รถมือสองในตำนาน!! ISUZU มังกรทอง ตำนานปิกอัพยอดนิยม….อึดสุด ทนสุด ประหยัดสุด

  • โดย : Autodeft
  • 27 ส.ค. 63
  • 37,845 อ่าน

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้ใช้รถปิกอัพมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก ด้วยความต้องการและการใข้งานที่หลากหลายทั้งงานบรรทุกและงานโดยสารส่วนบุคคล จึงมีรถปิกอัพหลายยี่ห้อจากทางญี่ปุ่น อินเดีย อเมริกา ยุโรป และจีน เข้ามาแข่งขันชูจุดเด่นด้วยดีไซน์ ความสะดวกสบาย เน้นความทรหด ทนทาน ประหยัดน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาต่ำล้วนเป็นสิ่งตอบโจทย์ครบถ้วนแล้วในรถปิกอัพ 1 คัน และกลายเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนอันดับ 1 ของไทยในป

ISUZU

ISUZU

ISUZU

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปี 2531 ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ได้เปิดตัวปิกอัพเจเนอเรชั่นที่ 4 ต่อจากรุ่น KBZ โดยมาในรหัสตัวถังใหม่ที่ชื่อว่า TFR จำหน่ายในชื่อ ISUZU Faster Z 2500 DI พร้อมฉายา Golden Dragon หรือ มังกรทอง (เพราะในโฆษณาของปิกอัพ ISUZU รุ่นนี้ มีหุ่นยนต์มังกรทองโผล่ขึ้นมาจากน้ำและเพลงประกอบโฆษณาจากวงไมโคร ตำนานร็อคมือขวา) คลื่นแห่งพลังลูกใหม่ ออกแบบดีไซน์ที่ล้ำสมัยด้วยดีไซน์ตัวรถที่โค้งมน กระจังหน้าโครเมี่ยมพร้อมตราโลโก้ ISUZU ไฟหน้าตาลึก ติดตั้งกันชนหน้าสีดำ กระจกมองข้างแบบหูช้าง ที่ปัดน้ำฝนแบบซ่อนรูป สติ๊กเกอร์รอบคัน ไฟท้ายและที่เปิดประตูแบบโครเมี่ยม ตัวหนังสือใหญ่ ISUZU ติดที่ฝาท้ายที่เปิดแบบทีละข้าง กระทะล้อขนาด 14 นิ้วพร้อมยางเรเดียลจากค่าย Bridgestone LEO 607 ขนาด 195 R14C โดยมีให้เลือกเพียง 2 ตัวถังหลักทั้งแค็บตอนครึ่ง Spacecab และตอนเดียว Spark และในรุ่นตอนเดียวมีการติดตั้งขอเกี่ยวสัมภาระในขอบกระบะ (5 ขอ) เป็นออพชั่นให้เลือก

ตัวรถใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นเดิม Faster Z KBZ เกือบทุกส่วน และถือว่าใหญ่กว่าคู่แข่งยุคนั้นตั้งแต่ความยาว 4,920 มม. ความกว้าง 1,425 มม. ความสูง 1,690 มม. ฐานล้อ 3,025 มม. ความสูงใต้ท้องรถ 210 มม.น้ำหนักรถ 1,340-1,370 กก. และความจุถังน้ำมัน 76 ลิตร ความยาวกระบะ 1,845-2,295 มม. ความกว้างกระบะ 1,530 มม. และความสูงกระบะ 415 มม.

ISUZU

ISUZU

ภายในล้ำสมัยสุดในยุคนั้นกับแผงคอนโซลหน้าสุดไฮเทคที่ดีไซน์ทั้งมาตรวัดความเร็วกับปุ่มเปิดปิดไฟหน้าด้านขวา และปุ่มที่ปัดน้ำฝนด้านซ้าย ไว้ในตำแหน่งเดียวกันใกล้มือผู้ขับขี่เพียงปลายนิ้วสัมผัส พวงมาลัยสามก้านที่ติดตั้งพวงมาลัยพาวเวอร์เป็นออพชั่นให้เลือกในรุ่น Spacecab และเป็นครั้งแรกในวงการปิกอัพเมืองไทย เบาะนั่งปรับเอนแบบอิสระหุ้มด้วยวัสดุหนังเทียมในรุ่น Spacecab และ เบานั่งยาวพร้อมที่วางแขนในรุ่น Spark และวัสดุปูพื้นไวนิล แต่ไร้เครื่องปรับอากาศ วิทยุ-เทป 1DIN และเข็มขัดนิรภัย 2 หรือ 3 จุด โดยออพชั่นดังกล่าวสามารถเลือกได้จากตัวแทนจำหน่ายหรือจากทาง ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ กำหนดไว้

ISUZU

ISUZU

ISUZU

หลังจากนั้นในปี 2532 มีการปรับออพชั่นเพิ่มทั้งเพิ่มมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ เพิ่มที่ปัดน้ำฝนแบบปัดเป็นจังหวะปัดหยุดๆ INT และเข็มขัดนิรภัยแบบ 2 จุด ลดจำนวนสติ๊กเกอร์ให้น้อยลงและในปีเดียวกันยังได้รับรางวัลดีไซน์ยอดเยี่ยม Good Design Award (G Mark) จากญี่ปุ่น  ปี 2533 มีการปรับโฉมครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยปรับบุคลิกรถให้แตกต่างทั้งกระจังหน้าโครเมี่ยมใหม่แบบไฟเต็มแบบเดียวกับ ISUZU Rodeo เวอร์ชั่น 5 ประตู อเมริกา (แบบเดียวกับ ISUZU VEGA) ในรุ่น Spacecab และแบบสองช่องโครเมี่ยมในรุ่น Spark รวมถึงตัดกระจกหูช้างทิ้งไป และมีการแบ่งเป็นรุ่น Spacecab SL กับ Spark EX 

ISUZU

ISUZU Faster Z 2500 DI มังกรทอง นอกจากดีไซน์ล้ำยุค ขุมพลังผูกขาดกับเครื่องยนต์ดีเซล หัวฉีดตรง “Direct Injection” เทคโนโลยีระดับทอง รหัส 4JA1 2.5 ลิตร ความจุกระบอกสูบ 2,499 ซีซี ขนาดความโตกระบอกสูบ/ระยะชัก 93/92 มม. อัตราส่วนความอัด 18.4 ต่อ 1 ให้กำลังสูงสุด 87 แรงม้า ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 172 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด รุ่น MSG5E โดยประจำการตั้งแต่ปี 2531-2535 โดยยังเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ อึด ถึก ทน ที่สุด แถมประหยัดน้ำมันที่สุด ถึงแม้เสียงเครื่องยนต์จะดังสนั่นลั่นบ้านก็ตาม บนความเร็วสูงสุด 139 กม./ชม.ระบบชช่วงล่างหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมทอร์ชั่นบาร์และเหล็กกันโคลง และด้านหลังแบบแหนบทำจากวัสดุเหล็กล้าพร้อมโช้คอัพไฮดรอลิคทำงาน 2 จังหวะ และพวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวน นอกจากนี้ค่ายรถยนต์อย่าง Mazda ก็หยิบยืมเครื่องยนต์รุ่น 4JA1 2.5 ลิตร ไปใช้ในปิกอัพตัวเองภายใต้ชื่อ Mazda B2500 Thunder 

ISUZU

ในปี 2535 ความแรงของรถปิกอัพเพิ่มทวีคูณขึ้นคู่แข่งเริ่มขยับแรงม้าไปสูงสุด ISUZU เองก็ไม่น้อยหน้าจัดการเพิ่มพลังแรงม้าขึ้นมาเป็น 90 แรงม้า บนพื้นฐานเครื่องยนต์เดิมรุ่น 4JA1 Direct Injection 2.5 ลิตร ปริมาตรความจุกระบอกสูบยังเท่าเดิม 2,499 ซีซี ขนาดความโตกระบอกสูบ/ระยะชักเท่าเดิมคือ 93/92 มม.อัตราส่วนความอัดเหมือนเดิม 18.4 ต่อ 1 ให้กำลังสูงสุด 90 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 172 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด รุ่น MSG5K บนความเร็วสูงสุด 145 กม./ชม.

นอกจากพัฒนาแรงม้าเพิ่มแล้วยังพัฒนาในส่วนของลูกสูบให้มีประสิทธิภาพที่ดีและยืดอายุการใช้งาน รวมถึงปรับปรุงในส่วน ห้องเผาไหม้ เพิ่มประสิทธิภาพแม่ปั้มนำมันเชื้อเพลิงแบบ VE และหัวฉีด เพิ่มการเผาไหม้อย่างหมดจด เพิ่มกำลังดีขึ้นแต่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น มิติตัวรถยังเท่าเดิมทุกมิติ แต่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 1,360-1,390 กก.

ISUZU

ISUZU

นอกจากอัพพลังความแรงเป็น 90 แรงม้า ในปีเดียวกัน มีการมีเพิ่มทางเลือกใหม่สำหรับสาวกที่ต้องการความหรูหราบนพื้นฐานความแกร่งด้วยการแนะนำรุ่น Spacecab SLX หรูด้วยสีบอรนซ์เงินเมทาลิก เลือกได้เพียงสีเดียว กันชนหน้าสีทูโทน (ส่วนบนสีเดียวกับตัวรถ และ ส่วนล่างสีดำเข้ม) ล้ออัลลอยลายเดียวกับ iSUZU Fargo ขนาด 14 นิ้ว หกก้านพร้อมยางเรเดียล Bridgestone 205/75 R14 สติ๊กเกอร์ใหม่สัญลักษณ์ 90 แรงม้า ภายในได้เบาะนั่งดีไซน์ใหม่หุ้มด้วยผ้ากำมะหยี่ที่ ISUZU เคลมว่าลายเบาะนี้นำเข้าจากญี่ปุ่น หัวหมอนมีรูหรือที่เรียกว่า หัวหมอนโดนัท แฟชั่นในวงการรถยนต์ยุคต้นๆ 90 รวมถึงติดตั้งเครื่องปรับอากาศจากโรงงาน กล่องคอนโซลกลาง นาฬิกาดิจิตอล เข็มขัดนิรภัย 3 จุด วัสดุปูพื้นด้วยพรม และพวงมาลัยพาวเวอร์เป็นออพชั่นมาตรฐานประจำรุ่นนี้ โดยยังขายควบคู่กับ Spacecab SL ที่เลือกได้ทั้งรุ่นพวงมาลัยพาวเวอร์กับพวงมาลัยธรรมดาและ Spark EX

ISUZU

นอกจากนี้ยังเพิ่มรุ่น Rodeo 4WD รหัส TFS ปิกอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ ประกอบในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในร่างแค็บตอนครึ่ง Spacecab ด้วยความสูงมากถึง 1,705 กก. ความสูงจากใต้ท้องรถ 220 มม. น้ำหนักรถ 1,560 กก. รวมถึงล้ออัลลอยลาย 6 ก้านแนวตรงสีเงินเป็นขนาดใหม่ 15 นิ้วพร้อมยาง 225/70 R15 จากค่าย Bridgestoone เจ้าเดิม รวมถึงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part-Time พร้อมระบบล็อกล้อหน้าอัตโนมัติ Auto Lock HUB นับเป็นเจ้าแรกของวงการรถปิกอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยไม่ต้องหยุดรถเพื่อลงมาปรับล็อกที่ดุมล้อหน้า หลังจากปรับมาเป็น 4H หรือ 4L โดยต้องหยุดรถเท่านั้น และเพืองท้าย Limited Slipและได้มีการเปิดสนามรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ISUZU 4WD Land ตรงข้ามสนามรถแข่งพีระอินเตอร์เซอร์กิต พัทยา ขยายกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบแนวลุย รักการผจญภัย

ISUZU

หลังจากนั้นในปี 2536 มีการเปิดตัวรุ่นปรับปรุงใหม่ ซึ่งคราวนี้เปลี่ยนแปลงพอสมควรทั้งรุ่น Spacecab SLX, SL Spark EX และ Rodeo 4WD ด้วยการเปลี่ยนโลโก้ ISUZU เป็นฟรอนท์เหลี่ยมแทนโลโก้เดิม ติดตั้งที่กระจังหน้า กระบะท้าย รวมถึงพวงมาลัย 3 ก้นดีไซน์ใหม่ยกชุดมาจาก ISUZU Trooper สำหรับรุ่น Spacecab SL มีการอัพเกรดเพิ่มความหรูด้วย เครื่องปรับอากาศจากโรงงาน กล่องคอนโซลกลาง นาฬิกาดิจิตอล เข็มขัดนิรภัย 3 จุด วัสดุปูพื้นด้วยพรม ส่วนรุ่น Spark EX และ Rodeo 4WD เพิ่ม เครื่องปรับอากาศจากโรงงาน นาฬิกาดิจิตอล เข็มขัดนิรภัย 3 จุด และ กล่องคอนโซลกลาง (เฉพาะรุ่น Rodeo 4WD) และยังแนะนำ ISUZU Cameo แวก้อน 5 ประตูประกอบจากโรงงานในเครือ ISUZU ออกจำหน่ายจนเกรียวกราว

ISUZU

ISUZU

ISUZU

ในปี 2538 สร้างมาตรฐานความสะดวกสบายใหม่ด้วยการแนะนำรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด รุ่น AW03-72L พร้อม Overdrive ให้เลือกในรุ่น Spacecab SLX, SL รวมถึงปรับหน้าตาใหม่ให้แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ เริ่มที่รุ่น Spacecab SLX ฉายาหน้าหนูด้วยกระจังหน้าสีเดียวกับตัวรถแบบมีรูตรงกลางพร้อมโลโก้ ISUZU ไฟหน้าฮาโลเจนเข้มด้วยกันชนหน้าทูโทน ล้ออัลลอยลาย5 ก้าน 14 นิ้ว พร้อมยางขนาดเดิม 205/75R14 กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถ ที่เปิดประตูเป็นสีดำ ติดตั้งกระจกไฟฟ้าและเซ็นทรัลล็อกมาใช้ในรถปิกอัพเป็นรายแรก ส่วนรุ่น Spacecab SL และ Rodeo 4WD ได้กระจังหน้าแนวนอนทรงย้อยโครเมี่ยม ไฟหน้าฮาโลเจนใหม่เข้มด้วยกันชนหน้าทูโทน กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถ ที่เปิดประตูเป็นสีดำ เครื่องปรับอากาศใหม่จากโรงงานใช้น้ำยาแอร์แบบ R134a ปลอดสาร CFC เบาะนั่งดีไซน์ใหม่แบบหัวหมอนเต็มไร้รูโดนัท รวมถึงพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล 4JA1 90 แรงม้าให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO1

ถึงรุ่นเกียร์อัตโนมัติในยุคนั้นอาจไม่ได้รับความนิยมมากมายเมื่อเทียบกับรุ่นเกียร์ธรรมดาแต่ก็ยังสร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ ส่วน ISUZU Cameo ปรับหน้าตาแบบเดียวกับรุ่น Spacecab SLX จำหน่ายจนถึงปี 2539 และปิกอัพมังกรทองจำหน่ายจนถึงต้นปี 2540 โดย ISUZU Dragon Eyes  พลังใหม่แห่งยนตกรรมระดับทอง กับ เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 2.8 กับ 2.5 ลิตร รับช่วงต่อ และเป็นต้นแบบแห่งความสปอร์ตให้กับ พลานุภาพพลิกโลก All New ISUZU D-MAX ในปัจจุบัน

ISUZU

ISUZU

ตลอด 9 ปีของการจำหน่าย (ปี 2531-2540) นับเป็นรุ่นประวัติศาสตร์ของ อีซูซุ ที่สร้างยอดขายสร้างความนิยมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับวงการปิกอัพเมืองไทยเป็นครั้งแรก ชูเด่นในเรื่องความแกร่ง ประหยัดจากขุมพลัง Direct injection แฟนๆเหล่าประชาคมอีซูซุ หรือคนที่สนใจจะซื้อเก็บไว้ใช้งานมีจำนวนพอสมควรในตลาดรถมือสอง โดยสภาพรถมีแบบเดิมๆที่ยังรักษาและบางคันเอาไปแต่งบ้าง ถ้ารับได้กับเสียงเครื่องยนต์ที่ดังสามบ้านแปดบ้านกับราคามือสอง เริ่มต้น 80,000 กว่าจนถึงเกือบ 200,000 บาท ก็เป็นเจ้าของปิกอัพแห่งความอึด ถึก ทน ที่หาตัวจับยาก กับ ISUZU Faster Z 2500 DI มังกรทอง หรือ Golden Dragon

ISUZU

 

บทความ โดย นายเต้ย 

 

ที่มาข้อมูล บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด

ที่มาภาพ grandprixphotolike , Autowoke  1

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ Autodeft.com 

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ