หมวกกันน๊อกเต็มใบ ...สรุปผิดกฎหมายหรือไม่ ....

  • โดย : Autodeft
  • 26 พ.ค. 58
  • 12,945 อ่าน

ชี้ชัดฟันธงจากกฎหมาย หมวกกันน๊อคเต็มใบใช้ได้ แต่ต้องชิลใส ถ้าไม่อยากเจอจ่าจับ

 

กลายเป็นดราม่าท่ามกลางวงสังคมคนใช้รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์อีกครั้งหลังมีกระแสพูดถึงการเรียกตรวจจับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยพูดถึงระหว่างหมวกกันน๊อกที่ใช้ซึ่งมีมูลค่าหลายบาท แต่กลับถูกตำรวจย่ำว่านี่ไม่ใช่หมวกกันน๊อกที่ถูกกฎหมาย

ยิ่งต่อมามีภาพการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกกันน๊อกที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยในภาพเป็นหมวกแบบลักษณะครึ่งใบที่อาจจะไม่สามารถปกป้องอันตรายได้เลยเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ตลอดจนดาราน้องร้องหนุ่มหลุย สก๊อต ก็ออกโรงพูดถึงเรื่องนี้อย่าครึกโครม จนเรียกว่าสังคมนาทีนี้สนใจวงการรถสองอีกครั้งจากเรื่องราวของ  “หมวกกันน๊อก”

ภาพหลุย สก๊อตและ มอเตอร์ไซค์ คู่ใจจาก Instragram

เปิดไฟใส่หมวก วลีที่รณรงค์มายาวนานของการขับขี่ปลอดภัยเพื่อสร้างเสริมคุณลักษณะที่ดี ในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ให้ปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการสร้างสำนึกในพฤติกรรมการขี่รถมอเตอร์ไซค์ของคนไทยให้มีความใส่ใจต่อการเดินทางในยานยนต์ที่สะดวกสบายมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามผลักดันโดยค่ายรถจักรยานยนต์รายใหญ่อย่าง  Honda  แต่นาทีนี้ประเด็น กลับตกมาอยู่ตัวบทกฎหมายว่า กฎหมายอาจจะคิดน้อยไปว่า หมวกกันน๊อกที่ถูกกฎมายช่วยให้ความปลอดภัยกับประชาชนแล้วแท้ที่จริงควรจะเป็นอย่างไร

ที่จริงแล้วประเด็นกฎหมายที่ออกมาเกี่ยวกับหมวกกันน๊อค จนกลายเป็นประเด็นปัญหาสังคม  และสืบเนื่องไปถึงช่องทางทำมาหากินของสีกากีในเรื่องการจับปรับผู้กระทำผิด พรบ.กฎหมายจราจรทางบก พ.ศ. 2522  ซึ่งระบุในมาตรา   122 ที่ระบุให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถมอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกนิรภัย  ในขณะขับขี่หรือโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ และกล่าวทิ้งเพียงว่า หมวกกันน๊อกที่ถูกกฎหมายให้เป็นไปตามกฎกระทรวง

หมวกกันน๊อคแบบครึ่งใบอาจจะไม่เหมาะสำหรับขี่บิ๊กไบค์ที่มีความเร็ว

ปัญหาทางด้านกฎหมายในเรื่องหมวกกันน๊อกนี้ แท้ที่จริงกลับกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากกฎกระทรง ที่ขาดความชัดเจน โดย กฎกระทรวงฉบับที่ 14  พ.ศ. 2535 เป็นกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความในพรบ.การจราจรทางบก ดังกล่าว โดยสมัยนั้น พลตำรวจเอก เภา สารสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในข้อความของกฎกระทรงเป็นที่ชัดเจนว่า หมวกกันน๊อกที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถใช้ได้มีสามแบบด้วยกัน ได้แก่

"หมวกนิรภัยแบบปิดเต็มหน้า" (แบบกระจกหน้าเต็ม) โดยกำหนดให้บังลมต้องทำจาก วัสดุโปร่งใสและไม่มีสี  ต่อมาเป็น "หมวกนิรภัยแบบครึ่งใบ" หมายถึงหมวกกันน๊อคเป็นรูปครึ่งทรงกลมปิดด้านข้างและด้านหลังเสมอระดับหู ในกรณีที่มีบังลม บังลม ต้องทำจาก วัสดุโปร่งใสและไม่มีสี ซึ่งทั้งสองแบบส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหากับเจ้าพนักงานเท่าไรนัก

แต่ปัญหามันมาอยู่ที่ "หมวกนิรภัยแบบเต็มใบ"  หรือหลายคนอาจจะเรียกว่า  Full Face   ซึ่งปัจจุบันหมวกกันน๊อคแบบนี้ได้รับความนิยมจากผู้ขับขี่บิ๊กไบค์  และสามารถสร้างความปลอดภัยในการปกป้องได้มากกว่า ตามข้อความจาก กฎกระทรวงดังกล่าวระบุว่า

"หมวกนิรภัยแบบเต็มใบ" หมายความว่า หมวกนิรภัยที่เปลือกหมวกเป็น รูปทรงกลม ปิดด้านข้างและด้านหลังเสมอแนวขากรรไกรและต้นคอด้านหลัง ด้านหน้าเปิด เหนือคิ้ว 

ถ้าว่าตามกฎหมาย หมวกกันน๊อกเต็มใบแบบนี้ ถูกต้องตามกฎหมายครับ

แต่ดูเหมือนที่นักกฎหมายบ้านเราจะใช้ไอคิวต่ำไปนิดไม่มองความเป็นจริงว่า หมวกกันน๊อกแบบเต็มใบก็ต้องมีบังลมหน้าเช่นกัน ทำให้ เจ้าหน้าที่หลายคนอาศัยความตามที่พวกเขาเข้าใจว่าบังลมหน้าต้องใสไม่มีสีเป็นเครื่องวัดว่า หมวกกันน๊อกเต็มใบที่ใช้ หรือคุณสวมใส่ถูกหรือไม่

และยิ่งกว่านั้น ตามข้อสองของ กฎกระทรวงเดียวกัน  ยังสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตหมวกกันน๊อกในประเทศไทยให้ปวดเศียรเวียนเกล้า ว่า

ข้อ 2 หมวกนิรภัยให้ใช้ได้ 3 แบบ คือ หมวกนิรภัยแบบปิดเต็มหน้า หมวกนิรภัย แบบเต็มใบและหมวกนิรภัยแบบครึ่งใบ

ในกรณีที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับหมวกนิรภัยแบบใดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว หมวกนิรภัยที่จะใช้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

 

ก่อให้เกิดปัญหาตามมาที่สำคัญ คือ หมวกกันน๊อกที่จะถูกกฎหมายจริงๆ นั้นจะต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย ทั้งที่หมวกกันน๊อคที่วางขายในต่างประเทศ และนำเข้ามาจำหน่ายมากมายหลายรุ่นนั้น มีมาตรฐานการปกป้องความปลอดภัย สูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมที่เราใช้กันในประเทศ จนเคยเป็นคำถามจากทางผู้ค้าและผู้ผลิตว่า สรุปหมวกันน๊อคที่ชื่อดังจากเมืองนอก มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับที่สามารถใช้ได้ในสนามแข่งนั้นไม่สามารถนำมาใช้ในไทยได้ เพียงเพราะมันไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ  มอก. แบบนี้ ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

ความจริงแล้วในยุคหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.   2545   เคยมีความพยายามเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎมาตรฐานความปลอดภัยที่บัญญัติในกฎกระทรวงดังกล่าว โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ  สมอ.   เคยมีแนวคิดจะทำให้หมวกกันน๊อคไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยเตรียมที่จะปรับมาตรฐานสู่มาตรฐานสากลโลก  UNECE R22 ซึ่งก็ไม่มีข่าวคราวออกมาอีก เว้นแต่ในข่าวที่ออกมาในตอนนั้นคาดว่าการปรับตัวสู่กฎหมายใหม่จะมีขึ้นในปี พ.ศ.  2553  ทีผ่านมา

ถามว่าหมวกกันน๊อกเต็มใบผิดหรือไม่ มาถึงตรงนี้คงชัดว่า หมวกกันน๊อกเต็มใบไม่ได้ผิดกฎหมายอย่างที่เข้าใจ ตามที่เป็นกระแสสังคม เพียงแต่กฎหมายบางตัวที่เกี่ยวข้องกับหมวกกันน๊อกกลับไม่ระบุไว้ชัดเจน ทำให้ เจ้าหน้าที่ตีเอาเหมาเอาเองตามวิจารณญาณหรือฟังมาจากผู้บังคับบัญชาว่า หมวกแบบนี้คือหมวกที่ผิดกฎหมาย ....ทั้งที่ต้องทำความเข้าใจกับกฎหมายให้ถี่ถ้วน...

 

 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook ,Twiter (@nattayodc)

 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ