จ่ายเพิ่มอีก 1 แสน จะได้อะไรเพิ่มขึ้นบ้างจาก Honda City Turbo RS เป็น Honda City e:HEV
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 17 ธ.ค. 63 00:00
- 21,340 อ่าน
หลังจากเปิดตัวไปได้ไม่นานของรถยนต์ซิตี้คาร์รูปแบบพลังงาน Hybrid อย่าง Honda City e:HEV พร้อมราคาที่เปิดออกมาที่ 839,000 บาท ซึ่งก็มีข้อสงสัยทันทีว่า ทำไมราคาถึงกระโดดไปจาก Honda City Turbo RS ที่ตั้งราคาเอาไว้ที่ 739,000 บาท ไปเยอะขนาดระดับ 100,000 บาทเลย แบบนี้เอาตัว Turbo ดีกว่าไหม ประหยัดกว่าตั้งเยอะ เพื่อคลายข้อสงสัย วันนี้เรามาดูกันว่า เมื่อคุณจ่ายเงินเพิ่มอีก 100,000 บาท คุณจะได้อะไรเพิ่มขึ้
เครื่องยนต์
ชัดเจนที่สุดที่ได้มา ก็คือระบบเครื่องยนต์ Full Hybrid นั่นเอง จากเดิมในรุ่น Honda City Turbo RS เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร VTEC Turbo ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) 3 สูบ 12 วาล์ว ผลิตกำลังได้ 122 แรงม้า แรงบิด 173 นิวตันเมตร แต่ใน Honda City e:HEV คุณจะได้เครื่องยนต์ระบบ Sport Hybrid i-MMD มีเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) 4 สูบ 16 วาล์ว i-VTEC ผลิตกำลังได้ 98 แรงม้า แรงบิด 127 นิวตันเมตร ผนึกกำลังกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 109 แรงม้า แรงบิด 253 นิวตันเมตร รวมแล้วผลิตกำลังได้ 129 แรงม้า วิ่งด้วยระบบไฟฟ้าล้วนได้ ให้ความประหยัดน้ำมันที่มากกว่า
เบรก
หลายคนอาจจะมองข้ามเรื่องนี้ไป เพราะบน Honda City Turbo RS นั้น ถึงแม้ว่าเบรกด้านหน้าจะเป็นดิสก์เบรก แต่ด้านหลังนั้นใช้เป็นดรัมเบรก ส่วนบน Honda City e:HEV นั้น ด้านหลังเป็นดิสก์เบรก
ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมเครื่องปรับอากาศด้วยกุญแจรีโมท (Remote Engine Start)
ทั้ง 2 รุ่น เป็นรีโมทแบบ Smart Key ที่สตาร์ทรถด้วยปุ่ม Push Start ทั้งคู่ แต่รีโมทบน Honda City Turbo RS จะทำได้เพียงแค่เปิด-ปิดประตูรถกับเปิดท้ายเท่านั้น แต่บน Honda City e:HEV จะเพิ่มฟังก์ชั่น สตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมเครื่องปรับอากาศด้วยกุญแจรีโมท มาให้ด้วย เอามาเปิดแอร์ก่อนเราเดินไปเข้าตัวรถได้เลย
ช่องปรับอากาศตอนหลัง
อุปกรณ์ที่บางคนบอกไม่สำคัญ แต่หลายคนที่นั่งด้านหลังส่วนใหญ่อยากได้แน่นอน กับช่องปรับอากาศตอนหลัง จะช่วยส่งความเย็นให้ถึงคนนั่งด้านหลังได้ดีขึ้น แต่จะมีอยู่เฉพาะบน Honda City e:HEV เท่านั้น ส่วนบน Honda City Turbo RS นั้นไม่มี
หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 7 นิ้ว
สิ่งที่ชัดเจนอีกอย่างที่ต่างกันชัดเจน ก็คือตัวหน้าปัดที่แสดงข้อมูลการขับขี่ โดยบน Honda City Turbo RS จะใช้เป็นแบบเข็มบอกข้อมูลความเร็วกับรอบเครื่องยนต์ แล้วตรงกลางมีหน้าจอขนาดเล็กเอาไว้บอกข้อมูลอื่น ๆ ส่วน Honda City e:HEV เป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 7 นิ้ว โดยจะเป็นเข็มเฉพาะตัวบอกความเร็วเท่านั้น
ระบบเบรกมือไฟฟ้าและระบบ Auto Brake Hold
อีกความสะดวกที่หลายคนถามหา ก็คือระบบเบรกมือไฟฟ้าและระบบ Auto Brake Hold นั่นเอง ซึ่งทั้ง 2 ระบบมีอยู่บน Honda City e:HEV ส่วนบน Honda City Turbo RS นั้นยังเป็นระบบมือดึงอยู่
ระบบความปลอดภัย
เรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือเรื่องของระบบความปลอดภัย ที่ทั้ง 2 รุ่นก็ต่างให้มาเยอะ โดยใน Honda City Turbo RS นั้น มีดังนี้
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง
- ระบบป้องกันล้อล็อกและระบบกระจายแรงเบรก (ABS & EBD)
- ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA)
- ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA)
- สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS)
- กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ
- ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer พร้อมระบบสัญญาณกันขโมย
- ระบบล็อคประตูรถอัตโนมัติ (Auto Door Lock by Speed)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control System)
ซึ่งรายชื่อระบบความปลอดภัยนี้ บน Honda City e:HEV ก็มีเช่นเดียวกันทั้งหมด แถมยังมีเพิ่มเติมอีกดังนี้
- ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก (CMBS)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (LKAS)
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (RDM with LDW)
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (AHB)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC)
- ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch)
- ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ (Walk Away Auto Lock)
ถ้าดูจากอุปกรณ์และระบบที่ได้มากขึ้นแล้ว ก็ถือว่าเยอะพอสมควร แต่จะให้ประเมินว่ามันรวมแล้วเป็นราคาเท่าไหร่ อันนี้ก็ไม่สามารถตอบได้จริง ๆ ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมการประหยัดน้ำมันที่จะได้มาจากระบบ Hybrid อีกนะ ที่ล่าสุด TopTaro รีวิวมาล่าสุดบน Honda City e:HEV ขับแบบเกินกว่าการขับขี่ใช้งานปกติ มีการทดสอบอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. หลายครั้ง การวิ่งใช้ความเร็ว การเร่งแซงในหลายๆ จังหวะ ตลอดระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตรในการทดสอบ บวกกับการนั่งโดยสารและผู้ขับขี่ทั้งหมด 2 ท่าน และสัมภาระ อัตราบริโภคเฉลี่ยแสดงบนหน้าปัดรถอยู่ที่ 25.5 กม./ลิตร ส่วน Earth ทดสอบ Honda City Turbo RS ขับแบบนอกเมือง ความเร็วประมาณช่วง 80-120 กม./ชม. ไม่ได้กดเร่งหรือวิ่งประคองทำ Eco Run เลย วิ่งไประยะทางประมาณ 79.7 กิโลเมตร ได้ออกมาที่ 17.6 กิโลเมตร/ลิตร ถือเป็นส่วนต่างที่อาจจะต้องเอามาประกอบการตัดสินใจด้วย จะคุ้มหรือไม่คุ้มกับการเพิ่มเงินอีก 100,000 บาท คุณเท่านั้นที่จะเป็นคนให้คำตอบได้ด้วยตัวเอง
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com