Deft Drive: ทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า CU TOYOTA Ha:mo จิ๋ว แจ๋ว รักษ์โลก

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 22 ธ.ค. 60 00:00
  • 49,672 อ่าน

ถึงเราจะคิดอย่างไร ก็คงจะฝืนกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มจะเข้ามาในชีวิตของเราเพิ่มขึ้นไม่ได้ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือช่วยกันในการลดปัญหานี้ให้ได้มากและเร็วที่สุด ดังนั้นการเพิ่มปริมาณการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยลดปัญหามลภาวะได้เช่นกัน แต่สำหรับในตลาดบ้านเราแล้ว อาจจะยังอีกไกลที่จะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในปริมาณสัดส่วนให้เท่ากับทางยุโรปหรืออเมริ

Toyota HaMo

ฝั่งยุโรปในปัจจุบัน นอกจากจะตื่นตัวในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังกำลังพัฒนาระบบการใช้รถยนต์ที่เรียกว่า Car Sharing หรือการแบ่งเช่าใช้รถแบบชั่วคราว ซึ่งระบบนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อมาเป็นเจ้าของเอง แต่สะดวกเหมือนกับเป็นเจ้าของรถเอง หลักการคล้ายกับการเช่ารถทั่วไป เพียงแต่เราสามารถเช่าใช้งานเป็นระยะเวลาสั้นๆได้ ไม่จำเป็นต้องส่งคืนรถที่เดิม และไม่ต้องเซ็นเอกสารใหม่ทุกครั้งที่เช่ายืมรถ

Toyota HaMo

วันก่อนผมได้มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “CU TOYOTA Ha:mo” ที่เป็นความร่วมมือของ โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย), คอนเน็คเต็ด, จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย พร้อมด้วยภาครัฐอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงคมนาคม ในการให้บริการรถไฟฟ้าระบบ Car Sharing เพื่อให้ใช้งานภายในบริเวณของ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ที่ในปัจจุบันบุคลากรใช้วิธีการเดิน, ขี่จักรยาน, ใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น ในการเดินทางไปยังตึกต่างๆ ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางมากๆ ดังนั้น รถไฟฟ้า Ha:mo ก็จะเข้ามาเป็นอีก 1 ตัวเลือกในการเดินทาง โดยในพิธีเปิดครั้งนี้ ผมเองก็ได้มีโอกาสในการทดสอบเจ้ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้เป็นระยะทางสั้นๆ ก็เลยอยากเอามาเล่าให้ทุกคนได้รู้จักมันมากขึ้นครับ

Toyota HaMo

Ha:mo เป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยสารได้เพียง 1 คนเท่านั้น มีช่องว่างท้ายรถขนาดเล็กเพื่อใช้บรรจุสัมภาระได้ไม่เกิน 30 กิโลกรัม ใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยทางทีมงานไม่ได้แจ้งว่าเป็นมอเตอร์ขนาดกี่กิโลวัตต์ บอกแต่ว่าสามารถพาผมที่มีน้ำหนักมากๆ เดินทางได้อย่างสบาย ขนาดของตัวรถนั้นผมกะเองคร่าวๆว่ายาวประมาณราว 2 เมตร และกว้างประมาณ 1 เมตรกว่าๆ ช่องมองด้านหน้าใช้เป็นกระจก ส่วนประตูกับช่องด้านหลัง ใช้เป็นผ้าใบใสในการบังลมบังฝน พับเก็บที่ช่องท้ายรถได้

Toyota HaMo

เมื่อเข้าไปนั่งในตัวรถแล้ว แน่นอนครับว่ามันรู้สึกอึดอัด เพราะเราคงเคยชินกับการที่นั่งรถกว้างกว่านี้ แต่ถามว่ามันนั่งได้พอมั้ย ก็ต้องตอบว่าพอ ตัวเบาะสามารถเลื่อนเดินหน้า ถอยหลังได้ แต่ไม่สามารถปรับเอนพนักพิง หรือความสูงของเบาะได้ ตัวพวงมาลัยก็ไม่สามารถปรับระดับได้ มีคันเร่งกับแป้นเบรก บนพวงมาลัยมีแตรและปุ่มสวิตช์เปิดเครื่อง ก้านด้านซ้ายของพวงมาลัยเป็นเกียร์ เป็นเกียร์ N,D และ R ด้านขวาเป็นไฟเลี้ยวกับปัดน้ำฝน ที่แผงคอนโซลมีหน้าปัดแจ้งสถานะของแบตเตอรี่, เกียร์, ระยะทาง มีปุ่มไฟฉุกเฉินและ ODD Trip และมีแท่นจับโทรศัพท์ไว้ให้ใช้งาน มีช่องให้วางแก้วน้ำด้านซ้าย และช่องวางของแบบมีฝาปิดด้านขวา ส่วนเบรกมือก็มีอยู่ข้างเบาะด้านขวา ไม่มีกระจกมองหลัง เพราะถ้าติดก็มองเห็นแต่หน้าตัวเอง ฮ่า

Toyota HaMo

ถ้าเราจะต้องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า Ha:mo คันนี้ เบื้องต้นเราต้องไปทำการสมัครสมาชิกก่อน จะเป็นนิสิต อาจารย์ บุคลากรและประชาชนทั่วไปก็ได้ ผ่านระบบออนไลน์ที่ www.cutoyotahamo.com หรือมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการ ณ ชั้น1 อาคารมหิตลาธิเบศรแห่งนี้ โดยมีค่าสมาชิก 100 บาท ซึ่งโครงการจะคืนกลับในรูปแบบคะแนนสะสม สามารถนำมาแลกใช้บริการได้ จากนั้นโครงการจะให้บัตรเหมือนบัตรรถไฟฟ้ามา 1 ใบ ซึ่งเราสามารถใช้บัตรนี้เพื่อแตะบนแท่นรับที่อยู่บนกระจกหน้าด้านบน เพื่อใช้งานรถได้เลย เติมเงินได้ที่สำนักงานโครงการหรือชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในรูปแบบบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของทุกธนาคาร คิดค่าบริการที่ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที เกินจากนั้น คิดค่าบริการเพิ่มนาทีละ 2 บาท เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม และเพิ่มความสะดวกในการใช้งานด้วยแอพพลิเคชั่น ที่สามารถจองใช้งานรถ และเชื่อมต่อกับรถผ่านระบบ Bluetooth เพื่อใช้งานรถแทนบัตรได้เช่นกัน

Toyota HaMo

Toyota HaMo

เมื่อมีข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ก็แตะบัตรออกเดินทางได้เลย โดยเมื่อแตะบัตรเรียบร้อน ก็ให้เราหมุนสวิตช์ที่อยู่บนคอพวงมาลัยด้านขวาไป 2 กึ๊ก หน้าปัดก็จะแสดงสถานะของรถออกมา นั่นแปลว่าเราก็พร้อมใช้งานรถได้ทันที ขยับเลื่อนเกียร์เพื่อออกเดินทางเลย ต้องบอกว่าถึงแม้เราจะเปลี่ยนเกียร์มาเป็น D แล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีการแตะคันเร่ง รถก็ไม่ได้ไหลออกไปเหมือนรถยนต์ปกติ ต้องแตะคันเร่งไปเล็กน้อยเพื่อให้รถเดินหน้าไป ซึ่งต้องบอกว่าอัตราเร่งในการออกตัว ไม่ได้อืดเลย ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังได้ดีพอตัว แต่ไม่ได้ลองแบบเหยียบเต็มที่ เกรงใจเจ้าของงาน

Toyota HaMo

จากนั้นก็ต้องหมุนพวงมาลัยเพื่อกลับรถ ถึงแม้ว่ารถจะไม่มีระบบพาวเวอร์ผ่อนแรง แต่รถคันแค่นี้ จะเอามาติดทำไม หมุนแบบปกติก็ไม่ได้กินแรงมากกว่ารถยนต์ทั่วไปซักเท่าไหร่ สาวๆตัวเล็กก็ใช้งานได้สบาย แต่ผมเองมันดันตัวใหญ่ มีปัญหาก็อีตอนหมุนเนี่ยแหละ ที่ทำเอาศอกไปฟาดกับประตูซะทีสองที ก็รถมันพอดีตัวนี่นา ส่วนวงเลี้ยวนั้นหายห่วง แคบมากๆ ก็แน่ล่ะ คันมันนิดเดียวเอง

Toyota HaMo

จากนั้นก็เริ่มออกตัวเป็นขบวนไป โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการพาขับนำไป (คิดเอาเองว่าถ้าปล่อยให้ขับกันเอง อาจะมีหลงหรือซิ่งกันกระจายเพื่อทดสอบความแรง ฮ่าๆๆ) อย่างที่บอกว่าตัวมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังดีพอตัว ไม่ได้มีความอืดในช่วงออกตัวให้เห็น กดให้วิ่งได้ยาวๆ มีแอบกดแรงไปหน่อยนึงรถก็พุ่งออกไป แต่ด้วยความเร็วที่จำกัดจาก จึงต้องแตะเบรกซะก่อน พูดถึงเบรก ก็ทำงานได้อย่างดี ไม่ได้เบรกแล้วหัวทิ่ม ให้ความนุ่มนวลอย่างดี ตัวรถเองก็ควบคุมได้ง่ายหันซ้ายหันขวาได้ดี ความนุ่มนวลของช่วงล่างก็ดี ไม่กระเด้งกระดอนแบบที่คาดไว้ตอนแรก ถือว่าโดยรวมสามารถใช้งานเดินทางในระยะทางสั้นๆ บนถนนที่เรียบๆ มีเนินสะดุดในบางจุดได้อย่างดี เสียดายว่ามีโอกาสได้ขับเพียงแค่ระยะทางเพียงประมาณ 500 เมตรท่านั้น ก็ถึงเวลาบอกลากันแล้ว

Toyota HaMo

หลังจากได้พูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ทำให้ทราบว่ารถไฟฟ้า Ha:mo คันนี้ ใช้เวลาในการชาร์จไฟให้เต็มไม่เกิน 5 ชั่วโมง และสามารถใช้งานได้ราวๆ 50-60 กิโลเมตร เฉลี่ยก็ตกชั่วโมงลง 10 กิโลเมตร ถ้าถามผมว่านานมั้ย ก็ถือว่ายังนานอยู่เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า EV แต่ถ้าถามว่าพอเพียงกับการใช้งานมั้ย ก็ต้องบอกว่าพอ เพราะอาณาบริเวณที่ให้บริการก็ไม่ได้ไกลอะไรมาก มีใช้งานในบริเวณมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฝั่งถนน, สถานีรถไฟฟ้า MRT สามย่าน, สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ ใช้งานจริงๆก็น่าจะเพียงพอ ไม่ต้องสงสัยนะครับว่าแล้วรถแบบนี้เอาไปวิ่งบนถนนได้เหรอ เพราะทุกคันมีการจดทะเบียนถูกต้องเรียบร้อยกับกรมการขนส่งทางบก มีทะเบียนถูกต้องทุกคัน แต่แน่นอนว่าทุกคนที่ใช้งานภายนอกมหาวิทยาลัย ก็จะต้องมีใบขับขี่ด้วยครับ

Toyota HaMo

ปัจจุบัน CU TOYOTA Ha:Mo มีให้บริการในเฟสแรกจำนวน 10 คัน และจะเพิ่มมาอีก 20 คันภายในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า มีจุดจอดไว้ทั้งหมด 12 จุด มีแท่นชาร์จ 10 จุดจากนั้นก็จะประเมินว่ามีผู้สนใจใช้บริการมากขึ้นหรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้น และขยายบริเวณการให้บริการให้มากขึ้นไปด้วย ผมมองว่าโครงการนี้เป็นเรื่องดี ถือเป็นประกายไฟเล็กๆที่สามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต ไม่ต้องอธิบายว่าระบบ Car Sharing ที่เมืองนอกกำลังพัฒนากันอยู่มันเป็นแบบไหน สามารถเข้ามาร่วมโครงการเพื่อเรียนรู้ไปได้เลย และให้คนที่ใช้งานได้รู้ว่า การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด, ไม่มีการปล่อยมลพิษ, เสียงไม่ดัง และสมรรถนะก็ไม่ได้แตกต่างกับรถยนต์ทั่วไปเลย แถมคนที่มีโอกาสใช้งานก็เป็นน้องนิสิตรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นแรงสำคัญในการผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยง่ายกว่าเดิมนะครับ

Toyota HaMo

ทดสอบและเรียบเรียงโดย Earthpark02

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com 

5 เรื่องน่าสนใจ