Arun Plus ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ Net Zero กลุ่ม ปตท. เดินหน้าสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรกับพันธมิตรชั้นนำของโลก
- โดย : PR Autodeft
- 23 มี.ค. 66 00:00
- 2,490 อ่าน
Arun Plus (อรุณ พลัส) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ประกาศศักยภาพในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) พร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำของโลก เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ทั้งรถบัสไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ระบบกักเก็บพลังงาน สถานีชาร์จ จักรยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีสลับแบตเตอรี่รถจักรยานย
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา PTT Group Tech & Innovation Day 2023 ว่า “กลุ่ม ปตท. ได้ประกาศเจตนารมณ์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 และได้มีการดำเนินงานที่เห็นเป็นภาพชัดเจนแล้วหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศปรับสัดส่วนรายได้ภายในปี 2573 จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 30% และในปี 2583 เพิ่มสัดส่วนของการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลงอีกกว่า 50% ซึ่งหนึ่งในการดำเนินงานดังกล่าว ก็คือ บริษัทอรุณ พลัส จำกัด และบริษัทในกลุ่ม ที่จะเข้ามาเป็นทั้งผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นผู้สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแบบครบวงจร”
แม้ว่า อรุณ พลัส กำลังอยู่ระหว่างการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า แต่ก็มีความคืบหน้าไปแล้วหลายด้าน โดยเฉพาะการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำของโลก ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่มอรุณ พลัสเองก็ได้เดินหน้าสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยไปแล้ว การดำเนินงานของ อรุณ พลัส ยังจะนำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ทั้งจากการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การเกิดใหม่ของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัป โดยเฉพาะการพัฒนาของกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ซึ่งมีศักยภาพสูงเป็นที่ยอมรับในระดับโลกให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นซัพพลายเออร์ให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ อรุณ พลัส มีจุดเริ่มต้นมาจากการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดการสร้างภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จึงไม่เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่จะต้องสร้างและพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรให้เกิดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “EV Ecosystem Partnership for Future Mobility” ผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งระดับโลกและภายในประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจยานยนต์แห่งอนาคต ตลอดจนสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากพันธมิตรชั้นนำของโลกเข้ามาในประเทศไทย
ที่ผ่านมากลุ่มอรุณ พลัส ได้ดำเนินการสร้างและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ อาทิ การร่วมมือกับ Foxconn ตั้ง Horizon Plus บริษัทร่วมทุนเป็นผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน ร่วมมือกับ GPSC ก่อตั้ง Nuovo Plus บริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ร่วมมือกับ GC และ IRPC ลงทุนด้านวัตถุดิบที่นำเม็ดพลาสติกมาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ การลงทุนสร้าง Online Platform ให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรโดย EVme Plus เพื่อให้ผู้ที่สนใจใช้งาน EV สามารถเช่าไปทดลองขับก่อนตัดสินใจซื้อ หรือใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ การลงทุนติดตั้ง EV Charger นอกสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์ on-ion การร่วมมือกับ OR เพื่อให้บริการสถานีชาร์จภายในสถานีบริการน้ำมัน และบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้ากับศูนย์ Fit Auto นอกจากนี้ อรุณ พลัส กำลังเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลกอย่าง ซีเอทีแอล (CATL) ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและระบบจัดเก็บพลังงาน โดยคาดว่าภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปในการผลิตแบตเตอรี่ร่วมกันในประเทศไทย
นอกจากนี้กลุ่มอรุณ พลัส ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศ เพื่อลงทุนผลิตรถโดยสารระบบไฟฟ้า หรือ E-Bus ขนาด 7 เมตร 9 เมตร และ 12 เมตร แบบครบวงจร ตั้งแต่ผลิตรถ ซ่อมบำรุง ติดตั้งเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ จัดหาและฝึกอบรมพนักงานขับรถ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างหารือพันธมิตรผู้ผลิตชิ้นส่วนจากประเทศจีน เพื่อให้สามารถผลิต E-Bus ได้ทั้งคันภายในประเทศไทย ตลอดจนการวางแผนผลิต Smart E-Bus ที่มีระบบเทคโนโลยีขั้นสูงด้านความปลอดภัย ระบบแจ้งเตือน และระบบที่ทันสมัยอื่นๆ
อรุณ พลัสให้ความสำคัญกับการสร้างและส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ซึ่งหลักๆ คือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญๆ และต้องมองไปถึง EV Infrastructure เพื่อให้ผู้คนที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้า มั่นใจว่าจะได้รับความสะดวกสบาย ทั้งในเรื่องสถานีชาร์จแบตเตอรี่ บริการซ่อมบำรุง และการดูแลรักษา ภายในช่วงปลายปี 2566 อาจมีผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ออกมาเพิ่มเติม รวมไปถึงจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังร่วมมือกับพันธมิตรจากต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาและขยายสถานีชาร์จใหม่ๆ และการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่ๆ มาให้บริการทดลองขับมากขึ้น
# # # #
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com