ทำไม Chevrolet ต้องยกทัพถอนตัวออกจากประเทศไทย?

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 18 ก.พ. 63
  • 17,488 อ่าน

กลายเป็นข่าวดังระดับโลกไปในชั่วข้ามคืน เมื่อทาง เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ได้ทำการร่อนจดหมายแจ้งสื่อมวลชนว่า ทาง Chevrolet จะยุติการจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2563 และได้ปิดดีลในการขายโรงงานผลิตรถยนต์ของ GM ที่จังหวัดระยองให้กับ Great Wall Motors เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลายเป็นที่ถกเถียงกันว่า เพราะอะไรทาง General Motor จึงตัดสินใจยกทัพถอนยวงออกจากประเทศไทย วันนี้เราลองมามองหาคำตอบกัน

Chevrolet

เป็นนโยบายจากทาง General Motors เพื่อลดขนาดองค์กร
ต้องบอกก่อนว่า การถอนทัพยกกลับบ้านในรอบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการถอนทัพออกหมดทั้งภูมิภาคที่ทาง General Motors สำนักงานออสเตรเลียเป็นคนดูแล ทั้งออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ประเทศไทย ส่วนในประเทศอื่นอย่างเช่น เวียดนาม ก็ได้ทำการใช้ Vinfast เป็นตัวแทนจำหน่าย ไม่ได้ทำธุรกิจเองโดยตรงเหมือนที่เคยมีมา รวมทั้งก่อนหน้านี้ก็ได้ถอนทัพออกจากอินโดนีเซียและอินเดียมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งนโยบายล่าสุดที่ออกมาจาก GM คือต้องการลดขนาดของบริษัทลง ตัดส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทิ้งทั้งหมด คาดว่าจะคงเหลือไว้แค่ในตลาดในประเทศสหรัฐฯ, ภูมิภาคอเมริกาใต้, จีนและเกาหลีใต้เท่านั้น เพราะยังคงสามารถทำรายได้ดีพอสมควรอยู่ ซึ่งถ้าดูตาม Timeline จะเห็นได้เลยว่า GM ได้ประสบปัญหาเรื่องการเงินมานานพอสมควร และได้เริ่มลดขนาดองค์กรลงมาหลายปีแล้ว ถ้าจะเรียงตามเวลาตามเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะเป็นตามนี้ครับ
- ปี 2010 ปิดโรงงานประกอบที่เมืองอันเวิร์ป, เบลเยียม
-ปี 2012 ปิดโรงงานประกอบที่เมืองโบคุ่ม, เยอรมนี
- ปี 2013 Chevrolet ประกาศถอนตัวออกจากภูมิภาคยุโรปภายในปี 2015 และประกาศยุติโรงงานผลิตในออสเตรเลียภายในปี 2017
- ปี 2015 ประกาศถอนตัวออกจากตลาดใหญ่อย่างรัสเซีย และประกาศหยุดผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย
- ปี 2017 ขายกิจการทั้งหมดในแอฟริกาใต้และแถบแอฟริกาตะวันออกให้กับ Isuzu Motors และประกาศหยุดการจำหน่ายในประเทศอินเดีย, ขายยี่ห้อ Opel และ Vauxhall รวมทั้งกิจการทั้งหมดในภูมิภาคยุโรปให้กับ PSA Group
- ปี 2018 หยุดการผลิตรถยนต์ในเวียดนาม และขายกิจการให้ Vinfast ดำเนินธุรกิจต่อด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว และขายสิทธิบัตรรถยนต์ขนาดเล็กให้กับ Vietnamese group เพื่อทำการผลิตรถยนต์ในนามยี่ห้อ  Vinfast
-ปี 2019 ประกาศยุติการจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซียภายในเดือนมีนาคม 2020
- มกราคม ปี 2020 ประกาศขายโรงงานผลิต Talegaon ในประเทศอินเดียให้แก่ Great Wall Motor และขาย GM Technical Center ในประเทศอินเดียให้แก่ Tata Consultancy Services ถือเป็นการถอนทัพจากอินเดียโดยสมบูรณ์
- กุมภาพันธ์ ปี 2020 ประกาศยุติการจำหน่ายในประเทศไทยภายในปี 2020, ขายโรงงานผลิตในจังหวัดระยองให้แก่ Great Wall Motor, ประกาศหยุดการจำหน่ายยี่ห้อ Holden ภายในปี 2021 ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งปิดศูนย์ออกแบบและวิศวกรรมในออสเตรเลียด้วย

Chevrolet

จาก Timeline จะเห็นได้เลยว่า GM ได้ทำการลดขนาดองค์กรของตัวเองอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ Chevrolet จะยุติบทบาทไปในประเทศไทยรอบนี้ เพราะมีการส่งสัญญาณต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ขึ้นอยู่กับว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
*ข้อมูลจาก https://in.reuters.com/article/gm-markets-timeline/timeline-general-motors-streamlines-its-international-operations-idINKBN20B0B2?il=0

Chevrolet

ผลประกอบการของ Chevrolet ในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ
ถ้าเราดูในแถลงการณ์ของ จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ ของ  นายแอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อวานนี้ มีการให้เหตุผลออกมาว่า  “จีเอ็มได้ประเมินทางเลือกหลายทางในการรักษาเชฟโรเลตไว้ในตลาดประเทศไทย แต่ความเป็นจริงก็คือ หากไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว เชฟโรเลตก็ไม่อาจที่จะแข่งขันในตลาดรถยนต์ประเทศไทยได้เลย” หมายถึงโดยรวมว่า เมื่อไม่มีโรงงานผลิตในประเทศไทยแล้ว ก็ไม่สามารถขายสู้คู่แข่งในตลาดได้แน่นอน ดังนั้นการยุติการจำหน่ายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว

Chevrolet

แต่ถ้ามองในความเป็นจริง ผลจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ General Motors ตัดสินใจถอนทัพในรอบนี้ เพราะถ้าไปดูผลประกอบการย้อนหลังไป 3 ปี (2016-2018) ของเชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จะพบว่า มีการขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาทุกปี โดยปี 2016 ขาดทุนสุทธิ 1,567,496,104 บาท, ปี 2017 ขาดทุนสุทธิ 1,421,114,846 บาท และปี 2018 ขาดทุนสุทธิ 527,558,441 บาท ทำให้ 3 ปีนี้ขาดทุนสะสมรวมมากถึง 3,516,169,391 บาท (ข้อมูลจาก https://datawarehouse.dbd.go.th/fin/profitloss/5/0105542051129) ยังไม่รวมผลประกอบการในปีล่าสุดคือ 2019 ซึ่งก็เดาไม่ยากว่าน่าจะขาดทุนเช่นกัน แน่นอนว่าการขาดทุนระดับพันล้านต่อปี ไม่ใช่เรื่องธรรมดาในการประกอบธุรกิจเป็นแน่ แต่ทั้งนี้จะโทษทางเชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ฝ่ายเดียวก็คงจะไม่ได้ ต้องยอมรับด้วยว่า การที่ GM เอง ไม่มีการพัฒนาหรือส่งรถยนต์รุ่นใหม่มาลงตลาดเสียที โดยเฉพาะรถกระบะที่สามารถสร้างยอดขายไปได้มากอย่าง Chevrolet Colorado ที่ลากยาวหลังจากปรับโฉมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2016 (ส่วนการติดสติ๊กเกอร์เวอร์ชั่นพิเศษไม่เรียกว่าการปรับใหม่) ในขณะที่คู่แข่งในตลาดปรับโฉมเล็ก-ใหญ่กันไปหลายรอบแล้ว เชฟโรเลตเองยังต้องทนขายของเก่าอยู่เลย คนที่เลือกซื้อช่วงหลังย่อมต้องการความสดใหม่ของการออกแบบเละเทคโนโลยี ยิ่งตลาดปัจจุบันมีการแข่งขันด้านข้อมูลสูง ค้นหาข้อมูลได้ง่ายเพียงแค่กดปลายนิ้ว ยิ่งทำให้เสียเปรียบคู่แข่งเร็วและมากขึ้นไปอีก เสียดายที่ GM เองก็มีโมเดลที่น่าสนใจมากมายเพื่อเอามาทำตลาดในประเทศไทยได้ (อย่างเช่น Chevrolet Blazer) แต่ก็ไม่เคยนำเข้ามาเพิ่มเติม จึงไม่สามารถเดินหน้าเพิ่มยอดขายได้ตามต้องการแน่นอน แถมยังต้องมาเจอพายุการร้องเรียนเรื่องศูนย์บริการเข้าไปอีก ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ทำให้ปีล่าสุด (2562) มียอดจดทะเบียนรถใหม่เพียงแค่ 7,743 คันเท่านั้น จากยอดจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 2 ล้านคัน (ที่มา https://web.dlt.go.th/statistics/)

Chevrolet

การมาของ Mary Barra CEO คนปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ GM ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดของ CEO คนปัจจุบันอย่าง Mary Barra ที่เริ่มการทำงานที่ General Motors มาตั้งแต่เธออายุ 18 ปี ในช่วงฝึกงานเมื่อปี 1980 ก่อนที่จะไต่เต้ามาจนรับตำแหน่ง CEO ได้เมื่อปี 2014 ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดที่เป็นผู้หญิงคนแรกในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ เธอเข้ามาเพื่อปรับทัพองค์กรใหม่ให้ก้าวหน้าไปได้ไกลมากขึ้นแม้ว่าจะต้องเริ่มต้นด้วยการถอยหลังก็ตาม โดยเธอได้กล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดว่า "การปรับองค์กรระดับโลกครั้งนี้ถือเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจอย่างมาก แต่ GM ต้องทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีเพื่อลดค่าใช้จ่าย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำอย่างเด็ดขาดคือ การตัดทิ้งในส่วนที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ ซึ่งเราได้พูดอยู่บ่อย ๆ ว่าเราต้องทำสิ่งที่ถูกต้องถึงแม้มันจะเป็นการตัดสินใจยากก็ตาม แต่เราก็ต้องทำไม่วันใดก็วันหนึ่ง" ซึ่งแน่นอนว่า เธอเป็นคนที่ทำการตัดสินใจขายยี่ห้อ Opel และ Vauxhall รวมทั้งกิจการทั้งหมดในภูมิภาคยุโรปให้กับ PSA Group ทำให้ได้เงินในดีลนี้ในปี 2017 รวม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท และการถอนตัวรวมทั้งขายโรงงานที่เพิ่งประกาศไปรอบล่าสุด จะทำให้ได้เงินกลับมาราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ถึงแม้จะต้องขาดทุนเงินสดไปราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.3 พันล้านบาทก็ตาม (ข้อมูลจาก
https://edition.cnn.com/2020/02/17/business/general-motors-holden-australia/index.html) ถึงแม้ว่า Mary Barra จะเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่ง ในองค์กรยานยนต์ยักษ์ใหม่ระดับโลก ที่ต้องดูแลกิจการทั้งโลก แต่การตัดสินใจของเธอแต่บละครั้งนั้นเด็ดขาด ไม่แพ้ผู้บริหารคนอื่นอย่างแน่นอน

Chevrolet

ยังเดินหน้าต่อในตลาดอื่นอย่างเต็มตัว
แน่นอนว่าการถอนทัพในรอบนี้ ทั้งในประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ ของโลก คือการตัดส่วนที่ไม่ก่อเกิดรายได้ให้กับ General Motors แต่ทาง GM ยังคงเดินหน้าในตลาดหลักต่อไป ทั้งตลาดในสหรัฐฯ, อเมริกาใต้, จีน, เกาหลีใต้, ตะวันออกกลาง ส่วนตลาดในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้น อาจจะคงเหลือเฉพาะบางรุ่นเท่านั้น เช่น Chevrolet Camaro SS, Chevrolet Camaro ZL1, Chevrolet Silverado 2500 และ Chevrolet Silverado 1500 ที่เคยจำหน่ายภายใต้ชื่อ Holden Special Vehicles (HSV) อาจมีการตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ General Motors Specialty Vehicles (GMSV) ทำการจำหน่ายต่อไปในภูมิภาคนี้ และทาง GM เองก็จะทุ่มทุนไปในการวิจัยและพัฒนาในส่วนของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์แบบขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง self-driving vehicles และรถในระบบ car-sharing อย่างเต็มที่ เพื่อให้ก้าวทันและล้ำหน้ากว่าคู่แข่งให้เร็วที่สุดนั่นเอง

Chevrolet

มีโอกาสกลับมาใหม่
ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจสูงอยู่ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอาจจะยังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในการทำธุรกิจของทาง General Motors ก็ตาม เพราะถ้ามองรอบด้านไปในภูมิภาคนี้ ภาคการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ไม่แพ้ชาติใดอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องของฝีมือ, ตำแหน่งที่ตั้ง หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการลงทุนก็ตาม แต่วันนี้ GM ยังไม่มีการตอบโจทย์ที่ดีมากพอ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ เพราะเมื่อไหร่ที่ GM เองสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช่ของคนภูมิภาคนี้ ก็มีโอกาสได้มากที่ General Motors อีกครั้ง แต่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ทีมงาน AUTODEFT

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ