วิธีคำนวณภาษีรถยนต์ประจำปี 2567 ว่ารถแต่ละคันจะต้องจ่ายเงินเท่าไหร่

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 29 มิ.ย. 63
  • 497,047 อ่าน

หน้าที่หลักของผู้ใช้งานรถยนต์, รถจักรยานยนต์บนท้องถนน คือการที่ต้องชำระภาษีประจำปี 2567 หรือที่เราเรียกกันมาเนิ่นนานแล้วว่า ป้ายวงกลม (ถึงแม้ปัจจุบันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วก็ตาม) ไม่อย่างนั้นแล้วถ้าถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจเมื่อไหร่แล้วป้ายหมดอายุไปแล้ว จะถูกเรียกปรับเงินได้ทันที จึงเป้นคำถามที่พบเจอได้บ่อยว่า แล้วเขาคิดคำนวนค่าภาษีรายปีกันอย่างไร วันนี้เรามาดูกันครับ

ภาษีรถยนต์

ป้ายดำ (อักษรสีดำ พื้นขาว)

สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลนั่งไม่เกิน 7 คน อย่างเช่นรถเก๋งทั่วไป, รถกระบะ 4 ประตู, รถอเนกประสงค์ SUV ที่มีเบาะนั่งได้ไม่เกิน 7 คน จะมีการคำนวณค่าภาษีประจำปีจากจำนวนความจุของกระบอกสูบ ตามอัตรานี้

  • 600 ซีซีแรก ซีซีละ 0.50 บาท
  • 601 - 1,800 ซีซี ๆ ละ 1.50 บาท
  • เกิน 1,800 ซีซี ๆ ละ 4.00 บาท

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ใหม่ Toyota Camry รุ่น 2.0 G มีความจุกระบอกสูบ 1,998 ซีซี จะมีการเรียกเก็บตามขั้นตามนี้

- 600 ซีซีแรก = 300 บาท (600 x 0.5 บาท)

- 601 - 1,800 ซีซีต่อมา (1800 - 600 = 1,200 ซีซี) = 1,800 บาท (1,200 x 1.50)

- 1801 - 1998 ซีซีต่อมา (1998 - 1800 = 198 ซีซี) = 792 บาท (198 x 4)

รวมทั้ง 3 ขั้น เป็น 600 + 1,800 + 792 = 3,192 บาท/ปี

โดยอัตรานี้เฉพาะผู้ที่ครอบครองเป็นแบบบุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนรถที่ทำการจดทะเบียนเป็นแบบนิติบุคคลนั้น จะต้องเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2567 เป็น 2 เท่า

และเมื่อรถมีการใช้งานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป จะมีการเสียภาษีรถยนต์ลดลงตามสัดส่วนดังนี้

  • ปีที่ 6 ได้ส่วนลด 10%
  • ปีที่ 7 ได้ส่วนลด 20%
  • ปีที่ 8 ได้ส่วนลด 30%
  • ปีที่ 9 ได้ส่วนลด 40%
  • ปีที่ 10 และต่อไปจนยกเลิกการใช้ ได้ส่วนลด 50%

ถ้าคำนวณตามตัวอย่างข้างต้น ก็จะเสียดังนี้

- ปีที่ 6 ต่อภาษีรถยนต์เป็นเงิน 2,872.80 บาท

- ปีที่ 7 ต่อภาษีรถยนต์เป็นเงิน 2,553.60 บาท

- ปีที่ 8 ต่อภาษีรถยนต์เป็นเงิน 2,234.40 บาท

- ปีที่ 9 ต่อภาษีรถยนต์เป็นเงิน 1,915.20 บาท

- ปีที่ 10 และต่อไปจนยกเลิกการใช้ ต่อภาษีรถยนต์เป็นเงิน 1,596 บาท

ภาษีรถยนต์

ป้ายเขียว (อักษรสีเขียว พื้นขาว)

ในส่วนของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น รถกระบะตอนเดียว, รถกระบะแค็ป (ไม่รวม 4 ประตู เพราะถือว่าเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง) จะใช้วิธีการคำนวนค่าภาษีรถยนต์ประจำปีตามน้ำหนักของตัวรถ ดังนี้

  • ไม่เกิน 500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 300 บาท
  • 501 - 750 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 450 บาท
  • 751 - 1,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 600 บาท
  • 1,001 - 1,250 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 750 บาท
  • 1,251 - 1,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 900 บาท
  • 1,501 - 1,750 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,050 บาท
  • 1,751 - 2,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,350 บาท
  • 2,001 - 2,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,650 บาท
  • 2,501 - 3,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,950 บาท
  • 3,001 - 3,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 2,250 บาท
  • 3,501 - 4,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 2,550 บาท
  • 4,001 - 4,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 2,850 บาท
  • 4,501 - 5,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 3,150 บาท
  • 5,001 - 6,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 3,450 บาท
  • 6,001 - 7,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 3,750 บาท
  • 7,001 กก. ขึ้นไป อัตราค่าภาษีรถยนต์ 4,050 บาท

โดยอัตรานี้จะถูกเรียกเก็บอัตราเดียวจนกว่าจะยกเลิกการใช้งาน โดยน้ำหนักของตัวรถนั้น สามารถดูได้จากสมุดเล่มทะเบียนรถ อย่างเช่น Isuzu D-Max Hilander 3.0 Ddi ZP มีน้ำหนักตัวรถ 1,855 กก. จะเสียค่าภาษีรถยนต์ปีละ 1,350 บาท

ภาษีรถยนต์

ป้ายฟ้า (อักษรสีฟ้า พื้นขาว)

สำหรับรถยนต์ประเภทนั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เช่นรถตู้, รถ MPV 11 ที่นั่ง จะมีการเรียกเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีตามน้ำหนักของตัวรถเช่นกัน ดังนี้

  • ไม่เกิน 500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 150บาท
  • 501 - 750 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 300 บาท
  • 751 - 1,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 450 บาท
  • 1,001 - 1,250 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 800 บาท
  • 1,251 - 1,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,000 บาท
  • 1,501 - 1,750 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,300 บาท
  • 1,751 - 2,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,600 บาท
  • 2,001 - 2,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 1,900 บาท
  • 2,501 - 3,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 2,200 บาท
  • 3,001 - 3,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 2,400 บาท
  • 3,501 - 4,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 2,600 บาท
  • 4,001 - 4,500 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 2,800 บาท
  • 4,501 - 5,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 3,000 บาท
  • 5,001 - 6,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 3,200 บาท
  • 6,001 - 7,000 กก. อัตราค่าภาษีรถยนต์ 3,400 บาท
  • 7,001 กก. ขึ้นไป อัตราค่าภาษีรถยนต์ 3,600 บาท

โดยอัตรานี้จะถูกเรียกเก็บอัตราเดียวจนกว่าจะยกเลิกการใช้งาน โดยน้ำหนักของตัวรถนั้น สามารถดูได้จากสมุดเล่มทะเบียนรถเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Toyota Commuter น้ำหนักตัวรถ 2,325 กก. จะเสียค่าต่อทะเบียนประจำปีรวม 1,900 บาท

ภาษีรถยนต์

รถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล จะได้รับการติดป้ายตามรูปแบบของตัวรถ อย่างเช่น Tesla Model 3 หรือ BYD Seal จะถูกจัดเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง แต่เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีเครื่องยนต์ในการคิดอัตราค่าต่อทะเบียนประจำปี เหมือนรถยนต์ทั่วไปได้ จึงให้มีการคำนวนภาษีรถยนต์ในรูปแบบตามน้ำหนักรถยนต์เช่นเดียวกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คนแทน

ภาษีรถยนต์

รถจักรยานยนต์

ในส่วนของรถจักรยานยนต์นั้น จะถูกเรียกเก็บค่าต่อทะเบียนประจำปีเป็นรายคัน จำนวน 100 บาท/ปี ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ Honda Scoopy i หรือ BMW R 1250 GS ก็จะเสียในอัตราเดียวกัน แต่ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จะถูกเรียกเก็บเพียงครึ่งเดียวนั่นคือปีละ 50 บาทเท่านั้นเอง

ภาษีรถยนต์

ทั้งนี้ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเป็นการคำนวณของรถยนต์, รถกระบะ, รถตู้ หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในรูปแบบส่วนบุคคลเท่านั้น ส่วนรถรับจ้าง ที่มีการติดป้ายในสีอื่น ๆ นั้น จะถูกเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันไป

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ