Full Review : Nissan Sylphy DIG Turbo มีดีพร้อมซิ่ง..สะบัดทิ้งคราบหรู

  • โดย : Autodeft
  • 4 มี.ค. 59
  • 35,815 อ่าน

พบบททดสอบเจ้ารถยนต์ Nissan Sylphy DIG Turbo ผู้ดีลงตัวในดีกรีพร้อมซิ่ง เมื่อเราจับมันมาขับใช้งานจริงจะเป็นอย่างไร มาติดตามกันเลย

 

 

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

 

เมื่อมองหารรถยนต์คอมแพ็คคาร์สักรุ่นพวกเราหลายคนคงคิดว่า จ่ายเงินแค่นี้จะได้อะไรกับความหรูหราในรถยนต์ที่เราต้องการคบหา แต่ในตลอดหลายีที่ผ่านมา  Nissan  ได้สร้างปรากกฎการณ์ใหม่ ด้วยการนำเสนอรถยนต์  Nissan Sylphy   มันคือการกลับมาอีกครั้งของนิสสันในรถยนต์กลุ่มนี้ และล่าสุดพวกเขาฉีกทุกกฎให้ความแตกต่าง แนะนำรถยนต์   Nissan  Sylphy DIG Turbo  ออกสู่ตลาด

การมุ่งมั่นแนะนำรถยนต์คอมแพ็คคาร์สมรรถนะสูงของนิสสัน นับเป็นความพยายามสร้างความแตกต่างจากตลาดรถยนต์กลุ่มนี้ ด้วยรถยนต์ที่มีสมรรถนะมากกว่าขับได้สนุกกว่า และยังคล่องตัวกว่า ที่สำคัญ   Nissan Sylphy DIG Turbo  ให้ความน่าสนใจมากขึ้น ด้วยการออกแบบที่สปอร์ตยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังนำเสนอราคาที่โดนใจสุด เพียง   999,000 บาทเท่านั้น

เจอหน้าค่าตา   Nissan  Sylphy DIG Turbo  ในภาพรวมมองเผินๆ มันก็เหมือน  Nissan Sylphy  ที่ผมเคยจับมันมาขับตั้งแต่ครั้งสมัย   Sanook.com  ขนาดมิติตัวถังรถยังคงเดิม ที่เพิ่มเติมคงจะเป็นการปรับลุคการออกแบบให้มีความสปอร์ตมากยิ่งขึ้น

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

เริ่มจากการออกแบบภายนอก ด้วยการเปลี่ยนแปลงกันชนหน้าใหม่ ไฟตัดหมอกถูกย้ายมาใกล้กับช่องรับลมตรงกลาง ส่วนช่องรับลมตรงกลางนั้น มีขนาดใหญ่ขึ้นเบิกทางรับลมให้   Intercooler   ได้เย็นการสบายใจให้ลมจากเทอร์โบสดชื่นก่อนปั่นเข้าสู่เครื่องยนต์ทำกำลังแรงม้าให้ขับสนุกสนาน ซึ่งภายหลังผมมาสังเกตว่า   Nissan  ปรับกันชนใหม่นี้ใส่ทุกรุ่นของ   Nissan  Sylphy   เพื่อความสปอร์ตมากขึ้น

โคมไฟหน้าเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพียงแต่   Nissan  ตัดออพชั่นไฟ  Day Time Running Light  ออกไป ทั้งที่เจ้าไฟชุดนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน อยู่ในโคมประดุจจะบอกว่า อยากได้ก็ทำเองดิ ... จะว่าไปก็แปลก เพราะไฟ   Day Time  นั้น เป็นความปลอดภัยที่สำคัญทีเดียว ยิ่งคุณใช้ความเร็ว การเป็นที่สังเกตของเพื่อนร่วมทางจะช่วยเพิ่มความปลอดภัย คิดง่ายๆ ว่า กระบะของค่าย นิสสันนาวาร่ายังมี ทำไมจะให้มาไม่ได้ในเจ้าซิลฟี่

ทางด้านข้าง  Nissan จัดการเพิ่มสเกิร์ตข้างมาให้จากโรงงาน เบ็ดเสร็จ ด้วยล้ออัลลอยลายใหม่ ขนาด  17  นิ้ว มันมาพร้อมยาง  205/50/R17  ผมเรียกมันว่า ลายล้อแม็กนี้ว่า  Five Blade  เพราะ ลายล้อเหมือนปลายดาบที่มาวางเรียกกันเป็นวงกลมบนโต๊ะ บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่สวยเลย ยิ่งทุกวันนี้ค่ายผู้นำตลาดเขาเอาล้อแม็กทูโทนมาล่อตาล่อใจสวยกว่านี้อีกหลายขุม แต่ถ้าเทียบกับล้อเดิมใน   Nissan  Sylphy   ปกติ  แล้ว ผมว่ามันสวยกว่าพอสมควร

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

แต่ที่ผมว่าดูไม่เข้ากันเลยคือการพยายามให้ลายคาร์บอนเคฟลาร์ที่กระจกมองข้างที่มาพร้อมไฟเลี้ยวในตัวแบบ   LED   ดูแล้วมันเป็นเพียงลายหลอกตาที่นักแต่งรถตัวจริงก็พอจะมองออกว่านี่ไม่ใช่กระจกเคฟล่าร์แท้ เช่นเดียวกับคิ้วกันกระแทกที่มาพร้อมลวดลายเดียวกัน ...กลายเป็นสองสิ่งที่ไม่ลงตัว

ทางด้านหลัง นิสสันจัดการเพิ่มความสปอร์ตมากขึ้นด้วยสปอร์ยเลอร์ลัง เพิ่มแรงกดเมื่อคุณขับรถใช้ความเร็วในการเดินทาง มันมากพอที่จะตอบเรื่องการยึดเกาะถนนมากขึ้น และยังดูลงตัวขึ้นด้วย ด้านหลังมีการปรับกันชนท้ายใหม่ดูสปอร์ตมากขึ้น มันต่อชายยาวกว่า   Nissan Sylphy   รุ่นปกติพอสมควร มากพอสำหรับจะให้คำว่าสปอร์ต แถมใครที่คิดจะเอารถรุ่นนี้ไปแต่งจัดเต็ม  Nissan   จัดการเว้าช่องท่อไอเสียสำหรับใส่ท่อซิ่งมาให้เสร็จสรรพจากโรงาน จนผมก็คิดว่าจะเว้ามาให้ขนาดนี้มีท่อซิ่งแถมให้จากโชว์รูมมาเลยแล้วกันคงจะดีไม่น้อย

จะว่าไปด้านท้ายดูลงตัวมากขึ้น แต่ที่ผมอาจจะเคยกล่าวระหว่างที่เอา   Nissan Sylphy DIG Turbo   มาขับว่า การผลิตตราชื่อรุ่นของ   Nissan  ดูไม่เข้าท่า จนผู้ใหญ่ในนิสสันถึงกับให้นายเบนซ์ น้องพีอาร์นสายตรงมาหาผมว่า ด่าอะไรด่าได้ ชื่อรุ่นเราขอ..!!

ที่จริงสิ่งที่ผมว่าไม่ใช่ชื่อรุ่น แต่เป็นเจ้าตรา  DIG turbo   ด้านหลังที่ดูไม่ลงตัว สาเหตุก็เพราะ Nissan เขียนตราติดกัน   DIGTURBO  ผมเองไม่ได้ทะลึ่งแต่อย่างใด ทว่าคำว่า  DIG  มันอ่านออกเสียงและพวกคิดลึก(แบบผม) จะอ่านมันแล้วก็แปลความหมายอื่นได้ ...เหมือนกัน

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ที่จริงแล้วผมว่า   Nissan   ลองไปสังเกตการณ์ทำตราชื่อรุ่นรถยี่ห้ออื่นๆ ดูก็ได้ครับ พวกชื่อย่อกับชื่อเต็มเขาจะไม่เขียนติดกัน เราต่างรู้ดีครับว่า  DIG ย่อมาจาก   Direct injection Gasoline Engine  มันคือคำย่อไม่ใช่คำเต็มอ่านสะกดครั้งเดียวว่า  DIG (ดิ๊ก)  ที่แปลความหมายทางภาษาอังกฤษว่า “ขุด” ... ถ้าให้ดีต้องดูเจ้าพ่อตลาดครับ รายนั้นเขามีเรื่องของชื่อย่อเต็มไปหมดดูสิครับว่า คำย่อกับคำเต็มเขาเขียนติดกันหรือเปล่า ...หรือนิสสันจะอ้างผมว่า ก็เดี๊ยนเอาตราจากตอนที่ทำ Nissan Pulsar Turbo  มาใช้ไง

ผมก็จะบอกว่าตอน   Nissan  Pulsar Turbo  ผมเข้าใจได้ เพราะประตูท้ายตรามันติดป้ายทะเบียน เขียนบีบๆ พอไหว แต่ใน   Nissan Sylphy  ผมไม่เข้าใจ ที่ว่างเป็นเมตร ต้องมาเขียนติดกันทำไม ...ทำตราใหม่ก็ได้มั้งครับ...คงเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ผมว่า !!

 

เอาล่ะภายนอกจบไป กดกุญแจรีโมททรงสหกรณ์ของนิสสันเข้ามาภายในห้องโดยสาร   Nissan  Sylphy Turbo  ไม่ได้ให้อารมณ์ความรู้สึกที่มีความแตกต่างในการขับขี่กับรุ่นเดิมๆ

เบาะนั่งแบบปรับมือยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้   Nissan Sylphy ยังมีดีไม่เท่าเพื่อนฝูงในกลุ่มเดียวกัน เหลียวมองด้านหลังทุกอย่างยังคงเดิมไม่ว่าจะเบาะนั่งที่มีดีที่ช่องล้วงของตรงกลางในช่วงหนักเท้าแขนแต่ยังปรับพับไม่ได้เหมือนเดิม ยังดีให้ช่องแอร์ด้านหลังมาตอบโจทย์

 ตรงหน้าคนขับได้พวงมาลัยทรงสามก้านหุ้มหนัง ที่เพื่อนๆชาวนิสสันหลายคนในคาร์คลับ เรียกมันว่า “พวงมาลัยทรงมดลูก” ...ไม่รูว่าใครมันจินตนาการ แต่มันทำให้ผมต้องเอาหนังสือสุขศึกษามาเปิดดูแล้วก็พบว่ามันเหมือนจริงๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

บนพวงมาลัยได้ปุ่มปรับเครื่องเสียงทางด้านซ้าย และปุ่มล็อกความเร็ว   Cruise Control   ทางด้านขวา  ส่วนเรือนไมล์เป็นแบบเรืองแสงเข็มวัดรอบฟาดสูงสุด   6,250   รอบต่อนาที และรอบความเร็วมีมาให้ซิ่งสุด   260   ก.ม./ช.ม.ถ้าต้องการ

แหงนหน้ามองหลังคามีมูรูฟมาให้ได้เท่ห์เป็นความลงตัวในเรื่องความสปอร์ตมากขึ้น ในส่วนภายในห้องโดยสารปรับพวกลายไม้ออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นสีเงิน ทำเอาผมนึกถึง  Nissan Sylphy 1.6   รุ่น  SV  ที่กลับมาในคราบเครื่องเทอร์โบอีกครั้ง ซึ่งการตบแต่งสีเงินนั้นก็ไม่ได้ทำให้รถดูซิ่งมากขึ้นกว่าเดิม แต่กลับทำให้ดูเพียงกลมกลืน โอเคแต่ยังไม่โดนใจเท่ากับการเปลี่ยนลายตบแต่งเป็นแบบเคฟล่าร์ และเมื่อพร้อมก็ได้เวลากดปุ่ม   Push  Start

 

ใต้เรือนร่างสปอร์ตมากกว่าเดิม   Nissan   แนะนำเครื่องยนต์แบบ  4  สูบแถวเรียง พร้อมระบบเทอร์โบขนาด  และอินเตอร์คูลเลอร์ขนาด  1.6  ลิตร เข้ามาตอบโจทย์  ต้นกำลังบล็อกนี้ยังได้ระบบสั่งจ่ายน้ำมันแบบ   Direct injection  สั่งสมสมรรถนะในการขับขี่ จนสามารถทำกำลังขับขี่สูงสุด  190  แรงม้า  สูงสุดที่  5,600 รอบต่อนาที และแรงบิดขับกันอย่างต่อเนื่องสูงสุด   240   นิวตันเมตร มาตั้งแต่ 2,400 รอบต่อนาที มาจนถึง 5,290  รอบต่อนาที ส่งยาวให้ขับสนุกมายิ่งขึ้น

ถ้าเทียบกับรุ่น  1.8  ดั้งเดิมในรุ่นเครื่อง  1.6   เทอร์โบ คุณจะได้การตอบโจทย์ในเรื่องการขับขี่มากกว่าถึง  60  PS   และมีแรงบิดมากขึ้น  66  นิวตันเมตร  แถมระบบเกียร์ยังสามารถเลือกสับขับสนุกได้ตามต้องการ ด้วยระบบ   M-CVT  มีอัตราทดตั้งแต่ 2.3490 – 0.390  น่าเสียดายที่ไม่มีแป้นเกียร์กระดิกนิ้วหลังพวงมาลัย  Paddle Shift   มาให้ใช้ขับขี่

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

เครื่องยนต์ทำงาน   Nissan Sylphy DIG turbo  พร้อมท้าสมรรถนะขับสนุกอย่างที่เราใฝ่หาหรือไม่ แต่แม้เครื่องยนต์เทอร์โบจะถูกผนึกในหัวคิดคนไทยว่าแรงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเครื่องยนต์ประเภทนี้เริ่มหันมาให้ความประหยัดมากขึ้นด้วย.... แต่มันยังไม่ใช่กับ   Nissan Sylphy Turbo   คันนี้

ออกจากอาคารนันทวันกลางเมืองกรุง   Nissan  Sylphy Turbo  ทำเอาเราอยากเหยียบคันไม้คันมือรู้สมรรถนะ แต่ก่อนอื่นเราคงต้องขับมันให้รู้เรื่องราวของอัตราประหยัดกันก่อน ช่วงนี้...ภารกิจผมคือการขับรถตระเวรดูบ้านใหม่ๆ เมื่อรัฐเสนอเราเลยสนอง จึงมีโอกาสขับเจ้ารถยนต์   Nissan  Sylphy Turbo  ไปหลายที่พอสมควร จากกลางเมืองตัดเข้าถนนรถติดสาหัสอย่างสาธร ไม่นานผมออกวงแหวนราชพฤกษ์ ทุกวันนี้ผมนับมันเป็นในเมืองไปแล้วเพราะผ่าน   The Circle  ทีไรรถติดทุกที แถมตรงแถวสวนผักก็รถติดไม่แพ้กัน ผมเลื้อยยาวมาได้จนถึง โครงการบ้านแถวท่าน้ำนนท์ และตระเวรดูอีกหลายแห่งในรอบวัน

ไม่น่าเชื่อขับไปๆ มาๆ วันนั้น ผมขับรถไป  106.6   กิโลเมตร  และเติมน้ำมันคืนถังไปเพียง  9.496 ลิตร คำนวนอัตราประหยัดในเมืองได้ 11.2 กิโลเมตร/ลิตร ผมว่าไม่เลวเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีกดคันเร่งเรียกม้ามาวิ่งเล่นในบางจังหวะ แต่ตอนนั้นเข็มบนหน้าปัดตกลงไปเกิน ¼ ของถังแล้ว

เอาล่ะได้เวลา  Bonn Test Mode   .... เหมือนเดิม เส้นทางเดิม วิ่งแบบเดิมนอกเมืองไม่เกิน  120  กม./ช.ม.   และในเมืองไม่เกิน  90  กม./ช.ม.   จะว่าไปก่อนออกจากปั้มผมมีโอกาสดูรายละเอียดทางเทคนิคของตัวรถเพิ่มเติม เชื่อหรือไม่ว่า เจ้า   Nissan  Sylphy Turbo   มีน้ำหนักตัวเปล่าเพียง 1,359   กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อรวมกับผมและเดือนวันนี้ที่มานั่งเล่นเป็นเพื่อนกัน เจ้าซิลฟี่ น่าจะมีน้ำหนักเกือบๆ 1,500 กิโลกรัม แต่เรายังมีกำลังแรงม้า 190 ตัวในคอก

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ขับนอกเมืองช่วงแรก นับเป็นครั้งแรกที่ผมจับความรู้สึกระบบกันสะเทือนของ   Nissan Sylphy  Turbo   ต้องกล่าวเลยว่าการเซทช่วงล่างแบบแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลงทางด้านหน้า และ ทอร์ชั่นบีมพร้อมเหล็กกันโคลงทางด้านหลัง  อาจจะลงตัวถ้าใช้งานทั่วไปในรุ่น  1.6   หรือ  1.8  ลิตร แต่เมื่อเรากำลังนับว่าเจ้ารถยนต์   Nissan  Sylphy Turbo   มาพร้อมเครื่องยนต์ที่มีกำลังมากกว่า ส่วนตัวผมว่ามันไม่ลงตัว

จากที่ขับพบว่า   Nissan  แทบไม่ได้ปรับจูนช่วงล่างให้ต่างจากเจ้ารถยนต์   Nissan  Sylphy   รุ่นปกติทั่วไปเลย ช่วงล่างเจ้ารุ่นนี้ยังคงความนิ่มนวลวางมาดผู้ดี ทั้งที่มันคือผู้ดีบาทาโหด พร้อมบ้าพลังทุกเมื่อที่บดเท้าย่ำคันเร่งลงไป ช่วงล่างที่นิ่มนวลเกินไปเริ่มให้ความชัดเจนมากขึ้นเมื่อใช้ความเร็วระดับ  100  ก.ม./ช.ม.  ขึ้นไป แล้วคุณจัดการเพิ่มอัตราเร่ง คุณจะรู้สึกว่างช่วงล่างที่นิ่มนวลแทบจะทำให้รถบินได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าคุณมาด้วยความเร็ว  140 ก.ม./ช.ม.   ขึ้นไป แล้วมาเจอเนินหรือคอสะพาน คุณมีโอกาสร้องเพลง I Believe I Can Fly อย่างแน่นอน...

ยิ่งถ้าคิดว่าคุณใช้ความเร็วมาอย่างต่อเนื่องมาเจอโค้งคุณต้องมาเบรกจ้าละหวั่น เหตุเพราะช่วงล่างแทนที่จะสับเกียร์ทิ้งโค้งไปได้อย่างที่ควรจะทำได้ในรถแรงสมรรถนะเร้าใจ  ผมเข้าโคงตรงสะพานพระราม 8 แบบสุดๆได้เพียง   90 ก.ม./ช.ม.  ทั้งที่น่าจะไปได้เร็วกว่านี้ รวมถึงยางติดรถเจ้าสำออยร้องลั่นทุกครั้งที่เข้าโค้งกลายเป็นเรื่องขัดใจในอารมณ์

กว่าชั่วโมงที่ไปวนในเมืองตะลุยป่าคอนกรีต   Bonn Test Mode  จบลงด้วยระยะทาง 66.6 กิโลเมตร ผมแปลกใจอีกครั้ง เมื่อเราเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล 95  คืนถัง เพียง 3.979  ลิตร ...แม้ว่าเข็มน้ำมันจะลงมาครึ่งกลางของล็อกน้ำมันแรก ... สรุปอัตราประหยัดได้   16.7 ก.ม./ลิตร ถือว่าทำได้ดีเกินตัวพอสมควร...

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

.... “พี่จิมมี่   Nissan  Sylphy Turbo  น้ำมันหายตัวได้”

  “งั้นลองป่ะล่ะ ถ้าน้องขับ   Nissan  Sylphy Turbo ได้เกิน  400 กิโลเมตรในถังเดียว เดี๋ยวพี่เลี้ยงข้าว”

 

นี่เป็นบทสนทนาระหว่างผมกับพี่จิมมี่   Headlightmag  ซึ่งผมแอบไปแซวพี่แกว่าทำไมถึงไม่ค่อยขับรถซิลฟี่ของแก ...หลังจากซื้อมานาน..สงสัยเพราะกินน้ำมันมาก แต่แล้วคำท้าทายของพี่จิมมี่ก็ทำให้ผมตาลุกวาวมาทันทีและงานนี้คงต้องขอฟาดเรียบสักหน่อย....

ชีวิต   Bonn  ต้องเรียกว่าขลุกกับรถเทอร์โบมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ด้วยความบ้าจับรถส่วนตัวไปแต่งเสียตอนนี้ใช้คำว่า อย่าได้คิดรินำมาขับบนถนนเลย!! ด้วยความคุ้นชินกับเครื่องยนต์เทอร์โบประเภทนี้นอกจากการรู้การเค้นสมรรถนะแล้ว ยังรู้วิธีการขับประหยัดมันด้วยเช่นกัน

หลังจากเสร็จสิ้น   Bonn Test Mode   แล้ว ตั้งแต่คืนก่อน ผมเองก็ตั้งใจว่าจะเอาเจ้า   Nissan  Sylphy Turbo   ไปถ่ายรูปแถวชะอำ แต่ก่อนหน้านั้นต้องไปแวะส่งเอกสารซื้อบ้านแถวโครงการย่านบางบัวทองเสียก่อน ...  ก็เลยกลายเป็นการขับในเมืองราวๆ 10%  และที่เหลือก็เป็นการขับนอกเมือง

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ในช่วงขับในเมืองหลายคนมักจะติดรูปแบบการขับรถเครื่องยนต์ทั่วไปคือ จุ่มคันเร่งทุกเมืองที่ต้องการ แต่เครื่องยนต์เทอร์โบ คุณต้องใส่ใจมากกว่านั้น การเหยียบคันเร่งของคุณมีผลต่อการทำงานเทอร์โบ และเมื่อเทอร์โบทำงานมีแรงอัดเข้ามา หัวฉีดจะถูกสั่งให้จ่ายน้ำมันมากขึ้นเพื่อให้ส่วนผสมน้ำมันกับอากาศถูกต้องเหมาะสม ไม่บางไปจนสร้างความร้อนให้กับเครื่องยนต์ หรือหนาเกินไปจนเครื่องสำลัก หลักการที่ผมกล่าวนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของการขับเครื่องยนต์เทอร์โบให้ประหยัดและใช้ได้กับเครื่องยนต์เทอร์โบทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

เมื่อขับในเมืองคุณอาจจะเร่งๆ เบรกๆ แต่นอกเมืองการขับเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จ อาจจำเป็นต้องอาศัยการคุมคันเร่งให้ถูกต้องเหมาะสมในการขับขี่มากกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป การจะรู้ว่าเทอร์โบทำงานหรือไม่ต้องอาศัยการดูลมที่เข้าสู่ท่อร่วมไอดี ซึ่งรถเครื่องยนต์เทอร์โบควรจะติดตั้ง   Boost Gauge   หรือวัดบูสต์มาให้เพื่อช่วยในการขับขี่ และมันยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของเทอร์โบด้วย

การที่บริษัทรถยนต์หลายเจ้าไม่ติดมาให้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ควรจะมีมาให้ถ้าเป็นไปได้ เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสทราบการทำงานของเทอร์โบชาร์จ ว่าควรจะเหยียบคันเร่งเท่าใด และเมื่อชินกับการขับรถเทอร์โบแบบผม คุณจะรู้สึกได้ว่าเมื่อไรเทอร์โบทำงานและเมื่อไรมันยังไม่เพิ่มแรงดันอากาศ

 

ขับนอกเมือง  Nissan  Sylphy Turbo   ยังคงตอบเรื่องการไม่สมตัวของระบบกันสะเทือนที่ควรจะดีได้มากกว่านี้อีก เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่ให้สมรรนถะอย่างเร้าใจ ผมขับแซงรถคันอื่นไปเรื่อยแม้ใช้ความเร็ว  100-120  ก.ม./ช.ม. จากแรงบิดสูงมาต่อเนื่องของรถ ผมขับแบบนี้ทั้งไปและกลับจากชะอำ ความเร็วลดลงบ้างตามสภาพการจราจร จากพวกช้าชิดขวา แต่ไม่ขับประหยัดชนิดเต่ากัดยางเรียกพี่

ผลสรุปผมทำตามคำท้าทายของพี่จิมมี่ได้  ผมกลับมาบ้าน จากชะอำด้วยระยะทางเกิน  412 กิโลเมตร   และมีน้ำมันเหลืออีก ¼ ในถัง เตรียมอดอาหารไปทานข้าวฟรีพี่จืมมี่..  ส่วนอัตราประหยัดผมคำนวณได้  10.7   กิโลเมตร/ลิตร มันดูแย่กว่าที่คิด แต่ก็อย่างว่าคุณขับรถเทอร์โบด้วยความเร็วตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

สรุป   Nissan Sylphy   Turbo   ..อย่างเดียวที่ลงตัวคือความแรง

 

ยามค่ำคืนผมเอาเจ้า   Nissan  Sylphy  Turbo  ออกไปทดสอบสมรรถนะในการขับขี่อีกครั้ง ในส่วนของ   Performance Test   และหลังจากขับทดสอบอัตราเร่ง และความเร็วได้ผลสรุปดังนี้

 

 

ครั้งที่ 1

ครั้งที่  2

ครั้งที่ 3

เฉลี่ย

อัตราเร่ง  0-100 ก.ม./ช.ม.

8.956

9.002

9.219

9.059

อัตราเร่ง  80-120 ก.ม./ช.ม.

5.800

5.300

5.700

5.600

 

วีดีโอทดสอบอัตราเร่ง  0-100  ก.ม./ช.ม.   ใน  Nissan  Sylphy Turbo

 

จากตารางข้อมูลการทดสอบอัตราเร่ง ยืนยันชัดเจนแล้วว่า   Nissan Sylphy Turbo  เป็นรถที่มีสมรรถนะในการขับขี่ดี แต่ไม่ได้แรงมากขนาดเทียบชั้นรถสปอร์ตคาร์ แต่ยอมรับว่าตอนนี้มันเร็วที่สุดในกลุ่มคอมแพ็คคาร์แล้ว

มันสามารถพาคุณวิ่ง  0-400 เมตร ได้ในเวลา   17  วินาที เข้าเส้นที่ความเร็ว   124   ก.ม./ช.ม. และอาจจะเร็วกว่านี้อีก ถ้าคุณเป็นเซียนขับทางตรง รวมถึงความเร็วปลายก็ทำได้สูงถึง   215   กิโลเมตร/ชั่วโมงจากโรงงาน และก็มีสิทธิที่จะแรงกว่านี้ เพราะ นิสสันบูสต์เทอร์โบมาแค่ 13.2 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว หรือเทียบเท่าราวๆ  0.8 บาร์ นั่นหมายความว่าอาจจะมีที่ว่างสำหรับคอฮาร์ดคอร์ได้อีก แต่ต้องเสี่ยงดวงกันเอาเอง  

ปัญหาหนึ่งที่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะแก้ได้คืออาการน้ำมันหายตัวบนเข็มหน้าปัดเรือน ทั้งที่ความจริงน้ำมันไม่ได้หายไปมาก แต่หน้าปัดเข็มจะลดฮวบๆ ตรงนี้ผมเชื่อว่ามาจากสองส่วนสำคัญ คือ  1.ลักกษณะของถังน้ำมันเชื้อเพลิง และ  2 .ตัวปั้มเชื้อเพลิงในถังที่น่าจะมีแรงดันสูงเพื่อรองรับเครื่องเทอร์โบ โดยจะดูดส่งน้ำมันไปก่อนที่จะกลับมาเข้าถังหากเหลือ น่าจะเป็นสาเหตุปัจจัยสำคัญในการทำให้น้ำมันหายตัวได้

ทดสอบรถยนต์   Nissan Sylphy Turbo

ถามว่าขับ   Nissan  Sylphy  Turbo   แล้วรู้สึกดีแค่ไหน คุณนึกดูว่า คุณมีโอกาสเห็นคอมแพ็คคาร์เครื่องยนต์  2.0  ลิตรของเพื่อนร่วมทางที่แต่งมาหนักจัดเต็ม แม็ก ท่อ ล้อไทยและอาจจะจูนกล่องอีกนิดหน่อยอยู่บนกระจกมองหลัง แล้วพยายามไล่ล่คุณเมื่อเขาอยากประลองของใหม่กับวัดสมรรถนะว่า ใครมันจะจเจ๋งกว่า กลายเป็นจุดเล็กๆ บนกระจกมองหลังเมื่อคุณกดคันเร่งเต็มบาทา ทั้งที่เขาก็กดคันเร่งขับตามมา...  มันสะใจไม่น้อย...จริงไหม

จะว่าไปผมมานั่งทบทวนหลายสิ่งหลายอย่างใน   Nissan  Sylphy Turbo   กลับรู้สึกว่ามันลงตัวนะ แต่มันทำได้มากกว่านี้อีก แต่อาจเพราะทางการตลาดของนิสสัน ต้องการเดินเกมทางด้านราคาเตะตัดขาคู่แข่งที่กำลังจะมาด้วยงบประมาณที่ถูกกว่าแต่คุณได้ความบ้าพลังมากกว่าในการขับขี่

อย่างไรก็ดีถ้าคุณมุ่งมั่นแล้วว่า   Nissan  Sylphy Turbo   คือตัวเลือกที่ใช่ การไปเสริมสมรรถนะช่วงล่างด้วยโช๊คอัพและสปริงสปอร์ตเพิ่มความหนึบดีๆ พร้อมยางสปอร์ตดีๆ สักชุดขยับเป็นขนาด   215 /50/R17 หรือจะเล่นแม็กขอบ  18 นิ้วไปเลย จะช่วยให้รถคันนี้ขับสนุกมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แถมยังมั่นใจและรถอาจจะดูหล่อขึ้นกว่าเดิมๆจากโรงงานอีกเป็นกอง

สำหรับผมแล้ว!! ถ้าคุณมองแค่สมรรถนะการขับขี่ ผมว่ามันพอสำหรับฝีเท้าของคนทั่วไป แต่อย่าหวังว่าจะทิ้งโค้งด้วยความเร็วแบบเท่ห์ๆ เพราะคุณอาจจะจูบกำแพงได้ ด้วยนี่คือรถที่มีสมรรถนะความแรงจากโรงงาน แต่คุณยังต้องไปทำต่ออีกหน่อย จะได้รถที่ดีและลงตัวพร้อมซิ่งคันหนึ่งเลยทีเดียว

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page ,Twiter (@nattayodc), Blog  ส่วนตัว

 

 

สิ่งที่ชอบ >> สมรรถนะจากเครื่องยนต์ที่เร้าใจเกินคำบรรยาย คุณจะหาแบบนี้ในคอมแพ็คคาร์คันอื่นไม่ได้อย่างแน่นอน

 

สิ่งที่ไม่ชอบ >> ระบบช่วงล่างที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยางติดรถที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

 

สิ่งที่อยากให้มี >>  เยอะแยะหลายรายการที่นิสสันจะหามาเพิ่มได้ แต่เราเชื่อว่าพวกเขาจะหามาตอบโจทย์ตอนปรับปรุงโฉม

 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจ>>>   ซื้อถ้าคุณชอบสมรรถนะ ราคาแบบนี้จะหาที่ไหนไม่ได้แต่อย่าคาดหวังว่ามันจะดีเด่นมาจากโรงงาน คุณต้องมาปรับอีกหน่อยโดยเฉพาะช่วงล่างและยางติดรถ

 

 

รายงานการทดสอบ   Nissan   Sylphy Turbo

 

 

อัตราประหยัดในเมือง

11.2 ก.ม/ลิตร

อัตราประหยัดนอกเมือง

10.7 ก.ม./ลิตร

Bonn Test mode

16.6 ก.ม./ลิตร

ความเร็วสูงสุด

215  ก.ม./ชั่วโมง

อัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. เฉลี่ย

9.059

อัตราเร่ง 80-120  ก.ม./ช.ม.   เฉลี่ย

5.6

 

การให้คะแนนในภาพรวมของทีมงาน   Autodeft

การให้คะแนนรถทดสอบ เป็นไปตามความเห็นของผู้ทดสอบ โดยแบ่งเป็นหมวด หมวดละ   20   คะแนน

หมวดหมู่

เหตุผล

คะแนน

การออกแบบภายนอก

ภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีไปในความสปอร์ต แต่ยังไม่สปอร์ตอย่างที่คิด

16

การออกแบบภายใน

ภายในดูดีแบบสปอร์ตแต่เรารู้สึกมันเหมือนตัว  1.6  SV  มากเกินไป แถมยังมีขออีกหลายอย่างที่นิสสันน่าจะให้ได้ในราคาระดับนี้

16

สมรรถนะเครื่องยนต์

เร้าใจเต็มอารมณ์ ดีที่สุดในคอมแพ็คคาร์ตอนนี้

19

สมรรนถะการขับขี่ของรถในภาพรวม

ยังต้องปรับปรุงเรื่องช่วงล่างอีก รวมถึงต้องเปลี่ยนยางติดรถถ้าอยากซิ่งแบบสบายใจ

17

ความเหมาะสมต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน

มันลงตัวสำหรับผู้บริหารฝีเท้าหนัก แต่อย่าถามเรื่องความประหยัดให้มากความ

18

รวม

นี่คือคอมแพ้คคาร์ที่เร้าใจ ในราคาไม่เกินล้าน แต่ถ้าอยากซิ่งจริงจังลงทุนอีกหน่อย คุณก็จะได้รถที่สนุกสุดแสนไว้ขับขี่ยามว่าง

86

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ