Hands On : Toyota Hilux Revo Smart Cab ลองสักทีเวอร์ชั่นนี้ ที่หลายคนรอคอย
- โดย : Autodeft
- 13 ก.ค. 58 00:00
- 22,972 อ่าน
พบบททดสอบ Toyota Hilux Revo Smart Cab สมรรถนะลงตัวกว่าที่คิดในร่างตอนครึ่งที่หลายคนหมายปอง
เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)
“ปฏิวัติทุกมิติแห่งกระบะอนาคต” วลีนี้กลายเป็นที่คุ้นหูในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงรถยนต์ Toyota Hilux Revo ใหม่ ออกมาจับใจสาวกกระบะที่ต่างเฝ้ารอคอยกระบะรุ่นใหม่สุดตัวสุดท้ายที่เพิ่งเริ่มทำตลาดอย่างเป็นทางการ ด้วยการเป็นรถกระบะยอดนิยมของชาวไทยมายาวนาน ทำให้กระบะรุ่นนี้เป็นที่หมายปองของใครหลายคน
เมื่อไม่นานมานี้เราอาจจะมีโอกาสสัมผัสรถเวอร์ชั่น 4 ประตูไปแล้ว ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งดีงามในรถยนต์กระบะคันนี้ไปมากพอสมควร แต่ในครั้งนี้ Toyota ต้องการให้เราลองสิ่งที่แตกต่างในความรู้สึกการขับขี่ และมันย่อมไม่ธรรมดา เมื่อเรากำลังเดินทางจากกรุงเทพไปยังสนามแข่งใหม่ล่าสุดของเมืองไทยมาตรฐานโลก ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ซึ่งครั้งนี้จะกลายมาเป็นสนามทดสอบของรถยนต์ Toyota Hilux Revo ใหม่ ให้เราได้ลองอย่างถึงพริกถึงขิง
การเนรมิตสนามช้างฯ ให้กลายเป็นเส้นทางการขับขี่ทดสอบ Toyota Hilux Revo Smart Cab ถือเป็นเรื่องอลังการงานสร้างที่ทาง Toyota ต้องการสื่อสารสมรรถนะของกระบะใหม่ของพวกเขาว่า มันมีดีในการขับขี่มากกว่าแค่กายภายนอกที่อาจจะทำให้คนหลงใหลตัวตนการออกแบบ
โดยในครั้งนี้ Toyota พาเรารู้จักตัวตนของ Toyota Hilux Revo Smart Cab มากขึ้น ซึ่งในภาพรวมก็มีการออกแบบต่างๆ คล้ายกับในรุ่น 4 ประตู ไม่ว่าจะกระจังหน้าแบบโครเมี่ยมสามแถบ ไฟหน้าฮาโลเจน มัลติรีเฟลคเตอร์ ที่มาพร้อมระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ตลอดจนการให้ล้ออัลลอยขอบ 17 นิ้ว พร้อมยางแบบ All Terrain ติดตัวมาจากโรงงาน
ด้านพื้นที่การใช้สอยในห้องโดยสารในรุ่น Smart Cab ในเรื่องความยาวของห้องโดยสารนั้นไม่ได้มีการปรับให้กว้างขึ้น เนื่องจากมีข้อบังคับตามกฎหมาย แต่การสืบทอดแนวคิวจาก Toyota Hilux Vigo การออกแบบให้แคปโดยสารเปิดได้ กลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Toyota Hilux Revo Smart Cab มีความลงตัวในการใช้งานมากขึ้น
ส่วนเรื่องออพชั่นภายใน ทั่วไปก็คล้ายกับออพชั่นทีเราคุ้นเคยในตัว 4 ประตู ตั้งแต่พวงมาลัยที่สามารถปรับตั้งได้ 4 ทิศทางขึ้น-ลง และ ยืดเข้ายืดออกได้ ไปจนถึงกล่องเก็บความเย็น และ ระบบเครื่องเสียงต่างๆ ซึ่ง ในเรื่องของการออกแบบไม่มีความแตกต่างกันเลย
ลองดีในสนามช้าง หวดเต็มสมรรถนะ
ที่ผ่านมาการมาสนามช้างหลายครั้ง เราจะมีโอกาสที่จะมาลองดีในสนามแห่งนี้กันอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสทีจะนำรถกระบะยอดนิยมของคนไทย
ด่านแรกวันนี้เป็นการนำ Toyota Hilux Revo Smart Cab รุ่น Pre-runner 2.8 G ลงจัดหนักสมรรถนะการขับขี่ในสนามแข่ง โดยทางทีมงานได้เตรียมด่านทดสอบต่างๆไว้ให้เรา ลองวิชาการขับขี่ไม่ว่าจะ การขับขี่แบบ สลาลอม , การเข้าโค้ง หรือ การเบรก และการควบคุม ไปจนถึง การเปลี่ยนเลน ทั้งหมด ..เราจะได้ทราบกันในไม่กี่อึดใจ
ไม่นานก็ถึงเวลาที่เราจะต้องหยอดเหรียญรถกระบะ Toyota Hilux Revo Smart Cab ขึ้นนั่งเสร็จสรรพเรียบร้อยสัมผัสแรกของรุ่นตอนครึ่งเปิดได้นั่นไม่มีความแตกต่างในเรื่องความสบายในการขับขี่ จนคุณรู้สึกได้ เว้นเพียงพื้นที่โดยสาร ซึ่งหันหลังไปจะไม่มีที่นั่งตอนหลัง ก็เท่านั้น ส่วนความสบายยังสามารถสัมผัสได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะที่เราชอบที่สุดเป็นเบาะนั่งในยามขับขี่
ทุกอย่างพร้อมเราเดินเครื่องลงสนามแข่งระดับโลก พร้อมความท้าทายในการขับขี่ กับด่านแรกการทดสอบการควบคุมพวงมาลัยในด่าน สลาลอม โดยทาง Toyota ให้เราใช้ความเร็วที่ 60 ก.ม./ช.ม. ในการเข้าการซิกแซก ซ้าย-ขวา และ Toyota Hilux Revo Smart Cab เริ่มแสดงตัวตนของมันผ่านการควบคุมที่ง่ายดาย ซึ่งตัวน้ำหนักพวงมาลัยของรถอยู่ในเกณฑ์กำลังดี ส่วนเรื่องการควบคุมทิศทางค่อนข้างจะมีจังหวะตึงมือกว่าในรุ่นสี่ประตูเล็กน้อย เมื่อประกอบกับการวิศวกรรมรถเป็นแบบตอนครึ่ง ซึ่งมีท้ายยาวและท้ายเบา ในยามที่ไม่บรรทุกสิ่งของ ทำให้ การขับรถทำกิจกรรมเข้าจังหวะแบบนี้เป็นไปได้ง่าย รถค่อนข้างมีความคล่องตัวในระดับที่น่าพอใจ
จากสถานีสลาลอม เราเดินทางตามไลน์สนาม ผ่านโค้งต่างๆ ของสนาม ซึ่ง Toyota Hilux Revo Smart Cab เริ่มแสดงศักยภาพในการขับขี่อกมาในเรื่องของความสมดุลในตัวตน ซึ่ง พอที่จะสัมผัสได้ในระหว่างการเดินทาง ด้วยการใช้พวงมาลัย หรือระบบกันสะเทือนที่ถูกปรับให้มีการตอบสนองที่ดีกว่า ในรุ่นสี่ประตู เพื่อลองรับการใช้งานเพื่อการบรรทุก ด้วยการใส่แหนบบรรทุก หรือที่หลายคนเรียกว่าแหนบตัวสั้นเข้ามา
นอกจากนี้ในระหว่างการบรรยายสรรพคุณทางเทคนิค ทาง Toyota ยังอธิบายว่า ทางทีมวิศวกรได้มีการปรับจุดหูยึดแหนบใหม่ เพื่อให้มีความลงตัวในการขับขี่มากขึ้น จากการวางหูแหนบให้เยื้องลงต่ำ ก็ปรับให้มาอยู่ตรงกลางของจุดยืด เพื่อซับแรงกระแทกจากถนนดีกว่าเดิม และเป็นที่น่าสังเกตจากตัวแชสซีที่โชว์ว่า ทาง Toyota ยังออกแบบ ให้โช๊คอัพทำมุมค่อนข้างชันพอสมควร
ด้วยสภาพผิวแทรคที่เรียบเนียนตลอดเส้นทางทำให้เรายังไม่สามารถบอกอะไรจากข้อเท็จจริงทางด้านวิศวกรรมได้มากมายนัก แต่การขับขี่ Toyota Hilux Revo Smart Cab ในสนามทำให้เรารู้สึกได้ถึงสมดุลการขับขี่ที่มีความลงตัว ไม่ว่าจะจากการปรับแต่งพวงมาลัยที่เน้นในความแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย รวมถึงการปรับระบบกันสะเทือนยังออกมาในรูปแบบของความแข็งกระด้างตามสไตล์ดั้งเดิม ที่แอบแฝงด้วยความแน่นหนึบ จนโค้งกว้างในสนามแข่งชั้นนำเราสามารถที่ความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. ได้สบายๆ
ใกล้จะครบรอบสนาม เรามาถึงอีกด่านสำคัญกับการเปลี่ยนเลนกะทันหัน หรือ การทดสอบ Lane Change การผ่านโค้งอย่างต่อเนื่องทำให้เรามีความเร็วราวๆ 120 ก.ม./ช.ม. เราเริ่มลดความเร็วเพื่อเข้าสถานีที่ความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. ตามที่กำหนดเอาไว้ ระบบเบรกตอบสนองได้ดี เราเปลี่ยนเกียร์ลดตำแหน่งเพื่อช่วยดึงความเร็ว เราถึงกรวยตัวสุดท้ายที่จะต้องหักหลบ
ผมสะบัดพวงมาลัยไปทางขวาอย่างรวดเร็ว วินาทีนั้นรถเริ่มเปลี่ยนทิศทางตอบสนองอย่างดีเยี่ยมจนไม่คิดว่าจะได้เห็นสมรรถนะแบบนี้ในกระบะ แถมรถไม่มีอาการที่จะท้ายไถล แม้ว่าจะใช้ความเร็วในการเปลี่ยนทิศทาง พอสมควร
รอบแรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ในรอบที่สองนี้เป็นการจัดเต็มสมรรถนะล้วนๆ ครูฝึกที่นั่งข้างเรากดโหมด Power ให้เราได้เรียกสมรรถนะที่ดีที่สุดของรถออกมาใช้ในการขับขี่ รวมถึงยังเพิ่มความง่ายในการควบคุมของระบบ I M/T เข้ามาด้วย
ระบบ I M/T เป็นระบบผู้ช่วยสำคัญหากคุณต้องการขับรถระบบเกียร์ธรรมดาให้มีการตอบสนองในการขับขี่อย่างราบลื่น ไร้อาการกระตุก ระบบ I M/T สามารถช่วยให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ ด้วยการดูการทำงานของรอบเครื่องยนต์ , รอบความเร็ว ในระหว่างที่คุณกำลังจะเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ จากนั้นหน่วยประมวลผลจะทำการเร่งรอบเครื่องยนต์ขึ้นเล็กน้อยในระหว่างการเปลี่ยนเกียร์ ไม่ว่าจะเพิ่มอัตราทดเกียร์ หรือจะเป็นการลดตำแหน่งอัตราทดเกียร์ ซึ่งเหมาะมากสำหรับมือใหม่ แต่สำหรับมือขับเกียร์ธรรมดารุ่นเก๋า ระบบ I M/T นี้ช่วยให้คุณไม่ต้องพะวงในจังหวะเย่อคลัทช์ อย่างเช่นการขับในสนามแข่ง จังหวะที่นุ่มนวลมีผลต่ออาการเข้าโค้งของรถ
เราผ่านโค้งแรกเข้าสู่ทางตรง 1 กิโลเมตรบนสนามแห่งนี้ เราเหยียบมิดจัดหนักขับเต็มใน Toyota Hilux Revo Smart Cab เราขึ้นถึงความเร็ว 140 ก.ม/ช.ม. โดยง่าย แต่หลังจากนั้นเข็มเริ่มวิ่งช้าลงเล็กน้อย แต่สุดทางตรงในระยะที่เรายังสามารถเข้าโค้งได้ปลอดภัย เราได้ความเร็วมากถึง 162 ก.ม./ช.ม. แม้จะไม่ได้มีการจับสถิติอัตราเร่งอย่างเป็นทางการ แต่ถือว่าเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร มีอัตราเร่งที่ดีพอสมควรเกินตัวเลยทีเดียว
ออฟโรด ลุยมันๆ ลองจริงใน Revo Smart Cab
จากทางเรียบในสนาม Toyota Hilux Revo Smart Cab เริ่มแสดงให้เราเห็นศักยภาพในการขับขี่หลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบกันสะเทือนที่มีความลงตัวมากกว่ารุ่นสี่ประตู ตามความคิดเห็นของเรา ทว่ากับนอกถนน..บนเส้นทางลุยมันส์ๆ สมรรถนะจะเป็นอย่างไร
แมทช์นี้ Toyota ค่อนข้างทุ่มทุนอย่างมากในการใช้เวลา 3 วันเนรมิตพื้นที่ใกล้สนามช้างเป็นสนามออฟโรดชั่วคราว ...ฝนที่ตกหนักตลอดวันก่อนการทดสอบ ทำให้ทางทีมงาน Toyota แอบกังวลไม่น้อยว่า สนามที่พวกเขาจงใจสร้างขึ้นมาจะกลายหอกข้างแคร่ในการโชว์สมรรถนะ Toyota Hilux Revo เนื่องจากสภาพผิวดินในสนามนั้นเละสุดๆ สนามที่เป็นดินกึ่งทราย ตามความตั้งใจเดิมนั้น วันนี้ กว่า 60% กลายเป็นสภาพสนามโคลน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยากในขับขี่พอสมควร
ถึงเวลา เรากระโดดขึ้น Toyota Hilux Revo Smart Cab 2.8 G 4X4 เพื่อออกไปลุยตามเส้นทางจำลอง ทีออกแบบมาให้โชว์ศักยภาพกัน
“นี่วิศวกรญี่ปุ่นมาดูงานเองเลยนะ” พี่ครูฝึกที่รู้จักกันบอกผมในระหว่างที่เราค่อยๆ ไหลตามคันหน้า ไปยังเส้นทางทดสอบ “ แต่..เขาชอบจะเลือกไลน์ยากให้เรา เพราะต้องการรู้สมรรถนะการขับขี่ในรถคันนี้” ...ผมหันมอง...พร้อมคิดในใจ “ของ่ายๆ ได้เปล่า ...ไม่อยากโชว์ ติดโคลนวันนี้ ...อายเขา”
พูดถึงการลุยใน Toyota Hilux Revo ข้อดีของรถกระบะใหม่จาก Toyota คือพวกเขาใจปล้ำ ด้วยการให้ยางแบบ All Terrain หรือ AT มาจากโรงงาน ซึ่งยังไม่มีค่ายรถยนต์รายใดเคยทำแบบนี้มาก่อน การให้ยางแบบ AT มาจากโรงงานนั้น ทำให้ Toyota Hilux Revo มีความสามารถในการลุยมากกว่า กระบะรุ่นอื่นๆในตลาดเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง รถเดิมๆ จากโรงงานด้วยกัน ...
ถึงคิวเรา ...ด่านทดสอบวันนี้เริ่มต้นด้วยเนินสลับ แต่มองไปข้าง...หน้า นี่มันด่านโคลนชัดๆ ..ใจยังคิดจะผ่านไหม การลุยสไตล์ออฟโรด นอกจากทักษะการขับขี่แล้ว ตัวรถยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ สัญญาณพร้อมให้เราลุย ผมเหยียบคลัทช์เข้าเกียร์ และปล่อยคลัทช์ เข้าสู่รอบเดินเบา ใช้ความเร็วแบบ Walking Speed ตามที่ได้ร่ำเรียนมาเมื่อครั้น Mitsubishi พาเราไปเรียน ยังโรงเรียน 4X4 Spirit โรงเรียนสอนขับเคลื่อนสี่ล้อ แห่งแรกและแห่งเดียวที่มีอยู่ในไทยในเวลานี้
การใช้รอบเครื่องยนต์เดินเบาหรือ Walking Speed นี้ทำให้เราเห็นแรงบิดเพียวๆที่มาจากเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีประโยชน์มากในยามที่คุณลุย ทางออฟโรดแบบนี้
เส้นทางที่เป็นเนินสลับแบบโคลนๆแบบนี้ สิ่งที่ต้องแม่นยำไม่แพ้กำลังเครื่องยนต์ และต้องทำงานสัมพันธ์คือการตอบสนองของพวงมาลัยในการควบคุมทิศทางของตัวรถ ให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้โดยง่าย ไปในทิศทางต้องการ และจากสนามแข่งในด่านทางเรียบ ทำให้เราเรียนรู้ว่า จังหวะพวงมาลัยของ Toyota Hilux Revo Smart Cab ค่อนข้างแม่นยำ ยิ่งมื่อคุณอาจจะต้องเข้าป่า แล้วเจอสถานการณ์อันยากลำบากในการขับขี่
การควบคุมทิศทางที่แม่นยำ กำลังเครื่องที่มีพอสมควร เนินสลับปนโคลนแบบนี้ ถือว่าเป็นอุปสรรค์ที่ไม่ง่าย คุณอาจจะติดอุปสรรคก็ได้ แต่ Toyota Hilux Revo Smart Cab ก็พิสูจน์สมรรถนะของมัน เราผ่านอุปสรรคมาได้สบายๆ มีเพียงการสังเวยบันไดข้างบ้างเล็กๆน้อย จากนั้น ลงไปแช่ในบ่อโคลน แล้วต่อเนื่องด้วยอุปสรรคเนินเอียง ซึ่งหากรถมีการเกาะถนนไม่ดี อาจจะพลิกคว่ำได้ ยิ่งวันนี้สภาพทางเป็นกึ่งโคลนด้วยแล้ว ถือว่าค่อนข้างออกไปในทางอันตรายพอสมควร ก่อนจะตามต่อด้วยเนินสูงชัน พิสูจน์สมรรถนะกำลังเครื่องยนต์ และระยะมุมต่างๆ ของตัวรถ อีกครั้ง เป็นอันจบพิธี การลุย
ถึงเวลาพิสูจน์สมรรถนะบนถนน ตัวตนที่ต่างออกไป
ตลอดวันแรกที่บุรีรัมย์ Toyota Hilux Revo Smart Cab ทำให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่างในตัวตนที่มาพร้อมกับความลงตัวมากขึ้น ที่จริงนี่คือที่สุดของการเป็นรถยนต์กระบะขนานแท้ในสไตล์ที่ไม่ได้เป็นเก๋งแบบในรุ่นสี่ประตู แต่การขับในสนาม หรือการขับในทางออฟโรด ต่างก็ไม่ใช่ลักษณะการใช้งานจริงของผู้ใช้
การพิสูจน์สมรรถนะในการขับขี่บนถนนเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราทราบถึงตัวตนที่แท้จริง เมื่อต้องเดินทางจากบุรีรัมย์กลับกทม. ด้วยรถยนต์ Toyota Hilux Revo แม้ว่าช่วงแรกจะเป็นอีกครั้งที่เราได้ทบทวนความจำจากรุ่นสี่ประตูที่เคยพิสูจน์สมรรนถะไปแล้ว
และมันยังตอกย้ำเช่นเดิมในความสบายในการขับขี่และการโดยสาร แต่อย่างที่เราเคยมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ไปว่าระบบกันสะเทือนของ Toyota Hilux Revo Double Cab ทางด้านหลังค่อนข้างมีความนิ่มนวลมาก บางทีอาจจะมากไป จนทำให้ ท้ายมีอาการดิ้น แต่วันนี้เรื่องราวเดียวกันนี้ถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อผ่านถนนสองเลนสวนขาออกตัวเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งมีสภาพถนนตามฉบับ ทางหลวงชนบทชาวไทยขนานแท้ ไม่ว่าจะการปะถนน หลุม หรือ แอ่งที่เกิดจากการทรุดตัวของถนน เป็นระยะ
ดูแล้วมันไม่ใช่ปัญหามากมายนัก ถ้าขับกันตามความเร็วปกติ 90-120 ก.ม./ช.ม. แต่เมื่อไรที่คุณใช้ความเร็วมากขึ้นไป กว่านี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าของ Toyota Hilux Revo Double Cab แนะนำว่าให้จับพวงมาลัย เพราะ ช่วงล่างหลังของรถที่นิ่ม จะทำให้รถมีอาการโยนตัวในระดับหนึ่ง ซึ่งดีสำหรับคนนั่ง แต่กับคนขับที่ต้องมานั่งพะวงอาการท้ายรถตลอดเวลา อาจจะทำให้เหนื่อยในยามขับขี่ ด้วยความเร็ว..
ถึงกลางทาง ก็สิ้นสุดการรอคอยเมื่อเราได้ลองขับ Toyota Hilux Revo Smart Cab Prerunner เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร มาเป็นคู่หูในการเดินทางกลับกทม. โดยมีผมและคู่หูวันนี้ น้องโอ๊ตจาก Sanook.com เป็นผู้โดยสารสองคน
ออกจากร้านอาหาร เราใช้เส้นทางถนนมิตรภาพเป็นเส้นทางทดสอบ Toyota Hilux Revo Smart Cab Prerunner 2.4 ทักทายเราด้วยการสร้างความมันใจในการขับขี่มากขึ้น จุดเด่นที่ต้องชมทันทีเมื่อแรกสัมผัสอีกครั้งบนถนนหลวง คงหนีไม่พ้นระบบกันสะเทือน ซึ่งกลับให้ความรู้สึกที่ดีกว่าเมื่อคุณต้องใช้ความเร็ว มันมั่นใจกว่า แต่ก็แน่นอนว่ามันออกแบบมาเพื่อลองรับน้ำหนักบรรทุกที่จะเข้ามากดทับ เมื่อต้องเข้าสู่โหมดการใช้งานหนัก
ทว่าเมื่อคุณขับเจ้า Toyota Hilux Revo Smart Cab Prerunner ในโหมดตัวเปล่ารถกลับให้ความรู้สึกในการขับขี่ที่ดีมาก ช่วงล่างที่ออกมาในสไตล์ค่อนข้างแข็งปนกระด้างนั้น กลับยังแอบแฝงด้วยความนุ่มนวลในการขับขี่ ทำให้รถมีเสน่ห์ในการขับขี่ แถมยังเก็บอาการพวกหลุม และรอยปะถนนได้ดีกว่าในตัว Double Cab ยิ่งเมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น เกินกว่ากฎหมายกำหนด
ตัวรถตอบสนองการขับขี่ได้ดียิ่งขึ้นมากกว่ารุ่นสี่ประตูชัดขึ้น และคุณจะสนุกสนานกับการขับขี่มากขึ้น เมื่อใช้พวงมาลัยที่มีอาการตึงมือและมีความแม่นยำค่อนข้างมาก ตัวด้ามเกียร์เองก็มีส่วนสำคัญในการขับขี่ โดยเฉพาะจังหวะเข้าเกียร์ที่มีความคล้ายรถเก๋ง มีระยะโยนค่อนข้างสั้น แต่ไม่ใช่ด้ามแบบ Quick Shift ทำให้สัมผัสไม่แปลกในความรู้สึกในยามขับขี่ มากมายนัก
ใต้ฝากระโปรง Toyota Hilux Revo Smart Cab Prerunner 2.4 ที่เราขับ มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบแถวเรียงขนาด 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,400 รอบต่อนาที และ ให้แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร สูงสุดที่ 1,600-2,000 รอบต่อนาที
พละกำลังที่ไม่มากมาย กลับให้ความรู้สึกที่ดีในการขับขี่แถมได้ความประหยัดเข้ามาสมทบ โดยในระหว่างที่เราใช้ความเร็วบนถนนมิตรภาพ ที่ความเร็ว 120 ก.ม./ช.ม. ในตำแหน่งเกียร์ 6 เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ใช้รอบเครื่องยนต์เพียง 1,900 รอบต่อนาที เท่านั้น และใช้ต่ำกว่านั้นเมื่อคุณวิ่งด้วยความเร็ว 100 ก.ม./ช.ม. จะอยู่ที่ 1,500 รอบต่อนาที
จนไม่น่าแปลกใจที่นาทีนี้ผมเหยียบความเร็วที่ 130-140 ก.ม./ช.ม. ใน Toyota Hilux Revo Smart Cab Prerunner แล้วค้นพบความน่าสนใจในการขับขี่มากกว่า รุ่นสี่ประตู ซึ่งคุณสามารถสนุกสนานกับมันในยามเร่งแซง และการบังคับทิศทาง หรือว่าจะเป็นการเข้าโค้งด้วยความเร็ว อย่างเช่นโค้งแถวมวกเหล็ก ผมวัดใจกับ Toyota Hilux Revo Smart Cab Prerunner ว่ามันจะเอาอยู่ไหม
เราเข้าโค้งอย่างรวดเร็วที่ความเร็ว 130 ก.ม./ช.ม. และออกจากโค้งด้วยความเร็ว 140 ก.ม./ช.ม. รถมีอาการเข้าโค้งนิ่งจนน่าประทับใจ และไม่มีอาการท้ายออกให้น่าหวั่นใจในการขับขี่เมื่อต้องใช้ความเร็ว ... ซึ่งสำหรับคนชอบขับรถ น่าจะชอบการเซทช่วงล่างของ Smart Cab มากกว่าอย่างแน่นอน
และท้ายสุดผมจบการขับ Toyota Hilux Revo Smart Cab ด้วยตัวเลขอัตราประหยัด 14.1 ก.ม./ลิตร แม้จะใช้ความเร็ว 120-140 ก.ม./ช.ม. แต่ยังไม่มีโอกาสทดลองความเร็วสูงสุดในเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร
สรุป Toyota Hilux Revo Smart Cab ลงตัวสมรรถนะ ช่วงล่างให้ความรู้สึกดีกว่าสี่ประตู
ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนจากคนขับมาเป็นคนนั่ง ถึงคิวนายโอ๊ตจะต้องพาผมเข้าเมืองกรุงกันบ้าง!! เมื่อย้อนถึงตลอดระยะเวลาสองวันที่ผ่านมา Toyota Hilux Revo Smart Cab ได้แสดงศักยภาพของมันให้เราเห็นถึงความแตกต่าง ในตัวตนระหว่างรุ่นตอนครึ่ง กับรุ่นสี่ประตูอย่างชัดเจน
ในแง่การใช้งานจริงของลูกค้า รถยนต์กระบะแบบตอนครึ่งจะเป็นรถที่ลูกค้ามองหาเพื่อใช้ในการขับขี่ พอสมควร ในด้านความสามารถในการซื้อเพื่อนำมาใช้ในการบรรทุกตามความต้องการ แต่ยังตอบสนองกับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้
และเจ้า Toyota Hilux Revo Smart Cab ก็ดูมีความลงตัวในเรื่องดังกล่าวพอสมควร ผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเรื่องขอระบบกันสะเทือนที่มีค่าความแข็งมากขึ้น มันอาจจะแลดูกระด้างในสายตาของคนใช้รถเก๋ง แต่ก็ได้นิยามของคำว่ากระบะขนานแท้ ซึ่งออกไปในทางกระด้างดิบ แต่ก็ให้ความหนึบแน่น มั่นใจในยามขับขี่ไปพร้อมกัน
รวมถึงการออกแบบระบบกันสะเทือนใหม่นี้ยังพร้อมให้การตอบโจทย์กับการขับขี่ในเส้นทางเพื่อการลุยบนถนนออฟโรด และในการเปลี่ยนตัวตนของ Smart Cab ก็ทำให้เรารู้สึกถึงการขับขี่ของตัวรถที่มีความสมดุลมากกว่า สามารถรู้สึกได้ในยามเข้าโค้ง หรือเปลี่ยนเลนด้วยความเร็วที่จะออกมาในแนวทางคล่องตัวกว่ารุ่นสี่ประตู
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ขับในรุ่น Smart Cab มาแล้ว เราอยากเรียกร้องให้ Toyota พิจารณาในการปรับปรุงระบบกันสะเทือนของรุ่นสี่ประตูให้มีความแข็งขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย เพื่อลดอาการยวบในระหว่างการขับขี่ โดยเฉพาะถนนเมืองไทยที่มีอุปสรรค พวกรอยปะ เยอะแยะมากมาย ยกตัวอย่างในระหว่างที่เราออกจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ถนนลักษณะเดียวกันมีอยู่ไม่น้อยในประเทศไทย
และจากที่สังเกตความมั่นใจในการขับขี่ ระหว่างคนที่ขับตัว Double Cab และคนที่ขับ Smart Cab ค้นพบว่า รถตัว Smart Cab กลับมั่นใจมากกว่า แม้ว่าจุดประสงค์การทำระบบกันสะเทือนให้นิ่มนวลลงนั้น จะมาจากความต้องการให้เกิดความสบายประดุจเก๋ง แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อไรก็ตามที่คนตัดสินใจซื้อกระบะสี่ประตู พวกเขาจะยอมรับความกระด้างได้ในระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้น พวกเขา คงจะหันไปหา SUV แล้ว
ท้ายที่สุด Toyota Hilux Revo Smart Cab กลายเป็นรถที่ครองใจเราเรื่องของความลงตัวสมรรถนะในการขับขี่ไปมากกว่าสี่ประตู อาจจะด้วยความลงตัวในการวิศวกรรมที่ไม่ต้องมาพะวงเรื่องของความสบายในการขับขี่หรือผู้โดยสารนัก ทำให้วิศวกรสามารถใส่สมรรถนะไปได้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นหนึ่งในกระบะที่เด่นเรื่องของสมรรถนะการขับขี่ โดยเฉพาะระบบกันสะเทือนที่กำลังพอดี และความสมดุลของตัวรถที่มีดีมากกว่าที่คิดเสียอีก
เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)
ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook ,Twiter (@nattayodc)
ขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เชิญทีมงาน Autodeft.com เข้าร่วมการทดสอบรถยนต์ Toyota Hilux Revo Smart Cab
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com
[GALLERY1510]