Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Next-Gen Ford Ranger Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo 4x4 10AT รถกระสายแกร่ง ลุยสุด สบายสุด ออพชั่นล้น
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 13 พ.ค. 65 00:00
- 11,408 อ่าน
จำไม่ได้แล้วว่ารถกระบะเกิดมาแกร่งอย่าง Ford Ranger ปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ครั้งล่าสุด (ที่ไม่ใช่ครั้งนี้) ไปเมื่อปีไหน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นปี 2011 ถึงวันนี้ก็ระยะเวลารวม 10 ปีพอดี ใครที่เคยซื้อเอาไว้ตั้งแต่วันเปิดตัวใหม่ ถึงรอบนี้ก็ได้เวลาในการเปลี่ยนรถใหม่พอดิบพอดี
ฟอร์ดได้ทำการปูพื้นการเปลี่ยนโฉมใหม่ของรถกระบะรุ่นนี้ โดยมีการเรียกชื่อใหม่จากที่ส่วนใหญ่ใช้กันเป็น All-New ให้เป็น Next-Gen แทน (ก็แล้วแต่) ดังนั้นรอบนี้ในการปรับโฉมใหม่จึงถูกเรียกเป็น Next-Gen Ford Ranger ถูกเปิดโฉมใหม่ผ่านช่องทาง Online ออกมาตั้งแต่ปลายปีก่อน ทั้งที่ยังไม่มีรถตัวจริงให้สื่อมวลชนได้สัมผัสด้วยซ้ำ อวดโฉมมาในรูปแบบ Global Launch เพื่อ “กั๊ก” ไม่ให้คนที่กำลังหามองรถกระบะใหม่ เร่งรีบไปจองรถคู่แข่งแทน ก่อนที่รถของตัวเองจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าได้ก็ประมาณกลางปีนี้
หลังจากที่ฟอร์ดได้เอารถโฉมใหม่ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Next-Gen Ford Ranger, Next-Gen Ford Ranger Raptor และ Next-Gen Ford Everest ในช่วงงาน Motor Show 2022 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้กระแสของรถกระบะใหม่ดีดกลับมาในแนวบวกได้ทันที ด้วยความที่ตัวรถออกแบบมาได้ใกล้เคียงกับรถกระบะ Full-Size อย่าง Ford F-150 รถกระบะยอดขายสูงสุดในสหรัฐต่อเนื่องหลายปี ที่คนไทยแอบชื่นชอบกันมานานแล้ว แถมยังใส่ออพชั่นมาให้เพิ่มเหนือรถกระบะของตัวเองในโฉมปัจจุบันอย่างมากมาย ทำเอาใบจองนี่ปลิวว่อนทั่วงาน ทั้งที่ยังไม่รู้กันเลยว่ารถใหม่ 2022 คันนี้นั้นขับดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง
อ่ะ ไม่เป็นไร หน้าที่ในการขับทดสอบรถใหม่ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผมในฐานะทีมงาน AUTODEFT เลยดีกว่า เพราะตอนนี้ได้รับหมายเชิญในการเข้าร่วมทดสอบ Next-Gen Ford Ranger กันที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า การทดสอบของฟอร์ดในแต่ละรอบนั้น ไม่เคยธรรมดากันเลยทีเดียว (ลองย้อนไปอ่านได้) รอบนี้จะทดสอบกันโหดขนาดไหนให้สมกับกับการได้รีวิวรถกระบะเกิดมาแกร่ง ค่อยมาว่ากัน
ก่อนเริ่มการรีวิว เรามารู้จักภาพรวมของรถกระบะคันนี้กันก่อนเลยดีกว่า โดยรอบนี้ Next-Gen Ford Ranger ในรหัสตัวถัง T6 รุ่นที่ 3 (ยังไม่ใช่ T7 นะ) จะยังคงมาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร 4 สูบ Bi-Turbo เช่นเคย แต่จะมีการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ให้มีกำลังลดลงเหลือ 210 แรงม้า (เดิม 213 แรงม้า PS) แต่แรงบิดก็ยังคงเดิมที่ 500 นิวตันเมตร ส่วนเกียร์ก็ยังคงเป็นชุดเดิมคืออัตโนมัติ 10 สปีด แต่จากการได้พูดคุยกับทางวิศวกรของฟอร์ดที่ออกแบบรุ่นใหม่นี้บอกเราว่า มีการปรับระบบการทำงานใหม่ให้ทำงานได้ดีขึ้น สามารถนำกำลังจากเครื่องยนต์ลงสู่พื้นได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น ดังนั้นการหายไปของม้า 3 ตัวจะไม่รู้สึกได้เลย มีแต่จะรู้สึกถึงความแรงที่มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ (จริงไม่จริงเดี๋ยวรู้กัน)
มิติของตัวรถรอบนี้ มีการขยับให้มีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะตัวความกว้างของระยะล้อและฐานล้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 50 มม. (5 เซนติเมตรในการออกแบบรถใหม่ ถือว่าไม่น้อยนะครับ) โดยมิติตัวรถของ Next-Gen Ford Ranger ในรุ่น Wildtrak 4x4 เป็น 5,370 x 1,918 x 1,884 มม. (ของเดิม 5,434 x 1,867 x 1,848 มม.) ฐานล้อกว้าง 3,270 มม. ใต้ท้องสูง 235 มม. ตัวเริ่มใหญ่เข้าใกล้กระบะ Full-Size เข้าไปทุกที (Ford F-150 กว้าง 2,431 มม. ยาว 5,311 มม. และสูง 1,920 มม.) ทำให้การขับช่วง Off-Road มีมุมเงยเพิ่มเป็น 30 องศา มุมจากเพิ่มเป็น 25.6 องศา ช่วงล่างด้านหน้าใช้เป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง และหลังเป็นแบบแหนบซ้อนพร้อมโช้คอัพ ใช้โช้คอัพแบบ Monotube ทุกต้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างคือการย้ายระบบกันสะเทือนมาอยู่ด้านนอกแหนบ เพื่อให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารนั่งสบายยิ่งขึ้น ลดการสั่นสะเทือนจากภายนอกเข้าสู่ห้องโดยสาร ทั้ง 4 ล้อใส่เป็นแม็กซ์อัลลอยขนาด 18 นิ้ว รัดมาด้วยยางขนาด 255/65 R18 ที่เจ๋งสุดคือรอบนี้ใส่ระบบห้ามล้อแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อเลย
ส่วนโครงสร้างหรือแชสซีของตัวรถนั้น ถึงแม้ว่าตัวรหัสจะยังคงเป็น T6 อยู่ แต่รอบนี้เป็นเวอร์ชั่น 3 แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะพอตัว เรื่องหลักคือจากเดิมในโฉมก่อน มีการใช้แชสซีที่หล่อเป็นเหล็กชิ้นเดียว แล้วเอาไปใช้เป็นโครงหลักของทั้ง Ford Ranger และ Everest แต่รอบนี้ มีการแบ่งเอามาเป็น 3 ส่วนคือ หัว, กลาง และท้าย โดยส่วนหัวนั้น แต่ละรุ่นที่ใช้งานก็จะมีการออกแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งที่ใช้บน Next-Gen Ford Ranger, Next-Gen Ford Everest และ Ford Bronco จะไม่เหมือนกันเลย ส่วนต่อมาคือตรงกลาง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความยาวของตัวแชสซี อย่างของ Next-Gen Ford Ranger ที่มีความยาวมากที่สุด ตัวส่วนนี้ก็จะยาวที่สุด ส่วนของ Next-Gen Ford Everest ที่มีความสั้นกว่า ก็จะทำส่วนตรงกลางนี้ให้สั้นลง ส่วนด้านท้ายก็หลักการเดียวกันกับชิ้นหน้า แต่รอบนี้ทั้ง Next-Gen Ford Ranger และ Next-Gen Ford Everest ยังใช้การออกแบบที่ยังคงเหมือนกันอยู่ อ่านถึงตรงนี้อาจมีบางคนสงสัยว่า แล้วแบบนี้มันจะแข็งแรงได้เหมือนกับที่เป็นแชสซีชิ้นเดียวเหรอ เพราะเอา 3 ชิ้นมาต่อกันแล้วเชื่อมให้ติดกัน ไม่น่าจะแข็งแรงเท่าได้ อันนี้วิศวกรของทางฟอร์ดเอง (มาจากเมืองนอก) ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการเชื่อมต่อนั้น จะสร้างความแข็งแกร่งได้มากกว่าตัวเดิมด้วยซ้ำ แถมยังให้การยืดหยุ่นได้มากกว่าเดิม ทำให้ตัวรถนั้นสร้างความนุ่มนวลในการเดินทางได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
แน่นอนว่าการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ระกับ Model Change ก็ต้องมีการปรับหน้าตาใหม่ให้ต่างไปจากเดิม (ไม่งั้นจะเปลี่ยนทำไม) เริ่มจากแผงหน้าที่รอบนี้ ได้แรงบันดาลใจออกมาจาก Ford F-150 มาพอสมควร เริ่มจากแผงกระจังหน้า ที่รอบนี้ออกแบบให้เป็นแผงที่มีช่องลมมากกว่าเดิม เดินเส้นคู่กลางเป็นเส้นหนตัดผ่านตรา Ford วงรีที่อยู่ตรงกลาง ไฟหน้าแบบ Matrix LED พร้อมระบบปรับมุมลำแสงไฟอัตโนมัติ และระบบป้องกันไฟแยงตา และระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ มีไฟ DRL แบบ LED รูป C-Clamp มีไฟตัดหมอกแบบ LED อยู่ด้านล่าง มีการเดินเส้นสายการออกแบบให้ดูบึกบึน ดุดัน ด้วยเส้นหน้าสีดำ ตัวฝากระโปรงออกแบบให้ดูแข็งแกร่ง ด้วยเส้นสายคม คลุมเครื่องยนต์อันทรงพลังเอาไว้ ด้านข้างมีการเดินเส้นให้ตัวรถมีสันเสริมความแกร่ง กระจกมองข้างใช้เป็นสีกำฝังด้วยไฟเลี้ยวแบบ LED มือจับเปิดประตูใช้สีเดียวกับตัวรถ รวมทั้งก็ยังคงช่องระบายอากาศสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของฟอร์ดอยู่เช่นเคย
ส่วนด้านท้ายนั้น มีไฟ LED เป็นแผงไฟท้ายทรงเลข 3 หรือจะเรียกว่าตัว E ก็ไม่ว่ากัน มือเปิดฝาท้ายสีดำฝังด้วยไฟเบรกดวงที่ 3 และรูกุญแจล็อกฝาท้าย ตัวฝาท้ายเองก็ต้องยอมรับว่าถูกออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลายอรรถประโยชน์ ทั้งมีช่องรองรับการหนีบของตัวล็อกงานไม้, ที่วางแก้วน้ำ เป็นต้น ตัวฝาเองมีระบบ Easy Lift ช่วยผ่อนแรงตอนยกปิด ตัว Liner หรือแผ่นปูกระบะก็ออกแบบให้ใช้งานได้หลายอย่าง มีร่องที่จะรับแท่นไม้เพื่อวางของได้ มีช่องจ่ายไฟทั้งแบบไฟบ้าน จ่ายไฟสูงสุดได้มากถึง 400W และช่องจ่ายไฟ 12V อีก 1 ช่อง ซึ่งเราสามารถเสริมแบตเตอรี่อีกลูกเพื่อจ่ายไฟยามที่ต้องการใช้งานได้ที่ในฝากระโปรง เพราะมีช่องวางมากพอให้ใส่ได้อีก 1 ลูก และรอบนี้มีช่องสำหรับวางเท้าเพื่อขึ้นสู่ตัวกระบะได้ง่ายขึ้น ติดอยู่ตรงตำแหน่งตรงมุมด้านข้างกระบะให้อีกด้วย
ก้าวเข้ามาดูภายในของ Next-Gen Ford Ranger กันบ้าง เด่นที่สุดคงต้องยกให้กับหน้าจอกลางขนาด 12 นิ้วแบบระบบสัมผัส Multi-Touch ที่เอาการตั้งค่าต่าง ๆ เข้าไปใส่รวมเอาไว้ในหน้าจอนี้ รองรับระบบการเชื่อมต่อ Apple Carplay และ Android Auto มีระบบเชื่อมต่อบลูทูธ และ ระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC® 4A รองรับการใช้งานระบบ FordPass Connect ที่สามารถสั่งการหรือเช็คสภาพตัวรถผ่านทางโทรศัพท์มือถือของเราได้เลย ส่วนการออกแบบภายในนั้น ได้มีการออกแบบใหม่หมด ให้ดูกว้างขวาง, หรูหรา และอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีที่สะดวกต่อการใช้งาน ตอบโจทย์การใช้งานได้หลายรูปแบบ ใช้ วัสดุที่นุ่มต่อการสัมผัสและการตกแต่งอย่างประณีตช่วยยกระดับบรรยากาศภายในห้องโดยสาร ในขณะที่แผงหน้าปัดแบบใหม่ได้รับการออกแบบทอดตัวยาวจากฝั่งซ้ายถึงฝั่งขวาขยายพื้นที่ให้ดูกว้างขวางยิ่งขึ้น การออกแบบภายในบางส่วนยังสอดรับกับการออกแบบภายนอก อย่างช่องแอร์ที่มีการออกแบบคล้ายกับกระจังหน้า และพื้นผิวภายนอกบางส่วนที่นำมาปรับใช้กับพื้นที่ภายใน หน้าปัดข้อมูลการขับขี่ปรับให้เป็นระบบดิจิตอลขนาด 8 นิ้ว มีกราฟฟิคแสดงผลอย่างสวยงาม
แต่สิ่งหนึ่งที่พลาดหวังไปในการได้เห็นตัวจริงในรอบนี้ ก็คือเกียร์ ที่ตอนเปิดตัวครั้งแรกของโลกผ่านระบบออนไลน์ เราได้เห็นรถกระบะใหม่คันนี้มีการใช้งานเกียร์ไฟฟ้า Electronic Shifter แต่ความเป็นจริงเราจะได้ใช้งานเกียร์ก้านยาวในรูปแบบเดิม ที่มี Thumb Shift มาให้เหมือนเดิมเป๊ะ เสียดายจัง เพราะถ้าใส่เข้ามาด้วยจะช่วยให้ตัวรถดูล้ำมากกว่าเดิมได้อีกเพียบเลย
ตัวเบาะหน้า หุ้มด้วยหนังสีดำ เดินตัดขอบด้วยด้ายสีส้มเพิ่มความขลัง ตัวเบาะมีการเพิ่มขนาดของเบาะโอบเอวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รองรับการเดินทางเข้าถนน Off-Road ได้ดีขึ้น เพราะเบาะจะล็อกตัวเราให้เอยู่กับเบาะได้ดีกว่าเดิม มีการปักตรา Wildtrak ไปที่บนเบาะ ส่วนเบาะหลังก็เป็นรูปแบบเดียวกับด้านหน้าในเรื่องวัสดุ เบาะนั่งยกขึ้นได้เพื่อเข้าสู่พื้นที่การเก็บของ แอร์เป็นแบบอัตโนมัติแยกโซนซ้าย-ขวา มีช่องแอร์ด้านหลังสำหรับตอนหลังด้วย เลือกควบคุมแอร์ได้ทั้งบนหน้าจอขนาด 12 นิ้วหรือบนปุ่มด้านใต้หน้าจอ ส่วนข้างใต้ลงไปอีกมีช่องสำหรับชาร์จโทรศัพท์ด้วยระบบไร้สาย และลืมบอกไปว่ารอบนี้ Apple CarPlay ใส่เป็นระบบไร้สายมาให้ใช้งานด้วยเลย จะได้ชาร์จแบบไร้สายด้วยความไร้กังวล แต่ถ้าอยากชาร์จแบบมีสายก็ไม่ว่ากัน เพราะมีช่อง USB มาให้ทั้งแบบท Type A และ Type C เลย แถมด้านหลังก็มีแบบนี้ให้เหมือนกัน เพิ่มเติมก็มีปลั๊กไฟบ้านให้ใช้งานได้อีกด้วย เขยิบถัดลงมาที่ด้านข้างคนขับ นอกจากเกียร์แล้ว ก็จะมีปุ่มเบรกมือไฟฟ้า ไม่มีปุ่ม Auto Hold เพราะย้ายเข้าไปเปิด-ปิดได้ในหน้าจอ ขยับมาอีกหน่อยมีปุ่มเปิด-ปิดทั้งเซ็นเซอร์เตือนรอบคันและ Traction Control, ปุ่ม Off-Road Monitor ที่กดแล้วกล้องที่แสดงผลจากด้านหน้าจะโชว์ให้เราได้เห็นเลยทันที และที่เด่นสุดก็คือวงล้อมหาสนุก ที่เอาไว้กดเพื่อเลือกโหมดขับเคลื่อนแบบ 2H, 4H และ 4L ได้ และวงรอบก็หมุนได้เพื่อเป็นตัวเลือกโหมดการขับขี่ ที่รอบนี้จัดมาให้เต็มใกล้เคียงกับโหมดการใช้งานของ Ford Ranger Raptor ในตัวก่อนเลย เพราะมีทั้ง
- โหมดปกติ (Normal Mode) เน้นการขับขี่ที่สบายและนุ่มนวล เหมาะสำหรับการขับขี่ในชีวิตประจำวัน
- โหมดประหยัด (Eco Mode) เพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันสูงสุด ด้วยการปรับอัตราทดเกียร์และระบบปรับอากาศให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้คุณประหยัดน้ำมันสูงสุด
- โหมดลากจูง (Tow Haul Mode) เหมาะสำหรับการลากจูงวัตถุที่มีน้ำหนักมาก ระบบจะปรับลดอัตราทดเกียร์ให้เหมาะสมเพื่อการส่งกำลังที่ดีที่สุด
- โหมดทางลื่นไถล (Slippery Mode) เหมาะสำหรับเส้นทางที่เสี่ยงต่อการลื่นไถล เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง จะปรับให้รอบหมุนล้อน้อยลง และทำงานรวมกับระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว เพื่อป้องกันล้อลื่นไถล
- โหมดโคลน (Mud/Ruts Mode) ระบบจะเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนนเพื่อเพิ่มกำลังส่ง ให้รถสามารถออกตัวได้ แต่ยังรักษาสมดุลการเคลื่อนที่ของรถ พร้อมหมุนล้ออย่างรวดเร็วเพื่อกำจัดโคลนที่ติดอยู่ที่ดอกยางออก
- โหมดทราย (Sand Mode) เหมาะสำหรับการขับขี่บนพื้นผิวที่นุ่มยุบ เช่น บนพื้นทราย หรือหิมะ ระบบจะปรับการส่งกำลังและอัตราการทดเกียร์ โดยทำงานร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ร่วมถึงปรับระยะเบรกให้สั้นลง เพื่อรักษาสมดุลการเคลื่อนที่ของรถ
เสียดายที่ไม่มีโหมด Sport ไม่งั้นคงได้สนุกกันกว่านี้
มาว่ากันเรื่องของระบบความปลอดภัยกันดีกว่า ของเดิมที่เป็น Ford Ranger ก็ว่าให้มาเยอะแล้ว รอบนี้ให้มาเยอะยิ่งกว่าเก่า ไม่ว่าจะเป็น
- ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง
- ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ พร้อมระบบ Stop&Go Intelligent Adaptive Cruise Control (iACC)
- ระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง Lane Centering
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางพร้อมตัวช่วยตรวจจับเส้นถนน Lane-Keeping System with Road Edge Detection
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง (Lane Departure Warning)
- กล้องมองรอบคัน 360 องศา
- ระบบเตือนการชนด้านหน้า Pre-Collision Assist with Intersection
- ระบบช่วยการหักพวงมาลัยเพื่อเลี่ยงการปะทะ Evasive Steer Assist
- ระบบป้องกันการชนเมื่อถอยหลัง Reverse Brake Assist
- ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ Active park assist plus
- ระบบปรับทิศทางและความเข้มของไฟหน้าอัตโนมัติ Glare-free high beam
- ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน (Automatic Emergency Braking with Pedestrian Detection)
- ระบบตรวจจับรถในจุดบอด และระบบตรวจจับขณะออกจากช่องจอด Blind Spot Information System with Cross-Traffic Alert and Braking)
- ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High-Beam Headlamps)
- ระบบป้องกันล้อล็อก ABS
- ระบบกระจายแรงเบรก EBD
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP
- ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Traction Control
- สัญญาณเตือนระยะจอดด้านหน้าและหลัง
- ระบบช่วยการออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน HLA
- ระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ ROM
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา HDC
โอ๊ย เยอะจนไม่ไหวจะพิมพ์
พอ ๆ ๆ กับข้อมูลเบื้องต้นของตัวรถ ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่าสเปกทั้งหมดนี้ จะอยู่บนรุ่นท็อปที่เป็นรุ่น Next-Gen Ford Ranger Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo 4x4 10AT นะจ๊ะ ซึ่งจะเป็นรุ่นที่ผมได้ไปทดสอบในรอบนี้ รูปแบบการทดสอบนั้น ต้องออกตัวกันก่อนเลยว่า เรามีเวลาอยู่กับมันได้ไม่นาน พวกเราชาวสื่อสารมวลชนสายยานยนต์ รวมทั้งตัวผมเองด้วย ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองตั้งแต่เวลาประมาณ 7 โมงครึ่ง บินตรงสู่เกาะภูเก็ต เข้ารับฟัง Brief ข้อมูลรถแล้วเส้นทางการทดสอบประมาณ 10 โมง ออกเดินทางประมาณ 11 กว่า โดยเดินทางกันไป 2 คนกับน้องเบิร์ด Massautocar และกลับมาถึงที่จุดเริ่มต้นเพื่อสิ้นสุดการทดสอบประมาณ 5 โมงเย็น นั่นหมายความว่าเราจะอยู่กับรถคันนี้ประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น ยังไม่รวมการสลับขับและการลงมาทำภารกิจอื่น ๆ ช่วงการทดสอบในสถานี Off-Road อีกนะ เอาเป็นว่าจะพยายามจับอาการให้ได้มากที่สุดก็แล้วกัน
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ถึงแม้ว่าตัวฐานล้อจะกว้างขึ้นออกไปทั้ง 4 ด้านอีก 50 มม. แต่โดยรวมของห้องโดยสารนั้นยังมีขนาดเท่าเดิม แต่ทางฟอร์ดทำการออกแบบสิ่งแวดล้อมภายในห้องโดยสารให้ดูแล้วโอ่โถงมากกว่าเดิม (ซึ่งผมไม่รู้สึกอะไร เคยรู้สึกกับตัวเดิมแบบไหนก็แบบนั้น) สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการออกแบบกระจกมองข้างให้เป็นทรงใหม่ ตอนดูภายนอกก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอถึงตอนที่นั่งประจำตำแหน่งผู้ขับ เราจะเห็นมุมมองด้านข้างได้กว้างขึ้นกว่าเดิมมากเลย ดูเหมือนว่าขอบมันจะบางลง ทำให้เรามองเห็นด้านข้างได้มากกว่าเดิม ยังไม่รวมการที่มีระบบเตือนมุมบอดด้านข้างบนกระจกที่ช่วยเสริมความมั่นใจอีกนะ อันนี้ถือว่าดีจริง
กำลังของเครื่องยนต์บล๊อคเดิมแต่ปรับปรุงชิ้นส่วนภายในใหม่และปรับจูนเรื่องของไอเสียรวมถึงอัตราประหยัดให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่ากำลังแรงม้าจะลดลงไป 3 ตัว แต่ในความเป็นจริงมันแทบไม่รู้สึกอะไรเลย ผมว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ที่ดูจะฉลาดมากกว่าเดิม ซึ่งว่าไปของเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่รอบนี้ดูทำงานได้ราบเรียบมากกว่าเดิม มีความต่อเนื่องของการเร่งความเร็วได้ดีกว่าเดิมเล็กน้อย เพราะชิ้นส่วนภายในของเกียร์ก็ถูกเปลี่ยนใหม่ไปบางชิ้นด้วยเช่นกัน แต่ถ้ามองภาพรวมแล้วผมว่า ไม่ได้เปลี่ยนความรู้สึกถึงความแรงเท่าไหร่ ไม่ต่างจากตัวเดิม แต่ความต่อเนื่องของเกียร์พอจะรู้สึกได้ว่าเปลี่ยนไป ส่วนน้ำหนักของพวงมาลัยนั้น ในกลุ่มที่ไปทดสอบด้วยกันหลายคนบอกว่าน้ำหนักพวงมาลัยดูจะหนักขึ้น แต่ทางวิศวกรยืนยันว่าเบาลง ทั้งการปรับกำลังและเปลี่ยนยางใหม่เพื่อให้มันเบาลง แต่สำหรับตัวผม ผมว่าก็เหมือนเดิม น้ำหนักกำลังดี และยังคมในการใช้งานอยู่เสมอ ตอนนี้ถือเป็นรถกระบะเจ้าเดียวในตลาดที่ยังคงใช้เป็นพวงมาลัยไฟฟ้า
ช่วงแรกของการเดินทาง ผมทำหน้าที่เป็นผู้โดยสารก่อน ในช่วง Walking Speed ที่ออกเดินทางจากโรงแรมที่พัก ผมกับน้องเบิร์ดต่างก็รู้สึกถึงความกระด้างที่มีมากกว่าตัวเก่าประมาณหนึ่งเหมือนกัน เพราะปกติแล้วช่วงวิ่งช้า ความนุ่มแทบไม่ต่างกับรถเก๋งทั่วไปเลย รอบนี้แข็งขึ้น แต่เมื่อได้ออกสู่ถนนใหญ่ แล้ววิ่งด้วยความเร็วเกิน 60 กม./ชม. ขึ้นไป เฮ้ย ความนุ่มนวลมาเยือนทันที และมีความแน่นในการเข้าโค้งที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และชัดเจนมากขึ้นเมื่อได้ลงมาประจำตำแหน่งผู้ขับขี่ รู้สึกได้เลยทั้งความนุ่นและความเกาะถนน เอาเป็นว่าดีกว่ารถ PPV หรือ SUV ในตลาดหลายรุ่นเลย ทั้งที่ Next-Gen Ford Ranger Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo 4x4 10AT เป็นรถกระบะนะ
เรื่องระบบความปลอดภัยและตัวช่วยในการขับขี่ ผมได้ลองใช้งานเริ่มจากระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (iACC) โอย ของเดิมดีแล้ว ของใหม่ดีกว่า การทำงานเนียนทั้งเร่งทั้งเบรก ระบบการจับวัตถุนั้นแม่นมาก ขนาดเราเดินทางในช่วงที่มีฝนตกมาหนาเม็ดพอควร ก็ยังทำงานได้ดีอย่างปกติ โดนรถแทรกระหว่างกลางกับคันหน้า รถก็ไม่ได้เบรกจนหัวทิ่ม แต่จะลดกำลังของคันเร่ง แล้วค่อยแตะเบรกอย่างเบา ๆ จนเราแทบไม่เจออาการหัวโยกเลย
ส่วนระบบ Lane Centering ที่จะคอยให้รถวิ่งอยู่กลางเลน ก็ทำงานได้ดีพอสมควร น้ำหนักในการหมุนทำได้ดี อาจจะมีบ้างในโค้งแคบ ที่รถอาจเสียอาการเพราะระบบหันพวงมาลัยไม่ทัน แต่สุดท้ายมันก็จะหันให้และวิ่งไปตามทางได้ปกติ แต่เมื่อไหร่ที่มือเราไปหมุนพวงมาลัยจนเอียงไปหาเส้นจราจร รถจะทำการเตือนเป็นเส้นกระพริบสีเหลืองที่หน้าจอ พวงมาลัยจะสั่น แล้วหันพวงมาลัยกลับมาให้อัตโนมัติ (กรณีที่ไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว) นั่นเพราะระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง เข้ามาช่วยทำงานนั่นเอง ส่วนระบบเตือนมุมบอดด้านข้างก็ทำงานได้แม่นยำตามปกติ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นแต่อย่างใด
จบการทดสอบทาง On-Road เราก็เข้ามาสู่สนาม Ford Ranger Ville เพื่อทดสอบการขับ Off-Road กันบ้าง ก็ต้องบอกว่ารอบนี้ที่ Next-Gen Ford Ranger Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo 4x4 10AT ถูกปรับใหม่ในเรื่องของการขับลุยได้มากขึ้น ทั้งเรื่องมุมเงย-มุมจากที่ทำได้มากกว่าเดิม, ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ทรงพลัง ล้อหลังมีระบบ Diff-Lock แต่ที่เจ๋งมากคือมีโหมดการขับขี่ให้เลือกมากมาย ทั้งแบบลุยทราย, ลุยโคลน หรือถนนลื่น รวมทั้งหน้าจอขนาดใหญ่ ที่ช่วยแสดงภาพจากกล้องด้านหน้าและมองรอบคันได้พร้อมกัน (มองรอบคันเลือกเจาะมุมใดมุมหนึ่งก็ได้) ถือเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราเดินทางในเส้นทางทุรกันดารได้ง่ายกว่าเดิมบานเบอะ และวันนี้จะเรียกว่าโชคดีได้หรือเปล่า เพราะฝนดันตกอย่างหนักในช่วงก่อนเดินทางมาถึง ถึงแม้ว่าช่วงกำลังทดสอบฝนจะเบาบางลงแล้ว แต่ก็ยังมีโปรยปรายเป็นละอองลงมาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเส้นทางการทดสอบรอบนี้ ถนนจึงลื่นมากเป็นพิเศษ ศัพท์ของคนขับออฟโร้ดจะเรียกว่าถนนหนังหมู มันจะลื่นสุด ๆ
ในสนามทดสอบแห่งนี้ แบ่งเป็นทั้งหมด 8 สถานีคือ
สถานีที่ 1 การพิชิตเนินชัน ‘Hill Maneuvering’ โดยใช้โหมดการขับขี่ปกติ (Normal mode) คู่กับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4H) รวมถึงทดสอบความโดดเด่นของสมรรถนะช่วงล่าง และการไต่ลงเนินชันด้วยระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (Hill Descent Control) ที่ช่วยปรับความดันเบรกอย่างต่อเนื่อง ลดการลื่นไหลและรักษาความเร็วให้คงที่เมื่อขับลงทางลาดชัน ผู้ขับขี่จึงให้ความสนใจกับการควบคุมพวงมาลัยได้อย่างเต็มที่และมีความมั่นใจมากขึ้น ด้วยมุมจากด้านหลัง 23 องศา (เพิ่มจาก 21 องศาในรุ่นก่อนหน้า) ด้วยฐานล้อที่กว้างและยาวขึ้นของฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการขับขี่ ช่วยให้ควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องด้วยการขับผ่านแอ่งน้ำ ‘Water Wading’ แบบสบาย ๆ
สถานีที่ 2 ด้วยความสามารถในการลุยน้ำลึกได้สูงสุดถึง 800 มิลลิเมตร โดยในสถานีที่ 1 และ 2 นี้ สื่อมวลชนได้ใช้กล้องมองรอบคัน 360 องศา เพื่อช่วยมองอุปสรรคที่อยู่นอกตัวรถระหว่างการขับขี่ได้อย่างชัดเจน
สถานีที่ 3 สื่อมวลชนได้ใช้โหมดการขับขี่บนถนนลื่น (Slippery Track) โดยระบบจะช่วยกระจายแรงบิดของเครื่องยนต์ไปยังทั้ง 4 ล้อเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่บนถนนลื่นหรือพื้นถนนที่ไม่สม่ำเสมอ และยังได้สัมผัสถึงมุมมองในการขับขี่ในพื้นที่แคบที่ดีขึ้นด้วยการออกแบบดีไซน์ฝากระโปรงหน้าใหม่ที่ช่วยให้กะระยะในการผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการใช้กล้องมองรอบคัน 360 องศา เป็นตัวช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นด้านนอกรถให้ควบคุมทิศทางของพวงมาลัยและบังคับทิศทางของรถให้ผ่านอุปสรรคบนเส้นทางได้
สถานีที่ 4 ทางโคลน (Mud Track) เป็นการขับขี่ด้วยโหมดโคลน (Mud Mode) โดยใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4H) พร้อมโชว์การทำงานของระบบล็อกเฟืองท้าย (Locking rear differential) ที่ช่วยถ่ายเทกำลังของเครื่องยนต์ไปยังล้อทั้ง 4 ทำให้ผ่านเส้นทางโคลนหรือถนนลื่น ๆ ไปได้อย่างง่ายดาย
สถานีที่ 5 พื้นกรวด ‘Loose Surface’ ด้วยการปรับโหมดการขับขี่กลับสู่โหมดการขับขี่บนถนนลื่น (Slippery mode) เพื่อทดสอบการขับขี่บนพื้นผิวถนนที่เป็นทางหินกรวด เพื่อกำลังของเครื่องยนต์ และการตอบสนองของระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ขณะใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นขณะขับขี่ที่ความเร็วสูง
สถานีที่ 6 ขับขี่ลุยทางหิน ‘Rocky Terrain’ สื่อมวลชนใช้โหมดการขับขี่ปกติ (Normal mode) พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4L) และระบบล็อกเฟืองท้าย (Locking rear differential) เพื่อทดสอบแรงบิดของเครื่องยนต์ในรอบต่ำ และอัตราทดเกียร์ รวมถึงความสูงใต้ท้องรถและระบบช่วงล่างที่นุ่มนวล ต่อด้วยการขับขี่บนสภาพเส้นทางที่เป็นพื้นทราย ‘Sand Track’
สถานีที่ 7 ด้วยการใช้โหมดทราย (Sand mode) สื่อมวลชนได้สัมผัสถึงระบบความคุมเสถียรภาพการทรงตัว และการกระจายแรงบิดของเครื่องยนต์ที่ทำให้รถผ่านอุปสรรคไป
สถานีที่ 8 ลุยทางออฟโรด (Off-Road Maneuvering) โดยใช้โหมดปกติ (Normal mode) พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4H) ทดสอบการควบคุมพวงมาลัย การทรงตัวของรถ และความทรงพลังของเครื่องยนต์ แรงบิดและอัตราทดเกียร์อันชาญฉลาด โชว์ให้เห็นถึงสมรรถนะในการขับขี่ออฟโรดโดยรวมที่ดีขึ้นด้วยมุมเงยที่ 30 องศา (เพิ่มจาก 28.5 องศาในรุ่นก่อนหน้า)
(ขออนุญาติ Copy มาจาก Press Kits ของทางฟอร์ด)
โดยรวมถือได้ว่า ระบบการจัดการของรถกระบะเกิดมาแกร่ง Next-Gen Ford Ranger Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo 4x4 10AT ทำงานได้อย่างฉลาด บริหารกำลังเครื่องยนต์และการหมุนของล้อได้เหมาะสมกับเส้นทางอย่างดี ถึงแม้ว่าการทดสอบรอบนี้จะโหดพอตัว รวมทั้งยางที่เราลุยก็เป็นแบบ Highway-Terrain ที่ไม่เหมาะกับเส้นทางดินที่ฝนตกลงมาแบบนี้เลย เพราะขับไปได้แปปเดียว ตัวยางก็จะเกิดอาการที่เราเรียกว่า “โดนัท” คือการที่ดินเข้าไปอัดอยู่ในร่องดอกยางหมด จนเกิดความลื่น ไม่มีการเกาะถนนอีกต่อไป ทุกครั้งที่เราแตะคันเร่ง รถจะเกิดอาการไถลออกข้างได้ตลอดเวลา ต้องใช้ทักษะในการขับพอสมควร ไม่อย่างนั้นจะเกิดอาการที่เอาข้างฟาดต้นไม้หรือตกร่องข้างทางได้ตลอดเวลา แต่ระบบก็คอยป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่ทักษะการขับก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นถ้าให้แนะนำ ก็พยายามอย่าเอาไปลองแบบนี้เองจะดีกว่าครับ อันตรายพอสมควร
และสิ่งที่ช่วยได้มากที่สุด คือระบบ Diff-Lock ที่จะล็อกล้อหลังให้หมุนเท่ากันอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าอีกล้อจะลอยอยู่กลางอากาศก็ตาม เหมาะกับสถานการณ์แบบนี้อย่างมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่อีกล้อลื่น อีกล้อจะหมุนตามทันที ไม่เหมือนกันตอนที่เราไม่ได้กด Diff-Lock ที่ลอยที่ลอยอยู่จะปั่นฟรีทิ้ง แล้วอีกล้อไม่หมุนตาม จนทำให้รถติดอยู่ในเส้นทางโหดแบบนี้อย่างแน่นอน ส่วนการเปิดก็ไม่ยากครับ เวลาเราเปลี่ยนโหมดการขับขี่ให้เป็นแบบ Off-Road ระบบจะเปลี่ยนหน้าจอให้แสดงภาพจากด้านหน้ากับแสดงการทำงานของระบบขับเคลื่อนให้เห็นทันที แน่นอนว่าจะมีระบบ Diff-Lock เป็นปุ่มให้กดเพื่อใช้งานได้ทันที และตรงกลางหน้าจอขนาดใหญ่ เราก็เลือกมุมมองเพิ่มเติมได้อีก เรียกได้ว่าสะดวกอย่างมากสำหรับการลุย
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ถูกใจสักเท่าไหร่ในการใช้หน้าจอ ก็คือเรื่องของการสัมผัส ที่มันไม่แม่นยำเท่าที่ควร บางทีต้องกดหลายครั้งกว่าจะติด คือมันต้องกด “เป๊ะ” ตำแหน่งสุด ๆ มันถึงจะเปลี่ยนให้ ยิ่งในการที่เราต้องสั่งการระบบต่าง ๆ ที่อยู่ในหน้าจอมากมายหลายอย่าง ยิ่งทำให้เกิดอาการหงุดหงิดได้ตลอดเวลา รวมทั้งหน้าจอที่แสดงระบบ Apple CarPlay ที่มันไม่เต็มตาอย่างที่คาดการณ์ไว้ มันแสดงได้ไม่ถึงครึ่งของหน้าจอ 12 นิ้วด้วยซ้ำ แถมเมื่อเราขยายจอ Apple CarPlay แล้วใช้งาน Google Maps ตัวลูกศรที่แทนตำแหน่งของตัวเรา ยังอยู่ติดขอบล่าง ถูกตัดตัวลูกศรออกไปครึ่งนึง ทำเอามองไม่สะดวก หัวร้อนเพิ่มขึ้นไปตามการใช้งาน พอย่อให้มาอยู่ในขนาดเล็ก เส้นทางที่ตั้งไว้ก็ถูกตัดทิ้ง ต้องมาเริ่มกดหาปลายทางใหม่ทุกที งานนี้รายงานไปทางฟอร์ดให้รับทราบแล้ว ไม่แน่ใจว่าแก้ไขได้หรือเปล่า
เวลาในการทดสอบรอบนี้มีน้อยไปหน่อย เลยทำให้ไม่ได้ลองอัตราประหยัดหรือการทดสอบอัตราเร่ง 0-100 เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสได้ยืมมาทดสอบคนเดียว จะเอาให้ละเอียดมากกว่านี้ และข้อมูลการขับขี่ที่ครบถ้วนมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
สรุปเบื้องต้นในการขับขี่ไม่กี่ชั่วโมง ได้ผลความชอบ-ไม่ชอบออกมาได้ประมาณนี้
ชอบ
- ช่วงล่างระดับเทพ ที่ให้ทั้งความนุ่ม ความนิ่งและความหนึบในคราวเดียวกัน ถึงแม้ว่าช่วงวิ่งช้าจะออกลูกแข็งไปเล็กน้อย
- โหมดการขับขี่ที่มีให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะในการลุยเส้นทาง Off-Road ที่มีให้เลือกเพียบเลย
- ระบบตัวช่วยการขับขี่ทำงานได้อย่างเนียน
- หน้าจอขนาดใหญ่ 12 นิ้ว แสดงผลได้เต็มตาสุด ๆ
ไม่ชอบ
- หน้าจอทำงานไม่สมบูรณ์ กดแล้วหลายครั้งไม่ตอบสนอง หน้าจอแสดงผล Apple CarPlay ไม่ดีเท่าที่ควร
Next-Gen Ford Ranger Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo 4x4 10AT เป็นรถกระบะก็จริง แต่การใช้งานในช่วงขับ On-Road กลับให้ความสบายในการขับขี่ไม่ต่างกับรถเก๋งหรือ SUV ทั่วไปเลย แต่เวลาเปิดโหมดลุย ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีจนน่าตกใจ เรียกได้ว่ารถสามารถใช้งานได้ทั้งรูปแบบพ่อบ้าน, ออกไปทำงานนอกสถานที่ หรือลุยท่องเที่ยวไปตามเส้นทางต่าง ๆ ที่จะมีรถได้น้อยคันลุยเข้าไปถึงได้ ภายใต้ราคา 1,299,000 บาท ผมว่าถ้าทุนถึง และเป็นคนที่ชอบลุยแต่มีครอบครัวแล้ว รถกระบะสายพันธุ์ใหม่คันนี้ก็น่าจะคุ้มค่ากับคุณแบบสุด ๆ ได้อย่างแน่นอน
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com