Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Honda City Hatchback ปราดเปรียว อเนกประสงค์ และ City e:HEV ไฮบริดสุดประหยัด
- โดย : รัฐศิลป์ รัตนกู้เกียรติ
- 16 ธ.ค. 63
- 15,271 อ่าน
หลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กับรถใหม่ The City Series ที่ทางฮอนด้าได้แนะนำพร้อมกันทีเดียวถึง 2 รุ่น กับ Honda City Hatchback รูปแบบ 5 ประตู ที่ชูความอเนกประสงค์กว่าในร่างต่อยอดจาก City Turbo ซีดาน และ Honda City e:HEV รักษ์โลกในแบบขุมพลัง Hybrid ที่ประหยัดยิ่งกว่า
ล่าสุดนับเป็นโอกาสอันดีจากทาง ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จํากัด ที่ได้เชิญทีมงาน Autodeft.com ร่วมสัมผัสและขับทดสอบรถยนต์ใหม่ทั้ง 2 รุ่น ทั้ง Honda City Hatchback และ Honda City e:HEV บนเส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา กับการขับขี่ใช้งานจริง การตอบสนองต่างๆ รวมไปถึงฟิลลิ่งในการใช้งานจริงบนท้องถนนกับทั้ง 2 รุ่นใหม่ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ตามไปดูกัน
ก่อนที่จะเริ่มการขับทดสอบกัน ขอพาไปดูรายละเอียดของทั้ง 2 รุ่นกันอีกครั้ง เริ่มกันที่ Honda City Hatchback ใหม่ ถือได้ว่าเปิดตัวครั้งแรกของโลกที่เมืองไทย ภายนอกโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ของรถยนต์แบบ 5 ประตู กระจังหน้าแบบ Gloss Black และสัญลักษณ์ RS ออกแบบด้านท้ายใหม่สปอร์ตลงตัวสวยงาม โดยเฉพาะรุ่น RS ที่ได้รับการตกแต่งเน้นความสปอร์ตแบบเต็มๆ เด่นด้วยโลโก้ RS สีแดง ดิฟฟิวเซอร์ท้ายสีดำอีกด้วย ไฟหน้าพร้อมไฟ DRLs เป็นแบบ LED และไฟท้ายแบบ LED มีเสาอากาศแบบครีบฉลาม ล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ตขนาด 16 นิ้ว (เฉพาะรุ่น RS) และล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว (รุ่น SV และ S+)
ภายในชูความอเนกประสงค์กับเบาะที่นั่งแบบอัลตราซีท (ULTR) ที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ถึง 4 โหมด สามารถที่จะยกเบาะรองนั่งขึ้นได้เพื่อเพิ่มพื้นที่ ตกแต่งคอนโซลหน้าด้วยสีดำ Piano Black รูปแบบต่างๆ ยังคุ้นเคยดีกับ City Turbo ซีดาน สปอร์ตมากขึ้นกับเบาะหนังกลับดีไซน์ใหม่ ตกแต่งด้วยแถบสีแดงในรุ่น RS เท่านั้น มีระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay พร้อมระบบสั่งการด้วยเสียง SIRI พร้อมกับ Honda CONNECT เทคโนโลยีเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่และรถยนต์ ทำงานผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ
หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ (Multi-Information Display) พร้อมมาตรวัดเรืองแสงสีแดง มีระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยแบบ 7 สปีด (Paddle Shift) (เฉพาะรุ่น RS)
ด้านของขุมกำลังยังคงใช้ขุมพลังเดียวกันกับรุ่น City Turbo ซีดาน กับเครื่องยนต์เทอร์โบ ขนาด 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO 3 สูบ 12 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ที่ 2,000 - 4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หรือ CVT รองรับน้ำมัน E20 ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม พิสูจน์มาแล้วใน City Turbo ที่เปิดตัวทำตลาดมาก่อนหน้า
ส่วนของระบบความปลอดภัยมีมาให้เด่นๆ ไม่ว่าจะเป็น
- โครงสร้างตัวถังนิรภัย G-Force Control หรือ G-CON ปกป้องห้องโดยสารจากการชนรอบทิศทาง
- ถุงลม 6 ตำแหน่ง (เฉพาะรุ่น RS) ได้แก่ ถุงลมคู่หน้า (Dual SRS) ถุงลมด้านข้าง (Side Airbags) และม่านถุงลมด้านข้าง (Side Curtain Airbags)
- กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera) ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในการถอย โดยสามารถเลือกดูมุมกล้องที่แตกต่างกันได้ทั้งแบบ 130 องศา 180 องศา และมุมมองจากด้านบน ในจังหวะที่เกียร์ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง (เฉพาะรุ่น RS และ SV)
- ระบบป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบกระจายแรงเบรก (EBD) บนพื้นถนนที่ลื่น ระบบป้องกันล้อ ล็อกช่วยป้องกันล้อล็อกเมื่อเบรกกะทันหัน เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถและหักพวงมาลัยหลบสิ่งกีดขวางที่อยู่ด้านหน้า ขณะที่ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) จะช่วยกระจายแรงเบรกระหว่างล้อหน้าและล้อหลังเพื่อให้ความสมดุลกับน้ำหนักในการบรรทุกและเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรก
- ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist - VSA) เป็นระบบที่ ช่วยป้องกันการลื่นไถลออกทางด้านข้าง และให้ความมั่นใจในระหว่างการขับ การเลี้ยว หรือการหยุด และให้การทรงตัวที่ดีของรถยนต์ในทุกทิศทาง
- ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Start Assist - HSA) ระบบจะทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ตัวรถเคลื่อนที่ไปทางด้านหลังในจังหวะที่มีการปล่อยเท้าออกจากแป้นเบรกเมื่อรถยนต์จอดอยู่บนทางลาดชัน
- สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (Emergency Stop Signal - ESS) เป็นระบบที่ทำงานโดยอัตโนมัติ โดยสัญญาณไฟฉุกเฉินจะทำงานเมื่อมีการเหยียบเบรกกะทันหัน เป็นการแจ้งเตือนรถที่ตามมาข้างหลัง
และในส่วนของ Honda City e:HEV รถยนต์ในรูปแบบ Full Hybrid ที่มาเพียงรุ่นย่อยเดียวในร่างของรถ City แบบ 4 ประตู พร้อมพ่วงการตกแต่งในสไตล์ของ RS ด้วยสีดำตามส่วนต่างๆ แตกต่างภายนอกด้วยโลโก้ Honda พื้นสีน้ำเงิน พร้อมอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัย Honda Sensing อีกด้วย
แน่นอนว่าไฮไลท์อยู่ที่ขุมพลัง Sport Hybrid Intelligent Multi-Mode Drive (i-MMD) ที่ติดตั้งมากับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ให้กำลังสูงสุด 109 แรงม้า แรงบิด 253 นิวตันเมตร พร้อมแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน ขนาดความจุ 1 kWh และเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร Atkinson-Cycle DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว กำลังสูงสุด 98 แรงม้า แรงบิด 127 นิวตันเมตร ทั้งหมดผสานกำลังรวมทั้งระบบประมาณ 126 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 253 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องไฟฟ้า (E-CVT) รองรับน้ำมัน E20
ภายในเด่นด้วยมาตรวัดพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 7 นิ้ว ระบบช่วยชะลอความเร็วรถที่พวงมาลัย (Deceleration Paddle Selectors) มีระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay พร้อม Google Maps และระบบสั่งการด้วยเสียง SIRI รวมไปถึงระบบสตาร์ทเครื่องยนต์ พร้อมเครื่องปรับอากาศด้วยกุญแจรีโมท (Remote Engine Start)
และส่วนของเทคโนโลยีความปลอดภัย Honda SENSING จัดเต็ม ทั้งกล้องมุมมองกว้างด้านหน้า ช่วยตรวจจับวัตถุบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแจ้งเตือนผู้ขับขี่และช่วยควบคุมในสถานการณ์การขับขี่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีระบบการทำงานดังต่อไปนี้
- ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก (Collision Mitigation Braking System: CMBS)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (Adaptive Cruise Control: ACC)
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (Road Departure Mitigation System with Lane Departure Warning: RDM with LDW)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Assist System: LKAS)
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Auto High-Beam: AHB)
ยังมีเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยอื่นๆ เช่น
- ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch)
- ระบบเบรกมือไฟฟ้า (Electric Parking Brake)
- ระบบ Brake Hold อัตโนมัติ (Auto Brake Hold)
- ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ (Walk Away Auto Lock)
- ถุงลม 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ถุงลมคู่หน้า (Dual SRS) ถุงลมด้านข้าง (Side Airbags) และ ม่านถุงลมด้านข้าง (Side Curtain Airbags)
- กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera) ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในการถอย
- ระบบป้องกันล้อล็อก (ABS) ช่วยป้องกันล้อล็อกเมื่อเบรกกะทันหัน และระบบกระจายแรงเบรก (EBD) บนพื้นถนนที่ลื่น
- ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist - VSA)
- ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Start Assist - HSA)
- สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (Emergency Stop Signal - ESS)
ไล่เรียงออพชั่นเด่นๆ กันไปเป็นที่เรียบร้อยกับทั้ง Honda City Hatchback และ Honda City e:HEV แล้ว ก็ได้เวลาที่ทีมงานจะไปสัมผัสการขับขี่จริงบนท้องถนนกันแล้ว เริ่มต้นล้อหมุนมุ่งหน้าสู่นครราชสีมา ไปกับ Honda City Hatchback รุ่น RS ท็อปสุด สัมผัสแรกในการขับขี่ช่วงในเมือง ขุมพลัง 1.0 ลิตรเทอร์โบยังสามารถตอบสนองได้อย่างคล่องตัว พวงมาลัยที่เบาและหนืดกำลังดีทำให้สามารถควบคุมเปลี่ยนเลนลัดเลาะไปตามช่องจราจรที่รถหนาแน่นได้อย่างง่ายดาย ทัศนวิสัยการมองเห็นรอบคันชัดเจนดี และมีความรู้สึกว่า Honda City Hatchback นี้ค่อนข้างคล่องตัวกว่าด้วยท้ายที่สั้น
และเมื่อคุณนั่งที่เบาะแถวหลังอาจได้ยินเสียงจากด้านท้ายได้ชัดเจนกว่านั้นเอง ในจังหวะที่วิ่งออกนอกเมืองนั้น ความเร็วย่าน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เร่งขึ้นไปได้แบบสบายๆ รวมไปถึงในจังหวะที่ต้องการอัตราเร่งแซง ก็เพียงแต่จุ่มคันเร่งเพิ่มไม่มาก เครื่องยนต์และเกียร์ก็พารถไต่ระดับความเร็วขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่หลังพวงมาลัยให้ได้เรียกรอบกำลังเครื่องยนต์ เพิ่มความสนุกเร้าใจในการขับขี่ได้อีก
การเก็บเสียงลมด้านข้างค่อนข้างดีทีเดียว อาจมีได้ยินเสียงจากพื้นเข้ามาบ้าง ช่วงล่างได้รับการปรับเซ็ตมาในทางนุ่มและยังหนึบอยู่ เน้นการใช้งานในเมืองและการโดยสารที่สบายในทุกตำแหน่งที่นั่ง หรือแม้ในช่วงความเร็วเดินทางไกลก็ยังมอบความนุ่มสบายตลอดเส้นทาง การเข้าโค้งต่างๆ ด้วยความเร็วที่เหมาะสมให้ความมั่นใจได้ดี พวงมาลัยมีน้ำหนักในช่วงความเร็วเดินทางที่ไม่ต้องคอยแต่งพวงมาลัยซ้ายขวา สามารถขับขี่ทางตรงยาวๆ เวลานานๆ ได้ไม่เหนือยล้านัก เมื่อเทียบกับรถที่ต้องคอยแต่งพวงมาลัยในทางตรงตลอดเวลา
ซึ่งหลังจากที่ได้ขับทดสอบกันแล้ว ทีมงานก็ได้ลองนั่งเดินทางกันที่เบาะด้านหลัง ความประทับใจต้องบอกเลยว่าพื้นที่ช่วงขากว้างขวางมากๆ เบาะที่นั่งมีความเอนรับสีรระค่อนข้างสบาย ไม่ได้รู้สึกว่าตั้งชัน ส่วนเบาะรองนั่งมีความกระดกรับช่วงต้นขาค่อนข้างดี และสำหรับผมที่สูงประมาณ 178 ซม. เมื่อนั่งแบบก้นชิดด้านในเบาะ พื้นที่เหนือศีรษะก็ยังพอมีเหลือที่ว่างอยู่ ซึ่งในการนั่งโดยสารแล้วเราอาจไม่ได้นั่งก้นชิดเบาะด้านในตลอดเวลา อาจมีการเลื่อนขยับตัวไปด้านหน้า ซึ่งมีพื้นที่เหลือค่อนข้างมาก การนั่งโดยสารด้านหลังจึงรู้สึกไม่อึดอัดเลย แต่เมื่อคุณหันหน้าไปด้านหลังรถอาจรู้สึกแคบเล็กน้อย เพราะคุณจะพบกับตัวคานหลังคาด้านหลังนั้นเอง
ตัวเบาะด้านหลังเองยังเป็นอีกจุดเด่นไฮไลท์กับความอเนกประสงค์ในการปรับได้หลายรูปแบบ ที่สามารถพับแบบแยกส่วน 60:40 ได้แล้ว ยังสามารถพับยกตัวเบาะรองนั่งขึ้นมาได้อีกด้วย แน่นอนว่าทำให้เราสามารถขนสัมภาระที่มีความสูงได้มากเพิ่มขึ้น และการนำสัมภาระเข้าจากประตูข้างด้านหลังก็สะดวกมากยิ่งขึ้นไม่ติดส่วนของเบาะที่นั่งอีกด้วย
ซึ่งในช่วงขับทดสอบนี้ทางทีมงานก็ได้ลองจับเวลาในส่วนของอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง กันเบื้องต้น โดยใช้เส้นทางตรงที่อาจเป็นเนินลาดลงเล็กน้อย เวลาคร่าวๆ ที่จับได้อยู่ที่ประมาณ 10.9 วินาที และในส่วนของอัตราประหยัดเฉลี่ยตลอดเส้นทางที่ขับขี่มาราว 200 กิโลเมตร ที่มีทั้งการใช้ความเร็ว การเร่งแซงในหลายจังหวะ เส้นทางขึ้นเขา รวมไปถึงช่วงการจราจรที่ติดขัดไหลๆ ในบางช่วง อัตราเฉลี่ยความประหยัดบนหน้าจอของรถทำได้อยู่ที่ 16.2 กิโลเมตร/ลิตร เรียกได้ว่าภาพรวมการขับขี่การใช้ความเร็วในครั้งนี้เทียบเท่าได้กับการใช้งานจริงเลยทีเดียว กับการโดยสารรวมผู้ขับทั้งหมด 2 ท่าน บวกกับน้ำหนักสัมภาระ 1 คืน
และในช่วงขากลับเข้ากรุงเทพฯ ทีมงานได้เปลี่ยนมาขับทดสอบกับ Honda City e:HEV หรือรถยนต์ขุมพลังไฮบริดจากฮอนด้า ที่มาในตัวถังของ City Sedan พร้อมการตกแต่งในสไตล์ของ RS ภาพรวมหลังจากการขับทดสอบ ฟิลลิ่งในการขับขี่ให้ความรู้สึกไปทางนุ่มสบายและนิ่งกว่า Hatchback ที่ปรับเซ็ตมาให้การตอบสนองของช่วงล่างนั้นปราดเปรียวและคล่องแคล่วกว่า ซึ่งด้านของ Honda City e:HEV จะมีความเป็นรถที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่า ในสไตล์ของบุคลิกของคนที่ดูสุขุมแต่มีพลัง อัตราเร่งตั้งแต่การออกตัวทันใจติดเท้า ต้องขอขอบคุณการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้ากับมอเตอร์ไฟฟ้าที่หมุนล้อในทันที่ตั้งแต่การออกตัว และช่วงของการขับขี่มอเตอร์เรียกได้ว่าทำหน้าที่หมุนล้อเป็นส่วนใหญ่
จะมีช่วงของเครื่องยนต์ที่นอกจากทำหน้าที่ในการปั่นไฟแล้ว ในช่วงความเร็วเดินทางตรงๆ ยาวๆ ความเร็วคงที่ในช่วงนึง เครื่องยนต์ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการหมุนล้อแทนมอเตอร์ โดยการทำงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการหมุนจากมอเตอร์หรือเครื่องยนต์ รวมไปถึงการปั่นไฟเข้าแบต ทั้งหมดนี้เราสามารถดูการทำงานผ่านเมนู Power Flow บนหน้าปัดจอสี TFT ได้ทั้งหมด
แต่หากคุณกำลังวิ่งที่ความเร็วคงที่ประมาณนึงแล้วคิกดาวน์เผื่อเร่งแซงหรือเรียกกำลัง ตัวรถจะค่อยไต่ระดับความเร็วขึ้นไปแบบสุขุม ไม่ได้เร่งความเร็วจนแบบหลังติดเบาะ โดยจังหวะที่มีการเหนียบคันเร่งเพื่อเพิ่มความเร็วคุณจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดังขึ้นคล้ายกับการขับขี่รถเครื่องยนต์เบนซินปกติ แต่ใน City e:HEV นั้น เครื่องยนต์กำลังทำหน้าที่ในการปั่นไฟแต่มอเตอร์คือส่วนที่กำลังหมุนล้ออยู่ เสียงของเครื่องยนต์ที่ตั้งใจออกแบบมาในลักษณะนี้จึงทำให้เราคุ้นชินและไม่รู้สึกแปลกไปจากเครื่องยนต์เบนซินปกติที่เคยใช้งานกัน
และจังหวะของการติดดับของเครื่องยนต์เรียกได้เลยว่าไม่มีความรู้สึกใดที่ทำให้คุณรู้สึกได้ หากไม่ดูจากหน้าปัดของรถที่แสดงว่าเครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่ หรือในจังหวะที่มีการเรียกกำลังที่มีเสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามา นับเป็นการออกแบบและพัฒนามาได้อย่างดี
และความประทับใจแบบเกินคาดก็คือเรื่องของอัตราประหยัดน้ำมันเฉลี่ย ที่ในครั้งนี้ทีมงานได้ลองขับกันแบบเกินกว่าการขับขี่ใช้งานปกติ มีการทดสอบอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. หลายครั้ง การวิ่งใช้ความเร็ว การเร่งแซงในหลายๆ จังหวะ ตลอดระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตรในการทดสอบ บวกกับการนั่งโดยสารและผู้ขับขี่ทั้งหมด 2 ท่าน และสัมภาระ อัตราบริโภคเฉลี่ยแสดงบนหน้าปัดรถอยู่ที่ 25.5 กม./ลิตร
เป็นไปได้อย่างสูงว่าหากในลักษณะของการขับขี่แบบปกติทั่วไปแล้ว ตัวเลขเฉลี่ยน่าจะทำได้ดีกว่านี้ไม่น้อย ซึ่งหากคุณเป็นคนที่เท้าหนักหน่อย อัตราการประหยัดที่ได้ก็จะยังวนเวียนอยู่ที่ระดับ 20 กม./ลิตร บวกลบอยู่ ซึ่งอีกสถานการณ์ที่ทีมงานยังไม่ได้ทดสอบแบบเต็มๆ ก็คือในสภาพการจราจรในเมืองที่ค่อนข้างติดขัด ตัวเลขความประหยัดที่ได้จะอยู่ที่ประมาณเท่าใด แต่มีโอกาสสูงว่าตัวเลขน่าจะทำได้ดีเช่นกัน ซึ่งในโอกาสต่อไปน่าจะได้ลองทดสอบกัน ส่วนอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่จับเวลาได้อยู่ที่ราว 10.05 วินาที เรียกได้ว่าตอบสนองได้ทันใจเร่งติดเท้าในช่วงต้นได้มากทีเดียว
ในส่วนของ Honda SENSING ที่อยู่ใน City e:HEV ที่ใช้กล้องในการตรวจจับต่างๆ ก็สามารถทำงานได้อย่างดี มีการสั่นที่พวงมาลัยและเตือนพร้อมดึงกลับเมื่อคุณขับเบี่ยงออกนอกเลน การช่วยรักษาให้รถอยู่ในเลน ที่จะทำงานที่ช่วงความเร็วประมาณ 72 กม./ชม. ขึ้นไป และความสบายกับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันที่จะรักษาระยะห่างจากคันหน้าตามที่ผู้ขับขี่ตั้งค่าไว้ การเบรกชะลอรักษาระยะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่รู้สึกว่าเบรกรุนแรงเกินไป ระบบทำงานที่ความเร็ว 30 กม./ชม. ขึ้นไป ซึ่งแอบเสียดายว่ายังไม่รองรับการทำงานในช่วงความเร็วต่ำจนรถหยุดนิ่งด้วย
ทั้งหมดกับการขับทดสอบใช้งานจริง 2 รุ่นรถยนต์ใหม่ล่าสุดจากฮอนด้า Honda City Hatchback RS และ Honda City e:HEV ใหม่ เรียกได้ว่าทั้ง 2 รุ่นมีคาแลคเตอร์ที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน แม้ว่าจะอยู่ใน The City Series เหมือนกัน อย่าพลาดที่จะไปทดลองขับด้วยตัวคุณเอง เพราะมีแต่คุณเท่านั้นที่จะรับรู้ได้ว่ารถรุ่นไหนตอบโจทย์คุณได้ดีที่สุด...
ราคาจำหน่าย Honda City รุ่นที่ขับทดสอบ ดังนี้
- Honda City Hatchback รุ่น RS ราคาจำหน่าย 749,000 บาท
- Honda City e:HEV RS ราคาจำหน่าย 839,000 บาท
และสำหรับ Honda City Hatchback ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 6 สี ได้แก่ สีแดงอิกไนต์ (เมทัลลิก) เฉพาะรุ่น RS
สีใหม่ สีเทาเมทิเออรอยด์ (เมทัลลิก) พร้อมด้วย สีขาวแพลทินัม (มุก) เฉพาะรุ่น RS และ SV
สีดำคริสตัล (มุก) สีเทาโซนิค (มุก) และสีขาวทาฟเฟต้า เฉพาะรุ่น S+ ในราคาดังนี้
- Honda City Hatchback รุ่น RS ราคา 749,000 บาท
- Honda City Hatchback รุ่น SV ราคา 675,000 บาท
- Honda City Hatchbackรุ่น S+ ราคา 599,000 บาท
สำหรับ Honda City Hatchback รุ่น RS
สิ่งที่ชอบ
- รูปลักษณ์ดีไซน์ของตัวรถในรูปแบบ 5 ประตู
- เบาะที่นั่งแบบอัลตร้า ซีท เพิ่มความอเนกประสงค์ได้อย่างมาก
- ขุมกำลัง VTEC TURBO ตอบสนองได้แรงเร้าใจ
- ที่นั่งตอนหลังกว้างขวาง เบาะที่นั่งนั่งโดยสารได้สบาย
- รู้สึกว่าเป็นรถที่ยิ่งแต่งจะยิ่งสวย
สิ่งที่ไม่ชอบ
- ส่วนตัวชอบเซ็ตติ้งฟิลลิ่งช่วงล่างของตัวถังซีดานมากกว่า มีความนิ่งและสบายกว่าในการขับขี่และโดยสาร
- เสียงจากพื้นและล้อที่ค่อนข้างแอบดังเข้ามาภายในห้องโดยสารให้ได้ยิน
- ที่เบาะแถวหลังเสียงจากด้านนอกช่วงท้ายของรถ มีเสีงเข้ามาได้ยินชัดกว่าซีดาน โดยเฉพาะเวลาที่ผู้ขับมีการเรียกกำลัง
สำหรับ Honda City e:HEV RS
สิ่งที่ชอบ
- ความประหยัดน้ำมัน ที่แม้ว่าจะเหยียบแบบเต็มที่ ก็ยังสามารถมอบความประหยัดได้ในระดับ 20 กม./ลิตร ขึ้น
- การออกตัวขุมพลังไฮบริดนี้ให้การตอบสนองที่ติดเท้า และรู้สึกได้ว่าคล่องตัวกว่าเทอร์โบ
- ออพชั่นและระบบความปลอดภัย Honda Sensing ที่มีมาให้
- ความนิ่งและความสบายของช่วงล่างอย่างรู้สึกได้ชัดเจน
สิ่งที่ไม่ชอบ
- แอบเสียดายระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ที่ไม่รองรับในช่วงความเร็วต่ำจนรถหยุดนิ่ง
- จังหวะในการจุ่มคันเร่งเร่งแซงยังไม่เร้าใจ แต่ความเร็วจะค่อยๆ ไต่ขึ้นแบบสุขุม
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ Autodeft.com
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com