ผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพ อาจถูกเรียกเข้าไปทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายใหม่อีกครั้ง

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 8 ส.ค. 63
  • 5,932 อ่าน

ผู้ที่ทำใบขับขี่ช่วงก่อนหน้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 มีโอกาสที่จะทำเป็นใบขับขี่ตลอดชีพได้ โดยไม่ต้องกลับมาทำใบใหม่ที่กรมการขนส่งทางบกตลอดไปจนกว่าจะเสียชีวิตเลย แต่ล่าสุดอาจไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เมื่อทางกรมการขนส่งฯ มีแนวคิดในการเรียกผู้ที่ถือใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีวิต เพื่อเข้ามาทำการทดสอบสมรรถนะทางร่างกายอีกครั้ง เพื่อประเมินว่ายังสามารถขับรถได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ สร้างความปลอดภัยให้ผู้ร่วมท้องถนนได

ใบขับขี่

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดในการเปลี่ยนใบขับขี่ตลอดชีพจากบัตรแบบกระดาษมาเป็นแบบสมาร์ทการ์ด มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ฐานข้อมูลผู้ถือใบขับขี่มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบันมากขึ้น เพราะผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและอยู่ในฐานข้อมูลระบบเดิม โดยหากมาเปลี่ยนเป็นแบบสมาร์ทการ์ดที่มี QR Code แล้ว กรมการขนส่งทางบกจะมีฐานข้อมูลผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปต่อยอดพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยครอบคลุมทุกมิติ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ส่วนการทดสอบสมรรถภาพผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพใหม่ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน เพราะการกำหนดให้กลับมาทดสอบเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามที่มาของแนวคิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่ของประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีความพร้อมเพียงพอ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อให้มีความรอบเหมาะสมในการดำเนินการ

ใบขับขี่

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้กรมการขนส่งทางบก มีความเข้มข้นในกระบวนการก่อนออกใบอนุญาตขับรถ ด้วยการให้มีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ประกอบด้วย การทดสอบความสามารถในการมองเห็นสัญญาณไฟจราจร ความสามารถในการใช้สายตาทางลึก ความสามารถในการใช้สายตาทางกว้าง และปฏิกิริยาในการใช้เบรก นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกเห็นถึงความสำคัญในการใช้รถร่วมกันกับผู้สูงอายุ แนวทางการอบรมได้เพิ่มเนื้อหาอบรมให้ทราบถึงลักษณะและสภาวะการใช้รถของผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีในการใช้รถร่วมกันระหว่างวัยที่แตกต่างกัน และในอนาคต กรมการขนส่งทางบกยังได้จัดทำแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ 7 มิติด้วยกัน โดยเฉพาะมิติที่ 1 ในเรื่องการกำหนดสภาวะของโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ และมิติที่ 2 การประเมินสภาวะของร่างกายที่มีผลต่อการขับรถ (Medical Fitness to Drive) ซึ่งทั้งสองมิติดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและแพทยสภา โดยเฉพาะเมื่อผู้ขับขี่สูงอายุมากขึ้น สภาวะของโรคที่เกิดตามมาและสภาวะร่างกายอาจเป็นอุปสรรคต่อการขับรถได้ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกที่ดีการใช้รถที่ปลอดภัยร่วมกันในท้องถนน

ข้อมูลจาก Facebook กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ