Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT กึ่งกลางของความสบายและแข็งแกร่ง
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 23 ก.ค. 63 00:00
- 8,891 อ่าน
เคยบ้างไหม เวลาที่คุณอยากจะเลือกซื้อรถกระบะสักคัน แต่เลือกไม่ได้ว่าต้องการรถในแบบไหนกันแน่ ระหว่างความแข็งแกร่งแบบบรรทุกได้ไม่สะเทือน แต่ก็ยังอยากได้ความสะดวกสบายเอาไว้ด้วย ภายใต้งบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป จะเลือกไปแนวทางแข็งแกร่ง ความสะดวกสบายในการขับก็จะหายไป แต่ถ้าอยากได้ความสบาย ราคาก็อาจจะเกินงบ ด้วยปัญหาเหล่านี้ จึงได้ก่อกำเนิด Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT ขึ้นมา
รถกระบะสายพันธุ์เกิดมาแกร่งอย่าง Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT นั้นมาสู่ตลาดได้นานพอสมควรแล้ว แต่ทำไมหนา ทีมงาน AUTODEFT ถึงยังไม่เคยได้เอารถกระบะรุ่นนี้มารีวิวเสียที จังหวะช่วง Work From Home กับสภาวะ Covid-19 เลยพอจะมีโอกาสเหมาะได้จับเอารถรุ่นนี้มาทำการรีวิวเสียที ต้องขอขอบคุณทาง ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ก่อนเริ่มออกทำการรีวิว เรามาเริ่มทำความรู้จักเบื้องต้นของรถกระบะเกิดมาแกร่งคันนี้ก่อนครับ โดย Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT เป็นรถกระบะ 4 ประตูแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้ขุมพลังเครื่องยนต์ ดีเซล 2.0 ลิตร 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์วเทอร์โบชาร์จเจอร์ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุดที่ 180 แรงม้าที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตรที่1,750 - 2,500 รอบ/นาที คำถามคือ เครื่องยนต์เท่ากันกับตัว Wildtrak กับ Raptor แล้วทำไมแรงถึงไม่ได้ถึง 213 แรงม้าล่ะ คำตอบคือเครื่องยนต์ตัวนี้เป็นเทอร์โบเดี่ยวไม่ใช่เทอร์โบคู่แบบ 2 ตัวบนนั้นครับ พลังเลยไปไม่ถึงขนาดนั้น แต่เกียร์นั้นใช้ชุดเดียวกันคืออัตโนมัติ 10 สปีด
มิติตัวรถของ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT นั้น มีขนาด 5,376 x 1,867 x 1,848 มม. (ยาว x กว้าง x สูง) ฐานล้อกว้าง 3,220 มม. ใต้ท้องสูง 230 มม. ซึ่งทางฟอร์ดเองเคลมว่า สามารถลุยน้ำได้สูงถึง 80 ซม. ก็ถือว่าสูงเอาเรื่อง ระดับเกือบครึ่งตัวผมเลย ช่วงล่างด้านหน้าเลือกใช้งานแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังยังคงแข็งแกร่งด้วยแหนบซ้อน เบรกด้านหน้าแบบ ดิสก์เบรก พรอมครีบระบายความร้อน และด้านหลังเป็นดรัมเบรก ล้อให้มาเป็นแม็กซ์ขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง 265 / 60 R18 แบบ Highway Terrain ของ Bridgestone เฟืองท้ายแบบ แบบลิมิเต็ดสลิป รองรับการใช้งานลุยแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่หมุนเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนด้วยการหมุนปุ่มเดียว ในรูปแบบ Shift on the fly เปลี่ยนจาก 2H เป็น 4 โดยไม่ต้องจอด พวงมาลัยผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า ปรับได้ 2 ทิศทาง
ถึงแม้ว่าจะเป็นรถกระบะ แต่ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT ก็ยังเลือกใช้ไฟหน้าแบบ LED Projector มีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ ตัดขอบล่างด้วยไฟ Daytime Running Light มีไฟตัดหมอกเพิ่มมาอีกที่กันชน หน้าตาเหมือน Ford Ranger ทั่วไป ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไฟท้ายยังคงใช้งานเป็นแบบหลอดไส้ปกติ ส่วนฝาท้ายกระบะแบบ ระบบผ่อนแรงฝากระบะท้าย (Easy Lift Tailgate) ก็มีมาในรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน (ดีงามพระราม 1)
ขยับเข้ามาที่ภายในของ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT เบาะนั่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้เป็นหนังในการหุ้มเบาะทั้งหมด เบาะหน้าด้านคนขับปรับมือได้ 4 ทิศทาง ส่วนของคนนั่งข้างก็ปรับมือ 2 ทิศทาง พวงมาลัยหุ้มหนังทรงกลม มีปุ่ม Multi-Function ที่ด้านซ้ายเอาไว้คุมหน้าจอกลาง กับการรับ-วางโทรศัพท์ ส่วนด้านขวาเอาไว้คุมหน้าปัดข้อมูล กับระบบ Cruise Control หน้าปัดข้อมูลรถมีแบ่งเป็น 3 ช่อง โดยตรงกลางเป็นเข็มความเร็ว ด้านซ้ายเป็นหน้าจอดิจิตอลขนาด 4.2 นิ้ว บอกข้อมูลของระบบ Entertainment ด้านขวาเป็นดิจิตอลขนาด 4.2 นิ้วเช่นกัน บอกข้อมูลตัวรถได้หลากหลายอย่าง จะเลือกดูความร้อน, รอบเครื่อง, ระดับน้ำมัน บลา ๆ ๆ ก็ว่ากันไป กุญแจเป็นแบบรีโมตอัจฉริยะ พร้อมปุ่มสตาร์ตรถอัตโนมัติ ที่ปัดน้ำฝนก็เป็นแบบอัตโนมัติเช่นกัน
หน้าจอกลางบน Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT เป็นระบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว รองรับการใช้งาน Apple CarPlay และ Android Auto พร้อมลำโพง 6 ตำแหน่ง ใช้งานระบบ SYNC3 สั่งการด้วยเสียงภาษาไทยได้ รองรับการฟังเพลงจาก CD และช่อง USB ที่มีช่องให้เสียบอยู่ใต้คอนโซลจำนวน 2 ช่องถ้วน แต่วางกันคนละจุด เพราะมันอยู่ในช่องวางของ 1 ช่อง และอยู่บนตัวคอนโซลอีก 1 ช่อง (อีกฝั่งเป็นช่อง 12V.) ตรงกลางข้างคนขับจะเป็นเกียร์หัวทรงเหลี่ยม มีปุ่มบวก-ลบ อยู่ด้านข้าง (เดี๋ยวมาว่ากันเรื่องนี้อีกที) มีปุ่มบิดเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนจาก 2H เป็น 4H และ 4L ได้ด้วยการบิด มีปุ่มปิด Traction Control กับปุ่มเปิด Hill Decent Control แอร์เป็นระบบ Auto แยกซ้าย-ขวาได้ เบาะแถวหลังหุ้มหนังด้วยเช่นกัน
ระบบความปลอดภัยบน Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT นั้น ให้มาเฉพาะระบพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้นดังนี้
- ถุงลมนิรภัย 2 ตำแหน่ง
- ระบบปองกันล้อล็อก ABS
- ระบบกระจายแรงเบรก EBD
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวและระบบปองกันล้อหมุนฟรี ESP
- ระบบชวยการออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน HLA
- ระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ ROM
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา HDC
- ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer
- สัญญาณกันขโมยและระบบกุญแจ My Key
- สัญญาณเตือนระยะจอด
ส่วนระบบความปลอดภัยประเภท Active Safety เช่น AEB, ระบบเตือนการชนด้านหน้าพวกนี้ ไม่มีหรอก ราคาเท่านี้ได้มาขนาดนี้ก็ถือว่าโอเคแล้วนะ
ข้อมูลพร้อมแล้ว เรามาเริ่มออกเดินทางกันเลยดีกว่า โดยรอบนี้ ผมได้เอา Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT วิ่งใช้งานในเมืองตามปกติทั่วไป (ทดสอบไว้นานแล้วตั้งแต่ช่วงปิดเมือง Covid-190 แต่เพิ่งได้ฤกษ์เขียนเสียที) และมีการวิ่งเลียนแบบทางไกลด้วยการวิ่งบนทางมอเตอร์เวย์ประมาณเกือบ 100 กิโลเมตรได้ แต่ในเมืองนี่สารภาพเลย ว่าวิ่งบ้าคลั่งมาก วันละ 300 กว่ากิโลเมตร รวม 4 วันกว่า ๆ ก็ประมาณพันขึ้นเท่านั้นเอง (อย่าบอกใครนะ)
การขึ้นนั่งบน Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT ซึ่งเป็นรุ่นยกสูง ขับเคลื่อน 4 ล้อ มันก็จะลำบากเล็กน้อย ต้องคอยดึงตัวเองเข้าไปในตัวรถ แต่ก็มีบันไดข้างไว้คอยให้เหยียบ และบันไดเองก็ออกแบบมาให้เหยียบได้ไม่ลื่นอีกด้วย มีมือจับให้ดึงตัวขึ้นไปได้ พอได้นั่งแล้วก็สัมผัสถึงความกว้างขวาง ด้วยความที่เป็นรถกระบะที่มีความกว้างมากอยู่แล้ว ทำให้เวลานั่งแล้วรู้สึกถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง โปร่งตา การออกแบบภายในนั้นก็ดูแบบราบเรียบ ไม่ได้หวือหวาอะไร เน้นเรื่องความสะดวกในการใช้งานเป็นสำคัญ เอาเป็นว่ากดปุ่ม Auto แล้วมีลมเย็นออกมา ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว กระจกบานกว้าง มองเห็นชัดเจน ปุ่มบิดเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อนก็วางในตำแหน่งที่ใช้งานได้ง่าย แต่เอาจริง ๆ นะ ปุ่มมันน่าจะทำให้ดูแพงกว่านี้หน่อยไม่ได้เหรอ ดูแล้วก๋องแก๋งไปหน่อย ทั้งที่มันคือระบบสำคัญของตัวรถเลยนะ ติดขอบด้วยโครเมียมหน่อยก็ยังดี
เครื่องยนต์ที่ใช้บน Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT เป็น 2.0 ลิตร 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์วเทอร์โบชาร์จเจอร์ลูกเดียว พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุดที่ 180 แรงม้าที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตรที่1,750 - 2,500 รอบ/นาที ถึงจะเป็นเครื่องยนต์คนละตัวกับ Wildtrak แต่ใช้เกียร์เดียวกันคือแบบ Torque Converter 10 สปีด ด้วยกำลังเครื่องขนาดนี้ มันก็พอแหล่ะ แต่ถ้าให้เทียบเรื่องการออกตัว การเร่งแซง ยังไงสุดท้ายแล้วเครื่อง Bi-Turbo ก็ปราดเปรียวกว่าประมาณหนึ่งเลย การทำงานของเกียร์เหมือนจะเนียนราบเรียบเหมือนกัน แต่มันมีบางจังหวะที่เหมือนเกียร์จะอั้น เครื่องลั่นอึ๊ด ๆ อยู่แวบหนึ่งก่อนจะสับเกียร์ไปต่อไป อันนี้ไม่แน่ใจว่าอาการมาจากเพราะมันรอกำลังเครื่องเพื่อมาเปลี่ยนเกียร์หรือเปล่า แต่ปกติเคยขับ Ranger Raptor ก็ไม่เจออาการนี้นะ เอาจริงก้ไม่ได้เป็นบ่อยหรอก อยู่ในจุดที่ยังรับได้ แต่ถ้าบ่อยกว่านี้ก็คงเริ่มออกอาการรำคาญได้เหมือนกัน ส่วนรูปแบบการทำงานของเกียร์นั้น ตัวนี้จะไม่ได้ไล่ 1-2-3-4-5 ไปจนจบที่ 10 นะ มันสามารถกระโดจาก 1 ไป 3 หรือ 4 ไป 6 ได้เลย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของความเร็ว ถือว่าทำงานได้ฉลาดเหมือนกับตัวใหญ่เครื่องเทอร์โบคู่ได้เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าเกียร์ของ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT จะมีปุ่มบวก-ลบ (+,-) มาให้บนหัวเกียร์ ซึ่งถ้าคนไม่เคยใช้ก็จะเข้าใจไปเองว่า เอาไว้คอยสับเกียร์ให้เปลี่ยนไดด้ด้วยตัวเราเอง มันก็ไม่ถูกทั้งหมดครับ เพราะมันใช้เปลี่ยนเกียร์ได้เมื่ออยู่ในโหมด S เท่านั้น แต่ถ้าอยู่ในโหมด D ปกติ ถ้าคุณกดลบ แล้วหมายให้เกียร์ทอนกลับมา 1 เกียร์ ไม่ใช่เลยครับ ระบบจะทำเพียงลดเกียร์ให้ไปได้สุดแค่เกียร์นั้น เช่น กดลง 1 ครั้ง เกียร์จะไปได้สุดแค่เกียร์ 9 กด 5 ครั้ง เกียร์จะไปได้สุดแค่เกียร์ 5 แต่มันไม่ได้เปลี่ยนเกียร์ที่ใช้อยู่ในตอนนั้น เกียร์ก้จะยังทำงานในระดับที่มันคำนวนเอาไว้ว่าเหมาะที่สุดต่อไป อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนะที่ไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะรุ่นนี้นะ เพราะผมไม่โอเคกับระบบนี้ตั้งแต่การทดลองขับ Ford Everest แล้ว และการใช้เป็นปุ่มที่กดด้วยหัวแม่โป้งแบบนี้ มันไม่เวิร์คเลย ขอแบบโยกที่คันเกียร์ หรือไม่ก็ใส่มาให้เป็น Paddle Shift เลยดีกว่า
Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT มันก็ยังเป็นรถกระบะอยู่ ดังนั้นช่วงล่างด้านหลังยังคงใช้เป็นแหนบในการรองรับน้ำหนัก ดังนั้นการขับในแบบตัวเปล่า มันก็จะมีความกระเด้งกระดอนมากกว่าตัวของ Wildtrak ประมาณหนึ่งเลย ก็ต้องเข้าใจครับว่าที่เป็นอย่างนี้ เพราะรุ่น Limited นั้นสุดท้ายแล้ว คนซื้อก็น่าจะเลือกเอาไปใช้งานทั้งใช้ส่วนตัวและการบรรทุกแบบเท่า ๆ กัน เพราะมันคือรถกระบะที่เอามาคั่นกลางระหว่าง Ford Ranger รุ่นทั่วไป (ประมาณ FX4, XLT) ที่เน้นเอาไปใช้งานในการบรรทุกเสียมากกว่า กับ Ford Ranger Wildtrak ที่เน้นการใช้งานส่วนตัวมากกว่าการบรรทุก ดังนั้นการเซ็ตติ้งช่วงล่างจึงอยู่กึ่งกลาง จะนุ่มก็ไม่นุ่ม เพราะต้องเผื่อเอาไว้ในการบรรทุกด้วย จะแข็งเป๊กก็ไม่ขนาดนั้น เพราะต้องเผื่อเอาไว้ให้ใช้งานแบบวิ่งปกติทั่วไปด้วย
การทรงตัวของ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT นั้นอยู่ในระดับดีเลย ถึงจะเป็นตัวยกสูง แต่การเข้าโค้งนี่มั่นใจได้เลยว่าเอาอยู่แน่นอน ตอนมุดตามช่องก็ได้อยู่นะ แต่ด้วยความที่มันตัวใหญ่ตามสไตล์รถกระบะที่มีขนาดใหญ่เป็นกลุ่มบนของตลาดเมืองไทย ความคล่องตัวมันจึงไม่ได้มากมายอะไร แต่พวงมาลัยไฟฟ้าคือความดีงาม ที่ให้ดีทั้งน้ำหนักและความแม่นยำ ไม่แตกต่างกับที่เคยขับ Raptor เลย
แน่นอนว่า รอบนี้ผมก็ได้ทำการทดสอบ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT ในการออกตัว 0-100 ด้วยเช่นกัน โดยทำการทดสอบโหมดเกียร์ D และเกียร์ S ไปอย่างละ 3 รอบ ผลออกมาดังนี้ครับ
โหมด D
ครั้งที่ 1 - 11.78 วินาที
ครั้งที่ 2 - 12.32 วินาที
ครั้งที่ 3 - 11.69 วินาที
เฉลี่ย - 11.93 วินาที
โหมด S
ครั้งที่ 1 - 11.58 วินาที
ครั้งที่ 2 - 11.59 วินาที
ครั้งที่ 3 - 12.53 วินาที
เฉลี่ย - 11.9 วินาที
สรุปแล้วการเปลี่ยนโหมด ไม่ได้ช่วยให้รถออกตัวแรงขึ้นแต่อย่างใด แต่การที่ตัวเลขออกมาเฉลี่ยระดับไม่เกิน 12 วินาทีของรถกระบะตัวใหญ่ขนาดนี้ ทำได้ขนาดนี้ถือว่าโคตรดีมากเลย
เรื่องอุปกรณ์การใช้งานภายในรถของ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT มันก็มีเท่าที่จำเป็น เด่นสุดก็คงเป็นหน้าจอกลางที่เชื่อมต่อใช้งาน Apple CarPlay ได้ แค่นี้ก็พอแล้ว เพราะผมใช้งาน iPhone แค่เสียบสาย ผมก็ใช้งานหน้าจอได้คุ้มค่าแล้ว ทั้งเรื่องการนำทางด้วย Google maps, เปิดฟังเพลงด้วย Spotify หรือสั่งการด้วยเสียงจาก Siri ก็ได้ เท่านี้ก็พอแล้ว และยังมีระบบ Cruise Control เอาไว้ให้ใช้งานช่วงขับทางไกลได้อีกด้วย
ผลการทดสอบรอบนี้ สรุปอัตราการบริโภคน้ำมันของ Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 10AT อย่างที่บอกไปแล้วว่ารอบนี้ผมใช้งานในเมืองได้บ้าระห่ำมาก ซึ่งช่วงนั้นมันมีการจราจรที่ไม่ได้ถึงขนาดติดขัดแบบวันนี้ แต่มันก็มีจอดติดไฟแดงแบบสั้นบ้างยาวบ้างสลับกันไป แต่วิ่งได้เรื่อย ๆ ก็มีพอสมควร วิ่งไปประมาณ 1,350 กิโลเมตร ได้ตัวเลขออกมาที่ 10.3 กิโลเมตร/ลิตร ก็อยู่ในอัตราที่ใช้ได้เลยครับ แต่ถ้าใช้ในช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน ผมว่าน่าจะตกไปอยู่ราว 9 ปลาย ๆ น่าจะได้ (ขับอะไรวะนั่น บ้าระห่ำมาก อย่าถามเลยนะว่าทำไมต้องขับเยอะขนาดนี้ บอกไม่ได้ 555) ถัดมากับอัตราการใช้นอกเมือง ด้วยการวิ่งบนถนนมอเตอร์เวย์ วนไป วนมาได้ประมาณ 88 กิโลเมตร ได้อัตราออกมาอยู่ที่ประมาณ 13.2 กิโลเมตร/ลิตร ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ดีประมาณหนึ่งเลย ความเร็วที่ใช้ก็เป็นย่านปกติที่คนส่วนใหญ่ขับทางต่างจังหวัดกัน คือ 100 - 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ชะลอบ้างตามจังหวะรถกับช่วงกลับรถ สรุปรวมแล้วก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่ดีพอสมควร เมื่อเทียบกับการเป็นรถกระบะ
ขับมาแบบบ้าระห่ำ สรุปความรวมได้ดังนี้ครับ
ชอบ
- ช่วงล่างนิ่ง เข้าโค้งไม่ต้องห่วง วิ่งมุดช่องได้นิ่ง
- พวงมาลัยคมกริบ น้ำหนักกำลังดี ขับได้ง่าย
- อัตราเร่งช่วงต้นดีถึงดีมาก
ไม่ชอบ
- อุปกรณ์น้อยไปนิด น่าจะเพิ่มพวกเบาะไฟฟ้าอะไรพวกนี้มาให้หน่อย ราคาเกินล้านแล้ว น่าจะมีให้ได้บ้างนะ
- ช่วงล่างออกไปทางแข็งนะ ถ้าไม่ได้ใช้งานบรรทุกบ่อย ๆ ไม่น่าจะนั่งสบาย
- ปุ่มบวกลบบนหัวเกียร์ ไม่เวิร์คเลย
Ford Ranger Double Cab 2.0L Turbo Limited 4x4 เมื่อลองรีวิวรถดูแล้ว มันคือรถกระบะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการใช้งานบรรทุกกับการใช้งานแบบส่วนตัวทั่วไป มันจึงอยู่ในระดับกลางของช่วงล่างที่เผื่อเอาไว้ทั้งการบรรทุกลและขับขี่ทั่วไป ผมว่าเหมาะกับคนที่มีธุรกิจพวกต้องส่งของบ่อย ๆ เช่น ขายของ Online กับสินค้าขนาดใหญ่, ขายของตามตลาดนัด แต่ว่าสามารถซื้อรถเพื่อใช้งานได้คันเดียว ผมว่ารถคันนี้จะตอบโจทย์คุณได้มาก ในราคาค่าตัวที่ 1,039,000 บาท เสียดายที่รอบนี้ไม่มีโอกาสในการลองนำไปลุยเพื่อทดสอบระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เพราะไม่สามารถออกไปข้ามจังหวัดได้ แต่ก็เชื่อมั่นในระบบลุย Off-Road ของฟอร์ดนะ เพราะทดสอบรถของเขาทีไร ไม่เคยทำให้ผิดหวังสักครั้งเลย
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com