Plug-in Hybrid หรือ e-POWER ระบบไหนที่เหมาะกับการเป็นสะพานเชื่อมสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า?

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 3 พ.ย. 63
  • 19,863 อ่าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โลกของเราจะมุ่งหน้าเข้าสู่ยุคการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นแบบก้าวกระโดด ด้วยความที่โลกของเรากำลังป่วยจากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของพวกเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการใช้งานรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษทุกวัน แต่แน่นอนว่า การเปลี่ยนผ่านมันต้องใช้เวลาและทำความเข้าใจ และมีคำถามเสมอว่า แล้วคนไทยอย่างเราจะเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างไรและเมื่อไหร่

PHEV e-POWER

ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มที่จะยอมรับการใช้งานรถยนต์ในระบบเครื่องยนต์แบบใหม่มากขึ้น ทั้งระบบ Hybrid, Plug-in Hybrid หรือแม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้า แต่ต้องเข้าใจว่าเงื่อนไขการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านั้นมันยุ่งยากและไม่สะดวกเหมือนการใช้รถยนต์แบบสันดาปภายในตามที่เราคุ้นเคยกันอยู่มาเนิ่นนาน เลยต้องมีรถยนต์ระบบอื่น ๆ มาช่วยเป็นสะพานเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านรอบนี้เป้นไปได้ด้วยดี แต่คำถามคือ แล้วระบบไหนล่ะ ที่จะเหมาะสมกว่า ในการจะเชื่อมรอยต่อครั้งนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบกว่ากัน

PHEV

ในที่นี้ผมเองคงจะยกขึ้นมาพูดถึง 2 ระบบ นั่นคือระบบ Plug-In Hybrid (PHEV) และระบบ Series Hybrid หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ e-POWER นั่นเอง โดยจะเว้นในส่วนของ Hybrid ออกไป เพราะเป็นระบบที่ยังไม่ใกล้เคียงกับการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้า และโลกของเราก็รู้จักระบบนี้กันมานานแล้ว ดังนั้นก็น่าจะมองออกว่าระบบนี้คงไม่ใช่เป็นสะพานเชื่อมยุคได้อย่างแน่นอน

PHEV

ทำความรู้จักระบบ Plug-In Hybrid (PHEV)

ก่อนที่จะมาวิเคราะห์ว่าระบบไหนเหมาะกว่ากัน เราคงต้องมาเริ่มทำความรู้จักแต่ละระบบให้ถ่องแท้ก่อนว่า แต่ละระบบทำงานอย่างไร เรามาเริ่มต้นกันก่อนที่ระบบ Plug-In Hybrid หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า PHEV ซึ่งระบบนี้ จะคล้ายกับระบบ Hybrid เป็นอย่างมาก ต่างกันที่เรื่องของแบตเตอรี่นั่นเอง เริ่มต้นกันที่ว่า เครื่องยนต์ระบบ PHEV จะเป็นการทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยเครื่องยนต์จะทำหน้าที่ทั้งขับเคลื่อนตัวล้อ และทำหน้าที่ปั่นไฟเพื่อไปเก็บเข้าที่แบตเตอรี่ ก่อนที่แบตเตอรี่จะส่งกำลังไฟไปให้มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อทำการขับเคลื่อนตัวรถต่อไป ซึ่งการขับเคลื่อนนี้ จะขึ้นอยู่ว่าผู้ผลิตจะเลือกการขับเคลื่อนให้เป็นแบบไหน บางค่ายจะเลือกใช้งานแบบ Combine ระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าให้ขับเคลื่อนในล้อเดียวกัน (ขับหน้า, ขับหลัง หรือขับ 4 ล้อ) แต่บางค่ายเช่น Volvo จะแยกการขับเคลื่อนกันเลย เช่น เครื่องยนต์ทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อหน้า มอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อหลัง เป็นต้น ซึ่งในรถ PHEV จะเลือกการใช้งานเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ก็ขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่คงเหลือ และรูปแบบในการกดคันเร่ง ณ เวลานั้น เช่นถ้าแบตเตอรี่เหลือมากกว่า 20% ส่วนใหญ่แล้วตัวรถยนต์จะเลือกวิ่งด้วยระบบไฟฟ้าก่อน จนกว่าแบตเตอรี่จะต่ำกว่า 20% ยกเว้นแต่ว่าถ้าเรากดคันเร่งเกินกว่าที่กำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าจะรับไหว ระบบก้จะติดเครื่องยนต์ขึ้นมา แล้วใช้กำลังจากเครื่องยนต์มาใช้ขับเคลื่อนตัวรถแทน และในเวลาเดียวกันก็จะทำการปั่นไฟกลับเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ด้วย หรือในกรณีที่เรากดคันเร่งหนักมาก เช่นในจังหวะเร่งแซง ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าก็จำการขับเคลื่อนรถยนต์ไปพร้อมกัน เพื่อให้รถขับเคลื่อนได้เร็วและแรงมากที่สุดตามที่ผู้ขับขี่ต้องการ

PHEV

ทีเด็ดของระบบ PHEV ก็คือตัวแบตเตอรี่นั่นเอง ที่จะมีขนาดใหญ่มากพอที่จะขับเคลื่อนตัวรถไปได้ไกลกว่า 30 กิโลเมตรขึ้นไปด้วยกำลังจากไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดมากกว่า 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป และส่วนใหญ่ก็เลือกใช้งานเป็นแบบ Lithium-ion กันหมดแล้ว เนื่องจากมีขนาดที่เล็กกว่าและเบากว่าแบบ Nickel–metal hydride อย่างเช่นของ Volvo XC60 ที่ใช้งานเครื่องยนต์ T8 ในระบบ Plug-In Hybrid ก็จะใช้งานแบตเตอรี่ Lithium-ion ขนาด 10.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือของ Mercedes-Benz E300e AMG Dynamic ก็ใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ขนาด 13.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งความจุของแบตเตอรี่ ก็จะเป็นสิ่งที่พอจะบอกได้ว่า รถจะวิ่งด้วยไฟฟ้าอย่างเดียวได้ไกลขนาดไหน ยิ่งจุมาก ยิ่งวิ่งได้ไกล (แต่ปัจจัยเรื่องน้ำหนักรถและคนโดยสารก็จะเป็นตัวแปรได้เช่นกัน) ด้วยความจุของไฟฟ้าขนาดนี้ แน่นอนว่าจะใช้การปั่นไฟจากตัวเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ดังนั้นรถยนต์ในระบบ PHEV ก็จะเลือกใช้วิธีการ “เสียบปลั๊ก” เพื่อรับแหล่งไฟมาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการชาร์จผ่านสายอะแดปเตอร์หรือ Wall Charge จากบ้าน, ผ่านตู้ชาร์จตามห้างหรือปั๊มน้ำมันก็ตาม และไฟฟ้าตัวนี่แหล่ะที่จะเอามาขับเคลื่อนรถยนต์แทนการใช้กำลังมาจากตัวเครื่องยนต์นั่นเอง ข้อดีของระบบนี้คือ เราสามารถวิ่งได้ด้วยระบบไฟฟ้าแบบไม่ปล่อยมลพิษเลยก็ได้ หรือถ้าแบตเตอรี่หมด ก็ใช้งานเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนได้ปกติ

e-POWER

ทำความรู้จักระบบ Series Hybrid หรือ e-POWER

ยุคก่อนหน้านี้ระบบ Series Hybrid อาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคย จนเมื่อทางนิสสันได้ยกระบบนี้มาติดตั้งลงบน Nissan Note แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ให้เป็นของตัวเองว่า e-POWER ก่อนที่จะมาแนะนำตัวกับคนไทยผ่าน Nissan kicks e-POWER ซึ่งต้องทำความรู้จักให้ชัดเจนว่า รถยนต์ระบบนี้ มันก็คือรถยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนตัวรถด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ส่งสู่มอเตอร์แบบ 100% ดังนั้น Feeling ในการขับขี่ มันก็คือรูปแบบเดียวกันกับรถยนต์ไฟฟ้าเลย เพียงแต่ว่ามันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่ขนาดเล็กเท่ากับรถยนต์ Hybrid ทั่วไป คือประมาณ 1-2 กิโลวัตต์ชั่วโมงเท่านั้นเอง (ใน Nissan Kicks e-POWER มีขนาด 1.57 กิโลวัตต์ชั่วโมง) ถ้าแบตเตอรี่ขนาดนี้ จะขับเคลื่อนรถได้เต็มที่ก็ไม่เกิน 3-5 กิโลเมตรก็หมดแล้ว ดังนั้นจึงมีการใส่เครื่องยนต์เพื่อทำหน้าที่ในการปั่นไฟฟ้าเข้ามาแทน ทำให้เราจะยังคงมีไฟฟ้าให้ใช้งานได้ตลอดเวลา เดินทางได้จนกว่าน้ำมันจะหมด แล้วก็เติมน้ำมันลงไปใหม่เพื่อเดินทางต่อได้เลย

e-POWER

สำหรับเครื่องยนต์ที่ติดตั้งในระบบ Series Hybrid หรือ e-POWER นั้น ต้องย้ำกันอีกครั้งว่า ทำหน้าที่เพียงปั่นไฟฟ้าเพื่อป้อนไปยังแบตเตอรี่หรือมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนตัวรถเลย จะเรียกว่าเครื่องปั่นไฟก็ได้ ดังนั้นเมื่อมีเครื่องปั่นไฟแล้ว จึงไม่ต้องการวิธีเสียบปลั๊กเพื่อนำกระแสไฟฟ้าจากข้างนอกมาเก็บไว้ในรถ เพราะแบตเตอรี่ตัวไม่ใหญ่ ใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟเข้าไปเก็บ หรือวิ่งเพื่อ Generate ตัวไฟกลับไปก็เพียงพอแล้ว ข้อดีของระบบ e-POWER คือ ได้ขับรถยนต์ไฟฟ้า โดยไม่ต้องเสียเวลาเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟฟ้าเลย

PHEV

แล้วระบบ PHEV หรือ e-POWER เหมาะกับการเป็นสะพานเชื่อมสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ากัน

ถ้ามองภาพกว้าง ๆ ก็คงบอกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นระบบ PHEV หรือ e-POWER ก็สามารถเป็นสะพานเชื่อมต่อยุคได้ทั้งคู่ เพราะทั้ง 2 ระบบต่างก็เป็นลูกผสมของรถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาปภายในกันทั้งคู่ แต่ถ้ามองลึกไปยังรายละเอียดถึงพฤติกรรมการใช้งานของทั้ง 2 ระบบแล้ว จะมีความแตกต่างกันพอสมควร โดยระบบ e-POWER นั้น พฤติกรรมการใช้งานก็ยังคงเหมือนเดิมกับการใช้งานเครื่องยนต์แบบปัจจุบันเป๊ะ ตื่นเช้ามา ขับรถออกไป น้ำมันหมด เติมน้ำมัน ใช้งานไปตามปกติจนกว่าน้ำมันหมดแล้วก็เติมน้ำมันใหม่ ต่อเนื่องกันไปอย่างนี้เรื่อยไป น้ำมันที่ใช้ก็ยังอยู่ในอัตราปกติทั่วไป คือโดยเฉลี่ยก็ประมาณ 15-18 กิโลเมตร/ลิตร หรือใกล้เคียงกับการใช้งานรถ ECO Car ทั่วไปนั่นเอง เพียงแต่ว่าเราจะได้ความรู้สึกในการขับขี่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นเอง การปล่อยมลพิษก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะเครื่องยนต์ก็ยังคงทำงานอยู่เกือบตลอดเวลา จะหยุดทำก้ต่อเมื่อเราจอด และมีไฟในแบตเตอรี่มากพอเท่านั้นเอง

PHEV

แต่ถ้ามามองรูปแบบการใชงานรถยนต์ระบบ Plug-in Hybrid จะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเลย ไม่ว่าจะเป้นเรื่องของการขับขี่ด้วยระบบไฟฟ้า 100% แบบเครื่องยนต์ไม่ติดในระยะทางไกลระดับเกินกว่า 30 กิโลเมตร, การเสียบปลั๊กชาร์จไฟในระยะเวลานานระดับ 4-6 ชั่วโมง เพียงแค่ว่าข้อกังวลเรื่องถ้าใช้งานแบตเตอรี่จนไฟหมดในรถยนต์ไฟฟ้าจะหมดไป เพราะเรายังพึ่งพาการใช้งานของเครื่องยนต์ ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันในการขับเคลื่อนได้ ซึ่งในมุมมองส่วนตัวของผมเอง มองว่านี่คือพฤติกรรมการใช้งานที่ใกล้เคียงกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าแบบ e-POWER รวมทั้งการปล่อยมลพิษก็น้อยกว่าในกรณีที่เราใช้ขับขี่ในชีวิตประจำวันแบบคนทำงานออฟฟิศ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมขับรถระบบ PHEV ที่วิ่งด้วยแบตเตอรี่อย่างเดียวได้มากสุด 50 กิโลเมตร เวลาใช้งานจริงอาจจะได้ 40 กิโลเมตร แล้วออฟฟิศผมอยู่ไกลจากบ้าน 40 กิโลเมตร (ระยะนี้วิ่งจากมีนบุรีไปวิทยุได้เลยนะ) แล้วที่ทำงานผมมีที่จอดรถที่มีแท่นชาร์จไฟเอาไว้ให้ใช้ได้ นั่นหมายถึงว่า การขับรถไปทำงานแต่ละวัน ผมไม่ต้องเติมน้ำมันเลย เครื่องยนต์ไม่ติด ไร้การปล่อยมลพิษ ประดุจดั่งว่าผมใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 100% เลย นี่คือวิถีชีวิตเดียวกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า EV แต่ถ้าผมใช้งานรถประเภท e-POWER เช้ามากดสตาร์ทรถ ช่วงแรกก็อาจจะไม่ต้องติดเครื่องยนต์เพราะไฟอาจจะพอมีอยู่ แต่ได้ไม่นานเครื่องยนต์ก็ติดขึ้นมาอยู่ดี และมันก็จะติด ๆ ดับ ๆ อยู่ตลอดเส้นทางการเดินทาง นั่นหมายความว่าจะมีการปล่อยพิษออกมาอยู่ตลอดเวลา และเมื่อน้ำมันหมดก็ต้องเข้าปั๊มเติมแบบเดียวกับรถยนต์ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีอะไรที่เป็นรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเลย

PHEV

บทสรุปของผมในบทความนี้ว่า รถยนต์แบบ Plug-in Hybrid หรือ e-POWER ระบบไหนที่เหมาะกับการเป็นสะพานเชื่อมสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า? ผมคงตอบได้เต็มปากว่าต้องเป็นระบบ PHEV แน่นอน เพราะมันทำให้เราเริ่มเรียนรู้การใช้งานรถยนต์เสียบปลั๊ก ทั้งการลากสายมาเสียบทุกครั้งเมื่อเข้าจอดที่บ้าน, มองหาแท่นชาร์จเมื่อขับรถไปห้าง, ให้โอกาสโรงแรมในต่างจังหวัดที่มีแท่นชาร์จไฟฟ้ามากกว่าโรงแรมที่ไม่มี เป็นต้น ถ้าเราเคยชินกับพฤติกรรมที่ควรทำเหล่านี้แล้ว วันหนึ่งที่เริ่มเข้าสุ่ยุครถยนต์ไฟฟ้า เรื่องแบบนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องน่ารำคาญหรือน่าเหนื่อยหน่ายของเราอีกเลย แถมแท่น Wall Charge ก็อาาจะใช้งานตัวเดิมได้อีกด้วย (ถ้ากำลังไฟที่จ่ายมากพอ) นี่ยังไม่รวมถึงมลพิษที่จะลดลงจากการใช้งานรูปแบบไฟฟ้าที่มากขึ้นอีกนะ ที่มันไม่สามารถตีเป็นราคาได้เลย แต่ผมก็ยังยืนยันเสมอว่า ถ้าคุณมีเงินมากพอที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซื้อมาใช้เถอะครับ อย่างน้อยคุณเอาไว้ขับใช้งานในเมือง กลับถึงบ้านเสียบปลั๊กเอาไว้ขับในวันรุ่งขึ้น เท่านี้ก็ลดมลพิษได้อีกมากโขแล้วล่ะครับ

EARTHPARK02

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ