา "ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร" ได้ครับ

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็นเรื่องเข้าใจผิด จากเรื่องผิดกลายเป็นเรื่องถูก ยังมีอีกหลายเรื่องมาก เดี๋ยวทางทีมงาน AUTODEFT จะทยอยนำเสนอในคราวต่อไปครับ

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ