รถยนต์ไฟฟ้า คือเรื่องของอนาคต? เปลี่ยนแปลงโลกได้จริงหรือไม่? ตอนที่ 1

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 8 ธ.ค. 60
  • 44,796 อ่าน

วันก่อนมายบอสได้ส่งคลิปหนึ่งมาให้ผมได้ดู แล้วบอกว่าเป็นคลิปที่ดีและน่าสนใจมาก น่าจะมีการพูดต่อในมุมของเราบ้าง โดยคลิปนี้เป็นการขึ้นกล่าวในงานสัมมนาแห่งปี THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หัวข้อ Transformation : เกมแห่งอนาคต ของคุณ ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่เมืองไทย โดยข

โดยใจความสำคัญหลักๆที่พูดถึงในครั้งนี้เลยคือเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และจะเปลี่ยนโลกของเราได้มากขนาดไหน โดยเบื้องต้น เราก็ควรจะรู้จักก่อนว่า ประเภทของรถยนต์ในการใช้พลังงานต่างๆมีอะไรบ้าง โดยถูกแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆคือ
1. รถยนต์ระบบสันดาปภายในเครื่องยนต์เต็มรูปแบบ ก็คือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซทั่วไปในปัจจุบันนี่เอง จะเป็นเครื่องเบนซิน ดีเซล NGV LPG ล้วนอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น
2. รถยนต์ Hybrid ก็คือมีการใช้เครื่องยนต์แบบน้ำมัน ผสมกับการใช้งานด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ประเภทนี้จะมีการสลับใช้ระหว่างเครื่องยนต์และไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา มีแบตเตอรี่ลูกไม่ใหญ่ เลยทำให้ระยะทางในการใช้ไฟฟ้ามีไม่มาก เช่น Toyota Camry Hybrid, Honda Accord Hybrid เป็นต้น
3. รถยนต์ Plug-in Hybrid การทำงานจะคล้ายกับรถยนต์แบบ Hybrid แต่มีแบตเตอรี่ที่มีความจุไฟฟ้ามากกว่า ทำให้สามารถใช้งานแบบไฟฟ้าได้ระยะทางมากกว่า แต่ต้องใช้วิธีการเสียบปลั๊กจากภายนอกเพื่อเติมไฟฟ้าให้เต็ม เช่น BMW 330e, Mercedes E 350 e เป็นต้น
4. รถยนต์ไฟฟ้า EV จะเป็นรถยนต์ที่ใช้งานขับเคลื่อนโดยไฟฟ้าล้วน ใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อน ไม่มีเครื่องยนต์เพื่อใช้ทำงานในการหมุนล้อเลย ใช้วิธีเติมพลังงานด้วยการเสียบปลั๊กชาร์จไฟจากภายนอกเช่นกัน เช่น Tesla, Nissan Leaf เป็นต้น
5. รถยนต์พลังงาน Hydrogen ซึ่งจริงๆแล้วรถยนต์ประเภทนี้ก็ใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเช่นกัน เพียงแต่ใช้ไฮโดรเจนมาทำปฏิกิริยาให้กลายเป็นไฟฟ้า แล้วไปใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ใช้เวลาเติมไฮโดรเจนเท่ากับการเติมน้ำมัน แต่วิ่งได้ไกลเท่ารถไฟฟ้า EV เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองวิ่งใช้งานอยู่ เช่น Toyota Mirai, Honda Clarity

Electric Vehicle

คุณชนาพรรณ ได้นำภาพรวมของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของทั่วโลกมาให้ดูว่า ประเทศไหนมีการแบ่งสัดส่วนของรถยนต์ Hybrid และไฟฟ้า EV เท่าไหร่บ้าง โดยข้อมูลบอกว่า จีน, นอร์เวย์, ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มีสัดส่วนในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV มากกว่าแบบ Hybrid ส่วนในอังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน และเยอรมนี ใช้งานในส่วนของ Hybrid มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ส่วนที่สหรัฐและภาพรวมประเทศอื่น สัดส่วนยังอยู่ครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งถ้าเราเห็นชาร์จนี้ ประเทศที่ชัดเจนที่สุดว่าจะไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้านั่นก็คือ จีนและฝรั่งเศส ยิ่งประเทศจีนแล้ว มีการสนับสนุนให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงๆ ทั้งนี้มาจากที่ผ่านมา เมืองใหญ่ของจีนหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง, เทียนจิน, ซานซี เป็นต้น ล้วนประสบปัญหาหมอกควันพิษปกคลุมเมืองอยู่หลายครั้ง ซึ่งหมอกควันพิษเหล่านี้มาจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและจากรถยนต์ที่มีจำนวนมากปล่อยออกมา จนทำให้ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก รัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ทั้งของในประเทศและต่างประเทศ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

Electric Vehicle

คุณชนาพรรณ ได้ให้ความเห็นต่อว่า แต่ละประเทศจะมีการส่งผ่านเปลี่ยนยุคไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าไม่เหมือนกัน ทั้งแบบกระโดดข้ามจากรถยนต์เครื่องสันดาปภายในไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเลย หรือการเปลี่ยนผ่านโดยใช้รถยนต์ Hybrid เป็นตัวเชื่อมยุค ถ้าดูประเทศจีน ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบกระโดดข้ามไปเลย แต่สำหรับเมืองไทย คงจะเปลี่ยนผ่านโดยใช้รถยนต์ Hybrid ซึ่งเรื่องนี้เอาจริงๆแล้ว หลักใหญ่จะต้องออกมาจากผู้บริโภคเป็นสำคัญ และส่งเสริมโดยรัฐบาล เพราะจากจากการที่ผมเคยได้สอบถามคนรอบข้างและได้พูคคุยกับเพื่อนๆบน Facebook ของ Autodeft มาบ้าง ทำให้รู้ว่า ความต้องการของคนไทยในการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีน้อย หลักใหญ่เป็นเรื่องของราคารถยนต์ที่ยังสูง แถมยังมีข่าวเรื่องการเปลี่ยนอะไหล่รถประเภทนี้ยังราคาสูงมากอยู่ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ยิ่งทำให้คนไทยขยาดหวาดกลัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปใหญ่ แถมการส่งเสริมของรัฐบาลก็ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรมอย่างเต็มที่ จึงทำให้การก้าวเปลี่ยนยุคไปสู่โลกรถยนต์ไฟฟ้า อาจจะช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ของโลกเช่นเคย

Electric Vehicle

ข้อมูลต่อมาที่น่าสนใจ คุณชนาพรรณกล่าวว่า ภายในปี 2040 รถยนต์ไฟฟ้าจะมียอดขายทั่วโลกรวมกว่า 65 ล้านคัน เติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2015 ที่มียอดขายรวมเพียง 746,000 คันเท่านั้น ปัจจุบันยอดขายรวมทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 90 ล้านคันต่อปี ซึ่งหมายความว่า ยอดขายจะแซงรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายในนั่นเอง แล้วปัจจัยหลักที่จะทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแซงหน้ารถยนต์แบบสันดาปภายในได้จริง ย่อมมีปัจจัยหลักหลายอย่าง โดยคุณชนาพรรณ ได้บอกว่ามีปัจจัยหลักดังนี้

Electric Vehicle

การส่งเสริมจากรัฐบาล
คุณชนาพรรณยกตัวอย่างว่า อย่างที่อังกฤษและฝรั่งเศส ชัดเจนว่าจะบังคับให้ประชาชนต้องหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยมาตรการห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่เป็นระบบสันดาปภายในอย่างเดียวภายในปี 2040 ซึ่งเป็นมาตรการเชิงบังคับ แต่ในหลายประเทศเลือกที่จะใช้วิธีการส่งเสริม มากกว่า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สามารถวิ่งใน Bus lane ได้, ยกเว้นค่าธรรมเนียมวิ่งเข้าเขตที่ต้องเสียเงิน ซึ่งจากการที่ได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เราจะเห็นได้ว่าในหลายประเทศจะมีมาตรการที่ส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่นที่นอร์เวย์ จะไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 25% ของราคารถ, ไม่เก็บค่าทางพิเศษ, ไม่เก็บค่าจอดรถในที่จอดของรัฐ, ใช้งานบัสเลนได้ในชั่วโมงเร่งด่วน และนำรถยนต์ขึ้นเรือเฟอร์รี่ได้ฟรี ที่เยอรมนี งดเก็บภาษีรถยนต์รายปีจำนวน 5 ปี ก่อนจะมาเพิ่มเป็น 10 ปีเมื่อ 1 มกราคม 2016 และช่วยชดเชยในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับใช้ส่วนตัวไว้สูงสุด 5,000 ยูโร (ประมาณ 188,600 บาท) และรถยนต์ของบริษัทรับเงินชดเลย 3,000 ยูโร (ประมาณ 113,000 บาท) และจะลดลงปีละ 500 ยูโรทุกปีจนกว่าจะหมด เกาหลีใต้ ลดภาษีซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 14 ล้านวอน (ประมาณ 416,000 บาท) รวมทั้งได้สิทธิ์ในการซื้อประกันภัยในราคาพิเศษ, ส่วนลดค่าที่จอดรถและทางด่วน และทางรัฐบาลยังเพิ่มแผนงานในการสร้างสถานีเติมไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วให้มีทุกๆ 2 กิโลเมตรในกรุงโซล และอีก 30,000 สถานีชาร์จแบบช้าติดตามอพาร์ทเม้นท์ 4,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2020 เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นการจูงใจให้ประชาชนเลือกที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าแบบสันดาปภายในได้เองโดยไม่ต้องบังคับ นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐในบางประเทศก็เลือกที่จะทำเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อย่างเช่น ตำรวจของแคลิฟอร์เนียเลือกที่จะจัดซื้อรถตำรวจล๊อตใหม่เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Zero เป็นต้น มาตรการนี้จะเป็นทางลัดที่ทำให้ปริมาณของรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นบนถนนได้อย่างรวดเร็ว

Electric Vehicle

ส่วนประเทศจีน ถือเป็นรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังในการส่งเสริมเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าไม่แพ้ใคร โดยมีการสนับสนุนเงินกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือประมาณ 39,000 ล้านบาท อุดหนุนบริษัทที่เป็นผู้สร้างระบบ Eco System ทั้งหลาย มีเป้าหมายว่า ต้องมีจุดชาร์จไฟฟ้าให้ได้ 5 ล้านจุดภายในปี 2020 เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีจำนวนมากขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อรายใหม่ว่า จะมีจุดชาร์จไฟฟ้าอย่างทั่วถึงทั้งประเทศแน่นอน นอกจากนี้ก็ยังมีเงินอุดหนุนสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่อีกด้วย โดยตั้งเงินชดเชยสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลไว้สูงสุด 9,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 350,000 บาท) และรถบัสโดยสารไว้สูงสุด 81,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.91 ล้านบาท) และเปิดให้รับสิทธิ์ได้ทั่วประเทศ เลยทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งระบบไฟฟ้าและ Hybrid ช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2014 มียอดจำหน่ายถึง 31,137 คัน เพิ่มขึ้น 328% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2013 เลยทีเดียว

Electric Vehicle

มาตรฐานของระบบไฟฟ้า
คุณชนาพรรณบอกว่า อีกส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นได้ นั่นคือมาตรฐานกลางสำหรับระบบไฟฟ้า ทั้งระบบชาร์จ ที่ควรใช้ไฟแบบไหน แรงแค่ไหน ระบบอะไร จุดที่ชาร์จจะเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าส่วนกลางที่ใช้งานกันอยู่อย่างไร จะรองรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลา Peak Time ของการชาร์จก็คือช่วงกลางคืนอย่างไร, มาตรฐานระบบไฟฟ้าของตัวรถควรจะเป็นอย่างไร, มาตรฐานของแบตเตอรี่ควรเป็นแบบไหน

Electric Vehicle

เรื่องนี้ก็ถือเป็นปัญหาของเทคโนโลยีใหม่ๆเสมอ อย่างเช่นระบบ USB เชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้ กว่าาจะมาเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ทั้งโลก ก็ต้องผ่านการคัดเลือกและพูดคุยกันมากเป็นระยะเวลายาวนานเช่นกัน จากที่เคยได้พูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์แบบ PHEV ค่ายหนึ่ง ได้ข้อมูลมาว่าในปัจจุบัน หัวจ่ายไฟฟ้าของแต่ละยี่ห้อยังไม่เป็นแบบเดียวกันเลย ซึ่งจุดนี้อาจจะเป็นอุปสรรคให้ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ให้บริการจุดชาร์จไฟฟ้า ต้องมาหาวิธีการเชื่อมต่อว่าจะต้องใช้หัวแบบไหนเพื่อให้รองรับการชาร์จได้กับทุกยี่ห้อ ผมเองก็ถามต่อไปว่า แล้วอย่างนี้ค่ายรถควรต้องคุยกันก่อนเองมั้ย หรือให้รัฐบาลตัดสินไปเลยว่าใช้แบบไหน ก็ได้คำตอบมาว่า มันก็คงพูดคุยกันได้ แต่ถ้าการคัดเลือกดันไม่ใช่หัวของผู้ร่วมเข้าประชุม แล้วไปเลือกของคู่แข่ง ก็จะมีปัญหากันอีก ดังนั้นทางออกตรงนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะออกไปทางไหน แต่เชื่อว่าถ้ามีมาตรฐานกลางได้จริงๆ การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นได้เร็วกว่าในปัจจุบันแน่นอน

Electric Vehicle

ต้นทุนแบตเตอรี่
คุณชนาพรรณให้ข้อมูลต่อมาว่า ต้นทุนของแบตเตอรี่เมื่อปี 2009 อยู่ที่ 990 - 1,220 ดอลลาร์สหรัฐ/ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง ต้นทุนรวมของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 522,000 บาท) แต่คาดการณ์ว่าในปี 2020 ต้นทุนจะลดเหลือเพียง 360 - 440 ดอลลาร์สหรัฐ/ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือต้นทุนรวมประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 195,000 บาท) เท่านั้น และมีแนวโน้มที่ลดลงไปเรื่อยตามเทคโนโลยีใหม่ๆและการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

Electric Vehicle

เรื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญมากจริงๆ เพราะแบตเตอรี่แทบจะเป็นต้นทุนในระดับเกือบครึ่งของราคารถยนต์เลย  รวมทั้งขนาดของมันก็ยังคงใหญ่อยู่ จึงทำให้ความจุอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการติดตั้ง เพราะถ้าใส่แบตเตอรี่ขนาดเล็ก ก็จะทำให้รถยนต์วิ่งไปได้ไม่ไกล แต่ถ้าต้องการไฟฟ้าเยอะ ก็มีพื้นที่ไม่เพียงพ่อต่อการติดตั้งได้ ปัจจุบันมีสถาบันวิจัยหลายแห่งกำลังวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น Toyota เตรียมที่จะนำแบตเตอรี่แบบใหม่ Solid-State มาเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป เป็นต้น แต่แนวโน้มของต้นทุนแบตเตอรี่ก็กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ จากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และปริมาณการผลิตที่มากขึ้น ก็จะช่วยลดต้นทุนได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในเมื่อไหร่ เมื่อนั้นผู้บริโภคก็จะหันมาซื้อรถยนต์คันใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้ากันเองโดยอัตโนมัติ

เรียบเรียงโดย Earhpark02

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com 

5 เรื่องน่าสนใจ