มันทำยากหรืออย่างไร กับบัตรโดยสารร่วมใบเดียว?

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 12 ส.ค. 61
  • 15,773 อ่าน

การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทยนั้น มีอยู่มากมายหลายแบบเหลือเกิน ทั้งรถเมล์, รถปรับอากาศ, รถไฟฟ้าบนดิน, รถไฟฟ้าใต้ดิน, รถแท็กซี่, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแม้กระทั่งเรือ มันก็เหมือนจะครบถ้วนดี แต่จะขึ้นแต่ละอย่างได้ ก็ต้องมีการเตรียมตัวก่อนขึ้นให้ดี โดยเฉพาะเรื่องค่าโดยสาร

บัตรโดยสาร

เราก็คงเคยได้ยินว่า รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสังคม 4.0 คืออยากให้เราใช้ชีวิต, ดำเนินธุรกิจ หรืออะไรก็ตามเป็นระบบดิจิตอลไปหมด และอีกคำที่เรนาได้ยินกันบ่อยๆก็คือ สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless นั่นเอง ซึ่งมันก็เริ่มจะเห็นกันแล้วจากการที่ธนาคารเริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้กันมากขึ้น ด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ ที่ทำธุรกรรมผ่านหน้า Website หรือ Application ของธนาคารเอง เป็นการลดจำนวนคนที่ไปตามสาขา ธนาคารเองก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มสาขาเพื่อรองรับคนทำธุรกรรมด้วย (ใกล้ออฟฟิศผมเห็นปิดไปหลายสาขาหลายแบงค์แล้ว) รวมทั้งยังมีการชำระเงินผ่าน QR Code ตามร้านต่างๆ เพียงใช้แอพของธนาคารส่องไป ก็กดเพื่อจ่ายเงินได้เลย ไม่ต้องพกเงิน

Rabbit card

แต่กับเรื่องการเดินทางในเมืองกรุงอย่างกรุงเทพมหานคร มันไม่ใช่แบบนั้น การที่เราต้องขึ้นรถเมล์ ก็ต้องเตรียมเงินเพื่อขึ้นให้ดี ค่ารถเมล์ 6 บาท 50 สตางค์ แค่ควักแบงค์ร้อยจ่ายไป ก็โดนพี่กระเป๋ามองหน้าทำปากงุบงิบแล้ว อย่าพูดถึงแบงค์ 500 แบงค์ 1,000 เลย ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ก็ต้องไปต่อคิวแลกเหรียญ ก่อนจะมาต่อคิวหยอดเอาเหรียญเดินทางอีกรอบ (แต่วันก่อนเห็นให้ซื้อเหรียญที่เค้าท์เตอร์ได้แล้ว ใครรู้ฝากยืนยันที) หรือถ้าอยากสะดวกก็ต้องเลือกซื้อเป็นบัตรเติมเงินอย่าง Rabbit Card ออกมา แต่พอเดินไปที่รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ก็ต้องควักอีกใบออกมาใช้ จะใช้บัตร Rabbit ก็ไม่ได้ ผมเองก็มีบัตรอยู่ทั้ง 2 ใบเอาไว้เดินทาง เคยไปยืนแปะกระเป๋าตังค์แล้วออกไม่ได้ (บัตรอยู่ในกระเป๋าตัง) แตะเท่าไหร่ประตูก็ไม่เปิด สรุปว่า แปะบัตรผิดข้าง ไปแปะเอาบัตรผิดใบ ทำเอาหัวร้อนทุกทีว่า ทำไม่มันไม่ทำให้เป็นบัตรเดียวกันฟะ

Suica

ผมเคยไปเยือนทั้งญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และฮ่องกง ทั้งในรูปแบบการทำงานและไปเที่ยว เวลาผมไปที่ประเทศเหล่านี้ สิ่งที่ผมจะซื้อเมื่อไปถึงสนามบินก่อนก็คือบัตรร่วมโดยสาร อย่างญี่ปุ่น ถ้าเป็นโตเกียวก็ซื้อเป็นบัตร Suica (ที่สามารถบันทึกเข้า Wallet ใน iOS เพื่อจ่ายเงินผ่าน Apple Pay ได้แล้ว) หรือไม่ก็ Pasmo ส่วนโอซาก้าก็ Icoca, ไปฮ่องกงก็บัตร Octopus ไปสิงคโปร์ก็ Ez Link ซื้อบัตรเดียวใช้ได้เกือบทุกคัน ทั้งประเทศ อย่าว่าแต่ขึ้นรถเลย ซื้อของใน 7-11 ก็ยังได้ สะดวกมาก (แท็กซี่ไม่รู้ว่าจ่ายได้มั้ย เพราะแทบไม่เคยขึ้นเลย) ขอแค่ให้มีเงินอยู่ในบัตรก็เป็นพอ ขึ้นรถ, ลงเรือ, นั่งรถไฟ, ไปกระเช้า ได้หมด นักท่องเที่ยวตัวดำๆอย่างเราไปเที่ยวก็โคตรสะดวก ไม่ต้องตอยดูว่าค่าโดยสายเท่าไหร่ แปะบัตรไปเป็นอันจบ

Tourist Pass HK

แต่ลองนึกถึงพวกนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในกรุงเทพสิครับ ขึ้นรถไฟฟ้าบนดินก็ใบนึง ลงใต้ดินก็อีกใบ ขึ้นรถเมล์ต้องหาเศษตังค์ จ่ายแบงค์พันก็โดนด่า นั่งแท็กซี่ก็ไม่มีเงินทอน มันดูทุลักทุเลน่าดูเลยนะครับ (หรือฝรั่งเขาชอบกันแบบนี้ ตื่นเต้นดี) ผมเองเคยมีเพื่อนชาวต่างชาติมาถามว่า จะมาเที่ยวที่กรุงเทพฯ จะต้องซื้อตั๋วแบบไหนเพื่อเดินทางดี มีแบบ Tourist Pass แบบประเทศอื่นไหม แนะนำหน่อย เลยตอบกลับไปว่า  "Cash are the best card for here" หรือเงินสดน่ะแหล่ะดีที่สุด อย่าไปซื้อเลยพวกบ่งพวกบัตร ไม่คุ้มกับค่าบัตรกับค่ามัดจำที่เสียไปแน่นอน

บัตรแมงมุม

เหมือนจะมีข่าวดีนะครับว่า มีการผลิตบัตรแมงมุมขึ้นมา เพื่อเอาไว้ใช้เดินทางได้ เป็นบัตรร่วม แต่ลองไปดูรายละเอียดเข้าจริงๆ บัตรแมงมุมในกรณีที่สามารถใช้ได้เต็มรูปแบบ ก็จะใช้ได้เฉพาะรถไฟฟ้า MRT, รถเมล์ ขสมก., Airport Rail Link ส่วนอนาคตก็จะใช้ได้กับรถไฟฟ้าทุกสีกับเรือ ก็ยืนยันไม่ได้อีกว่า คำว่าทุกสีเนี่ย สามารถใช้ได้กับ BTS หรือไม่ และรถร่วมบริการล่ะ จะใช้ได้ไหม ถ้าให้เดา ก็คิดว่าไม่น่าจะใช้ได้ แล้วเรือล่ะ ใช้ได้ทั้งเรือเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก และเรือคลองแสนแสบมั้ย อันนี้ก็ต้องรอกันต่อไปว่ามันจะทำให้ครอบคลุมทุกอย่างได้จริงหรือเปล่า เพราะแนวคิดของบัตรร่วมโดยสาร มันควรจะต้องใช้ได้ทั้งหมดจริงๆ (ถ้าให้ดีที่สุด แท็กซี่กับมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ควรใช้ได้นะ)

IC Card

มันอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยนะครับ สำหรับแค่เรื่องบัตรร่วมใบเดียว แต่บางทีมันก็ช่วยให้การเดินทางในแต่ละวันของคนที่ต้องเดินทางสะดวกมากขึ้น อย่างของสิงคโปร์เนี่ย บัตร Ez Link เขาสามารถนำไปเสียบกับอุปกรณ์ขยายสัญญาณที่ติดอยู่บนกระจกหน้ารถ กลายเป็นที่จ่ายเงินค่าผ่านทาง, ค่าทางพิเศษ หรือค่าจอดรถได้เลย โดยใช้วิธีหักเงินจากบัตรเอา แถมปัจจุบันยังมีระบบผูกกับบัตรเครดิต เพื่อไปหักเงินจากบัตรเครดิตได้อีกต่างหาก สะดวกมาก เรียกได้ว่าสามารถเป็นสังคมไร้เงินสดได้จริงๆ เข้าใจครับว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ดูเหมือนการปฏิบัติจะไม่จริงจังกับแบบนโยบายเลย ขนาดเครื่องแตะบัตรบนรถ ขสมก. เพื่อใช้กับบัตรสวัสดิการรัฐ ก็ถูกถอดออกไปแล้ว เพราะว่าส่วนของเครื่องหยอดเหรียญใช้งานไม่ได้จริง เลยต้องยกยวงออกไป ขสมก. บอกว่าในอนาคตจะติดเฉพาะในส่วนของเครื่องอ่านบัตร E-Ticket เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่  สรุปแล้วประเทศไทยคือประเทศที่พัฒนาแล้วระดับไหนครับ ระดับเดียวกับสิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม, ลาว หรือเมียนม่า แค่ระบบบัตรร่วมใบเดียว ยังร่วมมือร่วมใจทำให้สำเร็จได้อย่างยากเย็นเหลือเกิน

Earthpark02

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com 

5 เรื่องน่าสนใจ