Traction Control … ความปลอดภัยพื้นฐานที่ควรจะมี

  • โดย : Autodeft
  • 30 ม.ค. 60
  • 39,840 อ่าน

กลายเป็นข่าวขึ้นมาท่ามกลางกระแสวงสังคมทันที เมื่อมีเหตุการณ์รถยนต์ Mitsubishi Pajero Sport รุ่นเก่า เกิดลื่นไถลจนไปกระแทกรถที่ขับมาในเลนข้างๆ จนประสบอุบัติเหตุแถมกระเด็นไปชนรถเลนสวนมาจน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

 

ประเด็นที่หลายคนกำลังพูดถึงในเวลานี้คือ “ชนแล้วหนี” แต่ในเหตุการณ์นี้เรื่องราวอาจจะไม่ร้ายแรงหรือไม่เกิดขึ้น ถ้าภาครัฐบาลใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่มากกกว่านี้ โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีกำลังแรงบิดสูง เช่น รถกระบะและรถอเนกประสงค์หลายๆรุ่น ควรมีข้อบังคับให้ติดตั้งระบบ Traction Control ได้แล้ว เพื่อช่วยผ่อนหนักเป็นเบา หรือช่วยให้ไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นเลย

[IMAGE1]

ระบบ Traction Control คืออะไร ???

ระบบ Traction Control คือระบบป้องกันการลื่นไถลของรถ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อกำลังจากเครื่องยนต์สามารถชนะการเกาะถนนของยาง ซึ่งโดยมากจะเกิดในภาวะการณ์ขับขี่บางสถานการณ์ อาทิ บนหิมะ, บนน้ำแข็ง และที่ดูจะข้องแวะกับบ้านเราบ่อยสุด ก็คือในยามที่เกิดฝนตก 

เมื่อฝนตก สิ่งที่ตามมานอกจากทัศนวิสัยที่มองเห็นได้อย่างยากลำบาก ทั้งจากความแรงของฝน และ คราบน้ำจากรถคันหน้าแล้ว ก็วายไม่พ้นถนนลื่นได้ง่าย เนื่องจาก แรงเสียดทานจากวัสดุผิวถนน ไม่ว่าจะยางมะตอย หรือ คอนกรีต ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ

แม้ว่าการขับรถด้วยความปลอดภัยจะเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่ที่ควรระมัดระวังในการขับขี่บนเส้นทาง แต่บางครั้งเหตุสุดวิสัย ก็อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะเมื่อผู้ขับขี่เดินคันเร่งอย่างรวดเร็ว รถยนต์ที่มีแรงบิดสูงมีโอกาสที่จะเอาชนะแรงเสียดทานยึดเกาะถนนสูง ก่อให้เกิดการลื่นไถลในการขับขี่ จนรถอาจจะสะบัด และไม่อาจจะควบคุมทิศทางให้เป็นไปตามต้องการได้ นำไปสู่อุบัติเหตุได้อย่างที่เกิดขึ้นในคลิป

[IMAGE2]

ระบบป้องกันการลื่นไถล ที่ปัจจุบันติดตั้งอยู่ในรถ โดยมากจะทำงานร่วมกับระบบควบคุมการทรงตัว (electronic stability control)  ซึ่งรับสัญญาณเพิ่มเติมทำงานร่วมมือกับระบบเบรกป้องกันการลื่นไถล หรือ ABS  

โดยเมื่อระบบตรวจพบความเร็วล้อใดล้อหนึ่งเกิดหมุนเร็วผิดปกติ จนอาจจะนำไปสู่การลื่นไถลได้ ระบบจะเพิ่มแรงดันน้ำเบรกไปยังล้อที่ตรวจพบว่า อาจจะมีการลื่นไถลในทันที  เพื่อลดอาการลื่นไถล และให้เกิดแรงเสียดทานเหมือนเดิม เพื่อไม่ให้รถลื่นไถล เสียการควบคุม และในระบบเดียวกันจากบริษัทรถยนต์บางเจ้ายังลดกำลังเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติทันที แม้ว่าผู้ขับขี่จะเหยียบคันเร่งอยู่ก็ตามที เพื่อให้ควบคุมได้ง่าย โดยคำว่า "ควบคุมการลื่นไถล" ไม่ได้หมายถึงในยามที่รถเริ่มเกิดอาการจะหมุนแล้วเท่านั้น แต่ใช้ได้กับทุกรณี เช่น แซงแล้วรถเริ่มเกิดอาการเป๋ไม่เป็นไปตามการควบคุม เป็นต้น

 

รัฐบาลไทยกำหนดมาตรฐานแค่ในอีโค่คาร์  2

แม้ว่าระบบป้องกันการลื่นไถล ฟังดูน่าจะเป็นระบบที่ควรให้มาเป็นมาตรฐานในการใช้งานสำหรับรถยนต์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในรถยนต์ที่มีแรงกำลังสูง อย่างรถกระบะหรืออเนกประสงค์เครื่องยนต์ดีเซลที่มีแรงกำลังสูง และมีวิธีขับเคลื่อนพละกำลังลงที่ล้อหลัง อาจจะเกิดการลื่นไถลได้ง่ายกว่ารถยนต์แบบอื่นๆ

แต่ในแง่ความเป็นจริงในตลาดรถยนต์ประเทศไทย มีเพียงผู้ผลิตบางรายเท่านั้น ที่ให้ความใส่ใจติดตั้งระบบป้องกันการลื่นไถลเข้ามา เหตุผลหนึ่งด้วยราคาค่าใช้จ่ายที่ต้องติดตั้งคู่กับระบบควบคุมการทรงตัวไปพร้อมกัน อาจะทำให้ราคารถเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ทั้งที่เป็นมาตรฐานที่อาจจะจำเป็นมากกว่ารถเก๋งที่กำลังและแรงบิดน้อยกว่าเสียอีก

[IMAGE3]

ทางทีมงาน Autodeft  เราลองเปิดรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆของรถกระบะ เพื่อสำรวจการติดตั้งระบบควบคุมการทรงตัวและป้องกันการลื่นไถล พบว่า ปัจจุบันระบบป้องกันการลื่นไถล ส่วนใหญ่จะมีมาให้เพียงในรถรุ่นท๊อป ซึ่งมีราคาล้านบาทขึ้นไป และไม่มีปรากฏในรุ่นที่มีสเป็คต่ำกว่าเลย ทั้งที่บางรุ่นใช้เครื่องยนต์เดียวกัน และมีกำลังแรงบิดไม่ต่างกัน ...

ส่วนในรถยนต์อเนกประสงค์ที่ดัดแปลงจากกระบะนั้น ส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งระบบนี้มาให้แล้วเป็นที่เรียบร้อย อาจจะด้วยราคาค่าตัวที่มีราคาแพงมากกว่า จึงจำเป็นต้องให้มาเป็นมาตรฐานความปลอดภัย ก่อนจะเพิ่มเติมตัวช่วยระบบช่วยในการขับขี่อื่นๆ เข้ามาช่วยในการขับขี่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ในยุโรประบบป้องกันการลื่นไถล ถูกยกระดับให้เป็นมาตรฐานสำหรับรถยนต์ที่จะวางจำหน่ายในยุโรป โดยคณะกรรมการสหภาพยุโรปได้ระบุให้ ระบบควบคุมการทรงตัวจำเป็นต้องติดตั้งในรถยนต์ทุกคันที่จะวางจำหน่าย โดยออกเป็นข้อบังคับมาตั้งแต่ปี  2009 และเริ่มบังคับใช้ในปี 2011 ในรถยนต์ใหม่ที่วางจำหน่าย และในปี 2014 ระบุว่า รถทุกคันที่ใช้บนถนนยุโรป ต้องมาพร้อมระบบควบคุมการทรงตัวและป้องกันลื่นไถล

ตามข้อมูลจากคณะกรรมการสหภาพยุโรป ระบุว่า ระบบควบคุมการทรงตัวและป้องกันการลื่นไถล สามารถลดการเสียชีวิตได้ถึงปีละ 3,000 คน และลดจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนได้กว่า 50,000 คน เลยทีเดียว

ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย ดูจะยังให้ความใส่ใจกับระบบความปลอดภัยในการขับขี่น้อยเกินไป มีเพียงการออกข้อบังระบบ Active Safety ในรถยนต์อีโค่คาร์เฟส 2 ว่าจะต้องมีการติดตั้งมาตรฐานระบบเบรก ABS, EBD รวมถึงระบบควบคุมการทรงตัวมาให้ในทุกรุ่นย่อย

แต่กลับละเลยที่จะมามองโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวแรกอย่างรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่มีความสุ่มเสียงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดความสูงมากกว่ารถเก๋ง และที่สำคัญปัจจุบันเครื่องยนต์กระบะก็มีพละกำลังมากมายเหลือล้น เมื่อรวมกับแพลทฟอร์มขับเคลื่อนล้อหลัง ก็มีโอกาสจะเกิดการลื่นไถลได้ง่ายกว่า และยิ่งเมื่อมองว่ารถกระบะยังเป็นที่นิยมของคนไทยเสมอ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ... ทำไมรัฐบาลถึงละเลยที่จะมองเรื่องความปลอดภัยในรถกระบะ และรวมถึงรถอเนกประสงค์ที่ใช้พื้นฐานจากกระบะ ทั้งที่อาจจะสามารถลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติภัยทางถนนได้มากมาย และอาจจะไม่เกิดเหตุสลดดังในคลิป

[IMAGE4]

อุบัติเหตุบนถนน..อาจจะเกิดจากปัจจัยทางด้านผู้ขับขี่เป็นหัวใจสำคัญ และเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า รถยนต์ยังบังคับด้วยมนุษย์

หากเราก็ต้องยอมรับว่าเราจะมาดัดนิสัยคนวันนี้ให้พรุ่งนี้ตระหนักอีกอย่างคงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเปลี่ยนความคิดคนได้ แต่สิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ทันที เพื่อไม่ให้บ้านเราติดท๊อปชาร์ตตายบนถนนมากที่สุดในโลก คือ การวางมาตรการให้รถยนต์ที่วางขายในไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น และจัดการเรื่องถนนหนทางให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน

ระบบควบคุมการลื่นไถล บางคนอาจจะว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุอีกครั้ง แต่ถ้าคุณชมคลิปปาเจโร่เบียดรถกระบะอีซูซุจนพลิกคว่ำ คุณก็จะเห็นได้ทันทีว่าระบบควบคุมการลื่นไถลและควบคุมการทรงตัวมีความสำคัญ และวันนี้ภาครัฐตลอดจนผู้ผลิตรถยนต์ควรตระหนักที่จะให้มาเป็นมาตรฐานในการขับขี่ เพื่อรักษาชีวิตของคนไทย และคุณภาพชีวิตในการเดินทางในราชอาณาจักร

ติดตามเรื่องราว ข่าวสาร และความรู้ รถยนต์ได้กับพวกเรา ได้ที่  www.Autodeft.com 

หรือผ่านทาง   Fanpage Facebook กดไลค์และ  Follow   ได้ที่   www.facebook.com/autodeft 

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ