6 นิสัยที่ไม่ควรทำเมื่อคุณขับรถเกียร์ธรรมดา

  • โดย : Autodeft
  • 17 ก.พ. 59
  • 298,047 อ่าน

พบ 6 นิสัยในการขับขี่รถยนต์เกียร์ธรรมดาที่คุณควรปรับ เพื่อให้อายุการใช้งานเกียร์มากขึ้น

 

 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

 

 

อาจจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่ล้าสมัย เมื่อกล่าวถึงรถยนต์เกียร์ธรรมดา แต่เราหลายคนก็ยังหลงใหลในการขับรถด้วยระบบเกียร์แบบนี้ ซึ่งมันมาพร้อมจิตวิญญาณการขับขี่เร้าใจทันสมัยในการเดินทาง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนักขับเกียร์ธรรมดายุคใหม่ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามีหลายสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อคุณขับเกียร์ธรรมดา

1.อย่าแช่มือไว้ที่คันเกียร์

นักขับเกียร์ธรรมดาไม่ว่าใหม่ หรือเก่า มักจะติดแช่มือไว้ที่ระบบเกียร์ธรรมดาเป็นประจำ เราหลายคนคิดว่ามันเป็นที่พักแขน ด้วยท่วงท่าที่สบายและดูสมาร์ทกว่าเมื่อคุณขับรถมือเดียว และแช่อีกมือไว้ที่คันเกียร์ ความเข้าใจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์และสมควรปรับปรุงทันที เนื่องจากทุกครั้งที่เราเข้าเกียร์ปลายด้ามเกียร์จะถูกใช้งานเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งในชุดเกียร์โดยตรง หรือผ่านตัวเชื่อมโยงเกียร์ ซึ่งการที่คุณพักแขนบนคันเกียร์อาจจะทำให้ปลายดังกล่าวสึกหรอในการใช้งานได้

 

2.ไม่ควรค้างเกียร์เหยียบคลัทช์ ตอนไฟแดง  

ถ้าคุณเป็นนักขับที่ชอบเย่อเท้าซ้าย คงถึงเวลาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว บางคนรู้ดีว่า คลัทช์คือตัวตัดต่อกำลังเครื่องยนต์ในเกียร์ธรรมดา และก็ใช้งานมันอย่างผิดๆ บางคนเหยียบมันไว้ในระหว่างจอดติดไฟแดง เพียงเพื่อพร้อมจะออกตัวทันที หรือเตรียมจะสับเกียร์ได้ทันที การขับขี่ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ผิดมหันต์อย่างยิ่ง และทำให้ระบบคลัทช์สึกหรอได้ โดยเฉพาะตัวลูกปืนปลายหวีที่พยายามจะขับหวีคลัทช์เข้าหาตัวล้อช่วยแรงหลังเครื่อง หรือ ฟลายวีล จะมีโอกาสเสียหายได้จากพฤติกรรมดังกล่าว

 

3.ไม่ควรใช้คลัทช์ หยุดบนทางชัน

เชื่อว่าหลายคนเคยเป็นในการใช้กำลังเครื่องยนต์หยุดบนทางชัน คุณใช้คลัทช์เย่อ เข้าๆ ออก เพื่อทำให้รถไม่ไหลไปทางด้านหลัง และพร้มจะออกตัว พฤติกรรมดังกล่าวมักจะเป็นโดยเฉพาะกับมือเก๋าทั้งหลาย แต่หารู้ไม่ว่า คุณกำลังทำให้ผ้าคลัทช์ที่มีเนื้อผ้าสำหรับเสียดทานนั้นหมดเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะระหว่างที่คุณเย่อคลัทช์ หวีคลัทช์จะพยายามกดผ้าลงไปเพื่อรับกำลังจากเครื่องยนต์ แต่การที่คุณยื่นมันเข้าๆ ออกตัวผ้าที่มีสารเสียดทานนั้น จะถูกถูไปบางๆ นานๆ เข้ามันก็สึกหรอ เร็วกว่าที่ควรจะเป็น

 

เราแนะนำให้คุณหยุดบนทางชัน และออกตัวบนทางชัน จะดีกว่า โดยวีธีออกตัวบนทางชันมีมากมาย แต่ที่อยากแนะนำนะคือคุณขึ้นเบรกมือเอาไว้ จากนั้นเหยียบคลัทช์เข้าเกียร์ ค่อยๆ ปล่อยคลัทช์ เมื่อถึงจุดที่จะวิ่งได้เอง คุณจะรู้สึกถึงแรงต้าน ตรงนั้นแหละ คุณเอาเบรกมืออก ก็จะขับรถไปได้ทันที

 

4.เปลี่ยนเกียร์ลงเมื่อต้องเร่ง ...

เราหลายคนมักจะชอบขับรถเกียร์ธรรมดาแบบแช่เกียร์ เมื่อต้องการอัตราเร่ง เราคิดว่ามันถูกใช่ไหม แต่ความจริงแล้วมันผิด!! ทางวิศวกรรมแล้ว เมื่อคุณต้องการอัตราเร่ง คุณควรจะเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ให้สูงขึ้น หรือเปลี่ยนเกียร์ต่ำลง เพื่อให้อัตราเร่งมากกว่า การที่คุณเหยียบเครื่องแช่ไปนั้น นอกจากจะอัตราเร่งช้ากว่าแล้ว ยังส่งผลทำให้คลัทช์ทำงานหนักขึ้นว่าที่คุณลดเกียร์ลงเพื่อทำอัตราเร่ง โดยเฉพาะในการขับขี่ด้วยความเร็วทั่วไป

5.อย่าแช่เท้า เลียคลัทช์

หลายคนโดยเฉพาะนักซิ่ง ชอบเอาแป้นคลัทช์ เป็นที่พักเท้าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง และคุณควรจะสำนึกเอาไว้ เพราะ ทุกครั้งที่คุณค้างเท้าไว้ที่แป้นคลัทช์ มีโอกาสที่คุณจะเหยียบใช้งานมันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจะทำให้คลัทช์ไหม้ และใช้งานไม่ได้ หรืออย่างดีที่สุด คือคลัทช์จะหมดเร็วกว่าอายุการใช้งาน ดังนั้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้เสียที

 

6.อย่าค้างเกียร์จอดทางชัน

 

คุณเคยเป็นไหม เข้าเกียร์จอดรถบนทางชัน ซึ่งเราหลายคนเข้าใจว่านั่นคือการล็อคเกียร์ ความจริงแล้วเกียร์ธรรมดา ควรปลดในตำแหน่ง  เกียร์ว่างเมื่อจอดรถทุกครั้ง เนื่องจากตำแหน่งเกียร์จะมีการใช้อุปกรณ์ซิงโครเมทเกียร์ เมื่อเราเข้าใช้งานเกียร์ใด เกียร์หนึ่ง เมื่อเราจอดรถบนทางชัน แรงดึงดูดของรถจะพยายามฝืนการทำงานของเกียร์ให้ไหล แต่ซิงโครเมทเกียร์จะทำหน้าที่ล็อคเฟืองเกียร์ขบไว้ไม่ให้รถไหล ซึ่งการฝืนหรือทำพฤติกรรมเช่นนี้นาน อุปกรณ์ดังกล่าวจะสึกหรอ อาจจะเกิดเสียงดังระหว่างการเข้าเกียร์ หรือไม่ก็คุณขับๆ อยู่ เกียร์จะหลุดออกจากตำแหน่งเอง ... โดยไม่รู้ตัวมาก่อน

 

หลากพฤติกรรมขับขี่เกียร์ธรรมดานั้น สามารถเรียนรู้ได้ และวันนี้ถ้ามีอะไรก็ตามที่คุณยังทำอยู่ในระหว่างการขับขี่ เมื่อรู้ว่ามันผิด สามารถมาปรับเปลี่ยน .. การใช้งานของเราให้ถูกต้อง และยืดอายุการใช้งานของชุดเกียร์

 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page ,Twiter (@nattayodc)

 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ