อีโค่คาร์คืออะไร...ได้เวลาเข้าใจให้ถูกต้องกันแล้วหรือยัง ...
- โดย : Autodeft
- 16 ม.ค. 58 00:00
- 17,985 อ่าน
มาพบข้อเท็จจริงถึงแก่นแท้ของโครงการอีโค่คาร์ ตัตนที่เกิดขึ้นเพื่อประหยัพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อ หาใช่อย่างที่คุณอาจจะเข้าใจว่าอีโค่คาร์ต้องเป็นรถราคาถูก
เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)
ทุกวันนี้เราหลายคนต่างเริ่มรู้จักมักจี่กันดีกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กไซส์ใหม่ ที่เข้ามาทำตลาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราทุกคันต่างเรียกมันอย่างสนุกปากว่า “อีโค่คาร์” แต่ความสนุกและคุ้นเคยนี้เองที่กำลังกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดถึงรถยนต์นั่งขนาดเล็กประเภทนี้
อีโค่คาร์เป็นโครงการรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เกิดจากความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการทำให้รถยนต์ที่จำหน่ายในตลาดทุกวันนี้มีความสามารถมากขึ้น ไม่ว่าจะการรักษาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความปลอดภัย ซึ่งเดิมทีรัฐบาลได้ส่งเสริมรถยนต์กระบะขนาด 1 ตัน เป็นสินค้าตัวหลักของวงการอุตสาหกรรม แต่ในราวๆ ปี 2008 ภาครัฐมีแนวคิดในการสร้างสินค้าหลักตัวที่สองเพื่อทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีเสถียรภาพมากขึ้นและสร้างความมั่นคงต่อวงการอุตสาหกรรมไทย
เดิมทีโครงการอีโค่คาร์ที่เรารู้จักทุกวันนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของโครงการ ACEs car เกิดขึ้นเริ่มแรกโดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยภายใต้แนวคิดเริ่มแรกนั้นมันเป็นรถยนต์ที่มีความสามารถในการประหยัดพลังงานและยังรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ Ecology Car
แต่โครงการดังกล่าวไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลภายใต้ พล.อ. สุรายุทธฺ จุลานนท์ จะพิจารณาในการเดินหน้าโครงการนี้อีกครั้ง จวบจนค่ายรถยนต์นิสสันทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างด้วยการแนะนำรถยนต์ Nissan March ทำให้คนไทยคุ้นเคยมากขึ้น แต่ด้วยราคาจำหน่ายที่ถูกตนใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้ทำให้ ความเข้าใจผิดของคำว่า อีโค่คาร์ กลายเป็น Economy Car ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์เดิมของโครงการ แต่ก็กลายเป็นข้อดีที่ทำให้คนไทยเริ่มมองรถยนต์ขนาดเล็กมากขึ้นแทนที่จะต้องใช้รถยนต์ขนาดใหญ่ที่เปลืองน้ำมัน
รถยนต์อีโค่คาร์ในยุคแรกเป็นการบุกเบิกสร้างเสริมรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งผู้ผลิตจำนวนกว่า 6 ราย ประกอบด้วย Honda,Suzuki ,Nissan ,Misubishi ,Toyota, และท้ายสุดยังมี Tata ซึ่งไม่เคยผลิตออกมาจำหน่ายจริงนั้น เป็นยุคที่ท้าทายอย่างมากในการทำตลาด
ผู้ผลิตทั้งหมดนั้นต้องทำตามกฎของทางภาครัฐที่บังคับ 5 เรื่อง สำคัญเพื่อสร้างมาตรฐานในการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพเทียบเท่ารถยนต์นั่งตลาดโลกได้แก่
1.มาตรฐานความปลอดภัย รถยนต์ใหม่ตามโครงการอีโค่คาร์นั้นจะต้องมีความสามารถในการปกป้องผู้โดยสารที่ดีตามมาตรฐานความปลอดภัย ปลอดภัยของยุโรป (UNECE 94 และ 95) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยจากการชนด้านหน้าและการชนทางด้านหลัง
2.มาตรฐานทางด้านการประหยัดพลังงาน ในโครงการอีโค่คาร์รุ่นที่ 1 นั้น จะต้องผ่านมาตรฐานการใช้พลังงานในการขับขี่ โดยจะต้องมีการใช้น้ำมันในการขับขี่ไม่เกิน 5 ลิตร/100 กิโลเมตร จึงเป็นที่มาของตัวเลข 20 กิโลเมตร/ลิตร
3.มาตรฐานทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้เจตนารมณ์ของการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้รถยนต์อีโค่คาร์ต้องมีการปล่อยมลภาวะจากไอเสียต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไป โดยรถทุกคันต้องผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 หรือ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์น้อยกว่า 120 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร
และท้ายสุด 4 มาตรฐานความเหมาะสมในการใช้งาน ด้วยการกำหนดให้รถยนต์อีโค่คาร์ต้องใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดที่เหมาะ โดยในโครงการอีโค่คาร์เฟส 1 นั้น กำหนดให้เครื่องยนต์เบนซินจะต้องมีขนาดไม่เกิน 1,300 ซีซี แต่ที่หลายคนอาจจะไม่ทราบคือเดิมก็มีการกำหนดในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล ที่สามารถผลิตออกมาวางจำหน่ายเช่นกัน ในขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,400 ซีซี
จากรุ่นสู่รุ่นโครงการอีโค่คาร์มาถึงจุดสูงสุดในการได้รับความนิยมจากคนไทยทั่วทุกหัวระแหง ทำให้ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.2557 ภาครัฐบาลมีแนวคิดในการสานต่อโครงการรถยนต์นั่งประหยัดพลังงานอีโค่คาร์อีกครั้ง เพื่อต่อยอดคงวามสำเร็จจากที่เป็นมา
โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานเฟส 2 หรือ โครงการอีโค่คาร์เฟส 2 เป็นอีกครั้งที่ค่ายรถยนต์ชั้นนำหลายรายที่เรารู้จักกันดีให้ความสนใจ เข้าร่วมในการตอบรับโครงการดังกล่าว ส่วนหนึ่งด้วยกระแสนิยมที่มาแรงของรถยนต์อีโค่คาร์ที่มีในตลาดปละปัจจุบันคนจำนวนมากหันมารถยนต์นั่งขนาดเล็กมากขึ้น ประกอบกับเทรนด์ในตลาดโลกมีแนวอนาคตที่ต้องรถยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อบริษัทในภาพรวมสากลด้วยเช่นเดียวกัน
ในโครงการระยะที่สองนี้ ทางรัฐบาลมีการปรับเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อสภาวะการมากขึ้น ดังต่อไปนี้
1.ปรับขนาดเครื่องยนต์ให้เหมาะสมมากขึ้น เดิมทีรถยนต์อีโค่คาร์วางแผนให้มีการตอบโจทย์ทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล แต่ที่ผ่านมา ด้วยการวางให้เป็นเครื่องยนต์เบนซินที่มีขนาดไม่เกิน 1300 ซีซี และเครื่องดีเซลไม่เกิน 1,400 ซีซี กลับไม่เป็นที่เหมาะสมต่อการดำเนินการของค่าย ทำให้โครงการใหม่ รัฐบาลจึงมีการปรับเครื่องยนต์ดีเซลให้มีขนาด 1,500 ซีซี จากเดิม 1,400 ซีซี แต่คงขนาดเดิมของเครื่องยนต์เบนซินเอาไว้
2.เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น ในครั้งนี้ด้วยความที่รัฐบาลต้องการให้รถมีความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้น จึงได้กำหนดมาตรฐาน UNECE 13H เพิ่มเติมเข้ามาในการผลิตรถยนต์อีโค่คาร์เฟสสอง ซึ่งมาตรฐานดังกล่าว กำหนดให้รถที่ขนาต่ำหว่า 1,700 กก. ต้องมีระบบควบคุมการทรงตัว หรือ ESC และยังอาจจะต้องมีระบบป้องกันการพลิกคว่ำ รวมถึงระบบช่วยในการเบรกด้วย ให้ความมั่นใจมากขึ้นในการขับขี่
3.รถยนต์ที่สะอาดขึ้น ในโครงการใหม่ล่าสุด รถอีโค่คาร์สองนั้นยังถูกกำหนดให้มีการปล่อยเสียลดลงจากเดิมที่ปล่อย 120 กรัม/กิโลเมตร ถูกกำหนดให้เหลือเพียง 100 กรัมต่อกิโลเมตร
4. ประหยัดมากขึ้น ท้ายสุดแล้วเมื่อรถยนต์มีความสามารถในการปล่อยไอเสียน้อยลงย่อมหมายถึงมันน่าจะประหยัดมากขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลตั้งเป้าที่สำคัญ ซึ่งทำให้โครงการอีโค่คาร์หินที่สุดโครงการหนึ่งในเวทีโลกตรงที่มันจะต้องมันจะต้องประหยัด 4.3 ลิตร/100 ก.ม. หรือมีอัตราประหยัด 23.2 ก.ม./ลิตร
แม้ว่าภาพของใครหลายคนของรถยนต์อีโค่คาร์ จะถูกตีตราว่ามันคือรถยนต์นั่งราคาถูกที่ใครก็สามารถซื้อหาได้ แต่สิ่งที่เราหลายคนอาจจะลืมไปแล้ว และไม่ได้ตระหนักเลยคือว่า รถยนต์อีโค่คาร์เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นรถยนต์รักษาสิ่งแวดล้อมที่สำทับด้วยความประหยัดในการขับขี่เป็นผลพลอยได้ที่ติดตัวมา
เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com