Chevrolet พาคุณมารู้จักการทำงานของระบบขับเคลื่อนรถกัน

  • โดย : สุกิจ เลิศธนะแสงธรรม
  • 19 ก.พ. 58
  • 10,504 อ่าน

ถ้ารู้จักระบบขับเคลื่อนของรถแต่ละประเภท ก็จะทำให้คุณใช้รถอย่างมีประสิทธิภาพช่วยในการฝ่าอุปสรรคต่างๆในสภาพถนนที่แตกต่างกัน

 

คุณเคยสงสัยไหมว่ารถที่คุณใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นรถระบบขับเคลื่อนแบบไหน แล้วคำศัพท์ทั้ง FWD RWD AWD 4WD ซึ่งเป็นชื่อย่อของระบบขับเคลื่อนนั้นมีความหมายและวิธีการทำงานเป็นอย่างไรวันนี้ Chevrolet ขอนำเสนอการทำงานของ ระบบขับเคลื่อน แต่ละประเภทดังต่อไปนี้


ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า (FWD): กำลังเครื่องยนต์จะถูกส่งไปที่ล้อคู่หน้าเพื่อขับเคลื่อนตัวรถ ระบบขับเคลื่อนประเภทนี้ ได้รับความนิยมมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากมีขนาดเล็กซึ่งจะช่วยยกระดับความประหยัดเชื้อเพลิงและเพิ่มพื้นที่ภายในห้องโดยสาร นอกจากนี้น้ำหนักเครื่องยนต์ส่วนใหญ่จะตกบนล้อขับเคลื่อนคู่หน้าซึ่งจะช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนนให้ดียิ่งขึ้น โดยจะพบในรถเก๋งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จากโซนเอเชีย และรถยุโรปบางยี่ห้อ

โดยทั่วไปรถขับเคลื่อนล้อหน้ามีแนวโน้มที่จะเกิดอาการอันเดอร์สเตียร์ (understeer หรือตัวรถไม่เลี้ยวตามการสั่งงาน) ซึ่งจะเกิดขึ้นหากมีการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงเกินไป ในสถานการณ์รุนแรงตัวรถอาจไถลไปข้างหน้าโดยไม่สามารถควบคุมได้ถึงแม้ผู้ขับขี่จะหักเลี้ยวพวงมาลัยก็ตาม

ะบบขับเคลื่อนล้อหลัง (RWD): กำลังเครื่องยนต์จะถูกส่งไปที่ล้อคู่หลังเพื่อขับเคลื่อนตัวรถ ระบบขับเคลื่อนประเภทนี้ได้รับความนิยมในรถยนต์นั่งมานานจนกระทั่งระบบขับเคลื่อนล้อหน้ามาแทนที่ในช่วงทศวรรษ (ค.ศ.) 1980 แต่ระบบขับเคลื่อนล้อหลังสามารถรองรับเครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงกว่าและตัวรถที่มีน้ำหนักมากกว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบขับเคลื่อนล้อหน้าทำให้นิยมใช้ในรถกระบะขนาดใหญ่ รถสมรรถนะสูงที่ทรงพลังและมีขนาดใหญ่ รถแข่ง และรถตำรวจ

ในสถานการณ์การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ระบบขับเคลื่อนล้อหลังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการ   โอเวอร์สเตียร์ (oversteer) ตัวรถจะหมุนไปมากกว่าการควบคุม ในสถานการณ์รุนแรงตัวรถจะสไลด์หรือหมุนคว้าง โอเวอร์สเตียร์เป็นอาการสูญเสียการทรงตัวที่ควบคุมได้ยากกว่าอันเดอร์สเตียร์จึงมีอันตรายมากกว่า

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา (AWD): ทั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลากับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อมีการขับเคลื่อนล้อทั้งสี่เหมือนกันโดยมีความแตกต่างกันที่การออกแบบและการทำงาน

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลาทำงานเหมือนระบบขับเคลื่อนล้อหน้าหรือขับเคลื่อนล้อหลังแต่ส่วนใหญ่จะเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลาจะส่งกำลังไปที่เพลาหน้าและหลังระหว่างการออกตัวเพื่อป้องกันการลื่นไถลและจะเปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้าถ้าไม่มีการลื่นไถล กำลังจะถูกส่งต่อโดยอัตโนมัติผ่านชุดทรานส์เฟอร์ถ่ายทอดกำลังขับแบบซิงเกิลสปีด (ชุดทรานเฟอร์เชื่อมต่อกับระบบเกียร์เพื่อแยกกำลังระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง) ความโดดเด่นของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา คือ ผู้ขับขี่ไม่ต้องปรับระบบขับเคลื่อนด้วยตนเอง

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลาเหมาะสำหรับคนที่มองหารถที่มีสมรรถนะยอดเยี่ยมบนถนนทั่วไปและมีประสิทธิภาพการยึดเกาะบนพื้นหญ้า โคลน ทราย หรือกรวด ตลอดจนเส้นทางออฟโรดแบบไม่สมบุกสมบันมากนักซึ่งรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าหรือล้อหลังอาจไม่สามารถขับผ่านได้ ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลามีแนวโน้มจะเกิดอาการอันเดอร์สเตียร์เหมือนระบบขับเคลื่อนล้อหน้าถ้าขับขี่ด้วยความเร็วสูงเกินไป

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4WD หรือ 4x4): ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อใช้ชุดทรานส์เฟอร์ถ่ายทอดกำลังขับแบบสองสปีดโดยมีการใช้อัตราทดความเร็วสูงและอัตราทดความเร็วต่ำเพื่อการยึดเกาะถนนสูงสุด ระบบนี้พบในรถกระบะขับเคลื่อนล้อหลังขนาดใหญ่และรถเอสยูวีขนาดใหญ่ที่มีระยะห่างจากพื้นถนนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับรถยนต์นั่งและรถครอสโอเวอร์ โดยรถขับเคลื่อนสี่ล้อจะมอบศักยภาพและสมรรถนะการขับขี่ที่ดีที่สุดบนทางออฟโรด

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อจะทำงานด้วยระบบขับเคลื่อนล้อหลังจนกว่าจะมีความจำเป็นต้องใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (เรียกว่าระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบพาร์ทไทม์หรือปรับได้ตามต้องการ) ในขณะที่รถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบฟูลไทม์นั้นจะใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดการขับขี่ ชุดทรานส์เฟอร์ถ่ายทอดกำลังที่ติดตั้งตรงกลางระบบเกียร์จะควบคุมว่าแรงบิดควรถูกกระจายระหว่างล้อหน้าและล้อหลังเท่าใด โดยทั่วไปแรงบิดจะถูกส่งไปที่ล้อหลังและจะเปลี่ยนเป็นหน้า/หลังแบบ 50/50 บนทางออฟโรดและบนสภาพถนนที่เปียกลื่นซึ่งต้องการเสถียรภาพสูงสุด ผู้ขับขี่ที่ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อฟูลไทม์จะต้องเปลี่ยนมาใช้อัตราทดความเร็วต่ำด้วยตนเอง

นอกจากระบบขับเคลื่อนที่กล่าวมานี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายๆยี่ห้อยังพัฒนาระบบอิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ช่วยเสริมการทำงานระบบขับเคลื่อนหลัก ให้มีประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง ระบบเหล่านี้มีทั้งการป้องกันล้อหมุนฟรี การควบคุมการลื่นไถลและการควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว พร้อมกันนี้ยังมีระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill-Descent Control) และระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางชัน (Hill-Start Assist) เพื่อรองรับการขับขี่บนทางออฟโรดและถนนที่เปียกลื่นได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อรู้จักการทำงานระบบขับเคลื่อนของรถแล้ว เราจึงอยากให้เจ้าของรถทุกท่านศึกษาและทราบถึงศักยภาพของรถที่คุณใช้อยู่เพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพในท่ามกลางสภาพถนนที่แตกต่างกัน แล้วรถคู่ใจของคุณจะอยู่คู่กับคุณไปอีกนาน


 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ