Deft Opinion : ได้เวลายกเครื่องรึยัง ระบบขนส่งสาธารณะตามต่างจังหวัดของประเทศไทย ..
- โดย : Autodeft
- 6 ม.ค. 60
- 141,113 อ่าน
ปีใหม่ทีไร ก็เข้าสู่ช่วง 7 วันอันตรายกันทันที มันคือช่วงหน้าฤดูกาลคนกรุงคืนถิ่นกลับบ้านไหว้พ่อ-แม่ เป็นศิริมงคล แก่การประกอบการใดๆ ก็ตาม แต่เพียงเริ่มปีระกา ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมามากมายถึงระบบขนส่งไทยที่นับวันจะเน่าฟอนเฟะ แทนที่จะเป็นสิ่งที่ควรจะช่วยบรรเทาการใช้รถใช้ถนน กลับกลายเป็นสิ่งที่อาจจะทำให้คนใช้บริการเอาชีวิตไปเสียงตายโดยไม่รู้ตัว
เชื่อว่าหลายคนคงอ่านข่าวรถตู้หลับในชนรถกระบะย่างสดไปแล้ว และนอกจากข่าวนี้ก็ยังมีอีกหลายข่าว ทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับระบบขนส่งรถตู้สาธารณะทั้งสิ้น รวมถึงเรื่องราวต่างๆในโซเชี่ยล ก็ล้วนแต่โยงยันพันผูกให้ “รถตู้” ทั้งการอัดแน่นเป็นปลากระป๋องยามเดินทาง ไปถึงการให้ตีตั๋วยืนไปที่หมาย มายังคำถามที่ว่า ความปลอดภัยระบบขนส่งสาธารณะไทยได้ให้ความสำคัญกับ คุณค่าชีวิตคนไทยมากแค่ไหนกัน
จุดเริ่มต้นของรถตู้ในปัจจุบันเกิดขึ้นเมื่อรถโดยสารประจำทางเริ่มไม่สะดวกต่อการเดินทางของคนกรุง และรถตู้เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่สามารถแทรกตัวไปท่ามกลางการจราจรเมืองกรุงได้ง่าย ด้วยประเด็นดังกล่าวทำให้รถแบบนี้เริ่มมาเป็นที่นิยมจากรถยนต์ขนส่งส่วนบุคคลเริ่มถูกนำมาใช้เชิงพาณิชย์ จากเมืองกรุงก็เริ่มถูกนำมาใช้เดินรถระหว่างจังหวัด จนเป็นที่นิยม
และในที่สุด รัฐก็เข้ามาจัดการระบบระเบียบทำจากเรื่องรถตู้เถื่อน เมื่อหลายสิบปีที่แล้วให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่นั่นก็ไม่ได้ตอบคำถามสำคัญ เรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง
รถตู้วันนี้เหมือนเสี่ยงดวง .. ตาดีได้ตาร้ายอาจถึงฆาต เป็นการจำยอมของคนต่างจังหวัดที่มาใช้ชีวิตโลดโผนในเมืองกรุงที่ตกอยู่ในสภาวะจำยอม บางคนอาจจะเป็นเพียงเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษายังไม่มีเงินซื้อรถเป็นของตัวเอง ก็ได้แต่หวังพึ่งระบบขนส่งสาธารณะ วางใจให้พาไปถึงที่หมายไม่ใช่ที่ตาย
หลายเหตุการณ์ในประเทศไทยต่างตอกย้ำว่ารถตู้ อาจจะมีดีแง่ความสะดวก แต่ท้ายสุดก็ยังอาจจะต้องการ การดูแลอย่างมากจากหน่วยงานของภาครัฐ อาทิ กรณีวัยรุ่นขับชนรถตู้บนโทลล์เวย์ และอื่นๆอีกมากที่ทั้งเป็นข่าวสะเทือนใจ และไม่เป็นข่าว มาจนถึงรถตู้ชนจนไฟไหม้เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ชี้ชัดว่ารัฐควรหันมาให้ความสำคัญ อย่างยิ่งกับระบบขนส่งประเภทนี้มากขึ้น
[IMAGE1]
ทางออกของปัญหานี้ ยังไม่เคยมีการพูดถึงอย่างชัดเจน ว่าจะทำอย่างไรให้รถตู้โดยสารปลอดภัยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะในรถโดยสารขนาดใหญ่ทางกรมขนส่งทางบก หน่วยงานต้นทางจัดมาตรการขนานใหญ่ ทั้งกำชับชั่วโมงขับขี่ การกำกับดูแลแวะจอดจุดจอดต่างๆ จนถึงการใช้ใบขับขี่แสกนก่อนขับขี่ ไปจนถึงตรวจสอบตำแหน่งของรถในระหว่างเดินทาง ทำได้ทั้งผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปผ่านแอพพลิเคชั่น
แต่ในรถตู้ แม้จะมีความพยายามในการป้องกันและให้ความปลอดภัยมากขึ้น ทว่ากลับยังไม่เห็นมาตรการจริงจังเท่ารถโดยสารขนาดใหญ่อย่างชัดเจน
ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการรถตู้สาธารณะต้องวิ่งรถกันเอาเป็นเอาตาย จนคนโดยสารต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับความไม่แน่นอน คงไม่พ้นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการวิ่งรถ และช่วงเทศกาลแบบนี้ก็เป็นช่วงเวลาดีที่จะกอบโกย ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากผู้โดยสารจำนวนมาก ที่ต้องการจะเดินทาง
ตามรายงานจาก PPTV การให้สัมภาษณ์ของเจ้าของวินรถตู้พลอยหยกที่ประสบอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตเมื่อช่วงปีใหม่ ชี้ว่า คนขับอาจจะต้องขับรถเส้นทางกรุงเทพ-จันทบุรีมากถึงคันละ 3 เที่ยว ซึ่งเป็นระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตร เลยทีเดียว และการขับรถติดต่อกันอาจจะสร้างความเหนื่อยล้า ส่งสัญญาณของคำว่า “อันตราย” ในระบบขนส่งสาธารณะ
[IMAGE3]
ในญี่ปุ่นมีกฎระเบียบข้อบังคับ ทางด้านการขับรถของคนขับรถสาธารณะ โดยระเบียบดังกล่าวออกมาจากกระทรวงที่เดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว หลังในปี 2012 เกิดเหตุสลด เมื่อรถบัสโดยสารเกิดพุ่งชนกำแพงกั้นเสียงข้างทางด่วนจนเป็นเหตุให้คนจำนวน 7 คน เสียชีวิตทันที
เหตุการณ์ครั้งนั้น คนขับรถบัส ให้การยอมรับว่า เขาหลับใน จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ตรงกับคำให้การของคนโดยสารคนอื่นที่บอกว่า คนขับมักจะเบรกแรงบ่อยครั้งจนผิดสังเกต
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีกฎออกมาให้การขับรถของคนขับรถสาธารณะทำได้สูงสุดไม่เกินวันละ 500 กิโลเมตร โดยคนขับจะต้องได้รับการพักผ่อน 11 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง รวมถึงระหว่างเดินทางจะได้พักผ่อนรวมมากกว่า 1 ชั่วโมง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 นาที และในเวลากลางคืน อนุญาตให้ขับรถสูงสุดได้ระยะทางไม่เกิน 400 กิโลเมตรเท่านั้น (ที่มา เพจญี่ปุ่นเบาเบา)
นอกจากเรื่องของคนขับแล้ว สภาพรถที่ใช้รับส่งผู้โดยสารก็เป็นอีกเรื่องที่ทางกรมการขนส่งต้องเข้ามาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นกรณีที่มีเพจคนบางปะกง ออกมาเผยแพร่รถตู้สาธารณะคันหนึ่งที่วิ่งรถจนยางสึกถึงผ้าใบ และยางพร้อมจะระเบิดตลอดเวลา และแม้เจ้าหน้าที่จะทำการตักเตือนไปแล้ว แต่คนขับก็ใช่จะสนใจ บอกว่า ถ้านำรถไปเปลี่ยนยาง ก็ไม่มีรถวิ่ง ชี้ให้เห็นว่า รถตู้สาธารณะไม่ได้ใส่ใจถึงผู้โดยสาร ทั้งทีพวกเขาให้ความไว้เนื้อเชื่อใจยอมเดินทางและแม้กระทั่งจ่ายค่ายโดยสารที่อาจจะปรับราคาขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ได้เดินทาง
[IMAGE2]
ถึงแม้ว่ารถ Mini Bus อาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนเดินทางด้วยรถตู้ที่ต้องการความเร็ว แต่ในทางกฎหมายแล้ว รถโดยสารสาธารณะจะถูกจำกัดความเร็วที่ 100 กิโลเมตรในทุกเส้นทาง ทำให้แม้ว่าจะใช้รถตู้ที่สามารถเดินทางได้เร็วมากกว่า และอาจจะมีความคล่องตัวมากกว่า ก็ยังถูกบังคับด้วยทางกฎหมายอยู่ดี รวมถึงปัจจุบันจุดจอดรถตู้ก็กระจายตัวตามสถานีขนส่งอยู่แล้ว ทำให้รถตู้ก็มีการเดินทางในตำแหน่งเดียวกับรถบัสของกรมการขนส่ง
อย่างไรก็ดีในแง่ความคุ้มทุนในการเดินทางแต่ละเที่ยวของคนขับและผู้ประกอบการขนส่งโดยสาร อาจจะถูกเบียดบังจากคำว่า “ปลอดภัย” ด้วยรถ Mini Bus จะมีจำนวนที่นั่งมากกว่า โดยปกติอย่างเช่น Toyota Coaster จะมีจำนวนที่นั่ง 26 ที่นั่ง และรถใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก อย่างใน Toyota Coaster มีรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ในญี่ปุ่น รวมถึงรุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด และในเวอร์ชั่นใกล้บ้านเราอย่างออสเตรเลีย รถรุ่นนี้มาพร้อมเครื่องยนต์ เทอร์โบดีเซลขนาด 4.0 ลิตร
หากในแง่ราคาต้นทุนในการซื้อหามาประกอบการ ก็ต้องยอมรับว่า รถ Mini Bus อาจจะมีราคาสูงเทียบกับรถตู้ที่นำมาแปลงเป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันรถตู้ Toyota Commuter ที่ได้รับความนิยมมาใช้ทำรถโดยสารราคา 1,208,000 บาท แต่รถมินิบัสอาจจะมีราคาสูงถึง 2 ล้านกว่า เฉียด 3 ล้าน (ราคาในญี่ปุ่นขอ Toyota Coaster รุ่นเริ่มต้นอยู่ที่ 1.8 ล้านบาท และสูงสุดที่ 2.7 ล้านบาท)
[IMAGE4]
ถึงจะมีราคาสูงเมื่อเทียบกับรถตู้ หากรถมินิบัสก็มีอัตราการจุโดยสารมากกว่าหลายเท่าตัว อย่างใน Toyota Coater รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวจะมีที่นั่งเริ่มต้นที่ 9 ที่นั่ง และสูงสุดที่ 49 ที่นั่ง ที่สำคัญการเป็นรถนั่งโดยสารเต็มรูปแบบขนาดเล็กไม่ใช่รถตู้ จะทำให้มีพื้นที่เก็บของเหนือศรีษะ เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น แม้ว่าคนเดินทางอาจจะต้องเจอราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากมายนัก เมือนับว่ามีตัวหารในการเดินทางเพิ่มขึ้น
แนวคิดเดียวกับที่เราคิดนี้ก็เคยถูกเปิดเผยออกมาตามสื่อว่า บริษัทขนส่งมีแผนให้ผู้ประกอบการรถตู้เปลี่ยนจากการเดินรถด้วยรถตู้ มาสู่การเดินรถด้วยรถ Mini Bus แทน นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัดหรือบขส. เคยเสนอแนวคิดดังกล่าว หลังการเดินรถตามต่างจังหวัดทำให้ผู้ประกอบการรถโดยสารขนาดใหญ่มีปัญหา เกิดการแย่งลูกค้า จนต้องมีการปรับสัมปทานจาก รถโดยสารขนาดใหญ่ 1 คัน มาเป็นรถตู้ 3 คัน
ซึ่งทาง คสช. เองมีแผนในการยกเลิกรถตู้โดยสารสาธารณะที่มีระยะเดินทางมากกว่า 100 กิโลเมตร
รถตู้โดยสารสาธารณะอาจจะมีความสะดวกสบายในการโดยสาร แต่วันนี้และหลายครั้งที่ผ่านมาก็ส่อให้เห็นว่า มันอาจจะยังไม่สามารถตอบเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางได้ และจากเรื่องราวชวนสยองล่าสุด เชื่อว่าก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่รถรุ่นนี้จะต้องถึงเวลายกเครื่องระบบโดยสารสาธารณะให้มีความมั่นใจและปลอดภัยกว่าที่เป็นอยู่
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง Content Specialist - นักขับทดสอบรถยนต์ Autodeft.com ติดตามได้ที่ Facebook
อ้างอิง
บขส.เตรียมส่ง ′มินิบัส′ วิ่งแทนรถตู้โดยสาร - ประชาชาติธุรกิจ
แฉภาพรถตู้ล้อแทบไม่เหลือดอกยางแต่ยังวิ่งรับผู้โดยสาร - โพสท์ทูเดย์
แกะรอยเหตุรถตู้ชนกระบะ 25 ศพ ยางแตก หรือหลับใน (คลิป) -PPTV
ติดตามเรื่องราว ข่าวสาร และความรู้ รถยนต์ได้กับพวกเรา ได้ที่ www.Autodeft.com
หรือผ่านทาง Fanpage Facebook กดไลค์และ Follow ได้ที่ www.facebook.com/autodeft
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com