Deft Scoop : โหนกระแสรถไฟฟ้า.... ใช่ว่าผ่านแผนแล้วจะมาได้ในทันที ...

  • โดย : Autodeft
  • 7 ส.ค. 59
  • 7,437 อ่าน

เรียกว่าเป็นกระแสที่หลายคนให้ความสนใจทันทีหลังจากรัฐบาลท่านประยุทธ์สร้างอภินิหารเรื่องรถยนต์พลังไฟฟ้า ด้วยการตราแผนส่งเสริมการลงทุน ก่อนการลงประชามติจะเกิดขึ้น ทำเอาหลายคนสงสัย บ้างคัดค้าน และบ้างก็เห็นด้วย แต่ไม่ว่าคุณอยู่ฝ่ายไหน มันไม่สำคัญเท่าคำถามสำคัญว่า ทำไมรัฐบาลจะต้องเร่งรัดเรื่องรถยนต์พลังไฟฟ้า ให้ฝันกลายเป็นจริง ...

 

จุดเริ่มต้นรถยนต์พลังไฟฟ้าไม่ใช่เกิดขึ้นในยุคนี้ แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามายาวนาน เช่น   Mitsubishi  Motor   พัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเขากับ   Tepco แต่ในยุคนั้นๆ มาจนถึงช่วงปี   1990   โดยมากเป็นการแนะนำในเชิงทดลองใช้ โดยบริษัทรถยนต์ เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการวิจัยต่อไป ....

ถ้าคิดว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน ก็ต้องยอมรับว่าพวกเราหลายคนกำลังคิดผิดถนัด เพราะรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ เริ่มต้นแนะนำมาในช่วงปี  2009 เป็นต้นมา ตั้งแต่   Mitsubishi I Miev   ตามมาด้วย  Nissan Leaf   รถยนต์  Chevrolet Volt  ไปจนถึงรถยนต์จากจีน  BYD   หรือจะเป็นที่เรากำลังสงสัยว่ามันจะมาไทยหรือไม่ อย่าง  Tesla   ทั้งหมด เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

[IMAGE1]

ยยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปีหลายปี เนื่องจากการเดินตามแนวคิดการลดภาวะโลกร้อนในหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา จากผลการประชุม  UN Climate change Summit  เมื่อปี   2009   ที่กรุงโคเปเฮเกน โดยในงาน  Boi Fair ปี  2012   บริษัทรถยนต์ชั้นนำหลายราย เช่น   Nissan , Toyota  และ Mitsubishi  ได้นำเสนอยานยนต์พลังไฟฟ้า ที่อาจจะเปลี่ยนแนวคิดของการใช้รถยนต์ในปัจจุบันนับเป็นครั้งแรกที่คนไทยจำนวนมากเริ่มตระหนักรถยนต์ไฟฟ้า หากแต่ภาครัฐในยุคนั้นกลับไม่แยแสเรื่องดังกล่าว

หนทางรถยนต์พลังไฟฟ้าต่างประเทศพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยกลับมองเพียงรถยนต์คันแรก และซ้ำร้ายแม้แต่สถาบันยานยนต์เองก็เคยออกมากร้าวว่าประเทศไทยจะพร้อมรถไฟฟ้าก็อีก   10   ปีข้างหน้า หากแต่ในปี   2011   ก่อนหน้าที่   Boi Fair   จะเริ่ม เพื่อนบ้านมาเลเซีย ก็คลอดแผน Electric Vehicle  Road map   โดยในแผนนั้น ประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้คนเข้าใจ และโปรโมทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮบริดในประเทศ ทำให้คนสนใจแล้วหันมาใช้มากขึ้น เพื่อลดการปล่อยไอเสียในประเทศ

[IMAGE2]

สำหรับประเทศไทย ทิศทางการเปลี่ยนแปลงเห็นชัดมาตั้งแต่การแนะนำ   Toyota Camry Hybrid  มายัน   Toyota Prius   แต่ที่สร้างกระแสได้จริง คือรถยนต์   Honda Jazz Hybrid   ที่มีราคาถูกต่ำกว่าล้านบาท ส่วนตลาดระดับพรีเมี่ยม มีการแนะรถยนต์ไฮบริดหลายรุ่นที่สำคัญ  เช่น   Toyota Alphard  Hybrid,  และยังมีผู้นำเข้าอิสระบางรายนำรถยนต์พลังไฟฟ้า   Tesla Roadster   และ   Nissan   Leaf   เข้ามาจำหน่าย แต่ราคาขายยุคนั้นก็แพงอยู่พอตัว

จนในที่สุดราคารถยนต์ไฮบริดเริ่มปรับราคาลงมาเรื่อยจากความนิยมของลูกค้า จนเราได้เห็นภาพ   All Thai Taxi   บริษัทแท็กซี่ของคนไทย ที่ปลอดภัยและใช้ Toyota Prius ในการรับส่งผู้โดยสาร ตลอดจนภาพต่างๆ ชัดขึ้นว่าคนไทยสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ  จากยอดขายรถยนต์ไฮบริดที่รังสรรค์ออกมาได้น่าสนใจ ตั้งช่วง  2-3  ปีที่ผ่านมา ยอดรถยนต์ไฮบริดอาจจะไม่หวือหวา แต่ก็ไปได้เรื่อยๆ จนรัฐบาลมาประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ เริ่มใช้เมื่อต้นปีทีผ่านมา รถยนต์ไฮบริดจึงเริ่มได้ลืมตาอ้าปากราคาจำหน่ายของมันนั้นลดลงอย่างมาก หลายคันเริ่มจับต้องได้ เช่น การเปิดตัวรถยนต์ Honda Accord Hybrid   มีราคาถูกว่ารุ่นเดิม 5   หมื่นบาท และได้ออพชั่นในการใช้งานมากยิ่งขึ้น หรือกระแสรถยนต์หรูไฮบริดเสียบปลั้กที่มีให้เลือกสรรหลายยี่ห้อมากขึ้นในราคาที่เริ่มจับต้องได้

ถึงรถยนต์ไฮบริดจะแววดีในตลาดประเทศไทย และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อในอนาคต หากแต่ในภาพความเป็นจริงของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากลับเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

แม้ว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าจะถูกรัฐบาลสนับสนุนแล้ว แต่การเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ต้องการอีกหลายสิ่งที่สำคัญตามมา เริ่มจากการเพิ่มหัวชาร์จไฟฟ้าตามที่สาธารณะ เนื่องจากปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีข้อเสียเปรียบคือระยะทางต่อการชาร์จที่วิ่งได้น้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาบภายใน รถไฟฟ้าปัจจุบันวิ่งได้ เฉลี่ย   185   กิโลเมตรเท่านั้น มีเพียงรถยนต์ยี่ห้อ  BYD   และ  Tesla   เท่านั้น ที่ถูกเคลมว่าสามารถวิ่งได้ระยะทาง   400   กิโลเมตรในการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง  แต่ถึงจะมีขีดจำกัดระยะเรื่องระยะทาง แต่บริษัทผู้ผลิต ก็แนะนำระบบชาร์จเร็ว ซึ่งสามารถชาร์จได้เร็วกว่า เหมาะสำหรับติดตั้งในที่สาธารณะ โดยระบบนี้สามารถชาร์จไฟให้รถมีประจุแบตเตอร์รี่   80%  ได้ในเวลาครึ่งชั่วโมงเท่านั้น หรือจะว่าไปก็วิ่งได้อีกราวๆ  148   กิโลเมตรเลยทีเดียว และล่าสุดมีการเปิดเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถชาร์จแบตเตอร์รี่ได้เต็มใน   15   นาทีเท่านั้น

ในภาพเรื่องดังกล่าว  ปตท.ก็เปิดตัวจุดชาร์จรถยนต์พลังไฟฟ้าเอาไว้ แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่อาจจะปรับเปลี่ยนไปของบริษัท ซึ่งสถานีชาร์จดังกล่าว ก็อยู่ที่ปั้ม   PTT Crystal   บนถนนชัยพฤกษ์ เช่นเดียวกันการไฟฟ้านครหลวง ก็ขานรับแนวทางด้วยการสร้างจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า  10  จุดสำคัญ ทั่วกรุงเทพ ในสำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เพื่อทดลองใช้เบื้องต้นก่อน

หากแต่ปัญหาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือ หัวชาร์จไฟของรถฟ้าแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน ทำเอาบริษัทที่จะสร้างที่ชาร์จให้เหนื่อยใจกันไม่น้อย ว่าจะสร้างแบบไหนที่จะเหมาะ เพราะ การสร้างจุดชาร์จก็จะต้องลงทุนไม่น้อยเช่นกัน  ..

นอกจากเรื่องการสร้างโครงข่ายชาร์จไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แล้วเรื่องที่น่ากลัวอีกประการ คือ ปริมาณไฟฟ้าที่จะถูกใช้ หากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มนิยมในประเทศไทย เป็นสิ่งที่นักวิชาการ ตลอดผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้ากังวลใจ ว่าถ้าหันมาใช้จริง ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยปัจจุบันจะไม่เพียงพอ จนเคยได้ยินกว่า เราอาจจะต้องพึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ้าจะใช้รถยนต์ไฟฟ้ากัน

[IMAGE3]

ทว่าความจริงที่สำคัญคือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเติบโตค่อยเป็นค่อยไป มันไม่ใชว่านำเข้ามาขายแล้ว จะวิ่งกันทั่วกรุงแบบที่เข้าใจ ทำให้รัฐบาล ต้องเริ่มสร้างรากฐานสำคัญในวันนี้ ขณะที่ยังทำได้ ส่วนหนึ่งจากราคาจำหน่าย ซึ่งแม้มาตรการรัฐจะลดภาษีอากรนำเขาในช่วงแรก สำหรับบริษัทที่ส่งแผนลงทุนและได้รับการอนุมัติตามแผนดังกล่าว แต่ความนิยมรถพลังไฟฟ้าก็จะไม่พุ่งสูงขึ้นทันที ถ้าปราศจากการมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในเชิงผู้บริโภค เช่นการลดหย่อนภาษีสรรพสามิต, การงดเว้นจัดเก็บภาษีประจำปี หรือการสร้างเงื่อนไขที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่นไม่ต้องดาวน์ ตลอดจนจัดที่จอดรถพิเศษ ตามที่สาธารณะเป็นต้น และถึงจะมีมาตรการสนับสนุน การเปลี่ยนถ่ายก็ยังค่อยเป็นค่อยไป จากการเริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีของประชาชน ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้คล้ายกับยุคที่คุณเปลี่ยนจากมือถือมาเป็นสมาร์ทโฟน มันไม่ใช่คนจะหันมาใช้สมาร์ทโฟนในทันที ....ทุกคน ... ยังจำได้ใช่ไหม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการวางแผนขจัดแบตเตอร์รี่ที่เสื่อมสภาพจากการใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการขัดอย่างถูกต้อง เพื่อจะไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต

จากภาพรวมที่กล่าวมา คงจะชัดเจนว่า แม้แผนสนับสนุนนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า จะผ่านออกมาแล้ว แต่การเกิดขึ้นของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะไม่ได้มีขึ้นในทันทีวันนี้พรุ่งนี้ แต่มันจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ทั้งการวางโครงสร้างชาร์จไฟฟ้า หรือ   Charging Grid   ไปจนถึงการผ่านแผนการลงทุนของแต่ละบริษัท และ ปรับเปลี่ยนสายการผลิต อัพเกรดโรงงาน  เพื่อให้ตอบสนองต่อการผลิตรถไฟฟ้าได้ รวมถึงการให้ความรู้ลูกค้าว่าทำไม เขาจึงควรปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยทั้งหมดที่กล่าวต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเป็นรูปธรรมขึ้นมา จนเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนถ่ายจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบภายในที่เราใช้ในปัจจุบัน สู่สังคมรถไฟฟ้าที่จะชัดขึ้นอนาคต

ที่สำคัญที่สุด ถ้าเรายิ่งมองเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านมาเลเซียแล้ว เราจะเห็นชัดว่า เราล่าช้ามามากแล้ว เขาเดินนำเราไปเมื่อ  5  ปีที่แล้ว ซึ่งวันนี้ถ้าเราไม่เริ่มเดินก้าวแรก คำว่า  Detroit of Asia   ที่เราภาคภูมิใจในวันนี้ อาจจะไม่เหลือในวันข้างหน้า ..... ด้วยเราไม่ทันกระแสยานยนต์โลก
 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page ,Twiter (@Nattayosc), Blog  ส่วนตัว


 

มาติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ