Uber&Grab VS Taxi จะเอาที่ถูกใจหรือที่ถูกต้อง?
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 7 มี.ค. 60 00:00
- 13,303 อ่าน
ปัญหาเรื่อง Taxi เมืองไทย ยังคงเป็นตำนานอันแสนยาวนานกับปัญหาที่มาจากตัวคนขับอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน เริ่มจากปัญหาเบสิคอย่างไม่รับผู้โดยสารจากข้ออ้างมากมาย ทั้งแก๊สหมด, ส่งรถ, รถติด, ไม่คุ้นทาง ยิ่งกับบริเวณที่มีฝรั่งเยอะๆนี่ แทบจะปิดไฟไม่ต้อนรับผู้โดยสารคนไทยเลย จนถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าทั้งพูดจาแทะโลมผู้โดยสาร, โกงมิเตอร์, พาขับอ้อมเพื่อเอาเงินเพิ่มเป็นต้น จนทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไปใช้วิธีเรียก
แต่อย่างที่ทราบกันแล้วว่าบริการของ Uber และ Grab ที่มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาออกให้บริการรับส่ง เป็นการทำที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย ล่าสุดทางกรมการขนส่งฯก็ได้เริ่มออกตรวจจับด้วยการเรียกมาผ่านทางแอพ แล้วทำการจับปรับและอบรบคนขับคันนั้น (http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000022955) จนทำให้หลายคนที่ใช้บริการเริ่มออกมาโวยวายแล้วว่า แทนที่จะเอาเวลามาจับ Uber เอาเวลาไปจับรถ Taxi ที่ไม่รับผู้โดยสารหรือไม่กดมิเตอร์ดีกว่ามั้ย แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยันที่จะทำการจับต่อไป เพราะให้เหตุผลว่าถ้าทำผิดกฎหมาย ยังไงก็ต้องจับ
Uber หรือ Grab คืออะไร?
บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าบริการเรียกรถผ่านแอพบนมือถืออย่าง Grab และ Uber คืออะไร ผมขอแยกการอธิบายของ 2 แอพครับ เพราะจะมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย
- Uber คือแอพบนสมาร์ทโฟน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ขอใช้บริการกับเจ้าของรถ เพื่อให้เจ้าของรถที่อยู่บริเวณเดียวกับผู้ใช้บริการให้ไปส่งถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ซึ่งจุดกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 2009 ก็มาจากอยากแก้ปัญหาการใช้บริการแท็กซี่ที่เมืองนิวยอร์คเช่นกัน จนบริการนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ขยายการใช้งานไปหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคล สามารถสมัครได้ฟรี และเลือกเวลาที่จะให้บริการเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงเปิดแอพบนสมาร์ทโฟนเท่านั้นเอง เป็นการเพิ่มรายได้ในช่วงเวลาว่าง และยังใช้ประโยชน์จากรถยนต์ของตัวเองได้อีกด้วย ส่วนผู้ใช้บริการก็สะดวก เพราะเรียกแล้วมารับไปส่งถึงจุดหมายแน่ๆ แถมสามารถเลือกจ่ายแบบเงินสดหรือบัตรเครดิตได้อีกด้วย และที่สำคัญที่หลายคนลงความเห็นแล้วว่า การขึ้น Uber นั้นดูปลอดภัยมากกว่าขึ้นแท็กซี่ เพราะคนขับสามารถถูกรายงานพฤติกรรมได้เสมอหากทำอะไรที่ไม่ดีกับผู้โดยสาร จนอาจทำให้ถูกตัดออกจากรายชื่อคนขับของ Uber เมื่อไหร่ก็ได้
- Grab เป็นอีก 1 ผู้ให้บริการเรื่องการโดยสารรถยนต์เช่นกัน แต่อาจจะมีข้อแตกต่างอยู่เล็กน้อยตรงที่จะมีให้เลือกได้หลากหลายกว่า ทั้งเรียก Taxi, รถส่วนตัว, จักรยานยนต์ และล่าสุดกับบริการส่งเอกสาร โดยที่นี้จะขอพูดเฉพาะขนส่งคนด้วยรถยนต์ ก็จะมีให้เลือกทั้ง Taxi และ รถยนต์ส่วนตัว การบริการก็เหมือนกับ Uber ในส่วน Car แต่ส่วนของ Taxi จะแตกต่างนิดหน่อย เพราะจะเรียกมาในส่วนของรถยนต์ที่เป็นแท็กซี่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว คิดราคาตามมิเตอร์ที่ติดอยู่บนรถเลย แล้วบวกค่าเรียกใช้งานไป 50 บาท หรือตามตกลง
Uber และ Grab ผิดกฎหมายอย่างไร?
ในที่นี้ขอแยกอธิบายส่วนของ Grab Taxi ก่อน เพราะบริการ Grab Taxi จะเป็นการเรียกรถที่จดทะเบียนบริการสาธารณะอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาในการใช้งานอย่างไร แต่กับส่วนของ Grabcar และ Uber จะเป็นการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้บริการสาธารณะ โดยถ้าดูตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการขอจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2558 แล้ว ในข้อ 5 วงเล็บ 1 จะมีการระบุว่า รถยนต์ที่จดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนต้องมีความจำเป็นใช้รถเพื่อการส่วนตัวเท่านั้น และมีระบุในข้อ 14 ว่า ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลตามข้อ 4 (1) และ (2) ไปใช้ทำการขนส่งเพื่อสินจ้าง หรือนำรถยนต์ส่วนบุคคลตามข้อ 4 (3) ไปใช้เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือใช้ทำการขนส่งหรือให้เช่าเพื่อสินจ้าง ให้นายทะเบียนเพิกถอนรถคันดังกล่าว (www.trbcthai.com/4channelradio/sites/default/files/จดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคล2558.pdf) โดยมาตรการในปัจจุบันของกรมการขนส่งทางบก เมื่อพบผู้กระทำผิดอย่างผู้ขับขี่ Uber หรือ Grabcar จะดำเนินการบันทึกปากคำและเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ประกอบด้วย
1. เปรียบเทียบปรับในข้อหาใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่ได้จดทะเบียนไว้ ตามมาตรา 21 ประกอบมาตรา 60 เปรียบเทียบปรับในอัตราโทษสูงสุด เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท
2. เปรียบเทียบปรับในข้อหาใช้รถโดยไม่จดทะเบียน ตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 59 เปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท
3. ดำเนินการปรับทัศนคติและอบรมข้อกฎหมายเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง
4. บันทึกและจัดทำประวัติผู้กระทำความผิดไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป
แล้วทำไมคนยังไว้ใจคนขับ Uber หรือ Grabcar มากกว่า Taxi?
ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนที่เลือกใช้บริการ Uber หรือ Grabcar ต้องเคยเจอประสบการณ์แย่ๆกับ Taxi มาแล้ว ทั้งเรียกแล้วไม่ไป, ขับรถแย่, พาอ้อม,พูดจาไม่ดี, ไม่กดมิเตอร์, โกงมิเตอร์ หรือแม้กระทั่งอ้างว่าไม่มีเงินทอน เป็นต้น เมื่อเจอเรื่องแบบนี้บ่อยเข้า ความไว้วางใจก็ย่อมลดลงไปตามธรรมชาติ แถมในยุคปัจจุบันในยุคของโซเชียล ยังเจอคลิปกับพฤติกรรมแย่ๆของคนขับแท็กซี่ออกมามากมาย แถมบางคนก็ทำผิดซ้ำซาก กรมการขนส่งก็ยังปล่อยให้คนแบบนี้ให้บริการกับประชาชนทั่วไปอีก จนทำให้หลายคนเข็ดขยาดไม่กล้าเรียกแท็กซี่อีกเลย เมื่อมีบริการทางเลือกใหม่ที่ดูปลอดภัยและเป็นธรรมมากกว่า คนที่เข็ดจาก Taxi ก็เลยเฮโลย้ายไปใช้บริการกับ Uber และ Grabcar แทน หลายคนก็รู้แหละว่าบริการแบบนี้มันผิดกฎหมาย แต่ถ้าเลือกระหว่างแหวกกฎหมายกับเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยง คุณคิดว่าเราควรจะเลือกแบบไหนดีล่ะครับ
แล้วทางออกจะอยู่ตรงไหน?
เอาจริงๆแล้วการบริการอย่าง Uber ก็ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ตามเมืองใหญ่ๆบางเมืองก็มีการแบนบริการ Uber ไปแล้ว (http://thumbsup.in.th/2014/09/uber-faces-ban-in-germany-as-taxi-group-wins-court-order/) เนื่องจากนำรถยนต์มาให้บริการไม่ถูกประเภท และมีปัญหาเรื่องแท็กซี่ท้องถิ่นประท้วงเนื่องจากแย่งผู้โดยสารไปทำให้รายได้หายไป (https://www.beartai.com/news/23053 , http://thumbsup.in.th/2015/06/paris-in-chaos-as-anti-uber-taxi-drivers/) ถ้าวิเคราะห์ดูแล้วสำหรับแท็กซี่ในต่างประเทศ ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้โดยสารคือไม่สามารถหาแท็กซี่เพื่อขึ้นได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมากกว่า แต่สำหรับเมืองไทยนั้นต่างกัน เพราะจากการสอบถามคนที่ใช้งาน Uber และ Grabcar รอบตัวผมเอง ก็จะให้ความเห็นว่า เข็ดจากการให้บริการมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องที่เรียกแล้วไม่ไป ดังนั้นถ้าอยากให้คนหันกลับมาใช้งานแท็กซี่ปกติให้มากขึ้นกว่าเดิม คนขับแท็กซี่เองควรจะปรับปรุงตัวเองซะมากกว่า ทั้งเลิกปฏิเสธผู้โดยสาร, ให้บริการอย่างเต็มใจ, ยิ้มแย้ม, ขับรถให้คนนั่งรู้สึกปลอดภัย, ดูแลรถยนต์ให้สภาพดี นั่งสบาย แอร์เย็น เท่านี้ก็น่าจะดึงให้คนกลับมานั่งได้แล้ว ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก ก็ต้องตรวจเข้มกับแท็กซี่อย่างจริงจัง ควรจะล่อซื้อรถแท็กซี่ที่ปฏิเสธรับผู้โดยสารให้จริงจังเหมือนการล่อซื้อ Uber บ้าง, จัดการกับรถแท็กซี่ที่ถูกร้องเรียนอย่างจริงจัง, เช็คสภาพรถให้เข้มข้น, จัดการจริงจังกับผู้ที่ให้เช่ารถแท็กซี่ที่ยังคงให้คนขับที่ไม่มีใบอนุญาตเช่ารถขับอยู่ได้ คนเราถ้าทำผิดแล้วถูกปรับอยู่เรื่อยๆ จะยังยอมทำผิดอยู่ให้ถูกปรับอยู่เรื่อยๆหรือครับ อันนี้เป็นคำพูดลอยๆให้ทางกรมการขนส่งได้คิดหน่อย
จริงอยู่แหละครับว่าบริการของ Uber หรือ Grabcar มันก็ยังผิดกฎหมายอยู่จริงๆ แต่ในเมื่อบริการที่ถูกกฎหมายดันห่วย เจอประสบการณ์แย่ๆกันมาทั้งนั้น ผู้ใช้บริการอย่างเราๆท่านๆ ก็อยากจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง เลยยอมที่จะเสี่ยงกับการใช้บริการสิ่งที่ผิดกฎหมายมากกว่า อันนี้ก็คงต้องอยู่ที่ทางกรมการขนส่งเอง ซึ่งรับหน้าที่ในการแก้ไขปัญหานี้เองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าจะเลือกการปราบปรามที่ฝั่ง Uber หรือ Grabcar อย่างจริงจังจนเขาเลิกไปเอง แล้วปล่อยให้ผู้โดยสารอย่างเราต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆของ Taxi ต่อไป หรือเลือกจะจัดการ Taxi ที่ทำผิดอย่างจริงจังเพื่อให้คนกลับมาไว้ใจแท็กซี่ แล้วเลิกใช้งาน ฝั่ง Uber หรือ Grabcar ไปเอง
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com