Deft Opinion : กฎหมายจับความเร็ว อยากจะให้ทำ ต้องเลิกล้าสมัยและชัดเจน

  • โดย : Autodeft
  • 28 ก.ย. 57 00:00
  • 21,743 อ่าน

ถอดรหัสกฏหมายจับความเร็วในบ้านเรา เรื่องที่ยังไม่ชัดเจน แต่อยากบังคับใช้ โดยไม่คำนึงความเป็นจริงทางด้านการขับขี่ที่อาจจะสร้างอันตรายมากกว่า

 

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

....พูดคำเดียวว่างี่เงา และทันทีที่ผมโพส เรื่องการตรวจจับความเร็วของ สน. คลองข่อย ย่านนนทบุรี ที่มาตั้งด่านตรวจบนถนนกัลปพฤกษ์ มุ่งหน้าเส้นราพฤกษ์ ที่เกิดจะต้องการมากวดขันเรื่องการตรวจจับความเร็ว กลับสร้างความมึนงงให้ไม่น้อย ไม่เพียงแค่คนทั่วไป

แม้แต่กับคนที่รู้มากอย่างผมเอง เมื่อตำรวจสวัสดี ขอดูใบขับขี่แล้วแจ้งว่าขอจับความเร็ว เนื่องจากใช้ความเร็วเกินกำหนดที่ 119 ก.ม./ชม. ในเขตที่กำหนดให้ใช้ความเร็ว 80  ก.ม./ช.ม. โดยอ้างว่าเส้นดังกล่าวเป็นทางหลวงชนบท กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกินเท่านั้นตามจริง แต่ขอประทานโทษเถอะ ถนนที่จับนี้ เป็นสภาพถนนฝั่งละ  3  เลน ที่ไม่ว่าใครก็ต้องใช้ความเร็วเกินต่อให้ช้าแค่ไหน   80 ก.ม/ช.ม. ดูจะช้าไปจนอันตรายว่าจะหลับในกันไปก่อน ในระหว่างขับขี่

[IMAGE1]

เรื่องการขับความเร็วกับผู้ขับขี่อย่างเราท่านๆในยุคนี้ที่เทคโนโลยีทันสมัย ก็ท่าว่าจะยากที่จะเลี่ยง แต่แม้เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนตรวจสอบ แต่เราสามารถเรียนรู้กฎหมายให้เท่าทันผู้บังคับใช้ได้ แต่อย่างที่หลายคงทราบดีกว่า กฎหมายจราจรเราเก่ามาก เคยมีคนเปรียบว่าโบราณจนเหมือนคนแก่ที่มีพลังแต่ไม่สามารถทำให้ถึงที่สุดได้

กฎหมายข้อหนึ่งที่บ้านเราละเลยไม่แก้ไขมานานแรมปีนั้น ก็คือเรื่องการตรวจจับความเร็ว โดยตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2522 ที่เริ่มมีการออกกฎหมายเรื่อการจราจรทางบก เรื่องความเร็วในการขับขี่ก็ไม่ได้ชัดว่า จะต้องใช้ความเร็วเท่าไร โดยกล่าวเพียงว่า หากมีป้ายเตือนความเร็วนั้นก็ให้ใช้ตามที่ป้ายบอก จวบจนปี  พ.ศ. 2535 ที่เริ่มมีการประกาศตัวเลขความเร็วว่าทางหลวง ชนบทนั้นใช้ความเร็ว 90  ก.ม./ช.ม ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เว้นกระทั่งสองล้อมอเตอร์ไซค์

ในขณะที่รถพ่วงลากจูง นั่นถูกบังคับให้ใช้ความเร็วเพียง   60   ก.ม./ช.ม. และที่น่าขันคือความเร็วเดียวกันนี้ ถูกบังคับใช้กับรถยนต์สามล้อ

แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกันมีการประกาศให้ทางพิเศษบางสาย  ได้แก่ มอเตอร์เวย์ กทม.พัทยา และถนนกาญจนาภิเษกนั้นสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 120 ก.ม./ช.ม. จนเป็นที่มาที่เราหลายคนจำว่าบนทางด่วนและนอกเมืองให้ความเร็วดังกล่าวได้ และตำรวจหลายพื้นที่ก็ยอมรับโดยปริยาย แม้จะผิดตามกฎหมาย

และในท้ายที่สุดปีพ.ศ. 2551  มีการบัญญัติเพิ่มเติมให้ในเขตเมือง เทศบาล นั้น ให้ขับไม่เกิน  80  ก.ม./ช.ม.  และนอกเขตเมืองหรือเทศบาลนั้นให้ใช้ความเร็ว 90  ก.ม./ช.ม.

[IMAGE2]

หากมองผิวเผินตัวเลขความเร็วที่ออกมา ดูจะมีความชัดเจน แต่สิ่งที่ไม่ชัดเจนข้อสำคัญ เลยคือ ตรงไหน คือช่วงนอกเทศบาล ตรงไหนคือเทศบาล เช่นกรณีถนน กัลปพฤกษ์ และเราได้รับแจ้งว่า รวมถึงถนนนครอินทร ในท้องที่ของ ตำรวจนนทบุรี มีการแจ้งว่า ถนนทั้งสองเป็นเขตเทศบาล หรือจะว่าไปคือในเขตเมือง ทั้งที่ถนนทั้งคู่นั้นเป็นถนนเส้นออกนอกเมือง

โดยมีผุ้ที่เคยโดนใบสั่งบนถนนนครอินทร แจงไปทางเฟซบุ๊คบก. 02  ก็ได้รับชี้แจงว่ามันเป็นเขตเมืองจริงๆ เพรา ตัดผ่านเทศบาลต่างๆ ทว่าแต่ก่อน ตรงถนนดังกล่าวนั้นไม่ได้มีเมืองแน่ แต่เป็นป่าที่ถูกพัฒนาที่ดินขึ้นมา  นั่นเป็นลักษณะเดียวกับทางเส้นกลัปพฤกษ์ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่มีอะไร เว้นแต่ นาข้าว หรือไร่ทุเรียน ที่ท้ายสุดถูกแพ้วถางเป็นถนน คำถามคือ แล้วมันจะเป็นถนนเทศบาลได้อย่างไร

ใครเป็นคนกำหนด ว่าเป็นถนนแบบนี้ และที่สำคัญ ผู้ขับขี่จะรู้ได้อย่างไรว่านี่ คือถนนเทศบาล ทั้งที่สภาพถนนเป็นเหมือนต่างเมืองออกนอกเมือง ที่น่าจะใช้ความเร็วได้มากกว่านั้น แต่กลับถูกจำกัดด้วยความไม่ชัดเจน  ในการบัญญัติตัวถนน

ที่สำคัญกว่านั้น ตัวเลขความเร็วที่เราหลายคนถูกตีกรอบโดยกฎหมาย คำถามสั้นๆและง่ายๆว่า มันเป็นที่ยอมรับหรือไม่ และมันใช้ความเร็วที่ปลอดภัยได้อย่างไร รัฐเอาอะไรมาพิสูจน์ และเชื่อว่าหลายคนคงอยากถามรัฐ ว่า ถ้าขับเร็วกว่านี้ไม่ได้ จะซื้อรถที่มันขับด้วยความเร็วมากกว่านั้นมากันทำไม และการขับเร็วนั้นมันช่วยให้ถึงจุดหมายเร็วขึ้น และพวกมนุษย์บางคนที่เอาเรื่องกฎขับเร็ว 90  มาขับช้าชิดขวา จะได้เลิกครหา มนุษย์คนอื่นว่า พวกเขาถูกต้องชอบธรรมในการขับช้าแล้วชิดขวา

[IMAGE3]

หากมองประเด็นปัญหาเรื่องของการจำกัดความเร็วในเมืองไทยให้ดี จากที่เราเอ่ยมา ชัดเจนว่า มันมีปัญหา สองเรื่องสำคัญ คือ ลักษณะถนนที่เป็นไปตามบัญญัติกฎหมายที่ไม่ชัดเจน และอีกประการ คือกฎหมายไม่ทันสมัยพอเท่ากับเทคโนโลยียานยนต์ที่ล้ำหน้าไปไกลมาก จนแม้แต่อีโค่คาร์ทุกรุ่น เครื่อง 1.2  ลิตร ยังสามารถวิ่ง 140  ก.ม./ช.ม. ได้อย่างหน้าตาเฉย โดยที่ไม่เป็นอันตราย ในการขับขี่

ย้อนไปเมื่อสักระยะหนึ่งนานมาแล้ว หน่วยงานหนึ่งที่ดูจะมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับภาครัฐบาล คือ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ออกตัวแรงเรื่องกฎหมายจับความเร็ว โดยอ้างอิงในการวิจัยในเรื่องดังกล่าว และพวกเขามีความคิดคล้ายกับผู้เขียนว่า กฎหมายเรื่องการจับความเร็วของเมืองไทยมีความคลุมเครือมากไป ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการพยายามจะบอกถึงกลุ่มประเภทรถที่ใช้บังคับ ประเภทถนนที่ใช้บังคับ และ รวมถึงตัวกฎหมายบางส่วนยังขัดแย้งกันเอง ทำให้ท้ายที่สุด พวกเขานำเสนอ   10  ข้อ ที่ให้รัฐกลับไปพิจารณาเรื่องความเร็ว หากแต่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลย

โดยสิ่งที่ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งชาตินำเสนอนั้น ประกอบไปด้วย

1.กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับความเร็วในปัจจุบัน มีการคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยทางถนนหรือไม่

2.ในการกำหนดอัตราความเร็วบนทางหลวงแผ่นดิน มีการคำนึงถึงความเร็วในการออกแบบของถนน (Design Speed) หรือไม่

3.กฎหมายและข้อบังคับมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่

4.กฎหมายและข้อบังคับมีผลบังคับใช้กับใคร รถประเภทใดบ้าง แล้วผู้ใช้รถใช้ถนนมีความเข้าใจถึงกฎหมายมากน้อยแค่ไหน

5.กฎหมายและข้อบังคับมีการบังคับใช้กับถนนทุกประเภทหรือไม่

6.กฎหมายและข้อบังคับมีการกำหนดแยกระหว่างพื้นที่ชุมชน และนอกชุมชนหรือไม่

7.การกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายและข้อบังคับ

8.กฎหมายและข้อบังคับมีการบังคับใช้ในทุกพื้นที่หรือไม่ กับยานพาหนะทุกประเภทหรือไม่

9.หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดเป็นผู้จัดเตรียมร่างหรือปรับเปลี่ยนกฎหมายและข้อบังคับนี้

10.การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือกฎหมายใหม่จะมีผลต่อรัฐบาลอย่างไรบ้าง

และพร้อมกันยังเสนอวิธีบังคับใช้กฎหมายความเร็ว โดยนำเสนอให้มีการใช้กล้องตรวจจับแบบที่เป็นในปัจจุบัน  หากแต่รัฐเอาแต่ข้อที่ตรวจจับการกระทำความผิดกับประชาขนมาใช้ ที่สำคัญ รัฐไม่เคยเผยความแม่นยำของกล้องที่ตรวจจับความเร็วให้ประชาชนรับรู้ว่ามีคุณภาพมากแค่ไหนมาก่อน มีเพียงว่า คุณเร็ว ผมขอใบขับขี่จ่ายเงินเลย หรือส่งจดหมายจบ ประชาชนเองไม่เคยรู้ว่า รถตัวเองไมล์เพี้ยน หรือกล้องตำรวจเพี้ยนกันแน่ ทั้งที่พวกเราก็มีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของคนที่เอาภาษีเราไปใช้เช่นกัน

ในมุมมองหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในทันทีกับบ้านเรา คือการลอกเอามาตรฐานสากลมาใช้ อย่างเชนในอเมริกา ซึ่งมีการระบุกฎหมายที่ชัดเจนในการขับขี่ค่อนข้าง มากโดยเฉพาะในเรื่องการจำกัดความเร็ว ในการเดินทางมีการตั้งป้ายเอาไว้อย่างชัดเจน ในที่ ซึ่งผู้ขับขี่สามารถสังเกตได้ชัดเจน

[IMAGE4]

ผิดกับบ้านเราที่ตั้งป้ายไม่ชัดเจน อย่างเช่นกรณีของถนนกัลปพฤกษ์นั้น เราได้มีการตรวจสอบว่ามีป้ายเตือนความเร็วหรือไม่ เราพบว่ามันมีนะ แต่อยู่ในจุดที่ไม่ใช่จุดสังเกตเลยของผู้ขับขี่ ทำให้ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะไม่ทำตาม เว้นแต่เคยรู้เคยเรียนมาผ่านการโดนจับจากเจ้าหน้าที่ว่าใช้ความเร็วสูงสุดได้เท่าไร บนถนนเส้นนั้น  ทำให้การขับรถด้วยความเร็วในเมืองไทยไม่ต่างจากเกมวัดดวงว่า วันไหน โชคดีไม่มีด่านก็สบาย วันไหนมีก็เตรียมเงินไว้จ่ายจ๋าก็เท่านั้น

แง่หนึ่งที่สำคัญ อย่างที่กล่าวไปแล้ว คือสภาพถนนที่เป็นชี้วัดว่ามันปลอดภัยหรือไม่ โดยในต่างประเทศอย่างอเมริกา มีการกำหนดชัดเจนว่า สภาพถนนมีส่วนต่อการขับขี่ โดยบ้านเมืองเขาแบ่งเป็นโซนความเร็วต่างๆที่สำคัญ  4 โซนได้แก่ ในเขตที่พักอาศัย ,ถนนชนบทที่ไม่ได้มีการแบ่งเกาะกลาง (2 เลนสวน)  ,ถนนชนบทที่มีการแบ่งเกาะกลาง และท้ายสุดบนทางด่วน ทางพิเศษต่าง ทั้งหมดล้วนต่างกันออกไป

โดยเฉพาะยิ่งเรามองเรื่องความเร็วในการขับขี่ที่เหมาะสมต่อความปลอดภัยในการใช้งานจริง กลับพบว่า ในอเมริกา มีการสร้างความเหมาะสมต่อการใช้งานมากกว่าเมืองไทยค่อนข้างมาก โดยหากแบ่งเป็นโซนต่างๆ เมื่อเทียบกับเมือง โดยเรานำเอาตัวเลขจำกัดความเร็วจากวอชิงตันดีซีมาอ้างอิง จะพบว่า มันมีความแตกต่างในแง่การใช้งานอย่างมาก

 

ในเขตเมือง

ทางหลวงชนบทเลนสวน

ทางหลวงชนบทเลนแยก (มีเกาะกลาง)

ทางด่วนในเมือง

ทางด่วนระหว่างเมือง

ประเทศไทย

ไม่เกิน 80  ก.ม./ช.ม.

ไม่เกิน 90 ก.ม./ช.ม.

ไม่เกิน 90 ก.ม./ช.ม.

ไม่เกิน 80  ก.ม./ช.ม.

ไม่เกิน  120  ก.ม./ช.ม.

อเมริกา (วอชิงตัน ดีซี)

20-50 ไมล์ต่อชั่วโมง (32-80  ก.ม./ช.ม)

55-65  ไมล์/ชั่วโมง ( 88-107  ก.ม./ช.ม.)

60-65  ไมล์/ชั่วโมง (96-107 ก.ม./ช.ม.)

60 ไมล์/ชั่วโมง

( 96   ก.ม./ช.ม)

70   ไมล์/ชั่วโมง (112 ก.ม./ช.ม.).

 

                                                                                                                                                              

หากมองตามข้อมูลดังกล่าวในการเปรียบเทียบแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่า กฎหมายไทยมีความคลุมเครือเรื่องการจำกัดความเร็วในแง่ของการตีความ ถนนว่าจะใช้ความเร็วเท่าใด

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นบนถนน นครอินทร และ ถนนกัลปพฤกษ์ ที่มีลักษณะเป็นถนนชนบทมีเกาะกลางตีช่องทางจราจรไว้ฝั่งละสามเลน เพื่อให้รถสามารถขับขี่ได้อย่างสะดวก กลับถูกบีบจำกัดให้ใช้ความเร็วได้แค่  80  ก.ม./ช.ม. ทั้งที่ สามารถไปได้เร็วกว่าในแง่ของศักยภาพตัวถนนเองที่มีความพร้อม แต่เพราะว่า ถนนดังกล่าว ตัดผ่านเทศบาล หรือ อย่างที่ตำรวจอ้างกับเราตอนจับว่า “น้องครับ งบประมาณสร้างถนนนี้มาจากเทศบาล”  คำถามคือมันใช่หรอ แล้วถ้าจะเอาตามความจริง เราขับไปถนนที่มีลักษณะเหมือนกันทุกสาย เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่า ถนนสายนี้สร้างโดยเทศบาล ถนนสายนี้สร้างโดยกรมทาง เว้นแต่จะมีป้ายปักเตือน และบอกการจำกัดความเร็วอย่างชัดเจน

รวมถึงอีกเรื่องที่อยากจะฝากไวเลยให้ไปพิจารณา คือการจำกัด ความเร็วขั้นต่ำที่ขับขี่ ซึ่งในไทยยังไม่เคยมีกฎนี้บังคับใช้มาก่อน เหมือนกับว่าใครใคร่จะช้าก็เชิญ ทั้งที่จริงหลายครั้งรถยนต์ที่ขับช้าเกินไป บนทางที่ใช้ความเร็วได้นั้น กลับเป็นอันตรายมากกว่าที่คิดเสียอีก  ซึ่งในทางไกลยาวๆในต่างประเทศมีการจำกัดความเร็วขั้นตำที่ต้องใช้ เช่น ขั้นต่ำ  40  ไมล์ ต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน   70  ไมล์ต่อชั่วโมงเป็นต้น

มาถึงตรงนี้คงไม่ต้องกล่าวอะไรเพิ่มเติมว่า กฎหมายการจราจรไทยอ่อนซ้อม และคลุมเครือไม่ชัดเจนจริงๆ ทั้งยังอาจจะเป็นอันตรายต่อการขับขี่ที่ต้องมานั่งใช้ความเร็วต่ำบนเส้นทางที่สามารถรองรับการทำความเร็วได้มากขึ้น อาจจะถึงเวลาที่ต้องมีการปรับตัวบทกฎหมายความเร็วให้เหมาะสมกับสภาพการณ์จริง และชัดเจน เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน ไม่ใช่แค่ให้ตำรวจได้หากินไปวันๆ โดยอ้างบทกฎหมายที่ไม่ทันสมัยและยังไม่ชัดเจน

ในอเมริกาเอง เมื่อวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนตามพฤติกรรมของคนในสังคม กฎหมายจะมีการเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์มากขึ้น อย่างเมื่อปีกลายมีประเด็นสำคัญเรื่องความเร็ว เมื่อบางรัฐตัดสินใจในการปรับความเร็วสูงสุดที่ขับขี่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะในเท็กซัส นั้นผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 85  ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 136  ก.ม./ช.ม. เลยทีเดียว บนทางลวงพิเศษของรัฐ

 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง

ติดตามผู้สื่อข่าว นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook ,Twiter (@nattayodc)    

 

อ้างข้อมูลประกอบบทความจาก ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งชาติ

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ