รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นจริงได้ไหม และเราเตรียมพร้อมกับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดไหน
- โดย : รัฐศิลป์ รัตนกู้เกียรติ
- 21 พ.ย. 61 00:00
- 16,543 อ่าน
“รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” เราอาจจะยังมองมันว่าเป็นเรื่องไกลตัว และยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะ เห็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งกันตามท้องถนนในบ้านเรา แต่ถ้าเรามองในข้อมูลให้ละเอียดรอบด้าน ต้องบอกตามตรงเลยว่า เรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเมืองไทย เราต้องช่วยกันสนับสนุนให้เป็นจริงได้ในเร็ววัน
ภาพรวมของความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งโลก
สำหรับภาพรวมส่วนใหญ่ของโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย เช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ประเทศฝั่งยุโรป หรือแม้กระทั่งประเทศที่คนไทยหลายคนค่อนขอดถึงคุณภาพสินค้าอย่างประเทศจีน ต่างก็ทุ่มเทกันอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ด้วยมาตรการต่างๆทั้งส่งเสริมและบังคับใช้ อย่างเช่น
- จีนมีมาตรการชดเชยเงินให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาสร้างโรงงานในประเทศให้มากขึ้น จนทำให้ค่ายรถยนต์บางยี่ห้อ ตัดสินใจเข้าไปสร้างโรงงานผลิตในจีนแล้ว
- อังกฤษ มีนโยบายสั่งห้ามการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน นับตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป เพื่อแก้ปัญหามลพิษ ขณะเดียวกันรัฐยังสนับสนุนเงินมูลค่า 255 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ปัญหามลพิษที่ปล่อยออกมาจากยานพาหนะอีกด้วย
- เยอรมนี ตั้งเป้าหมายรถยนต์ใหม่ทุกคันจะไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นต้น
นอกจากการส่งเสริมจากทางรัฐบาลแล้ว คนในประเทศเหล่านี้ก็ขานรับนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้กันอย่างคึกคัก อย่างเช่น ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในจีนบูม ทำยอดขายได้มากกว่า 80,000 คันต่อเดือน, รายงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บอกว่ายอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกเกินกว่า 1.6 ล้านคันต่อปีไปแล้ว ซึ่ง 3 ประเทศที่ตลาดโตที่สุดคือ นอร์เวย์,จีน และอเมริกา คาดว่าในปี 2025 นอร์เวย์จะเป็นประเทศแรกที่ใช้รถอีวี 100% จากข่าวเหล่านี้ทำให้เราเองก็พอจะประเมินคร่าว ๆ ได้ว่า เทรนด์ของโลกยานยนต์ทุกวันนี้จะหันไปทางรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันหมด
แล้วทำไมเราต้องใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันล่ะ
หลักใหญ่ที่สำคัญมากที่สุดเลยก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะทุกวันนี้การใช้รถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้ก๊าซเรือนกระจกถูกผลิตออกมาส่งออกไปสู่ชั้นบรรยากาศทุกวันด้วยจำนวนมหาศาล อากาศที่ปั่นป่วนไปทั่วทั้งโลกทุกวันนี้ ทั้งน้ำท่วม, น้ำแล้ง, พายุหิมะ หรืออื่น ๆ ที่มันเกิดขึ้นชนิดที่เรียกว่ามาไม่ให้ทันแก้ไข เวลาฝนอยากจะตกก็ตกซะจนท่วมแล้วท่วมอีก แต่บางช่วงอยากจะแล้งขึ้นมา ฝนหายไปแบบหลายเดือนเลยก็มี เรื่องเหล่านี้มาจากปัญหาก๊าซเรือนกระจกทั้งนั้น
วิธีการที่จะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงได้ ก็คือการลดจำนวนการปล่อยก๊าซให้ได้มากและเร็วที่สุด ลองจินตนาการดูว่า ถ้าสมมุติวันพรุ่งนี้รถยนต์ทุกคันในประเทศไทย เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด เมื่อไม่มีการปล่อยไอเสีย อากาศในประเทศไทยก็คงใช้เวลาไม่นานในการกลับมาเป็นอากาศที่สดชื่น สูดได้เต็มปอดกันอีกครั้ง แต่ก็อาจจะมีคนแย้งขึ้นมาอีกว่า แต่จะผลิตไฟฟ้าได้ ก็ต้องสร้างโรงงานที่ปล่อยมลพิษเช่นกัน มันก็ถูกต้องครับ แต่เชื่อได้เลยว่า โรงงานที่สามารถผลิตไฟฟ้าให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าใช้งานได้ จะปล่อยมลพิษน้อยกว่าปล่อยให้รถยนต์แต่ละคันปล่อยไอเสียเองหลายร้อยหลายพันเท่าตัวแน่นอน ลำพังแค่รถเมล์ที่วิ่งในเมืองกรุงทุกวันนี้ ก็ทำเอาอากาศในกรุงเทพพังไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว แล้วเราจะยังยอมให้สุขภาพและระบบการหายใจของเราพังจากเรื่องแบบนี้อยู่อีกหรือ
ประเภทของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
เบื้องต้นนั้น เราคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้านั้นมีหลายระดับ โดยในปัจจุบัน มีประเภทที่ได้รับความนิยมกันอย่างมากดังนี้
Hybrid
รถยนต์ในระบบ Hybrid นั้น จะเป็นการนำเอามอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเครื่องยนต์ทำงานเสริมในส่วนต่าง ๆ เช่น ช่วยขับเคลื่อนรถในความเร็วต่ำ, ช่วยขับเคลื่อนร่วมกับเครื่องยนต์ช่วงเร่งแซง, แต่จะมีแบตเตอรี่ขนาดเล็ก สามารถใช้งานได้แค่เปิดแอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในรถช่วงจอดนิ่งได้ราว 15-30 นาที, ใช้ขับเคลื่อนรถด้วยไฟฟ้าอย่างเดียวราว 1-3 กิโลเมตร แต่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้งานเครื่องยนต์เป็นหลักอยู่ดี
Plug-in Hybrid
ส่วนรถยนต์ประเภท Plug-in Hybrid หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า PHEV เป็นรถยนต์ระบบคล้ายกับแบบ Hybrid แต่จะมีแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่กว่า สามารถใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถตั้งแต่ 20-50 กิโลเมตร (ขึ้นอยู่กับรุ่น) ใช้วิธีการเติมไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่ด้วยการใช้ไฟชาร์จจากภายนอก ใช้เวลาในการชาร์จให้เต็มตั้งแต่ 2-6 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับแท่นชาร์จ) และเมื่อแบตเตอรี่หมด ก็จะทำงานเหมือนรถยนต์ระบบ Hybrid เลย
Series-Hybrid หรือ E-Power
ระบบขับเคลื่อนแบบ Series Hybrid หรือเรียกกันอย่างคุ้นเคยในประเทศไทยว่า E-Power เป็นรถยนต์ที่ใช้การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แต่มีแบตเตอรี่ที่ขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถพารถวิ่งไปได้ไม่กี่กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีการติดตั้งเครื่องยนต์เข้าไป เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ทำหน้าที่เหมือนเครื่องปั่นไฟ เพื่อจ่ายไฟฟ้าไปเคลื่อนมอเตอร์ให้รถวิ่งไปได้ และไม่มีการส่งกำลังจากเครื่องยนต์เพื่อไปขับเคลื่อนรถยนต์โดยตรงเลย
Electric Vehicle หรือ EV
Electric Vehicle หรือ EV แต่ในปัจจุบันหลายแห่งเริ่มใช้คำว่า Electric Car แล้ว ซึ่งรถยนต์ระบบนี้ จะไม่มีเครื่องยนต์ระบบสันดาปภายในเอาไว้ใช้งานเลย แหล่งพลังงานเดียวที่มีก็คือแบตเตอรี่นั่นเอง การชาร์จไฟก็ใช้จากที่ชาร์จภายในบ้าน หรือแท่นชาร์จแบบเร็วจากผู้ผลิตรถยนต์ที่ให้บริการ โดยรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะมีมอเตอร์ขนาดใหญ่ และมีแบตเตอรี่ที่สามารถพารถขับเคลื่อนไปได้อย่างน้อย 300 กิโลเมตรขึ้นไป การปล่อยมลพิษยังเป็นศูนย์
แบตเตอรี่ที่นิยมใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า
ส่วนแบตเตอรี่ที่นิยมใช้งานบนรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำนั้น มักจะมีการเลือกใช้เป็นแบบ Lithium-ion กันเกือบทั้งหมด เพราะแบตเตอรี่ชนิดนี้มีขนาดเล็ก, น้ำหนักเบา, มีการเก็บกระแสไฟได้มากกว่า, จ่ายไฟออกมาได้สเถียรกว่า, ชาร์จไฟได้เร็วกว่า, ทำงานได้ในอุณภูมิที่น้อยกว่าและมากกว่า เมื่อเทียบกันกับประเภท Nickel hydride ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน แบตเตอรี่ประเภท Lithium-ion จะยังคงมีราคาที่สูงกว่า แต่ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและการผลิตในระดับอุตสาหกรรมมีมากขึ้น ทำให้ราคาของแบตเตอรี่ประเภทนี้ ถูกลงเรื่อย ๆ ทุกปีอย่างแน่นอน
รถยนต์ไฟฟ้าช่วยโลกเราได้อย่างไร
แล้วทำไมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าถึงจะมาช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ เพราะรถยนต์ Electric Vehicle หรือ EV เป็นรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็น 0 ซึ่งหลักการทำงานของรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น ใช้การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ ไม่มีการใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลมาใช้งานเลย (น้ำมัน, แก๊ซ) เมื่อไม่มีการเผาไหม้ จึงไม่มีการเกิดมลพิษ, ไม่มีการผลิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ไม่มีฝุ่นละออง ถ้าเรายิ่งมีรถประเภทนี้อยู่บนท้องถนนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้อากาศที่เราสูดดมเข้าไปก็ปลอดภัยกับร่างกายของเราได้มากขึ้น
ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเป็นรถที่ไม่ปล่อยมลพิษแล้ว ยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง อาทิ
- ไม่มีเสียงดัง เพราะไม่มีเครื่องยนต์ที่ทำการจุดระเบิดภายในเหมือนรถยนต์ทั่วไป เราจึงจะได้ยินเฉพาะเสียงมอเตอร์หมุน และเสียงยางที่เสียดสีกับพื้นเท่านั้น
- ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำ โดยการชาร์จไฟนั้น จะใช้ไฟประมาณเดียวกับเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง เมื่อชาร์จไฟราว 7-8 ชั่วโมง ประเมินค่าไฟคร่าวๆน่าจะราว 30-40 บาท โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ สามารถวิ่งได้ไกลราว 300-400 กิโลเมตรได้อย่างสบาย เท่ากับใช้เงินต่อกิโลเมตรเพียง 10 สตางค์เท่านั้น ถูกกว่าการใช้แก๊ส LPG หรือ NGV ด้วยซ้ำ
- อัตราเร่งไม่แพ้เครื่องยนต์ปกติ บางทีดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะมอเตอร์ไม่ต้องรอรอบ หมุนไปได้ตามกำลังของมอเตอร์ได้เลย
- ค่าบำรุงรักษาต่ำ เพราะไม่มีค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
การชาร์จไฟของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
การชาร์จไฟ อาจจะเป็นเรื่องเสียเปรียบเมื่อเทียบกับการเติมน้ำมัน โดยถ้าเป็นการชาร์จไฟบ้านผ่านสายอแดปเตอร์ปกติ ก็จะต้องใช้เวลาในการชาร์จไฟให้เต็มราว 7-8 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการเติมน้ำมันที่ใช้เวลาเพียงไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีล่าสุดก็มีการชาร์จให้ลดระยะเวลาลงได้อีกมาก
ประเภทของหัวชาร์ทในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
โดยส่วนใหญ่แล้ว ค่ายรถยนต์จะใช้หัวชาร์จกันอยู่ 2 ประเภท นั่นก็คือ
- Type1 หัวชาร์จประเภทนี้เริ่มต้นใช้งานมาก่อน โดยสามารถรองรับกำลังไฟได้ 32 A, 250 V. นิยมใช้กันมากในฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่น
- Type2 เป็นการปรับปรุงให้รองรับกำลังไฟได้มากกว่าเดิม โดยเฟสแรก สามารถรองรับไฟได้ 70 A, 250 V. แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก สามารถรองรับไฟได้ 63 A, 480 V. นิยมใช้กันมากในฝั่งยุโรปและจีน
ทั้ง 2 แบบนี้ไม่สามารถที่จะใช้หัวชาร์จร่วมกันได้ ดังนั้นในประเทศใหญ่ที่มีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะมีหัวชาร์จทั้ง 2 ประเภทไว้ให้บริการในตู้เดียวกันได้
ส่วนการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าประเภท EV นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีทั้งหมด 3 แบบ นั่นก็คือ
1. ชาร์จผ่านไฟ AC โดยใช้สายอแดปเตอร์ (Portable Charger) ที่มากับรถยนต์ โดยสายแบบนี้สะดวกกับการใช้งาน สามารถพกพาเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ แต่กำลังไฟในการอัดประจุไฟต่ำ ส่วนใหญ่ก็อยู่ราว 3-5 กิโลวัตต์ ดังนั้นการชาร์จแบบนี้ จะใช้เวลาเพื่อเติมไฟให้เต็มราว 8 ชั่วโมง
2. ชาร์จผ่านไฟ AC ผ่านแท่นชาร์จ (Wall Charger) โดยแท่นชาร์จแบบนี้สามารถติดตั้งได้ที่บ้าน เดินไฟผ่านไฟที่ใช้ในบ้านได้เลย มีกำลังในการอัดประจุไฟได้มากกว่าแบบ Portable Charger โดยจะมีแรงดันได้ตั้งแต่ 5-20 กิโลวัตต์ ลดระนะเวลาในการชาร์จให้เหลือราว 4-6 ชั่วโมงได้
3. ชาร์จผ่านตู้ชาร์จเร็ว DC (DC Fast Charger) โดยตู้ชาร์จแบบนี้ จะต้องมีการเดินไฟฟ้าแรงดันสูงมาโดยตรงต่างหาก สามารถให้แรงดันไฟฟ้าได้สูงกว่า 2 แบบแรกเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันมีตู้ชาร์จประเภทนี้สามารถให้กำลังไฟได้สูงมากกว่า 350 กิโลวัตต์ด้วยซ้ำ ทำให้การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้เต็มได้ ใช้เวลเียงแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง
เมืองไทย พร้อมหรือยังกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
ถ้าเราไปดูมาตรการส่งเสริมจากทางรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 กระทรวงการคลังได้ออก
ประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ลดอัตราสรรพสามิต ฉบับที่ 138 เกี่ยวกับรถยนต์
ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าว่า EV, (Electric Vehicle), FEV (Full Electric Vehicle), All-Electric Vehicle หรือก็คือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV เต็มรูปแบบได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 2% ซึ่งก็ถือเป็นมาตรการจูงใจให้ค่ายรถยนต์หันมาทำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้น
ส่วนภาคเอกชนก็ส่งเสริมกันเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า อย่างเช่น บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ผู้ติดตั้งแท่นชาร์จไฟฟ้าในนามของ EA ANYWHERE ที่มีแท่นชาร์จทั่วกรุงเทพกว่า 100 จุดแล้ว รวมทั้งกำลังเร่งติดตั้งเพิ่มเติมในต่างจังหวัดให้เร็วที่สุดอีกด้วย หรือทางการไฟฟ้านครหลวง ก็ได้จัดทำ MEA EV Application ที่ให้ผู้ใช้งาน สามารถค้นหาแท่นชาร์จไฟได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ส่วนภาคประชาชนนั้น เคยมีผลสำรวจออกมาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า คนไทยกำลังตัดสินใจที่จะซื้อรถยนต์ระบบไฟฟ้ามากถึง 44% เลย ดังนั้นถ้าถามว่าเราพร้อมหรือยัง ถ้าเราไม่พร้อมกันวันนี้ เราก็จะตามคนอื่นเขาไม่ทันแน่นอน อย่ามองแค่ว่า ยังไม่อยากใช้ รอให้ทุกคนใช้ก่อนแล้วค่อยไปใช้ตาม เพราะบางทีเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของตัวเราและลูกหลานเรา มันก็ไม่อาจรอได้นานขนาดนั้นนะครับ
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com