Full Review : ISUZU D-MAX 1.9 Ddi Blue Power Hi-Lander 4 Door 6 Auto กระบะเครื่องจิ๋ว แรงเหลือล้น สบายเหลือหลาย
- โดย : Autodeft
- 31 ส.ค. 59 00:00
- 203,975 อ่าน
“อีซูซุ รู้คุณค่าน้ำมันทุกหยด” เป็นสโลแกน ที่เหล่าประชาคม ISUZU จะได้ยินเสมอ โดยสื่อถึงความโดดเด่นของเครื่องยนต์ดีเซลที่ให้ความประหยัดน้ำมัน ความทนทานจนสร้างชื่อให้กับวงรถเพื่อการพาณิชย์เมืองไทยมาตลอด 60 ปี
ด้วยการทำตลาดรถกระบะมายาวนาน ISUZU ได้สร้างนวัตกรรมมาตลอด ตั้งแต่ เป็นเจ้าแรกที่แนะนำเครื่องยนต์ดีเซล แนะนำรถแค็ปตอนครึ่งหรือ Spacecab มาจำหน่าย แนะนำเครื่องยนต์ดีเซล Direct Injection ลงในรถกระบะ แนะนำกระบะขับสี่ประกอบที่เมืองไทยในชื่อ Rodeo แนะนำเกียร์อัตโนมัติลงในรถกระบะเป็นครั้งแรก ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ ISUZU เป็นแบรนด์ที่ครองความนิยมและสร้างยอดขายสูงสุดในเมืองไทย ตั้งแต่ยุค Faster Z ,Dragon Eyes จนมาถึง D-MAX
ข่าวลือสนั่น ว่า ISUZU เตรียมทำเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กเพียง 1.9 ลิตร กลายเป็นจุดสนใจให้ติดตามเและไม่คาดคิดว่าจะกล้าทำในที่สุดเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 จนได้การตอบรับดีเกินคาดและสร้างปรากฏการณ์ “นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” ติดตลาดกวาดยอดจองทะลุเป้าจนแบบเหนือความคาดหมายในชื่อ ISUZU D-MAX 1.9 Ddi Blue Power หลังจากได้ลองขับในรุ่น 4 ประตู Hi-Lander เกียร์ธรรมดา เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ครั้งนี้กลับมาอกีครั้งแต่ต่างวาระตรงที่ได้รุ่นเกียร์อัตโนมัติ มาทดสอบ ซึ่งในรุ่นดังกล่าวได้แนะนำไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีให้เลือกถึง 2 เกรด ทั้งรุ่น Z กับรุ่นท็อป Z- Prestige (รุ่นเกียร์ธรรมดา มีให้ลือกถึง 4 เกรด ตั้งแต่ รุ่น L, Z, Z DVD และ Z- Prestige)
พบกับครั้งนี้ไม่แตกต่างจากรุ่นเกียร์ธรรมดา ยังหล่อเหลาสปอร์ตปราดเปรียวเช่นเคยตั้งแต่ กระจังหน้าโครเมี่ยมดีไซน์บ่งบอกตัวตน โคมไฟหน้าออกแบบรับกับกระจังหน้าอย่างลงตัวด้วยไฟหน้า Projector ที่คราวนี้นำไฟ Daytime แบบ LED มาอยู่ในโคมเดียวกัน จากเดิมติดตั้งที่ตำแหน่งไฟตัดหมอก กันชนหน้าปรับดีไซน์ใหม่ให้ดูปราดเปรียว และเป็นการกลับมาอีกครั้งของไฟตัดหมอกทรงกลม พร้อมกรอบโครเมี่ยมรูปตัว C ทำให้ดูน่าเกรงขามมากขึ้น
ด้านข้าง ยังคงเส้นสายเดิมโป่งล้อขึ้นรูปทันสมัยกว่าคู่แข่งที่ยังใช้คิ้วพลาสติกขึ้นรูปปิดทัพโป่งล้อ แต่ครั้งนี้เปลี่ยนลายล้ออัลลอยใหม่จากเดิม 5 ก้านขนาด 17 นิ้ว มาเป็นล้ออัลลอย 6 ก้านใหม่ขนาด 18 นิ้วพร้อมยาง จาก Bridgestone Dualer H/T ขนาด 255/60 R18 5 วง (รวมยางอะไหล่) เป็นออพชั่นมาตรฐาน มีเสน่ห์ แฝงความหรูด้วยกระจกมองข้างโครเมี่ยมพร้อมไฟเลี้ยวในตัวสามารถปรับ-พับด้วยระบบไฟฟ้า ที่เปิดประตูเป็นแบบโครเมี่ยม และเสาอากาศครีบฉลาม หรือ Shark Fin เพิ่มความหรูเทียบเท่ารถยนต์ชั้นนำขึ้นมาเป็นกอง ด้านท้ายถึงแม้จะให้ไฟท้าย LED มา แต่ฝากระบะท้ายมีการออกแบบใหม่ ให้มีความโค้งนูนขึ้นพร้อม พร้อม Bulit-in Spoiler กับเปิดกระบะท้ายแบบโครเมี่ยมออกแบบใหม่และกล้องมองหลังในตัว สวยงาม และลงตัวขึ้น
มิติตัวถังรถกระบะ ISUZU D-MAX 1.9 Ddi Blue Power Hi-Lander 4 ประตู 6 Auto มากับขนาดเท่ากับ All New D-MAX เดิม แต่ความยาวมากขึ้นเป็น 5,200 มม. (เดิม 5,190 มม.) ความกว้าง 1,860 มม. ความสูง 1,795 มม.(ไม่รวมกระบะท้าย) ฐานล้อ 3,095 มม. ความสูงจากพื้น 235 มม. แต่น้ำหนักมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ๆ รวมถึงชุดเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด กับขนาดยาง 18 นิ้วใหม่ ทำให้มีน้ำหนักถึง 1,830 กก. (รุ่นเกียร์ธรรมดา 1,810กก.) มิติกระบะภายใน เริ่มที่ความยาว 1,485 มม. ความกว้าง 1,530 มม. ความสูง 465 มม. และความจุถังน้ำมัน 76 ลิตร
สมัยนิยมของรถกระบะยุคใหม่ กับกุญแจรีโมท ISUZU Genius Entry เพียงแค่เก็บใส่ในกระเป๋ากางเกง ก็สามารถสั่งปลดล็อคได้อย่างง่ายดายด้วยการสัมผัสดด้านในก้านเปิดประตู ขึ้นลงรถสะดวกกว่า ด้วยบันไดข้างขึ้นรูปจากโรงงานกับราวจับมือบริเวณเสา A ที่ยังใส่ใจสำหรับ เจ้าของรถทั้งชายหญิง เมื่อเปิดประตูก็จะพบ การเปลี่ยนแปลงของโทนห้องโดยสาร ที่เปลี่ยนจากสีดำน้ำตาล มาเป็นสีดำล้วน ๆ ช่วยเพิ่มอารมณ์ความหรูผสมสปอร์ตขึ้น เบาะนั่งคู่หน้าหุ้มด้วยวัสดุกึ่งหนังแท้สีดำทรงเดิมที่ยังสบายค่อนข้างกระชับแต่สำหรับคนขับให้สิ่งทันสมัยนั่นคือเบาะนั่งฝั่งคนขับเป็นแบบปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง ส่วนฝั่งคนนั่งอาจจะยังต้องช่วยตัวเอง ถือว่าเป็นปกติของรถกระบะยุคใหม่ คั่นกลางด้วยกล่องคอนโซลกลางสามารถใส่ของจิปาถะได้ตามใจชอบ พร้อมที่ท้าวแขนบนกล่อง
เบาะหลังเมื่อเข้าไปนั่งแล้ว นั่งและเหยียดขาได้สบายเช่นเคย พร้อมที่ท้าวแขนแต่ที่วางแก้วดันไปอยู่หลังกล่องคอนโซลกลางซึ่งอาจจะลำบากในการเอี้ยวตัวไปหยิบขวดน้ำ แต่อยากให้ย้ายตำแหน่งมาอยู่ที่ในตัวที่พักแขนดีกว่า จะว่าไปแล้วที่วางแก้วน้ำ กลับให้ตำแหน่งวางมากถึง 10 จุดรอบคัน งานนี้เอาใจคนกระหายน้ำให้สดชื่น สดใสกันเลยทีเดียว ตัวเบาะหลังหุ้มด้วยวัสดุกึ่งหนังแท้สีดำ สิ่งที่เคยสงสัยว่ามันจำเป็นหรือที่ต้องมีเบาะหลังพับได้ในอัตรา 60/40 แต่สำหรับผมเองกลับมองว่าจำเป็น เพราะอย่างน้อยพ่อบ้านแม่บ้านที่ต้องใช้รถกระบะ 4 ประตู เป็นรถครอบครัว สามรถพับเบาะวางของที่ซื้อมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือวางพวก ทีวี LED ขนาดไม่ใหญ่มากได้เต็มที่ เป็นต้น และถ้าต้องพาเจ้าจอมซนโดยสารไปด้วยยังมีจุดยึดที่นั่งสำหรับเด็ก ISOFIX ติดตั้งมาให้นับเป็นกระบะ 4 ประตู เอาใจครอบครัวเรียกคะแนนความสนใจมากขึ้น
แผงหน้าปัดยังคงใช้งานดีไซน์เดิมตั้งแต่ All New D-MAX รวมถึงแผงประตูขึ้นรูป แต่มีการปรับรายละเอียดเล็กๆน้อย ตั้งแต่ แผงมาตรวัดเรืองแสงใหม่ Super Vision แบบ 3D พร้อมหน้าจอ Color Display สี MID แสดงข้อมูลของตัวรถและสถานะของฟังก์ชันต่างๆ อย่างครบครัน พร้อมไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ขนาดใหญ่ให้การมองเห็นได้ดีขึ้น พวงมาลัย 3 ก้าน ดีไซน์คุ้นเคย หุ้มด้วยวัสดุหนัง คับคั่งด้วยปุ่มการทำงานเครื่องเสียงในฝั่งซ้ายมือ ทันสมัยปุ่ม Push Start เพียงปลายนิ้วสัมผัส
คอนโซลกลางนอกจากแผงสวิตช์เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ แหงนมาดูก็จะพบว่า เครื่องเล่น DVD มีการเปลี่ยนจอสัมผัสใหม่ เป็นขนาด 8 นิ้ว แถมย้ายปุ่มการทำงานไปยังใต้หน้าจอ พร้อมช่องเสียบ USB และใหม่ช่องเสียบ HDMI และในเวอร์ชั่นรุ่นท็อป ติดตั้งระบบความบันเทิงใหม่ล่าสุด ISUZU Connect World สามารถเชื่อมต่อ Smart Phone ที่รองรับทั้งระบบปฎิบัติการ IOS กับ Android ได้ ที่มีฟังก์ชั่นหลากหลายเช่น ระบบนำทาง I Smart Navi Thailand ฟังก์ชั่นคลิ๊ปวีดีโอผ่าน Smart Phone (Video Player) ฟังก์ชั่นฟังเพลงผ่าน Smart Phone (Music Player) เป็นต้น โดยต้องโหลดแอฟผ่านทางสมาร์ทโฟนของคุณเอง ส่วนลำโพงยังคงใช้ 8 ตัวเหมือนเดิมแต่ได้ย้ายตำแหน่งลำโพงบนหลังคาใหม่ ในชื่อว่า Roof Speaker ซึ่งที่ย้ายตำแหน่งลำโพงบนหลังคาใหม่นี้ ทาง ISUZU กลับบอกว่า เพื่อความสวยงามและเพิ่มมิติเสียงอย่างเต็มรูปแบบและเท่าที่ฟังเสียงเพลงตลอดการเดินทาง ยอมรับเลยว่า เสียงดีในระดับหนึ่งโดยไม่ต้องเสียสตางค์ หาลำโพงดีๆยี่ห้อดังๆ อีกต่อไป
การที่ ISUZU ตัดสินใจ ปลดเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 2.5 ลิตร ออกไป เพราะนับวันทั่วโลกให้ความสนใจกับเทรนด์เครื่องเล็กแรงม้าสูง ให้พละกำลังแรงเทียบเท่าเครื่องใหญ่ รวมถึงความการปล่อยมลพิษ ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของ การแนะนำเครื่องยนต์ดีเซลใหม่มาพร้อมฉายาว่า “จิ๋วแต่เจ็ง” ด้วยเครื่องยนต์ดีเซลรหัสใหม่ RZ4E-TC ขนาด 1.9 ลิตร พ่วงด้วยระบบเทอร์โบแปรผัน VGS 4 สูบ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,800-2,600 รอบ/นาที (รุ่น 4JK1-TCX 2.5 ลิตร 136 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตรที่ 1,800-2,800 รอบ/นาที) โดยทาง ISUZU เคลมว่า แรงม้ามากขึ้น 10% แรงบิดเพิ่มขึ้น 9% อัตราเร่งดีขึ้นกว่าเดิม 8% ตลอดจนน้ำหนักเครื่องเบาขึ้น 20% (60 กิโลกรัม) เมื่อเทียบกับเครื่องเดิม พร้อมอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 : 175 กรัม/กม.
กล่าวตัวตนมาพอสมควร ก่อนจิ้มปุ่ม Push Start มีความคิดว่าตั้งแต่แรกๆ พลกำลังของเครื่องเล็ก 1.9 ลิตรนี้ จะให้พลังมากขึ้นจริงหรือ แต่เมื่อหลังจิ้มปุ่ม อยู่หลังพวงมาลัยแล้ว พลัง 150 แรงม้า แรงบิด 350 นิวตันเมตร พร้อมร่างที่หนัก 1,830 กก. นำพาความประทับใจทั้งในเรื่อง ตอบสนอง คล่องตัวดี ฟิลลิ่งจะคล้ายคลึงกับเครื่องดีเซล 2.5 ลิตรเดิม แต่กระฉับกระเฉงกว่าในเรื่องการออกตัวในช่วงความเร็วต่ำจนถึงสูง เหมาะสมสำหรับเซียนกระบะที่ไม่เรียกร้องความแรงสมใจคนเท้าขวาหนัก ทั้งการใช้งานในเมือง หรือ ต่างจังหวัด
หนึ่งเรื่องที่ยอมรับในฐานะผมใช้รถ ISUZU นั่นคือการเก็บเสียงของรุ่น 1.9 Ddi Blue Power Hi-Lander 4 ประตู 6 Auto ที่เงียบขึ้น และดีกว่าในยุค D-MAX เจนเก่า จนถึง All New D-MAX ในช่วงรอบเดินเบา แต่ พอช่วงความเร็วสูงๆราวๆ 120 กม./ชม. ขึ้นไป อาจมีเสียงเล็ดลอดเข้ามาบ้าง รวมถึงเสียงเทอร์โบที่ทำงานตลอดเวลาอาจสร้างความรำคาญบ้างในการขับขี่ แต่ภาพรวมก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง แต่อย่างใด ยังสามารถฟังเพลง ดูหนัง พูดคุยได้เต็มที่
นอกจากเครื่องยนต์ใหม่แล้ว ระบบส่งกำลังก็ใหม่ด้วยเช่นกันนอกจากเกียร์ธรรมดา 6 สปีด (รุ่น MVL6N) แล้วยังมีเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ใหม่ รุ่น AWR6B45 ชูเด่นในเรื่องระบบโอเวอร์ไดร์ฟ ที่ใจดีให้ถึง 2 ตำแหน่ง ทั้งตำแหน่งเกียร์ 5 กับ เกียร์ 6 เข้าถึงความมันส์แบบสุนทรีย์ ด้วยระบบ Rev Tronic บวก/ลบ พร้อมอัตราทดใหม่ เน้นความจัดจ้านเร่งแซงทันใจ ตามตารางดังนี้
อัตราทดเกียร์ |
|
เกียร์ 1 |
3.600 |
เกียร์ 2 |
2.090 |
เกียร์ 3 |
1.488 |
เกียร์ 4 |
1.000 |
เกียร์ 5 |
0.687 |
เกียร์ 6 |
0.580 |
เกียร์ถอยหลัง |
3.732 |
อัตราทดเฟืองท้าย |
4.100 |
ระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด มาแทนลูกเดิม 5 สปีด ทำงานควบคูกับกล่องสมองกล เวอร์ชั่นใหม่ ยอมรับเลยว่า การเซ็ตเกียร์ให้ทำงานฉลาดและเปลี่ยนเกียร์ฉับไวขึ้นในทุกย่านความเร็ว เมื่อสับเกียร์เข้ามาในตำแหน่ง Rev Tronic บวก/ลบ ให้ความคล่องแคล่ว ไม่แพ้ตอนอยู่ในเกียร์ D และอีกจุดเด่นที่นอกจากฉลาดแล้วยังมี Engine Brake ที่จะคอยดึงกำลังของเครื่องยนต์ ช่วยในการชลอทั้งในช่วงลงเขา หรือลดความเร็ว แต่ว่า Engine Brake จะทำงานในช่วงความเร็วลดลงมาถึง60 กม./ชม.
การบริโภคน้ำมันของเจ้ากระบะยอดนิยม บอกได้เต็มปากว่า ตกตะลึงเป็นอย่างมากด้วยตัวเลขมหัศจรรย์ จากโปรแกรม Save Mode ทำได้ 15.11 กม./ลิตร จากระยะทางรวม 63 กม. และจัดน้ำมันดีเซลเต็มถังจากปั้มใหม่ แถวบางใหญ่ 4.168 ลิตร ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ตามสภาพการใช้งานจริง ส่วนการใช้งานในเมือง ได้ตัวเลข 12.28 กม./ลิตร
ปิดท้ายด้วยสิ้นเปลืองนอกเมือง ทำตัวเลขแบบตะลึง เช่นกัน ด้วยตัวเลข 15.92 กม./ลิตร จากระยะทาง 290.5 กม. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ- นครราชสีมา (ลำตะคอง) และเติมเข้าไปเต็มถัง 18.263 ลิตร นับว่าเป็นตัวเลขสิ้นเปลืองเหนือชั้นสมชื่อ ISUZU ที่รักษาเรื่องความประหยัดมาหลายปี และไม่แปลกใจที่โฆษณาทุกชิ้นที่ออกสายตาทางทีวี ล้วนชูเรื่องนี้เป็นที่ 1 มาตลอด
ตารางแสดงอัตราประหยัด ISUZU D-MAX 1.9 Ddi Blue Power Hi-Lander Z- Prestige 4 Door 6 Auto
โหมดการขับขี่ |
อัตราประหยัด (กม./ลิตร) |
ในเมือง |
12.28 |
Save Mode |
15.11 |
นอกเมือง |
15.92 |
หนึ่งความพิเศษ เฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ นั่นคือระบบ ISS (Idling Stop/Start System) หรือระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์อัตโนมัติ โดยระบบนี้จะตัดการทำงานเครื่องยนต์ชั่วขณะ และกลับมาทำงานโดยอัตโนมิตเมื่อแตะคันเร่ง เหตุผลที่มีระบบนี้ มีกันสองประการทั้งลดมลพิษ และความประหยัดน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
ตลอดการทดสอบ กลับพบว่าช่วงแรกๆ ไม่ทำงาน ทำให้เกิความสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่รอช้า โทรสอบถามกับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของดีลเลอร์ ISUZU ที่รู้จักกัน เขาให้คำตอบว่าสิ่งที่จะทำให้ระบบนี้ทำงาน ได้แก่ ระดับอุณหภูมิความร้อนต้องเกือบครึ่ง ความเร็วรถเกิน 10 กม./ชม. ขึ้นไปแล้วเหยียบเบรก ตำแหน่งเกียร์ต้องอยู่ในเกียร์ D และเงื่อนไขสุดท้ายคือต้องปิดแอร์สถานเดียว หลังจบการสนทนา ผมจึงทดลองการใช้ระบบนี้ทันทีปรากฎว่ามันทำงานจริง แต่ทั่วๆไประบบนี้ เมื่อเปิดแอร์ แล้วหยุดรถระบบนี้ตัดการทำงานชั่วขณะทันที แต่ว่าทำไมต้องปิดแอร์ด้วย หวังว่าระบบ ISS (Idling Stop/Start System) เวอร์ชั่นใหม่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ถ้าต้องการรถกระบะ 4 ประตู ใช้เป็นรถครอบครัว คันนี้ตอบโจทย์อย่างแน่นอนด้วยระบบช่วงล่างหน้าปีกนกอิสระสองชั้น คอยย์สปริง และโช๊คอัพแก๊ส พร้อมเหล็กกันโคลงทางด้านหน้า และด้านหลังยังคงใช้แหนบรูปครึ่งวงรีพร้อมโช๊คอัพแก๊ส (แหนบเหนือเพลา) รวมทั้งการได้ล้อกับยางขอบ 18 หน้ากว้าง 255 ด้วย ที่เซ็ตมาออกเน้นแนวนุ่มนวลสบายๆตามสไตล์รถเก๋ง เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ซื้อใจครอบครัวไทยมาหลายๆท่านรวมถึงเหล่าประชาคมฯ ที่ไม่คิดเปลี่ยนใจไปหายี่ห้ออื่นๆ ด้านการเข้าโค้งจัดอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้และอาจไม่ถูกใจ เซียนกระบะ บางคนที่ชอบความหนึบแน่น อย่างแน่นอน
ระบบบังคับเลี้ยวที่หันมาใช้ระบบแบบแร็คแอนด์พิเนียนตามสมัยนิยม พร้อมพาวเวอร์ช่วยผ่อนแรง ในเรื่องน้ำหนักมีการเซ็ตมาให้เบากว่ารุ่น All New D-MAX จนผิดหูผิดตา และแทบไม่แตกต่างจาก 1.9 Ddi เกียร์ธรรมดา เอาเป็นว่า ผู้ชายขับได้ผู้หญิงขับดี เรื่องระยะวงเลี้ยวแคบสุด นั้น เท่ากับรุ่นเกียร์ธรรมดา เพียง 6.3 เมตร ถือว่าสอบผ่าน แต่ความเร็วสูงๆ อาจมีระยะฟรีบ้าง แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับรุ่นนี้แต่อย่างใด
อัตราเร่งในโหมด Performance Test มีเรื่องต้องให้ว้าวอีกครั้ง เมื่อระบบเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่ ที่ฉลาดเฉลียวในการทำงานทรงประสิทธิภาพบวกกับเครื่องเล็กแต่ใจใหญ่ กับน้ำหนักเกือบ 2 ตัน นำพาตัวรถสร้างสถิติที่ดีกว่ารุ่นเกียร์ธรรมดา ด้วยตัวเลขดังต่อไปนี้
ตารางแสดงอัตราเร่ง ISUZU D-MAX 1.9 Ddi Blue Power Hi-Lander Z- Prestige 4 Door 6 Auto
ความเร็วที่ขับขี่ (กม./ชม.) |
ครั้งที่ 1 (วินาที) |
ครั้งที่ 2 (วินาที) |
ครั้งที่ 3 (วินาที) |
เฉลี่ย (วินาที) |
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. |
12.60 |
13.10 |
12.70 |
12.80 |
อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. |
10.00 |
9.00 |
10.00 |
9.67 |
สรุป……..นวัตกรรมเปลี่ยนโลก เสริมความสบายที่หาตัวจับยาก เมื่อมาอยู่ในตัวยกสูง
ถึงรุ่นเกียร์อัตโนมัติจะเปิดตัวตามหลังรุ่นเกียร์ธรรมดา เพราะส่วนหนึ่งทนเสียงเรียกร้องของเหล่าประชาคม ISUZU กับเซียนกระบะเมืองไทย ไม่ไหวจึงส่งทางเลือกตอบโจทย์คนเมือง ผนวกกับเกียร์ลูกใหม่นี้เป็น 6 สปีด และ โอเวอร์ไดรฟ์ 2 ตำแหน่ง พัฒนาให้ฉลาดดีขึ้นสมแล้วที่รอคอยกันมาที่อยากจะได้กระบะรักสบาย ส่วนจุดหนึ่งที่ยกย่องอีกอย่างนั่นคือ การมี Engine Brake ช่วยลดภาระการเหยียบเบรกในช่วงลงเขา
ขุมพลังเล็ก 1.9 ลิตร ที่กลายเป็นดาวเด่นในเรื่อง สนุกสะใจในการขับขี่ แถมแรงไม่มีตก ด้วยรอบเครื่องที่ปรับมาต่ำและเพียงพอต่อการจัดจ้านในการคิ๊กดาวน์เร่งแซง ไม่แพ้ค่ายอื่นๆ กลับเป็นจุดเรียกความสนใจมากขึ้น
ตารางแสดงอัตราการทำงานของเครื่องยนต์
ความเร็วที่ขับขี่ (ก.ม./ช.ม.) |
รอบเครื่องยนต์ (รอบ/นาที) |
90 |
1,500 |
100 |
1,600 |
110 |
1,800 |
120 |
1,900 |
การเก็บเสียงด้วยวัสดุที่หนาขึ้น เมื่อเทียบกับ D-MAX เจนเก่า และ All New ทำผลงานในเรื่องความเงียบได้ดีขึ้น ถึงแม้เสียงการทำงานของเทอร์โบ จะดังตลอดเวลาก็ตาม หวังว่าคงจะปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ส่วนความประหยัดกลับเป็นประเด็นสำคัญที่ ISUZU ใส่ใจมาตลอด ด้วยตัวเลข 12-16 กม./ลิตร ทั้งในเมือง นอกเมือง รวมถึงโปรแกรม Test Mode ล้วนสร้างความ ประหลาดใจ ตลอดการครอบครองรถมาอยู่กับมือ 1 สัปดาห์เต็มๆ
ระบบห้ามล้อที่จะหยุดความแรง 150 แรงม้า ได้นั้นเป็นดิกส์เบรกมีครีบระบายความร้อน พร้อมคาลิปเปอร์แบบลูกสูบคู่ที่ล้อหน้ากับดรัมเบรกที่ล้อหลัง พร้อมระบบเบรก ABS กระจายแรงเบรก EBD ที่ขึ้นชื่อมานาน กลับทำผลงานได้ตามใจสั่งและดีขึ้นกว่ารุ่น All New
ออพชั่นข้าวของต่างๆที่ให้มาจากโรงงานไม่ว่าจะเป็นเบาะไฟฟ้าคนขับ พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น (ไร้สวิตช์ปุ่มล็อคความเร็ว Cruise Control ซึ่งน่าจะมีให้ก็ดีนะ) เครื่องเล่น DVD จอสัมผัสขนาดใหญ่ เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนได้ เบาะนั่งหุ้มกึ่งหนังแท้สีดำ เป็นต้น ล้วนสร้างความสนใจมากขึ้น โดยไม่สนว่า คนอื่นๆจะสวย มีเสน่ห์มากน้อยก็ตาม แต่ด้วยการบริการเป็นมิตร ซื่อสัตย์กับลูกค้า มาตลอด 60 ปี จนมีเครือข่ายดีลเลอร์ มากกว่า 300 แห่ง ทั่วไทย เป็นเหตุผลอันดับ ต้นๆ ที่เซียนกระบะ เทใจให้กับกระบะ ISUZU D-MAX 1.9 Ddi Blue Power Hi-Lander Z- Prestige 4 ประตู 6 Auto ทันทีทันใด
เรื่องและขับทดสอบโดย สุกิจ เลิศธนะแสงธรรม (นายเต้ย)
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ น้าของผม เป็นพิเศษ ที่ให้ความอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อมาให้ใช้งานและทดสอบ
รถทดสอบ ISUZU D-MAX 1.9 Ddi Blue Power Hi-Lander Z- Prestige 4 ประตู 6 Auto
ราคาจำหน่าย 966,000 บาท (สีขาวมุก เพิ่ม 7,000 บาท)
สิ่งที่ชอบ >>> เครื่องยนต์ 1.9 ลิตรใหม่ มีสมรรถนะเยี่ยมยอดทั้งกำลัง ที่เทียบชั้นเครื่องยนต์ 2.2-2.5 ลิตร และความประหยัดน้ำมัน ที่ทำได้ดีและโดดเด่นกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ฉลาดขึ้น คล่องแคล่วกว่ารุ่น 5 สปีด ช่วงล่างที่นุ่ม ในสไตล์ ISUZU เด่นมิเสื่อมคลาย รวมถึง Engine Brake ที่ฉับไวในเรื่องชลอความเร็วตอนลงเขา
สิ่งที่ไม่ชอบ >>> ที่วางแก้วด้านหลังไปอยู่หลังกล่องคอนโซลกลาง สร้างความลำบากในการหยิบจับแก้วน้ำ ความนุ่มนวลของระบบช่วงล่าง อาจไม่ถูกจริตเซียนกระบะที่ชอบใช้ความเร็วสูง และระบบหยุดการทำงานของเครื่องยนต์ชั่วคราวที่ต้องพัฒนาและลดเงื่อนไขเช่นต้องปิดแอร์ ห้ามเปิดไฟหรี่จนถึงไฟหน้า เป็นต้น
สิ่งที่อยากให้มี >>> อยากให้เพิ่มออฟชั่นความสบายทั้ง ระบบล็อคความเร็ว Cruise Control ไฟหน้าอัตโนมัติ และระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (HDC) จากเดิมมีแค่ระบบออกตัวบนทางลาดชัน (HSA)
คำแนะนำ สำหรับผู้ซื้อ >>> น่าสนใจตรงที่เครื่องยนต์เล็กแต่ให้สมรรถนะดีขึ้น มีความประหยัดมากขึ้น แต่!!! อย่าตั้งความหวังการขับขี่ที่คุณจะได้บ้าระห่ำเบ่งพลังเต็มที่ เพราะนี่คือกระบะที่มีกำลังพอดีๆ สำหรับใช้งานทั่วๆไป แต่กล้าพูดได้เลยว่า เป็นเครื่องยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในตลาดรถกระบะเมืองไทย
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com