JD Power เผยคุณภาพรถใหม่ในไทยยังไม่ดีขึ้น ชี้ปัญหาภายในรถยนต์และเครื่องเสียงเพิ่มมากขึ้น
- โดย : Autodeft
- 28 พ.ย. 58
- 6,598 อ่าน
JD Power รายงานผลคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ชี้ปัญหาภายในรถยนต์และเครื่องเสียงเพิ่มมากขึ้น กว่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ผลการศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2558 โดย เจ.ดี. พาวเวอร์ (J.D. Power 2015 Thailand Initial Quality StudySM (IQS)) เปิดเผยในวันนี้ว่า แม้คุณภาพรถยนต์มีการปรับปรุงที่ดีขึ้นใน 3 หมวดหมู่ และคงที่ใน 2 หมวดหมู่ แต่กลับมีรายงานจำนวนปัญหาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในหมวดหมู่ภายในรถยนต์และเครื่องเสียง, ความบันเทิง หรือระบบนำทาง (ACEN) เกิดการถ่วงดุล ทำให้คุณภาพของรถยนต์โดยรวมอยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อปีก่อน
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่เจ้าของรถยนต์ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้สอบถามถึงปัญหาหรือความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ และสามารถจัดกลุ่มปัญหาหรือความผิดปกติที่พบออกเป็น 8 หมวดหมู่ (โดยเรียงตามลำดับความถี่ของปัญหาที่มีการรายงานเข้ามา( ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์ ตามมาด้วยปัญหาเครื่องยนต์/ ระบบเกียร์ ปัญหาประสบการณ์การขับขี่ ปัญหาจากภายในรถยนต์ ปัญหาด้านเครื่องเสียง, ความบันเทิงและระบบนำทาง (ACEN) ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC) ปัญหาจากอุปกรณ์, ปุ่มควบคุมและแผงหน้าปัด และปัญหาจากที่นั่ง
ปัญหาทั้งหมดได้ถูกนำมาสรุปผลเป็นจำนวนปัญหาหรือความผิดปกติที่พบต่อรถยนต์ใหม่ 100 คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100) โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนน PP100 น้อยกว่า แสดงว่ารถยนต์รุ่นนั้นเกิดปัญหาน้อยกว่าหรืออีกนัยหนึ่งคือรถรุ่นนั้นมีคุณภาพที่สูงกว่า
ศิรส สาตราภัย ผู้จัดการสาขา เจ.ดี. พาวเวอร์ว่า “ผู้ผลิตรถยนต์ได้รุดหน้าในการพัฒนาคุณภาพรถยนต์ใหม่ในแทบทุกหมวดหมู่ และที่เด่นชัดที่สุด ได้แก่ หมวดหมู่ภายนอกรถยนต์ เครื่องยนต์ / ระบบเกียร์ และประสบการณ์การขับขี่ อย่างไรก็ตาม ในหมวดหมู่ภายในรถยนต์และคุณภาพระบบเครื่องเสียง กลับไม่เป็นไปตามที่ลูกค้าคาดหวัง ดังที่ได้รับรายงานปัญหาในส่วนนี้จากเจ้าของรถยนต์เพิ่มมากขึ้น”
ค่าเฉลี่ยคุณภาพรถใหม่โดยรวมอยู่ที่ 91 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน (PP100) ในปี 2558 ซึ่งเท่ากับปี 2557 การศึกษาพบว่าเปอร์เซนต์ของปัญหาภายในรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 11% ในปี 2558 จาก 8% ในปี 2557 ในขณะที่ปัญหาด้านระบบเครื่องเสียง, ความบันเทิงและระบบนำทาง (ACEN) เพิ่มขึ้นเป็น 8% เทียบกับ 6% เมื่อปีที่แล้ว
ปัญหาที่มีการพูดถึงบ่อยที่สุดในหมวดหมู่ภายในรถยนต์เกี่ยวข้องกับความยากในการใช้งานของที่วางแก้ว, เสียงรบกวนหรือเสียงกอกแกกจากแผงหน้าปัด หรือคอนโซล และคุณภาพของวัสดุที่ใช้ภายในห้องโดยสารไม่ดี ส่วนปัญหาหลักที่พบในหมวดหมู่เครื่องเสียง, ความบันเทิงและระบบนำทาง (ACEN) มาจากภาครับสัญญาณวิทยุไม่ชัดเจน หรือไม่มีคลื่น และคุณภาพเสียงจากลำโพง สัดส่วนของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับที่นั่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 5% จาก 4% ในปี 2557
คุณศิรส กล่าวย้ำว่า แม้ว่าคุณภาพในหมวดหมู่ของระบบปรับอากาศ (HVAC) รวมทั้งหมวดหมู่ อุปกรณ์, ปุ่มควบคุม และแผงหน้าปัด จะอยู่ในระดับคงที่ แต่ผู้ผลิตควรระมัดระวังถึงความรุนแรงของปัญหา เนื่องจากการให้คะแนนคุณภาพรถยนต์โดยรวมระหว่างเจ้าของที่ประสบปัญหาและเจ้าของที่ไม่ประสบปัญหาในหมวดหมู่เหล่านี้ แตกต่างกันมากที่สุด ซึ่งความแตกต่างนี้ต่างกันมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาวิจัยในปี 2543 “เป็นไปได้สูงที่ระบบแอร์จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อความพึงพอใจในคุณภาพโดยรวมของรถยนต์ สืบเนื่องจากสภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี และเจ้าของรถก็มีความอ่อนไหวในเรื่องของอุปกรณ์, ปุ่มควบคุมและแผงหน้าปัด เพราะอุปกรณ์หลายอย่างได้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมาพร้อมในรถใหม่” คุณศิรสยังได้อธิบายต่อว่า “ปัญหาคุณภาพของชิ้นส่วน อุปกรณ์และระบบภายในห้องโดยสารเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพตรงกับความคาดหวังของลูกค้า”
ข้อมูลสำคัญที่ได้จากผลสำรวจ
- กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยรวมมีปัญหา 89 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน (89 PP100) ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 4 PP100 เมื่อเทียบกับปี 2557
- กลุ่มรถยนต์ที่ทำคะแนนได้สูงสุด-ต่ำสุด ยังคงเป็นกลุ่มรถยนต์เดียวกันกับปี 2557 โดยเจ้าของรถยนต์ขนาดกลางระดับพรี-เมี่ยมรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถของตนน้อยที่สุด (59 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) และเจ้าของรถยนต์อเนกประสงค์ (MPV) รายงานปัญหามากที่สุด (110 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน)
- เกือบ 2 ใน 3 (61%) ของเจ้าของรถยนต์รายงานว่ามีปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่อย่างน้อย 1 ปัญหา ในปี 2558 เปรียบเทียบกับ 51% ในปี 2557
- เสียงลมดังเข้าห้องโดยสารมากเกินไป (9.6 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ยังคงเป็นปัญหาที่มีการรายงานเข้ามาบ่อยที่สุดในปีนี้และเป็นปัญหาที่มีมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2551 ปัญหาสัญญาณคลื่นวิทยุที่รับไม่ชัดเจน (2.4 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ซึ่งในอดีตอยู่ใน 5 อันดับสูงสุดของปัญหาที่มีการรายงานเข้ามาบ่อยที่สุด ได้กลับมาติด 5 อันดับสูงสุดอีกครั้ง หลังจากปรับปรุงดีขึ้นในปี 2556 และปี 2557
- ความภักดีและความตั้งใจในการกลับมาซื้อมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อคุณภาพโดยรวมของรถยนต์ โดย 78% ของลูกค้าที่พอใจเป็นอย่างมากกล่าวว่าพวกเขาจะแนะนำรุ่นรถที่ใช้อยู่ “อย่างแน่นอน” และ 61% กล่าวว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อรถยนต์แบรนด์เดิมอีก “อย่างแน่นอน” ส่วนกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่ผิดหวังกับคุณภาพรถยนต์ มีเพียง 23% และ 11% ตามลำดับ ที่กล่าวถึงความตั้งใจในลักษณะเดียวกัน
การจัดอันดับจากผลการศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2558
ฮอนด้าคว้ารางวัลใน 2 รุ่นรถ ได้แก่ ซีวิค (72 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง และ ซีอาร์-วี (68 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูง
โตโยต้า คว้ารางวัลในกลุ่มรถกระบะ 2 ประเภท ได้แก่ ไฮลักซ์ วีโก้ แชมป์ พรีรันเนอร์ สมาร์ท แค๊ป (74 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทรถกระบะตอนขยาย และไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ ดี-แค๊ป และ ไฮลักซ์ วีโก้ แชมป์ พรีรันเนอร์ ดี-แค๊ป (67 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ต่างได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทรถกระบะ 4 ประตู ด้วยคะแนนเสมอกัน
มิตซูบิชิ มิราจ (101 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ครองอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก มาสด้า2 (77 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ครองอันดับสูงสุดประเภทรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น
ผลการศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย (IQS) ประจำปี 2558 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถใหม่จำนวน 4,837 รายที่ซื้อรถในช่วงเดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์จำนวนทั้งสิ้น 89 รุ่น จากทั้งหมด 12 ยี่ห้อ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน 2558
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com