Hands On: ทดสอบรถยนต์ All New Mazda CX-5 แรง ดูดี แบบน้อยแต่มาก
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 27 พ.ย. 60 00:00
- 65,377 อ่าน
ต้องยอมรับว่าช่วง 5 ปีหลังนี้ ค่ายรถยนต์แดนปลาดิบอย่าง Mazda สามารถสร้างยอดขายและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยรุ่นที่สร้างชื่อได้คงต้องยกให้ความดีความชอบของ Mazda 2 และ Mazda 3 รถยนต์ Sedan ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วยเทคโนโลยีที่ให้มากับราคาที่ใช่ ทำให้ Mazda ปัดเอาหมอกควันที่รุมเร้าออกไป จนกลายเป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆไปได้
เมื่อปี 2013 ทางมาสด้าได้ปล่อยรถยนต์ SUV ลงในตลาดอีก 1 รุ่นนั่นคือ Mazda CX-5 ที่ได้รับการตอบรับไปอย่างดีเช่นกัน ถึงแม้มันจะไม่หวือหวาอะไรมากมาย แต่ก็ได้รับคำชมจากผู้ที่ใช้งานไปมากพอตัว ผ่านไป 3 ปีก็มีการปรับปรุงหน้าตานิดหน่อย แต่ผ่านไปได้อีกเพียงปีกว่าๆ ก็ได้มีการออกโฉมใหม่มาแบบที่หลายคนยังไม่ได้ตั้งตัว ซึ่งจะเป็นรถยนต์ใหม่ 2017 ที่เราจะทำการทดสอบกันในตอนนี้นั่นเองครับ
ผ่านงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ All New Mazda CX-5 ไปได้ไม่กี่วัน ทางทีมงาน Autodeft ก็ได้รับเกียรติจากทางบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเข้าร่วมการทดสอบรถยนต์ใหม่ โดยทริปนี้จะเป็นเส้นทางเริ่มต้นจากเชียงราย-น่าน--เลย-อุดรธานี-สกนนคร-นครพนม - อุบลราชธานี-สระแก้ว และจบเส้นทางที่กรุงเทพมหานคร โดยทริปนี้ถูกแบ่งสื่อมวลชนเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งผมเองได้ร่วมเดินทางจากอุบลราชธานี-สระแก้ว-กรุงเทพมหานคร ระยะทางรวมประมาณ 700 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 วัน
หลังจากเดินทางโดยเครื่องบินมุ่งหน้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี และพักผ่อนไป 1 คืนแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นก็เตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางกันเลย โดยครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 12 คัน มีทั้ง XDL, XD และ 2.0 SP วันแรกผมได้จับตัวท็อปเครื่องยนต์ดีเซลในรุ่น XDL ก่อนเลย ซึ่ง Mazda CX-5 คันนี้ ใช้เครื่องยนต์ SKYACTIV-D 2.2 ลิตร DOHC แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมระบบวาล์วไอเสียแปรผันอัจฉริยะ VVT และระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์ 2 ขั้น ให้กำลัง 175 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตร เกียร์เป็นแบบ SKYACTIV-DRIVE อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมแมนนวลโหมด Activematic พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ (i-ACTIV AWD) จะมีอยู่เฉพาะตัวท็อปเท่านั้น
ส่วนดีไซน์ภายนอก ทางมาสด้าบอกว่า ยังคงเป็นการออกแบบของ Kodo Design เน้นลายเส้นที่ไม่มากแต่คมสวยงาม ตามคอนเซ็ป Less is more เหมือนกับการออกแบบสวนหินของชาวญี่ปุ่น ที่เรียบง่ายแต่สวยงามนั่นเอง สิ่งที่เห็นเปลี่ยนแปลงจากตัวปี 2013 อย่างชัดเจน คงจะเป็นไฟหน้าโปรเจคเตอร์แบบ LED ที่ถูกรีดให้บางลงและคมขึ้น ถูกขนาบด้วยลายเส้นขีดเพิ่มความคมออกไปด้านข้าง รวมทั้งไฟท้ายก็เช่นกันที่เป็นแบบ LED Signature มีลายเส้นขีดออกไปจากตัวไฟเช่นเดียวกัน กระจังหน้าจากเดิมที่เป็นเส้นๆเรียงเป็นแนวนอน ถูกเปลี่ยนให้เป็นตะแกรงเหลี่ยม ที่ออกแบบแตกต่างจากตะแกรงทั่วไป คือดูมีมิติมากกว่า ไม่ได้แค่เอาเส้นเรียบๆมาเรียงขัดกันไปกันมาเหมือนคนอื่น สีที่ได้ขับวันแรกก็เป็นสีแดง Soul Red Crystal ที่ทางมาสด้าภูมิใจนำเสนอ แต่ส่วนตัวผมแล้วคิดว่า มันก็ไม่ได้แดงแตกต่างกับสีแดงของค่ายอื่นมากมายอย่างไร ส่วนล้อแม็กเป็นล้ออัลลอยสีเงินผสมสีรมดำ ขนาดของยางเป็น 225/55 R19 แต่ซุ้มล้อก็น่าจะพอให้ใส่ยางขนาด 22 นิ้วได้สำหรับขาซิ่งล้อโต อ้อ ยังมีในส่วนของ Sun Roof เพิ่มขึ้นมาด้วย แต่จะมาเฉพาะตัว XDL ที่เป็นตัวท็อปเท่านั้นครับ
ส่วนของภายในที่ก้าวเข้าไป ก็จะเห็นเบาะที่นั่ง 2 แถว เป็นเบาะหนังสีดำเดินด้วยด้ายสีน้ำตาล คอนโซลเป็นแผงสีดำหุ้มด้วยวัสดุ Soft Touch บางส่วน ตัดด้วยวัสดุโครเมียมสีเงิน ที่ประตูก็เช่นกัน โดย All New Mazda CX-5 ประตูด้านคนนั่งหลังทั้ง 2 ข้าง ก็ใช้วัสดุตัวเดียวกันกับประตูหน้า ต่างกับรุ่นก่อนที่ด้านหลังใช้วัสดุต่างกันกับด้านหน้า เบาะคนขับเป็นแบบปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางพร้อมบันทึกได้ 2 ตำแหน่ง ส่วนคนนั่งเป็นปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง เบาะแถวหลังพับได้แบบ 40:20:40 ความดีงามของโฉมนี้ก็คือ ตัวเบาะหลังมันสามารถเอนได้อีกนิดนึง เลยเพิ่มความสบายในการนั่งด้านหลังพอตัว ต่างจากตัวที่แล้วที่จะนั่งหลังตรงไปหน่อย แต่ใครที่ชอบนั่งหลังตรงแบบเดิม ก็ยังปรับให้อยู่ระดับเดิมได้นะจ๊ะ ส่วนฝาท้ายเป็นไฟฟ้า เปิดได้ทั้งจากในรถและที่ฝาท้ายเลย
อุปกรณ์ภายในอื่นๆก็ยังคงคล้ายๆของเดิม ทั้งหน้าจอขนาด 7 นิ้ว สามารถสั่งการได้ทั้งระบบสัมผัสและผ่านปุ่ม Center Commander ที่อยู่แถวเกียร์ เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนได้ทั้งผ่าน Bluetooth และช่อง USB ที่ซ่อนอยู่ในช่องเก็บของข้างเบาะ รวมทั้งยังสามารถสั่งการด้วยเสียงได้ มีระบบนำทาง ตำแหน่งที่วางยังคงอยู่กลางคอนโซลเช่นเดิม แต่ทางมาสด้าให้ข้อมูลว่า มีการปรับองศาและตำแหน่งให้สูงกว่าเดิมเล็กน้อย เพื่อให้คนขับสามารถหันมามองแล้วเห็นได้ชัดเจนทันที เพราะตัวเก่าจะต้องก้มลงมาเพื่อมองเล็กน้อย แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนก็คือ หน้าจอแสดงผลระหว่างขับขี่ของตำแหน่งคนขับ ที่ปกติจะมีเป็นฝาพลาสติกใสๆยกขึ้นมาหลังสตาร์ทรถ เพื่อรับข้อมูลที่ส่องขึ้นมา แต่ในเวอร์ชั่นนี้จะตัดตัวแผ่นนี้ออกไป แล้วใช้กระจกด้านหน้าเป้นตัวสะท้อนข้อมูลให้เห็นแทน หลังจากที่ลองใช้งานแล้วก็ไม่มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด ไม่ว่าแสงจากข้างนอกจะสว่างขนาดไหน ข้อมูลก็ยังคงเห็นได้ชัดเหมือนเดิม ส่วนลำโพงจากเดิมมี 9 ตำแหน่ง รุ่นนี้ใช้ของ Bose เพิ่มมาเป็น 10 ตำแหน่ง นั่นคือการเพิ่ม Subwoofer มาที่ด้านท้าย ทำให้เพลงฟังแล้วมีมิติมากขึ้น
ระบบความปลอดภัย ก็ยังคงมาครบตามสไตล์มาสด้า นั่นคือระบบ I-Active Sense ที่อัดแน่นด้วยระบบมากมายเหนือมาตรฐานทั่วไป เช่น ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM, ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert), ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน LDWS (Lane Departure Warning System), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LAS (Lane-keep Assist System), ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ SCBS (Smart City Brake Support), ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ SBS (Smart Brake Support) เป็นต้น ใครอ่านดูตัวภาษาอังกฤษอาจจะไม่คุ้น เพราะทางมาสด้ามีการใช้ที่แตกต่างกับภาษากลางบางตัว เช่นระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ SCBS แต่ทั่วไปเรียก Autonomous emergency braking (AEB) เป็นต้น ส่วนระบบมาตรฐานทั่วไปอย่าง ABS, EBD, BA, TCA พวกนี้ก็มีอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยจึงมั่นใจได้อย่างเต็มที่ตราบใดที่การขับขี่ของเราอยู่ในกฎหมายจราจร
ด้านมิติของตัวรถ All New Mazda CX-5 มีขนาดยาวxกว้างxสูง 4,550 x 1,840 x 1,680 มม. ฐานล้อ 2,700 มม. ถ้าเทียบกับตัวเก่าคือ 4,540 x 1,840 x 1,670 มม. ฐานล้อ 2,700 มม. ก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างเป็นนัยยะสำคัญจนทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างไปได้ แต่ที่แตกต่างน่าจะเป็นตำแหน่งในการวางต่างๆมากกว่า ทั้งเสาเอ ที่มีการขยับไปด้านหลังมากกว่าเดิม 35 มม. ทำให้วิสัยทัศน์ในการมองกระจกด้านหน้ากว้างกว่าเดิม รวมทั้งตำแหน่งคันเกียร์ ที่ถูกขยับให้สูงขึ้นกว่าเดิม 60 ซม. ทำให้การเปลี่ยนเกียร์มีความรู้สึกจับได้ง่ายกว่าเดิม จุดที่พักแขนก็อยู่ในตำแหน่งที่วางแล้วสบายมากกว่าเดิม
หลังจากมีข้อมูลเบื้องต้นของตัวรถแล้ว ก็เริ่มออกเดินทางได้เลย การเดินทางของทริปนี้ มีผู้ร่วมเดินทางไปในคันเดียวกันอีก 2 คน นำหนักรวมกันพร้อมสัมภาระก็น่าจะร่วม 300 กิโลกรัมได้ (อวบทุกคน) ผมเริ่มต้นการเดินทางด้วยการเป็นผู้โดยสารด้านหลังก่อน อย่างแรกที่รู้สึกได้ของการนั่งด้านหลังคือ มีความสบายมากกว่าตัวเก่า จากที่เบาะสามารถเอนได้มากกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ถึงนิดหน่อยมันก็ช่วยเพิ่มความสบายสำหรับคนพุงเยอะแบบผมได้ไม่เบา ตัวประตูก็เป็นวัสดุแบบ Soft Touch เพิ่มสัมผัสที่ดีได้อย่างมาก และที่เบาะเท้าแขนตรงกลาง นอกจากมีช่องวางแก้วน้ำ 2 ช่องแล้ว มีความดีงามกับคนยุคสื่อสารอย่างเราด้วยช่อง USB ที่ปล่อยไฟระดับ 2.1 แอมป์มาให้ด้วย ไฟระดับนี้ชาร์จได้ทั้งโทรศัพท์และแท็ปเลตได้อย่างสบาย แต่ยังคงไม่มีช่องเสียบไฟแบบ AC เหมือนไฟบ้านเหมือนค่ายอื่นบางรุ่น ไม่งั้นนะ ข้างหลังจะเป็นออฟฟิศเคลื่อนที่ได้เลย
นั่งสบายมาร้อยกว่ากิโลเมตรแล้ว ก็ถึงคิวต้องขับให้คนอื่นนั่งซักที เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้ขับเรียบร้อย ตัวเบาะที่เป็นแบบปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง มันช่วยให้เราปรับได้ตามตำแหน่งที่เราต้องการได้ง่ายจริงๆ มี Memory ตำแหน่งเบาะได้ 2 ตำแหน่ง แต่มารู้ภายหลังว่าจริงๆได้ 4 แต่ต้องบันทึกผ่านรีโมท ใช้ดีหรือเปล่าไม่รู้เพราะไม่ได้บันทึก ยังไงก็ขับรถคันนี้แค่รอบเดียวอยู่แล้ว ส่วนตำแหน่งเกียร์ที่สูงขึ้น 60 มม.นั้น เออ มันช่วยได้จริงๆแฮะ เพราะมันเหมือนกับขยับมือแค่นิดเดียวก็ไปถึงตัวหัวเกียร์แล้ว หน้าจอแสดงผลที่ส่งขึ้นไปสะท้อนกับกระจกหน้าก็ดูดี เห็นได้ชัดเจน คนที่ไม่เคยใช้งานอาจจะดูเกะกะสายตาหน่อยในระยะแรก แต่เชื่อเถอะครับว่ามันมีประโยชน์จริงๆ
เครื่องยนต์ SKYACTIV-D 2.2 ลิตร 175 แรงม้า แรงบิด 420 นิวตันเมตร ที่อยู่ในรุ่น XDL นั้น ไม่ได้ให้อารมณ์พุ่งปรู๊ดปร๊าดอะไรมากนัก แต่ด้วยความที่แรงบิดมาที่ 2,000 รอบ/นาทีแบบ Flat Torque ทำให้เมื่อรถออกตัวไประยะหนึ่งแล้ว ความเร็วจะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จนไต่ไปในย่านที่เราต้องการอย่างสบาย ผมทดสอบด้วยการกดคันเร่งแรงๆตอนที่ออกตัวในช่วงถนนโล่งเพื่อไล่ตามขบวนชุดแรกที่ไปล่วงหน้า (โหมดเกียร์ D ตามปกติ) แล้วกดไปยาวยาว รถจะเคลื่อนตัวออกปในตอนแรกอย่างสุภาพ จากนั้นจะเริ่มไต่เพดานความเร็วขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับย่านความเร็วเกิน 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างไม่ได้เค้นการทำงานของเครื่องยนต์มากซักเท่าไหร่ และเมื่อรถอยู่ในย่านความเร็วสูง ก็ไม่ได้ทำให้ตัวรถเกิดอาการโคลงเคลงหรือรู้สึกว่าปลิวแต่อย่างใด ทั้งนี้คงต้องขอบคุณช่วงล่าง SKYACTIV-CHASSIS ภายใต้การออกแบบระบบที่ลงตัวตามอย่าง Jinba-ittai และระบบ G-Vectoring Control ที่ทำให้ทุกโค้งที่เข้าแม้จะอยู่ในความเร็วสูง ก็ช่วยให้การควบคุมอยู่ในมือของเราอย่างง่ายดาย รวมทั้งคันนี้เป็นระบบ AWD ที่ขับเคลื่อนทั้ง 4 ล้อ ยิ่งทำให้การเข้าโค้งและการวิ่งในสภาพถนนที่ต่างกันบ้าง สามารถไปได้อย่างสบาย พวงมาลัยที่เป็นระบบไฟฟ้า เสียดายอยู่อย่างตรงที่ ตอนใช้งานช่วงออกตัวความเร็วต่ำก็เบามือดีแหล่ะ แต่เมื่ออยู่ในช่วงความเร็วสูงแล้วแล้วมันก็ยังเบาเหมือนเดิม ถ้าสามารถปรับให้มีความรู้สึกหนืดหรือหนักมากกว่านี้ Feeling ในการขับขี่ช่วงความเร็วสูงก็จะดีกว่านี้แน่นอน
ระบบความสะดวกสบายและความปลอดภัยที่ลองใช้หลายอย่าง ทั้งระบบ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ MRCC (Mazda Radar Cruise Control) ที่เมื่อเราล็อคความเร็วไว้ จะมี Radar ไปจับวัตถุที่อยู่ข้างหน้าแล้วตรวจสอบความเร็ว แล้วปรับความเร็วรถเราให้เท่ากับคันข้างหน้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่ฉลาดพอตัว ผมลองขับตามรถคันหน้าที่วิ่งประมาณ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ตั้งความเร็วไว้ที่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถก็วิ่งตามคันหน้าได้เหมือนมีเชือกผูกกันไว้ และเมื่อรถคันหน้าทำการเบรกจนหยุด รถจะทำการเบรกให้ในระยะหนึ่ง ก่อนจะเตือนด้วยสัญญาณเสียงพร้อมไฟกระพริบที่หน้าจอบนกระจกบอกให้เราเบรกที่แป้นอีกครั้ง เพราะระบบเบรกอัตโนมัติไม่สามารถทำงานได้จนรถหยุดนั่นเอง ส่วนระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ SCBS ก็ดีเช่นกัน เพราะเมื่อเราขับใกล้วัตถุ หรือมีวัตถุอะไรก็ตามที่ตัดหน้าเรามาในระยะที่อันตราย นอกจากจะมีสัญญาณเตือนเพื่อแจ้งให้เราเบรกแล้ว รถจะทำการกดเบรกให้อัตโนมัติก่อนราว 2 วินาที เพื่อลดความเร็วของตัวรถซะก่อนที่เท้าเราจะเข้าไปเบรกเพื่อหยุดรถอีกครั้ง จากการสอบถามทางมาสด้าว่า แล้วถ้าเราไม่เบรกล่ะ ได้รับคำตอบว่ารถก็จะไม่เบรกต่อ แล้วพุ่งเข้าชนวัตถุนั้นเลย ดังนั้นถึงระบบของรถจะดีอย่างไร สุดท้ายแล้วสติในการขับรถของเราก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเช่นเดิมนะครับ
ระบบอื่นๆอย่าง ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน ก็จะเตือนเราบนหน้าจอและเสียง เพื่อให้เรารู้ตัวว่ากำลังออกนอกเลนนะ และจะมีแรงดึงที่พวงมาลัยจากระบบ Lane-keep Assist System เล็กน้อย เพื่อให้รถกลับเข้ามาในเลน ซึ่งมันดึงไม่มากนะ แค่พอรู้ตัว ส่วนตัวผมชอบแรงดึงแค่นี้เพราะเคยลองระบบนี้ในบางรุ่น มันแรงเกินซะจนเหมือนมีกุมารทองประจำรถมาช่วยดึงพวงมาลัยแทนเราเลย ส่วนระบบเบรกมือไฟฟ้าพร้อมระบบ Auto Hold ก็ดีงาม แค่เบรกรถจนหยุดสนิท รถก็หยุดนิ่งเหมือนใส่เบรกมือไว้ ไม่ต้องคอยเปลี่ยนเกียร์ไปมาหรือเหยียบเบรกค้างเลย
ผ่านไป 100 กว่ากิโลเมตร ก็ถึงคราวต้องมาทำหน้าที่คนนั่งด้านข้างแล้ว ผมสัมผัสได้ถึงความเงียบในห้องโดยสารที่มากขึ้น เสียงช่วงความเร็วสูงในคันอื่นเราอาจจะได้ยินเสียงลมเข้ามาในห้องโดยสารได้ แต่กับ All New Mazda CX-5 คันนี้ ผมและเพื่อนร่วมทางคันนี้ลงความเห็นเดียวกันว่า เสียงที่ได้ยินจะเป็นเสียงยางรถกัดกับถนนมากกว่า เสียงลมนั้นได้ยินน้อยมาก ซึ่งทางมาสด้าเองก็ภูมิใจนำเสนอเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาในห้องโดยสารระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง มีความต่างของเสียงดังมากถึง 7% - 8% แต่ในคันนี้มีความต่างเพียง 4% จึงทำให้การคุยกันระหว่างคนนั่งแถวหน้ากับแถวหลังไม่ต้องตะโกนใส่กัน หรือชะโงกหน้าเพื่อไปคุยกับคนข้างหน้าเลย จบการเดินทางวันแรกประมาณ 4 ร้อยกว่ากิโลเมตร ด้วยอัตราความสิ้นเปลืองที่หน้าจอประมาณ 11.8 กิโลเมตร/ลิตร
ย่างก้าวเข้าสู่วันที่ 2 ที่ต้องขยับไปจับรถยนต์ All New Mazda CX-5 เครื่องยนต์เบนซินรุ่น 2.0 SP แทน ความแตกต่างก็ไม่มีอะไรมาก ก็แต่ตัวเครื่องยนต์, ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ กับไม่มีหลังคาซันรูฟเท่านั้นเอง จุดอื่นๆก็มีต่างกันเล็กน้อย ไม่มีอะไรมากจนทำให้รู้สึกได้ ดังนั้นการโดยสารจึงไม่มีความแตกต่างอะไร ขอข้ามไปเลยละกัน เข้าสู่ความรู้สึกในการขับขี่เลย ต้องบอกว่า All New Mazda CX-5 รุ่น 2.0 SP นั้น เป็นเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 DOHC แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมระบบวาล์วแปรผันคู่อัจฉริยะ Dual S-VT ให้กำลัง 165 แรงม้า แรงบิด 210 นิวตันเมตร จริงอยู่ว่าแรงม้าไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ แต่ตัวแปรที่ทำให้การใช้งานต่างกันได้ชัดคือแรงม้าที่ต่างกันมากมายแบบ x2 การออกตัวช่วงแรกนั้น เครื่องยนต์เบนซินให้ Feeling ในการออกตัวพุ่งกว่าดีเซลเล็กน้อย แล้วก็สามารถได้ความเร็วขึ้นไปได้เหมือนกับเครื่องดีเซล แลกกับเสียงเครื่องที่ครางเยอะหน่อย แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ย่านความเร็วเกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถจะเริ่มไต่ความเร็วขึ้นไปช้า กว่าจะได่ขึ้นไปได้ต้องใช้เวลาและระยะทางพอสมควร แตกต่างกับเครื่องยนต์ดีเซลอย่างชัดเจน เข้าใจทันทีว่าทำไมเมื่อวานวันที่ผมขับตัวดีเซล เพื่อนๆนักข่าวด้วยกันที่ขับเครื่องเบนซินถามว่า “จะรีบไปไหน” และต้องบอกว่าการทดสอบทริปนี้ผมเปิดโหมด Sport มาตั้งแต่เริ่มเดินทาง (มีเฉพาะในเครื่องเบนซิน) ดังนั้นอัตราการเร่งของเครื่องยนต์ในโหมดปกติก็จะต้องลดลงกว่านี้อย่างแน่นอน จบการทดสอบ 1 วันจนถึงปลายทางที่ กทม. อัตราความสิ้้นเปลืองที่หน้าจออยู่ที่ 9.3 กิโลเมตร/ลิตร
ผ่านไป 2 วันกับ All New Mazda CX-5 ทั้ง 2 รุ่น 2 เครื่องยนต์ ถ้าในเชิงผู้โดยสาร ผมว่าทำได้ดีมากเลย ทั้งการนั่งด้านหน้าและด้านหลัง นั่งได้สบาย มีการเก็บเสียงที่ห้องโดยสารอย่างดี อุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างมากมาย ถ้าเพิ่มระบบ Apple CarPlay และ Android Auto ในระบบเครื่องเสียงได้ก็จะดีมากเลย เพราะระบบเสียงจาก Bose ทั้ง 10 ตัวพร้อม Subwoofer สำหรับผมแล้วมันก็เพียงพอที่จะขับกล่อมระหว่างทางได้แล้ว ส่วนการขับขี่ก็อย่างที่บอกไปว่า ถ้าสามารถปรับความหนืดของพวงมาลัยช่วงความเร็วสูงให้มากขึ้นได้ก็จะดีกว่านี้ เครื่องยนต์ดีเซลก็สามารถตอบสนองได้อย่างดี ลากขึ้นไปย่านความเร็วสูงได้อย่างสบาย การกินนำมันก็ประหยัดพอตัว ส่วนเครื่องยนต์เบนซินก็เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการความเร็วมากกมาย อยู่ในย่านไม่เกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงแบบชิวๆ
All New Mazda CX-5 มีมาให้เลือก 6 สีคือ Soul Red Crystal, Machine Gray, Snow Flake White Pearl, Sonic Silver, Jet Black และ Deep Crystal Blue มีให้เลือก 5 รุ่น ราคารถยนต์ใหม่มีดังนี้ครับ
2.0 C 1,290,000 บาท
2.0 S 1,400,000 บาท
2.0 SP 1,530,000 บาท
XD 1,560,000 บาท
XDL 1,770,000 บาท
เอาจริงๆถ้ามองเรื่องราคากับคุณภาพที่ได้ มันก็คุ้มค่าคุ้มราคาอย่างมาก แล้วถ้าถามต่อว่าจะเอารุ่นไหนดี ผมว่าตัวเครื่องยนต์จะเป็นสิ่งที่สำคัญในการเลือก ผมสรุปเอาเองง่ายๆกับเพื่อนร่วมทริปว่า ท่านผู้ชายที่ชอบความแรงก็น่าจะเลือกเครื่องดีเซล สำหรับสาวๆนั้นไม่ได้อยากแรงมาก ก็น่าจะเหมาะกับเครื่องเบนซินมากกว่า แต่สรุปแล้วทางที่ดีที่สุด แนะนำให้ไปลองขับลองนั่งเองกับคันจริงมากกว่า เพราะแต่ละคนก็อาจจะชอบไม่เหมือนกันได้ครับ
ทดสอบและเรียบเรียงโดย Earthpark02
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com