เมื่อ เกียร์ Dual Clutch แบบแห้งอาจต้องไป แต่ไม่สิ้นยุคระบบส่งกำลังทรงสมรรถนะ

  • โดย : Autodeft
  • 22 ธ.ค. 57
  • 13,363 อ่าน

รายงานพิเศษเรื่องชุดเกียร์ Dual Clutch เมื่อมันกำลังตกเป็นจำเลยสังคมในเรื่องประสิทธิภาพในการขับขี่และอาจจะมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางวงการวิศวกรรม

 

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

 

เป็นที่กล่าวถึงกันในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ทีผ่านมา เมื่อผู้ใช้ค่ายรถยนต์ Ford   ตัดสินใจนักรวมตัวกัน เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อปัญหาการใช้งานชุดเกียร์ที่พบในระหว่างใช้งาน จนต่อข้อคำถามมาถึงการที่ผู้ใช้อาจจะตกเป็นเหยื่อของความผิดพลาดทางวิศวกรรม ที่อาจจะนำไปสู่อันตรายในการขับขี่ ซึ่งหลายคนที่ทั้งรู้จริง และบ้างเหมาะเอาตามกูรูว่า มันต้องเป็นเกียร์คลัทช์คู่แบบคลัทช์เปียก...จึงจะสามารถจบปัญหานี้ได้อย่างถาวร

การออกมาเคลมตั้งแต่เริ่มเปิดระบบเกียร์ชุดนี้ในรถยนต์   ford Fiesta  และ   Ford Focus  ตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการแนะนำระบบเกียร์  Dual Clutch  ว่าระบบคลัทช์แห้งทรงประสิทธิภาพที่จริง ตามข้อมูลที่เปิดออกมาในช่วงแรก ระบบคลัทช์คู่แบบแห้งสามารถรองรับแรงบิดสูงสุดกว่า  250  นิวตันเมตร และยังมีการประกาศอีกว่ามันมีประสิทธิภาพดีกว่า 10 %  เมื่อเทียบกับข้อมูลของเกียร์ออโต้ทั่วไป

[IMAGE1]

แม้ว่าจะฟังดูดีแต่ท้ายสุดการพบปัญหาของผู้ใช้ ทั้งในต่างประเทศที่เรื้อรังมายาวนาน มาจนถึงชาวไทย และยังมาสู่คำถามที่อาจจะต้องตอบโจทย์ในการพัฒนาประสิทธิภาพระบบส่งกำลัง โดยเฉพาะเรื่องปัญหาความร้อนของชุดเกียร์ที่ส่งผลต่อการทำงาน จนอาจจะเกิดข้อผิดพลาดในการใช้งานจริง

ที่ในทางวิศวกรรมระบบเกียร์แบบคลัทช์แห้งดูจะไร้ปัญหาในการทำงานมากกว่า ในขณะที่ระบบเกียร์แบบคัลทช์เปียกมีความซับซ้อนมากกว่าในการทำงานมันมาพร้อมน้ำมันที่หล่อเลี้ยงชุดคลัทช์ในการลดความร้อนที่เกิดจากการทำงาน ด้วยการต้องหมุนวนระบบน้ำมันเกียร์ตลอดเวลา ทำให้ในหลายปีที่ผ่านมามันถูกใช้ในรถยนต์ที่มีการทำแรงบิดสูงๆเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่นในรถยนต์สมรรถนะสูง Porsche   ซึ่งมันมาพร้อมระบบเกียร์คลัทช์แบบคลัทช์เปียก รวมถึง   Nissan GT-R  ไปจนถึงรถยนต์จากค่ายเยอรมันชั้นนำลายรายที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งส่วนใหญ่มากับเกียร์ คลัทช์คู่แบบเปียกทั้งนั้น

[IMAGE2]

แม้ว่าดูแล้วคลัทข์แบบเปียกน่าจะตอบโจทย์มากกว่าในการใช้งาน แต่ด้วยแนวทางการวิศวกรรมมองว่ารถยนต์ที่แรงบิดน้อยย่อมมีความร้อนสะสมน้อยกว่า รวมถึงการลดปริมาตรน้ำมันที่นำมาใช้ในชุดเกียร์ให้ลดภาระความซับซ้อน รวมถึงน้ำหนักในตัวชุดเกียร์ได้ดีกว่า แต่ยังได้ประสิทธิภาพการทำงานตามที่ควรจะเป็น ตามต้องการของทีมวิศวกร

แง่หนึ่งที่ต้องพูดอย่างชัดเจนไปเลย คือไม่มีค่ายรถยนต์รายใดบนโลกนี้ที่จะอยากเสี่ยงกับการเสียชื่อเสียง การวิจัยและพัฒนาสินค้าต่างๆมีการใช้เวลามายาวนาน และก่อนจะวางจำหน่ายค่ายรถยนต์ต้องมันใจว่าสินค้าของพวกเขาต้องทนตลอดอายุการใช้งานของผู้บริโภค แต่ที่เรามักลืมไปคงไม่พ้น อายุการใช้งานรถยนต์แต่ละคันสักเท่าไรกัน โดยมากแล้วมันจะอยู่เฉลี่ยที่ 10  ปี   หรือมันอาจจะสั้นกว่านั้นตามกำหนดของค่ายรถยนต์

การทดสอบที่ทำมาอย่างดีบางครั้งเมื่อเจอสภาพการใช้งานจริง หลายอย่างก็อาจไม่ถูกต้อง เมื่อปีกลายค่ายรถยนต์รายใหญ่ Volkswagen  ประกาศเรียกตรวจสอบเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ใหม่ในรถยนต์ของพวกเขา ให้ตรงกับสภาวะอากาศและสภาพการจราจรที่เกิดขึ้นบนถนน ด้วยการเรียกรถยนต์ที่ใช้ชุดเกียร์แบบ   DSG  7  สปีด ซึ่งเป้นระบบคลัทช์คู่ เข้ามาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ใหม่จากสูตรสังเคราะห์ มาเป็นน้ำมันเครื่องแบบ Mineral แทน โดยเฉพาะรถยนต์ที่ถูกนำไปในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น รวมถึงสภาพการจราจรแบบวิ่งติดสลับหยุดนิ่ง ซึ่งฟังก็น่าจะคล้ายกับในประเทศไทย เช่นกัน

[IMAGE3]

ในขณะที่เรื่องเกียร์แบบคลัทช์แห้งก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับทีมวิศวกรมากมายเช่นกัน อย่าง   Honda   มีการเรียกตรวจสอบรถยนต์ Honda Vezel Hybrid   รวมถึงรถยนต์  Honda Fit Hybrid  ใหม่กว่า 80,000 คันในต่างประเทศ   หลังรถทั้งสองใช้ระบบเกียร์คลัทช์คู่ในการทำงาน โดยการเรียกตรวจสอบดังกล่าวมีการอัพเดทซอฟท์แวร์เกียร์ใหม่และในบางคันอาจจะมีการเปลี่ยนชุดเกียร์ให้ลูกค้าใหม่ทั้งลูกในบางกรณี

ด้วยปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ในยุคต่อไป เราอาจจะมีข่าวดีที่ระบบเกียร์คลัทช์คู่แบบแห้งจะกล่าวอำลาวงการยานยนต์ไปตลอดกาล โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศชุดเกียร์คลัทช์คู่ใหม่จากผู้ผลิตชั้นนำ  Getrag   ที่ออกมาเปิดเผยระบบเกียร์   6DCT150  ที่ใช้ชุดเกียร์แบบคลัทช์เปียกแทนคลัทช์แห้งในชดเกียร์ปัจจุบันรุ่น 6DCT250 แต่เช่นกันมันยังรับแรงบิดได้น้อยกว่าเพียง 170  นิวตันเมตร เมื่อเทียบกับเกียร์ชุดปัจจุบันที่รับได้สูงสุดถึง  280  นิวตันเมตร แต่เป็นข่าวดีที่ปัญหาดังกล่าวจะหมดไปในท้ายที่สุดในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ CTO ของ   Getrag   นาย ดิไดเออร์ เล็กซ่า  ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อเว็บ DrivelineNews.com  ว่า ในยุคต่อไปชุดเกียร์แบบคลัทช์คู่จาก  Getrag   นั้น จะเป็นเกียร์แบบคลัทช์เปียกทั้งหมด

ส่วนปัญหาในการใช้งานที่พบของผู้ใช้หลายรายทั่วโลกนั้น นาย ดิไดเออร์กล่าวว่า เครื่องยนต์ขนาดเล็กอาจจะมีแรงบิดต่ำกว่ามีแรงเสียดทานน้อยกว่า แต่เมื่อเครื่องยนต์จำเป็นต้องถูกเร่งรอบอย่างต่อเนื่องเพื่อพาตัวถังรถที่มีมวลหนักกว่า ไปยังความเร็วที่ต้องการ นั้นทำให้มันมีความร้อนสะสมมากกว่า และในรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กกว่าในรถยนต์ที่ขนาดตัวถังใหญ่กว่า คุณต้องการระบบคลัทช์แบบเปียก

[IMAGE4]

ในขณะที่ Honda  เองที่มีปัญหาระบบเกียร์   DCT   ของพวกเขาก็มีความพยายามแก้ปัญหา โดยล่าสุดได้ออกน้ำมันเกียร์พิเศษเฉพาะเกียร์คลัทช์คู่โดยเฉพาะ รวมถึงเพิ่มสารเคลือบลดแรงเสียดทานในชุดเกียร์เป็นพิเศษเฉพาะรุ่น ในขณะที่ในรถยะ ยาวมีข้อมูลเปิดเผยว่า  Honda  สำเร็จในการพัฒนาระบบเกียร์คลัทช์คู่รุ่นใหม่แบบ 8  สปีดที่มีการทำงานของชุดTorque Converter  โดยจากข้อมูลของ DrivelineNews.com  ที่มีเปิดเผยเฉพาะที่เว็บไซต์ อ้างอิงว่า ชุดเกียร์ใหม่ของ Honda จะมีประสิทธิภาพในการลดแรงเสียดทานในทำงานดีกว่า 28 % และมีอัตราประหยัดดีขึ้น 8 % เมื่อเทียบกับระบบเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีดที่เตรียมปลดระวางในเร็วๆนี้ และท้ายสุดสำหรับสมรรถนะในการขับขี่มันยังสามารถเร่ง 0-100ก.ม./ช.ม.ได้เร็วกว่า 1.3  วินาทีอีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้วระบบเกียร์คลัทช์คู่แบบคลัทช์แห้งอาจจะไม่ใช่คำตอบของการขับขี่ และเมื่อมองแผนการต่อไปของ  Getrag  ก็ไม่พบว่า ค่ายผู้ลิตเกียร์ชั้นนำจะมีแนวทางการพัฒนาเกียร์ในระบบคลัทช์แห้งอีก แต่ก็ไม่ใช่ว่าชุดเกียร์เจ้าปัญหาปัจจุบันจะมีการปลดระวางไปในทันที แต่มันจะยังอยู่ในตลาดไปอีกหลายปีอย่างน้อยที่สุดก็ 6  ปี ก่อนที่จะแนะนำเกียร์ใหม่แบบคลัทช์เปียกเข้าสู่ตลาด

สำหรับค่ายรถยนต์มันอาจจะไม่ใช่ความผิดพลาดทางวิศวกรรมเหมือนที่หลายคนเข้าใจวิพากษ์ไปต่างๆนานา แต่บทเรียนเหล่านี้ถูกปรับเพื่อสร้างความเหมาะสมการทำงาน ตามแนวทางการพัฒนารถยนต์ในยุคใหม่ อย่างเช่น  Ford มีการปรับเครื่องยนต์   Ecoboost  1.0  ลิตร  ใหม่ มีเพียงใน  fiesta  เท่านั้น ที่ยังใช้ระบบเกียร์คลัทช์คู่ของ   Getrag  ในการขับขี่ ส่วนที่ติดตั้งใน  Ford Focus  2015  ถูกเปลี่ยนไปใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด รหัส 6F จาก GM  ในขณะอีกค่าย Volvo ที่มีการใช้เกียร์ Powershift  มาก่อนหน้านี้เช่นกัน ปัจจุบันพวกเขาติดตั้งชุดเกียร์ 8  สปีดจาก Aisin  เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และขจัดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

ถึงแม้นาทีนี้เราหลายคนจะมองโจทย์ว่าเกียร์คลัทช์คู่เป็นจำเลย แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เกียร์แบบคลัทช์คู่นี่แหละยังเป็นหนทางอนาคต เคสดังกล่าวนี้แบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคแรกๆของเกียร์ CVT  และด้วยความท้าทายของสองค่ายชั้นนำทั้ง   Honda  และ   General motor  ในการพยายามผ่าทางตันเกียร์คลัทช์คู่ด้วยการติดตั้งระบบ Torque Converter  เข้ามาในยุคหน้า เราอาจจะยังมีโอกาสพบมันอีกครั้งในฐานชุดเกียร์ที่ทรงประสิทธิภาพและยังให้ความสนุกในการขับขี่

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

อ้างอิงข้อมูล จาก  Drivelinenews.com

Dry Clutch DCTs Are on Their Way Out, says Getrag CTO

New DCTs Aim to Restore Appeal

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ