3 ตำนานมิตซูบิชิบุกไทย ทั้ง Mitsubishi Lancer WRC05, Pajero Dakar และ Leo รถรุ่นแรกในประเทศไทย

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 29 พ.ย. 64
  • 5,250 อ่าน

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ในฐานะผู้จำหน่ายรถยนต์ Mitsubishi ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ได้ทำการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 60 ปี ด้วยการยกตำนานค่ายตราเพชรจากญี่ปุ่นมารวม 3 คัน ไม่ว่าจะเป็น Lancer WRC05 รถแข่งแรลลี่ชิงแชมป์โลก, Pajero ที่ทำการลงแข่งขัน Dakar Rally เมื่อปี 1985 และ Mitsubishi Leo รถคันแรกภายใต้ตราเพชรที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย

Mitsubishi

Mitsubishi

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้เข้าร่วมการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลก (WRC) ด้วยรถยนต์ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ รุ่น ดับบลิวอาร์ซี 05 ซึ่งได้รับการปรับปรุงเพื่อเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ภายใต้กฎข้อบังคับใหม่ของการแข่งขันฯ ในปีนั้น โดยเริ่มจากการขยายความกว้างของตัวรถเพิ่มขึ้นอีก 30 มม. จากเดิม 1,770 มม. เพิ่มเป็น 1,800 มม. เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ พร้อมด้วยการปรับดีไซน์ใหม่ ให้แก่ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ดับบลิวอาร์ซี 05 อาทิ ซุ้มล้อหน้า-หลัง ส่วนท้ายด้านข้าง แผงกันชน และอื่นๆ โดย มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ดับบลิวอาร์ซี 05 ยังได้รับการปรับแต่งชุดระบบช่วงล่าง ชุดระบบกันสะเทือน และชุดเพลาขับรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับตัวถังรถที่มีขนาดความกว้างเพิ่มมากขึ้น โดยรถแข่งรุ่นดังกล่าวฯ ได้ถูกเผยโฉมและทดสอบไปก่อนหน้านี้จากการแข่งขันบนถนนลาดยางในรายการ คาตาลุญญา แรลลี่ ประเทศสเปน เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2547 ที่ผ่านมา

Mitsubishi

Mitsubishi

โดย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ยังคงเลือกใช้เครื่องยนต์รุ่นเดิม รหัส 4G63 ที่ใช้มาตั้งแต่ต้นฤดูกาลการแข่งขันฯ ในรายการ มอนติคาร์โล แรลลี่ ในเดือนมกราคมของปีเดียวกัน โดยได้ติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบขจัดไอเสียและวาล์วควบคุมระบบแรงอัดอากาศแบบใหม่ พร้อมปรับปรุงสมรรถนะเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยผลจากการปรับปรุงและติดตั้งระบบต่างๆ เพิ่มเติม ทำให้สามารถยกระดับสมรรถนะและประสิทธิภาพของ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ดับบลิวอาร์ซี 05 ให้ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้ติดตั้งระบบเกียร์กึ่งอัตโนมัติที่เพิ่งถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรกในรถแข่งคันดังกล่าวฯ อีกด้วย โดยวิธีการทำงานของระบบเกียร์รุ่นใหม่นี้ จะอนุญาตให้นักแข่งสามารถปรับเปลี่ยนเกียร์ให้สูงขึ้น หรือ ต่ำลง ด้วยปลายนิ้วผ่านระบบแพดเดิ้ลชิฟที่ติดตั้งอยู่ที่บริเวณพวงมาลัย โดยไม่ต้องอาศัยระบบคลัตช์เข้าช่วยในการเปลี่ยนเกียร์ โดยรายชื่อทีมนักแข่งในปีนี้ ประกอบด้วย มร. แฮรี่ โรแวนพีรา (ฟินแลนด์), มร. กิเรส ปานิชซี และ มร. จิอันลุยจิ กัลลี (อิตาลี)

Mitsubishi

Mitsubishi

มร. ปานิชซี เริ่มต้นฤดูกาลการแข่งขันฯ ที่ยอดเยี่ยมด้วยการคว้าอันดับที่สามจากการแข่งขันรายการ มอนติคาร์โล แรลลี่ และถือเป็นการคว้าตำแหน่งบนโพเดี้ยมครั้งแรกของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่สามารถทำได้เมื่อสามปีก่อนในรายการ ซาฟารี แรลลี่ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2544 ส่วนนักแข่งชั้นนำอย่าง มร. โรแวนพีรา ก็สามารถเก็บคะแนนและขับเข้าเส้นชัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถทำคะแนนสะสมต่อเนื่องได้จาก 9 สนาม ในการลงแข่งขันทั้งหมด 16 สนาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของนักแข่งผู้นี้ และในเดือนตุลาคม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้เข้าร่วมการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลกที่ถูกจัดขึ้นบนแผ่นดินบ้านเกิดของตนเองเป็นครั้งแรกในสนามที่ 13 เจแปน แรลลี่ และได้ส่งนักแข่งทั้งหมดให้เข้าร่วมการแข่งขันฯ ในสนามนี้ โดย มร. โรแวนพีรา สามารถคว้าอันดับที่ห้า พร้อมสร้างความประทับใจให้แก่เหล่าบรรดาแฟนคลับชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และในสนามสุดท้ายรายการที่ 16 รอบชิงชนะเลิศที่ ออสเตรเลีย แรลลี่ มร. โรแวนพีรา สามารถคว้าอันดับที่ 2 มาครอง และถือเป็นการคว้าอันดับที่ดีที่สุดสำหรับ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในฤดูกาลดังกล่าว ส่วน มร. กัลลี ก็สามารถจบการแข่งขันฯ ในอันดับที่ 5 ในประเภทรวมโอเวอร์ออล ซึ่งถือเป็นสถิติส่วนบุคคลที่ดีที่สุดของเขาจนถึงปัจจุบัน จากผลการแข่งขันดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นถึงสมรรถนะ ความแข็งแกร่ง และเทคโนโลยีอันยอดเยี่ยมของ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ดับบลิวอาร์ซี 05

Mitsubishi Pajero

Mitsubishi Pajero

คันต่อมากับ Mitsubishi Pajero โดยในปี 2528 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้ตัดสินใจส่ง มิตซูบิชิ ปาเจโร รุ่นต้นแบบ เพื่อลงแข่งขันแรลลี่ในรายการสุดหฤโหดอย่าง ดาการ์ แรลลี่ โดยรถต้นแบบคันดังกล่าวฯ ใช้พื้นฐานและตัวถังมาจากโปรดักชั่นคาร์ที่ผลิตขึ้นเพื่อการจำหน่ายทั่วไป แต่ได้รับการปรับแต่งให้มีคุณสมบัติและสมรรถนะที่ดีขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันฯ อาทิ การปรับเปลี่ยนชุดเพลาหน้า การขยายฐานล้อและการปรับจูนความสมดุลของน้ำหนักด้านหน้า-หลังของตัวรถใหม่ ตัวถังภายนอกผลิตขึ้นจากพลาสติกพอลิเมอร์เสริมแรงด้วยเส้นใยคาร์บอนแบบเคฟลาร์ ช่วยลดน้ำหนักตัวรถได้มากกว่า 200 กก. พร้อมเปลี่ยนระบบกันสะเทือนด้านหลังจากแหนบมาเป็นแบบทรีลิงค์ ช่วยเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ให้ดีมากยิ่งขึ้น ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาด 2.6 ลิตร ภายใต้รหัส 4G54 ที่ถูกคิคค้นโดยทีมวิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์ของโรงงานผลิตรถยนต์ มิตซูบิชิ ที่เมืองโอกาซากิ ให้พละกำลังสูงสุด 225 แรงม้า พร้อมเทอร์โบชาร์จเจอร์แบบอินเตอร์คูลเลอร์ ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 185 กม./ชม.

Mitsubishi Pajero

Mitsubishi Pajero

มิตซูบิชิ ปาเจโร รุ่นต้นแบบทั้งสองคันถูกใช้ในการแข่งขันแรลลี่รายการดังกล่าวฯ โดยมี มร. แอนดรูว์ โคแวน จาก สหราชอาณาจักร ที่เคยคว้าอันดับที่สาม และ มร. แพทริค ซานิโรลี่ ชาวฝรั่งเศส ผู้ที่เคยคว้าอันดับที่สองในประเภทรวมโอเวอร์ออลกับ เรนจ์ โรเวอร์ จากการแข่งขันฯ ในปีก่อน ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่าง ปอร์เช่ 959, โอเปิล มันตรา, อาวดี้ ควอทโทร และ เรนจ์ โรเวอร์ โดยการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ ในปีนั้นมีผู้เข้าแข่งขันรวมทั้งสิ้น 552 คน โดยมี 362 คน ที่สมัครลงแข่งในประเภทรถยนต์ และต้องขับลุยผ่านเส้นทางทะเลทรายเทเนเร่ ที่ทุรกันดารถึงสองครั้งแสดงถึงความหฤโหดของการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ โดยมีระยะทางครอบคลุมรวมทั้งสิ้นรวมถึง 10,284 กม. ใช้ระยะเวลาในการแข่งขันทั้งสิ้นรวม 22 วัน และแบ่งเป็นระยะทางที่ใช้ในการแข่งขัน (SS) รวมทั้งสิ้น 7,487 กม.

Mitsubishi Pajero

Mitsubishi Pajero

โดยการแข่งขันฯ สองครั้งก่อนหน้านี้ได้กำหนดจุดสตาร์ทให้เริ่มต้นที่ จตุรัส คอนคอร์ด แต่ในปีนี้ทางผู้จัดการแข่งขันฯ ได้กำหนดจุดสตาร์ทใหม่ โดยให้เริ่มต้นที่เมืองแวร์ซาย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส และมีผู้ชมราว 70,000 คน ร่วมเป็นสักขีพยานและให้กำลังใจแก่เหล่าบรรดานักแข่งที่กำลังเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการแข่งขันฯ โดยการแข่งขันมีความเข้มข้นมากขึ้นที่เส้นทางในประเทศแอลจีเรีย ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ทีมปอร์เช่ พบปัญหาใหญ่จนต้องถอนตัว โดยมี โอเปิล มันตรา ที่ขับโดยนักแข่งชาวเบลเยี่ยมอย่าง มร. กีร์ คอนโซล เป็นผู้นำ ในขณะที่ มร. แพทริค ซานิโรลี่ ซึ่งขับตามอยู่ในอันดับที่สอง และเมื่อมาถึงเส้นทางการแข่งขันในเมืองอากาเดซ ทางตอนกลางของประเทศไนเจอร์ มิตซูบิชิ ปาเจโร ก็สามารถขับแซง โอเปิล มันตรา และขึ้นนำการแข่งขันในประเภทรวมโอเวอร์ออลได้สำเร็จ จากความผิดพลาดของทีม โอเปิล และปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ในช่วงต้นครึ่งหลังของการแข่งขันฯ

Mitsubishi Pajero

Mitsubishi Pajero

นักแข่ง มิตซูบิชิ ปาเจโร ทุกคนต่างทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่และสามารถเข้าเส้นชัยด้วยเวลาที่ดีที่สุดถึง 3 ครั้ง จนสามารถขึ้นเป็นผู้นำและคว้าชัยชนะจากการแข่งขันฯ ในประเภทรวมโอเวอร์ออลได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โดย มิตซูบิชิ ปาเจโร ทั้งสองคันทั้งของ มร. แอนดรูว์ โคแวน และ มร. แพทริค ซานิโรลี่ ที่ต่างทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมให้แก่บริษัทฯ โดยสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศและรองชนะเลิศจากการแข่งขันฯ ในปีเดียวกัน ทั้งนี้ มิตซูบิชิ ปาเจโร ยังสามารถคว้าชัยชนะทั้งในรุ่นโปรดักชั่นคาร์ และในรุ่นมาราธอน จากผลงานที่ยอดเยี่ยมดังกล่าวส่งผลให้ มิตซูบิชิ ปาเจโร ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั้งในด้านสมรรถนะและความแข็งแกร่งในระดับโลก ทั้งนี้ในปีเดียวกันยังมีนักแสดงชาวญี่ปุ่น ได้แก่ มร. ยูซุเกะ นัทซึกิ และ มร. โยชิมาสะ ซูกาวาระ ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกในประเภทโปรดักชั่นคาร์กับ มิตซูบิชิ ปาเจโร แต่พวกเขาต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันฯ ทั้งๆ ที่เหลือระยะทางห่างจากเส้นชัยเพียง 900 กม. เท่านั้น

Mitsubishi Leo

Mitsubishi Leo

คันสุดท้ายกับ Mitsubishi Leo โดยในอดีตที่ผ่านมารถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ด้วยยอดจำหน่ายที่สูงมากทั้งในช่วงก่อนและหลังปี 2503 เพราะด้วยความคล่องแคล่วในการขับขี่แบบสกู๊ตเตอร์และราคาจำหน่ายที่ต่ำ พร้อมการจัดเก็บอัตราภาษีที่ต่ำในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรถรถบรรทุกแบบสกู๊ตเตอร์สามล้อไปเป็นรถบรรทุกสี่ล้อขนาดเล็ก ด้วยความต้องการรถบรรทุกประเภทดังกล่าวฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในปี2502 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จึงได้ผลิตและเปิดตัวรถบรรทุกสามล้อขนาดเล็ก มิตซูบิชิ ลีโอ ที่ได้รับการตั้งชื่อตามตัวละครในเรื่อง Kimba the White Lion การ์ตูนยอดนิยมในนิตยสารมังงะของประเทศญี่ปุ่น ที่แต่งขึ้นโดย มร. โอซามุ เทะซึกะ

Mitsubishi Leo

Mitsubishi Leo

Mitsubishi Leo ถือเป็นรถสามล้อที่มีห้องโดยสารผลิตขึ้นจากเหล็กกล้า พร้อมติดตั้งที่นั่ง 2 ตำแหน่ง โดยหลังจากเปิดตัวได้ไม่นานก็สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านยอดจำหน่ายที่จำนวน 1,000 คันต่อเดือน ทั้งนี้รถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กยังคงได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้นมากถึง 14,000 คันในปี 2501 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 83,000 คันในปี 2502 และเพิ่มเป็น 190,000 คันในปี 2503 แม้ในเวลาต่อมารถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กจะได้รับความนิยมลดลง แต่ มิตซูบิชิ ลีโอ ก็สามารถคงความนิยมและถูกผลิตขึ้นรวมทั้งสิ้น 28,000 คัน

Mitsubishi Leo

Mitsubishi Leo

โดยในปี 2503 คือช่วงเวลาที่ มิตซูบิชิ ลีโอ มียอดจำหน่ายมากที่สุด และได้ถูกแทนที่ด้วยรถบรรทุกสี่ล้อขนาดเล็กในเวลาถัดมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและได้เปิดตัวรถบรรทุกสี่ล้อขนาดเล็กรุ่น มิตซูบิชิ 360 ตามความนิยมในยุคนั้น แม้ว่า มิตซูบิชิ ลีโอ จะมีระยะเวลาการผลิตที่ไม่นานนัก แต่ก็มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระหว่างรถบรรทุกขนาดเล็กแบบสามล้อและแบบสี่ล้อ

Mitsubishi Leo

Mitsubishi Leo

รถในตำนานทั้ง 3 คันของ Mitsubishi นั้น จะถูกนำไปแสดงตัวจริงที่งาน Thailand International Motor Expo 2021 ตั้งแต่วันที่ 1-12 ธันวาคมนี้ ที่Impact Challenger 1-3 เมืองทองธานี

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ