ย้อนตำนานสปอร์ตแดนปลาดิบ Toyota Supra ตั้งแต่โฉมแรกจนโฉมล่าสุด
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 24 ม.ค. 62 00:00
- 24,636 อ่าน
ช่วงนี้เราจะได้เห็นข่าวการเปิดโฉมใหม่ของรถสปอร์ตจากค่ายสามห่วงอย่าง Toyota Supra กันอยู่บ่อย ๆ โดยมีเสียงความเห็นออกมาทั้งด้านบวกและด้านลบ คงต้องยอมรับว่า รถสปอร์ตขวัญใจขาซิ่งรุ่นนี้ ก็มีแฟนแบบพันธุ์แท้อยู่ทั้งทุกมุมโลกเหมือนกัน วันนี้เราจะมาย้อนประวัติกันดู ว่าตั้งแต่เจนเนอเรชั่นที่ 1 ถึงเจนเนอเรชั่นล่าสุดของ Toyota Supra นั้น เป็นอย่างไรบ้าง ลองมาดูกัน
Toyota Supra Generation 1 (1978–1981)
ถอยหลังย้อนไปเมื่อ 41 ปีก่อน ในปี 1978 เป็นปีที่เริ่มถือกำเนิดรถสปอร์ตอย่าง Toyota Supra ที่ใช้พื้นฐานรถมาจาก Toyota Celica liftback จึงมีการเรียกในช่วงแรกว่า Toyota Celica XX (Double-X) ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศอื่นเรียกว่า Toyota Celica Supra เริ่มต้นงานผลิตในช่วงเดือนเมษายนในประเทศญี่ปุ่น ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร 6 สูบเรียง 12 วาล์ว 123 แรงม้า กับเครื่องยนต์เบนซิน 2.6 ลิตร 6 สูบเรียง 12 วาล์ว 110 แรงม้า ทั้ง 21 เครื่องยนต์มีการติดตั้งระบบหัวฉีดไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นระบบใหม่ในช่วงนั้น ส่วนการขับเคลื่อนนั้น มีให้เลือกทั้งแบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีด, และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด พร้อมเสริมด้วยระบบเกียร์ Overdrive ทั้งในเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ ส่วนภายในนั้นก็ทันสมัยด้วยกระจกไฟฟ้า, ล็อกประตูไฟฟ้า แถมยังมีระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control อีกด้วย แต่คนญี่ปุ่นนั้น นิยมใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรมากกว่า เนื่องมาจากสาเหตุของการจ่ายภาษี ที่เครื่องยนต์ใหญ่ จะเสียค่าภาษีที่มากกว่า และในปี 1979 ก็ได้เริ่มทำการส่งออก Toyota Supra ไปยังนอกญี่ปุ่น โดยเป็นการส่งในรุ่นที่เป็นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรไปยังประเทศต่าง ๆ
มาถึงในปี 1980 Toyota Supra ได้มีการเพิ่มเครื่องยนต์ไปอีกขนาด ก็คือ 2.8 ลิตร 116 แรงม้า พร้อมกับเกียร์อัตโนมัติเวอร์ชั่นใหม่ ที่สามารถทำอัตราเร่ง 0-97 ได้ใน 1.024 วินาที และสามารถวิ่ง 1/4 ไมล์ได้ใน 17.5 วินาที ที่ความเร็ว 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีตัวเลือกแบบ Sports Performance Package ที่ปรับปรุงช่วงล่างใหม่ให้เป็นแบบสปอร์ต, เพิ่มยางที่เป็นตัวอักษรสีขาว, สปอยเลอร์หน้าและหลัง และบันเทิงใจในยามขับขี่ด้วยวิทยุเทผแบบ 8 แทรกอีกด้วย
Toyota Supra Generation 2 (1981–1985)
ช่วงกลางปี 1981 ได้มีการปรับโฉม Toyota Supra ขึ้นมาใหม่ โดยเป็นโฉมที่ไฟหน้าเป็นแบบ Pop-up เป็นครั้งแรก ส่วนเครื่องยนต์ยังคงใช้เครื่องยนต์แบบ 6 สูบเรียงเช่นเดิม เพิ่มความยาวของตัวรถให้มากกว่าโฉมแรกเล็กน้อย ในญี่ปุ่นยังคงเรียกว่า Toyota Celica XX เช่นเคย ส่วนในตลาดอเมริกาเหนือก็ยังเรียกว่า Toyota Celica Supra แต่ในโฉมนี้จะมีให้เลือกใช้งานใน 2 แบบ ก็คือแบบ Luxury Type (L-type) ที่เน้นความหรูหราสะดวกสบาย และ Performance Type (P-type) ที่เน้นความสปอร์ตอย่างชัดเจน โดยมีความแตกต่างหลายจุด ทั้งซุ้มล้อไฟเบอร์ในรุ่น P-Type, เบาะหนังในรุ่น L-type, เบาะปรับได้ 8 ทิศทางในรุ่น P-Type, หน้าปัดวัดระยะทางแบบดิจิตอลใน L-type เป็นต้น โดยเครื่องยนต์ในตลาดนอกญี่ปุ่นนั้น เน้นไปที่เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร 12 วาล์ว 6 สูบเรียง ที่ขยับกำลังจากตัวเดิมเพิ่มขึ้นเป็น 145 แรงม้า สามารถทำอัตราเร่ง 0-97 ได้ใน 9.8 วินาที และสามารถวิ่ง 1/4 ไมล์ได้ใน 17.2 วินาที ที่ความเร็ว 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนมาถึงปี 1983 ที่มีการเพิ่มเครื่องยนต์เบนซิน 2.8 ลิตร ที่มีพลังเพิ่มขึ้นเป็น 150 แรงม้า มาเพิ่มเป็นตัวเลือกให้อีกรุ่น และเสริมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดรุ่นใหม่ ที่ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเลือกการปรับเปลี่ยนรเกียร์ได้ทั้งในโหมด Normal หรือ Power หรือที่เรียกกันว่า Electronically Controlled Transmission (ECT) ซึ่งถือเป้นรุ่นแรกในตลาดที่ใช้เกียร์ระบบนี้อีกด้วย
ในปี 1984 ก็ได้มีการเพิ่มกำลังของเครื่องยนต์ให้กลายเป็น 160 แรงม้า ก่อนที่จะขยับมาเป็น 161 แรงม้าในปี 1985 ที่เสริมด้วยระบบ Throttle position sensor (TPS) ที่ทำงานเหมือนระบบ EGR และ knock sensor ในปัจจุบัน ทำให้รถสปอร์ตคันนี้ สามารถทำอัตราเร่ง 0-97 ได้ใน 8.4 วินาที และสามารถวิ่ง 1/4 ไมล์ได้ใน 16.1 วินาที ที่ความเร็ว 137 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Toyota Supra Generation 3 (1986–1993)
โฉมที่ 3 นี้ ทางโตโยต้าได้มีการแบ่งรถสปอร์ตออกเป็น 2 รุ่นอย่างชัดเจน โดยจะเป็นโฉมแรกที่มีการใช้ชื่อว่า Toyota Supra อย่างเป็นทางการ ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ โดยแยกให้ Toyota Celica เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า ส่วน Toyota Supra ยังคงเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังเช่นเดิม ส่วนเครื่องยนต์มีการเพิ่มขนาดให้กลายเป็น 3.0 ลิตรแบบ N/A 200 แรงม้า ก่อนที่จะเพิ่มเครื่องยนต์แบบ Turbo ผลิตกำลังได้ 230 แรงม้า มาในปี 1987 แต่ในตลาดญี่ปุ่นนั้น ยังคงมีเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรอยู่เหมือนเดิม เนื่องจากข้อจำกัดของภาษีตามขนาดของเครื่องยนต์นั่นเอง พร้อมเพิ่มระบบความปลอดภัยให้มากขึ้น ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS แบบ 3-channel, ช่วงล่างปรับความนุ่มนวลได้ Toyota Electronic Modulated Suspension (TEMS)
Toyota Supra Generation 4 (1993–2002)
สำหรับ Toyota Supra ในโฉมที่ 4 นั้น ได้มีการวางแผนกันตั้งแต่ปี 1989 ผ่านการออกแบบของหลากหลายทีมงาน จนมาถึงเวอร์ชั่นออกจำหน่ายจริงในช่วงเดือนเมษายน 1993 ให้เห็นภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปจากเดิมพอสมควร ที่เห็นได้ชัดก็คือไฟหน้า ได้หยุดการใช้งานในแบบ Pop-up ให้กลับมาเป็นแบบปกติ ถูกปรับความยาวของตัวรถให้ลดลงมากถึง 340 มม. เมื่อเปรียบเทียบกับตัว Luxury เพื่อให้ภาพลักษณ์ออกมาเป็นทรงสปอร์ตอย่างเต็มตัว ถูกปรับการออกแบบทั้งหมดของตัวรถให้ดูโค้งมนมากขึ้น ส่วนเครื่องยนต์ในโฉมนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องยนต์ตัวแรง 2J ในตำนาน ทั้ง 2JZ-GE 3.0 ลิตร 6 สูบเรียง 220 แรงม้า และเครื่องยนต์ 2JZ-GTE 3.0 ลิตร 6 สูบเรียง เทอร์โบคู่ 276 แรงม้า สำหรับเวอร์ชั่นในญี่ปุ่น ส่วนเวอร์ชั่นส่งออกต่างประเทศ มีการใช้ลูกเทอร์โบเวอร์ชั่นที่แตกต่างกับในญี่ปุ่น ทำให้เครื่องยนต์สามารถผลิตกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 320 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยเกียร์ระบบใหม่ Getrag 6 สปีด แต่ก็ยังคงมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดให้เลือกใช้งานเหมือนเคย และพิเศษสุดสำหรับตลาดในสหรัฐฯ Toyota Supra ถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกของโตโยต้า ที่มาพร้อมถุงลมนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยในโฉมนี้ สามารถทำอัตราเร่ง 0-97 ได้ใน 4.6 วินาที และสามารถวิ่ง 1/4 ไมล์ได้ใน 13.1 วินาที ที่ความเร็ว 175 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น จากการทดสอบ สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 285 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ตัวรถถูกล็อกความเร็วเอาไว้เพียงแค่ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงในประเทศญี่ปุ่น และรุ่นส่งออกล็อกเอาไว้ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง และในเวอร์ชั่นจำหน่ายในยุโรป จะเพิ่มช่องรับลมที่ฝากระโปรงเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
หลังจากผ่านระยะเวลามาหลายปีตั้งแต่กำเนิดจนถึงช่วงปลายยุค 90 รถสปอร์ตคูเป้ในตลาดอเมริกา เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง โดยในปี 1996 Toyota Supra ถูกยกเลิกการจำหน่ายในแคนาดา และต่อมาในปี 1998 ก็ถูกยุติการจำหน่ายในสหรัฐฯ ส่วนในญี่ปุ่น ซูปร้ายังคงมีการผลิตอยู่จนถึงเดือน สิงหาคม ปี 2002 แต่ก็ต้องยุติการผลิตไปเนื่องจากข้อจำกัดในการปล่อยไอเสียที่ไม่ผ่านมาตรฐาน
Toyota Supra Generation 5 (2019)
หลังจากห่างหายไปร่วม 17 ปี ในที่สุด รถสปอร์ตในตำนาน Toyota Supra ก็กลับมาคืนชีพใหม่อีกครั้ง โดยเป็นการปรับโฉมใหม่ทั้งหมด ใช้พื้นฐานการออกแบบมาจากรถต้นแบบ Toyota FT1 Sport Coupe Concept ทำงานร่วมกับทางบีเอ็มดับเบิ้ลยูในการออกแบบและใช้ชิ้นส่วนร่วมกันกับ BMW Z4 โฉมใหม่ ใช้เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 6 สูบแถวเรียง 3.0 ลิตร ให้กำลังมากสุด 340 แรงม้าที่ 5,000-6,500 รอบ/นาที แรงบิด 500 นิวตันเมตรที่ 1,600- 4,500 รอบ/นาที นอกจากนี้ยังมีเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 2.0 ลิตร 4 สูบ ที่เลือกได้ถึง 2 ความแรงตั้งแต่ แรงใหญ่ Hi-Power 258 แรงม้าที่ 5,000-6,500 รอบ/นาที แรงบิด 400 นิวตันเมตรที่ 1,550- 4,400 รอบ/นาทีและแรงพอดี Mid-Power 197 แรงม้าที่ 4,500-6,500 รอบ/นาที แรงบิด 320 นิวตันเมตรที่ 1,450- 4,200 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด ขับเคลื่อนล้อหลัง ช่วงล่างเด่นด้วยด้านหน้าแบบ double joint Spring Strut และด้านหลังแบบ Multi-Link ทางพร้อมระบบช่วงล่างปรับได้ Adaptive Variable Suspension system
ภายในยังมีกลิ่นไอความเป็น BMW อยู่พอสมควรแต่ Toyota ออกแบบให้มีจิตวิญญาณและตัวตนทีชัดเจนตั้งแต่ มาตรวัดเรืองแสงดิจิตอลพร้อมจอ MID ขนาด 8.8 นิ้ว คู่กับพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นสปอร์ต 3 ก้าน จอสัมผัสขนาดใหญ่เลือกได้ทั้งขนาด 6.5 นิ้ว กับ 8.8 นิ้ว พร้อมลำโพง 12 จุดจาก JBL และจอแสดงเหนือคอนโซลหน้า Head-Up Display เบาะนั่งสปอร์ตหนังแท้โทนดำ-แดง รวมถึงชุดผิวสัมผัส ดำ-แดง คอนโซลเกียร์ แผงประตู และพวงมาลัย ล้วนสร้างความร้อนแรงขึ้นอีกระดับ และคันเกียร์กับชุดควบคุมการทำงานของระบบบันเทิงล้วนยกชุดมาจาก BMW ทั้งสิ้น โดย Toyota Supra เจนใหม่พร้อมที่จะขายทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา แล้ว
ถึงแม้ว่า Toyota Supra จะห่างหายไปจากแฟน ๆ หลายปีแล้ว แต่คนไทยยังคงมีบางกลุ่มที่คงเลือกใช้รถสปอร์ตตัวนี้อยู่ ยิ่งในส่วนตัวเครื่องยนต์ 1JZ และ 2JZ ยิ่งมีคนเลือกเอาไปแปลงใส่รถของตัวเองกันอย่างมากมาย สำหรับ Toyota Supra Generation 5 นั้น จะได้ผลตอบรับจากคนทั่วโลกดีขนาดไหน คงต้องคอยติดตามรอดูกันต่อไป
ข้อมูลจาก Wikipedia
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com